Drama (บทละครตอนสามัญ) เปิดโรงละครดรามาบนผืนผ้าใบของ TETAT
Faces

Drama (บทละครตอนสามัญ) เปิดโรงละครดรามาบนผืนผ้าใบของ TETAT

Focus
  • Drama (บทละครตอนสามัญ) นิทรรศการศิลปะเหนือจริงใหม่ (Neo-Surrealism) ที่ชวนมาสำรวจก้นบึ้งของมนุษย์ผ่านคาแรคเตอร์คนที่มีหัวเป็นสัตว์
  • TETAT หรือ ธีธัช ธนโชคทวีพร โด่งดังในต่างประเทศจากผลงาน ภาพแรดสีน้ำเงินในชื่อ Mood Selection และ Sound of Light

“ในความรู้สึกของผม สิ่งที่มนุษย์ต่างจากสัตว์ มันมีอย่างเดียวคือ ภาษาและวัฒนธรรม ที่เราสร้างขึ้นมา แต่สัญชาตญาณจริงๆ แล้วยังคงเดิม”  

TETAT หรือ ธีธัช ธนโชคทวี เกริ่นนำถึงเนื้อหาของ Drama (บทละครตอนสามัญ) นิทรรศการศิลปะเหนือจริงใหม่ (Neo-Surrealism) ที่ชวนมาสำรวจก้นบึ้งของมนุษย์ผ่านคาแรคเตอร์คนที่มีหัวเป็นสัตว์ จัดแสดงตลอดเดือนเมษายน 2566 ณ PLAY art house แกลเลอรี ถนนทรงวาด กรุงเทพฯ โดยชื่องานนิทรรศการ Drama มาจากความหมายที่ค่อนข้างตรงไปตรงมาคือเรื่องราว “ดราม่า” ที่สังคมขยันสร้างและสื่อสารส่งต่อกันรายวัน มีทั้งเรื่องราวชีวิต ความสัมพันธ์ในโครงสร้างสังคมมนุษย์ แต่แทนที่จะสะท้อนผ่านคนกลับเล่าผ่านสัตว์ที่มีสังคมและชนชั้น เปรียบเปรยลักษณะนิสัยเฉพาะตัวของสัตว์เหล่านั้นเทียบกับสังคมมนุษย์ในปัจจุบัน

TETAT

TETAT หรือ ธีธัช ธนโชคทวีพร เป็นศิลปินที่เติบโตเข้าสู่งวงการศิลปะร่วมสมัยนานาชาติจากยุค 2000 หลังสั่งสมประสบการณ์ยุคแรกจากการเริ่มวาดภาพทิวทัศน์และสถาปัตยกรรมในแนวอิมเพรสชันนิสม์ พร้อมความมุ่งมั่นในการสร้างผลงานเพื่อเข้าประกวดตามเวทีศิลปะต่างๆ จนถึงวันที่ผลงานเข้าตากรรมการที่ หอศิลป์แห่งชาติ ไต้หวัน ทำให้ผลงานภาพแรดสีน้ำเงินในชื่อ Mood Selection ได้ออกเดินทางสู่ Mercure Hotel Frankfurt Airport Langen โรงแรมติดสนามบินแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019

เมื่อผ่านเรื่องราวชีวิตมาพักใหญ่การผลักดันเรื่องราวความคิดที่มีต่อสังคมได้ถูกถ่ายทอดผ่านงานศิลปะในรูปแบบนีโอเซอเรียลลิสม์ (Neo-Surrealism) หรือ ศิลปะเหนือจริงยุคใหม่ ส่งต่อความรู้สึก ความคิด และเชื้อเชิญผู้ชมให้มองละครบนผืนผ้าใบก่อนจะย้อนไปสู่ตัวตน ฉากหลัง เรื่องราวสะท้อนจากชีวิตจริง ในภาพวาดที่จำลองบทบาทมนุษย์ซึ่งถูกสวมทับด้วยใบหน้าและคาแรคเตอร์จากสัตว์นานาชนิด ใส่สีสันที่สะดุดตาของฉากหลัง ร่างคนใบหน้าของลิง ร่างคนศีรษะสุนัข และอีกสรรพสัตว์ที่ถูกสวมไว้เป็น ร่างทรงของตัวตนมนุษย์

Sarakadee Lite ชวนคุย TETAT หรือ ธีธัช ธนโชคทวีพร ถึงความคิดเบื้องหลัง DRAMA เส้นทางศิลปิน ความสัมพันธ์กับนักสะสมงานศิลปะ และการเชื้อเชิญผู้ชมมาค้นหาตัวตนในโรงละครบนผืนผ้าใบครั้งนี้

TETAT

แนวคิดงานนิทรรศการชุด Drama (บทละครตอนสามัญ)

เป็นมุมมองต่อสังคมโดยรวม มองไปถึงการอยู่รวมกันของมนุษย์ที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในเรื่องความคิด ประสบการณ์หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้แต่ละคนแตกต่างกัน เรามองเรื่องความแตกต่าง โฟกัสที่บทบาท หน้าที่ที่เราทำและดำเนินไปแต่ละวัน แต่ละคนแตกต่างกันไป และบทบาทเหล่านั้นมันถูกขับเคลื่อนไปด้วยความเป็นมนุษย์ ในอดีตสังคมไทยใช้พื้นฐานความเชื่อ เชื่อครู เชื่้อคนดี แม้กระทั่งตัวเราเอง แต่ปัจจุบันเราต่างตั้งคำถามว่าสิ่งนี้เชื่อได้จริงหรือเปล่า วันนี้เราตั้งคำถามมากขึ้นว่าจริงๆ แล้วสิ่งนี้มันดีจริงๆ หรือยัง

ที่ผ่านมาผมมักใช้การเปรียบเทียบโครงสร้างสังคมมนุษย์กับโครงสร้างสังคมของสัตว์ เหมือนกับเราวาดแผนที่ไว้ 2 อัน คือ แผนที่ของมนุษย์ กับ แผนที่ของสัตว์ ส่วนงานครั้งนี้เราเอาทั้งสองแผนที่มาวางครอบกัน แล้วเราก็จะเห็นความต่างกับความเหมือนที่มันครอบกันอยู่ ในความรู้สึกของผม สิ่งที่มนุษย์ต่างจากสัตว์ มันมีอย่างเดียวคือ ภาษาและวัฒนธรรม แต่สัญชาตญาณยังคงเดิม เรายังมีความต้องการ เรายังเบียดเบียนกันอยู่ เรายังคงใช้สัญชาตญาณดำเนินชีวิต จริงๆ เราก็คือสัตว์ชนิดหนึ่ง เรายังเป็นอย่างนั้นอยู่ ตอนนี้ผมอายุ 40 กว่าปี ผมก็ยังรู้สึกว่ามนุษย์มันไม่ได้เปลี่ยนไปไหน มันยังอยู่ในกรอบสัญชาตญาณเดิมของมันอยู่

Drama (บทละครตอนสามัญ)

คาแรคเตอร์ที่เห็นในภาพวาดมีที่มาอย่างไรบ้าง

เป็นความเชื่อมโยงกับผลงานชุดก่อนๆ ที่ใช้รูปทรงร่างกายคนแต่หัวเป็นสัตว์ต่างๆ การวาดส่วนบอดี้เป็นคน มันชัดเจนว่าเรากำลังพูดถึงตัวตนมนุษย์ แต่เป็นมนุษย์ที่แตกต่าง มีหลายระดับในสังคม หลายแบบที่เราเรียกว่าหลายสปีชีส์ หลายวิธีคิด มีบุคลิกลักษณะแบบอัลฟ่าคือเป็นผู้นำ (จ่าฝูง) หรือแบบเบตา (ผู้ตาม) นิ่งหรือไม่นิ่ง ผมแทนตัวตนนี้ด้วยสัตว์ที่แสดงบุคลิกชัดเจน เช่น สุนัขมีความซื่อสัตย์สูง เป็นเพื่อนที่ดีของมนุษย์ ในขณะเดียวกันถ้าเป็น สุนัขจิ้งจอก เรากลับรู้สึกว่า เฮ้ยมันเจ้าเล่ห์วะ…เป็นลูกเล่นที่ทำให้ชิ้นงานมีความสนุกสนาน

สังเกตได้ว่าในชิ้นงานมีตัวละครค่อนข้างเยอะ ศิลปินวางโครงเรื่องไว้ก่อนหรือวาดภาพคาแรคเตอร์ตัวละครมาก่อน

ผมเริ่มจากมีสตอรีในหัว แต่มันมาจากความรู้สึกนำก่อนนะ เรารู้สึกกับเรื่องนี้ๆ ช่วงนี้เราดูข่าวเยอะ เราจะตั้งคำถามกับข่าวเยอะมาก ตั้งคำถามก่อนว่า เฮ้ย! อย่าเพิ่งเชื่อนะ ไม่ได้อคติ แต่อย่าเพิ่งเชื่อ พิสูจน์ก่อนมั้ย ดีแล้วค่อยเชื่อมั้ย เราจะรู้สึกกับสิ่งเหล่านี้เยอะ แล้วก็จะใส่ไปในงาน กลายเป็นสตอรีที่ต้องสื่อสารออกมา ซึ่งภาพที่จัดแสดงในชุด DRAMA แต่ละภาพมันเล่าถึงสถานที่ต่างกัน แต่ทุกภาพเล่าเรื่องเดียวกัน ผมคิดเรื่องราวมาจากชีวิตคนปกติที่มีการเคลื่อนที่ไปสถานที่ต่างๆ ตลอด เพราะฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเชื่อมโยงผู้คนกับสถานที่ และเรื่องราว ผมก็เลยใช้สตอรีเดียวกันแต่แยกโลเคชันและการแสดงแอ็คชันออกเป็นชิ้นๆ ชัดๆ

อย่างภาพชื่อ Airplane เหมือนกับอยู่บนอากาศโดดร่มลงมาจากเครื่องบิน ส่วนภาพชื่อ In the Sea อยู่ในทะเล และอีกภาพที่อยู่ในตู้ จริงๆแล้วมันจำลองมาจากตู้รถไฟเหมือนห้องหัวจักรควบคุมรถไฟที่กำลังออกเดินทาง ภาพ Airplane มีแนวคิดมาจากความไม่สมเหตุสมผลของชีวิตเราในบางสถานการณ์ บางวันเราตื่นมามันไม่ใช่วันของเราเลย ทุกเรื่องดูมันไม่สมเหตุสมผล ผมจึงแสดงผ่านแนวภาพแบบเซอร์เรียล อย่างภาพตัวละครที่โดดร่มลงมาจากข้างบน แต่ร่มมันไม่ใช่ร่ม มันเป็นแค่กล้วยที่เป่าลมได้ เป็นห่วงยางที่มันช่วยชีวิตคุณไม่ได้จริงหรอก แต่ความเป็นจริงคุณก็ต้องใช้มัน แล้วก็มีหอบหิ้วฉลาม ขาหมู อันนี้เห็นแล้วคนจะถามเลยว่า เอามันมาทำไมก่อน? มันเป็นแค่ภาระ ผมพยายามสะท้อนให้เห็นว่ามันเป็นวิธีคิดที่เรามองคนละมุม โดยที่เราไม่รู้เลยว่าแต่ละคนเจอสถานการณ์ที่อาจจะแย่ทั้งคู่ ซึ่งผมว่าควรจะกลับไปดูตัวเองก่อนว่าคุณชำรุดอะไร สิ่งที่คุณเอามา ควรเอามาหรือเปล่า หรือต้องปลดทิ้งไหม

Drama (บทละครตอนสามัญ)

มีหลายจุดในภาพชุดนี้ใช้รูปกากบาท ไม้กางเขน ตรงนี้เป็นความตั้งใจในการวางสัญลักษณ์ไว้ในภาพรึเปล่า

สำหรับผมทุกอย่างมีความหมายหมดเลย ภาพเครื่องหมายแทนสัญลักษณ์ต่างๆ นี่มันมาจากตัวผมเอง เพราะผมเป็นคนชอบรอยสัก แล้วจะใช้รอยสักเข้ามาอยู่ในงานด้วย แต่รอยสักบนตัวละครมันจะถูกปรับไปตามเนื้อหาของงาน เช่น รอยสักไม้กางเขน มีสามเหลี่ยม แม้กระทั่งสัญลักษณ์ของสันติภาพ หรือข้อความบางอย่าง บางครั้งสัญลักษณ์เหล่านี้ก็แทนความเป็นพรรคพวก แทนความเหมือนกัน เช่นตัวละครจ่าฝูงมีรอยสักสามเหลี่ยมกับไม้กางเขน ตัวรองก็มีเหมือนกัน สื่อถึงการเป็นพวกเดียวกัน บางคนมีอันเดียว สื่อถึงอาจจะคิดเหมือนจ่าฝูงแค่ครึ่งเดียว มันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ส่วนสัญลักษณ์กล้องใช้แทนความดราม่า แทนคอนเซ็ปต์งานนี้คือ “ดราม่า” ปัจจุบันดราม่ามักจะผ่านเลนส์ ผ่านโซเชียล ผ่านการบันทึก ผ่านคลิป ก็เลยเอากล้องเป็นสัญลักษณ์แทน แต่สุดท้ายแล้วก็ อยากให้คนดูตีความเองเพราะว่ามันสนุกกว่า แล้วผมเชื่อว่าวิธีคิดของแต่ละคน ระดับจินตนาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราควรจะรู้สึกอย่างตรงไปตรงมากับสิ่งที่เราเห็นด้วยตัวเราเอง เราอ่านหนังสือเรื่องหนึ่ง ดูหนังเรื่องหนึ่ง ผมเชื่อว่าคนตีความ หรือรู้สึก หรือได้รับอะไรบางอย่างจากหนังเรื่องนั้นไม่เท่ากัน หนังแต่ละเรื่องคุณอาจจะโฟกัสไปคนละจุด ผมว่ามันก็สนุกดี มันไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน

Drama (บทละครตอนสามัญ)

ทำไมถึงเลือกใช้ศิลปะแนวนีโอเซอเรียลลิสม์

งานของผมมันมีลักษณะศิลปะแบบเซอเรียลลิสม์ หรือ แนวเหนือจริงอยู่แล้ว ซึ่งมันก็แตกแยกย่อยได้อีกหลายแนว สำหรับแนวที่ผมนำเสนอผมครั้งนี้ก็นึกเอาเองเลยว่างั้นเป็นนีโอเซอร์เรียลลิสม์ก็แล้วกัน มีความใหม่ต่อเติมจากแนวเซอเรียลลิสม์ โดยหลังจากงาน Sound of Light ที่ไปแสดงที่ไต้หวัน ผมก็ทำแนวนีโอเซอเรียลลิสม์มาตลอด ไม่ได้กลับไปทำงานแนวอิมเพรสชั่นนิสม์ยกเว้นการรีแลกซ์ส่วนตัวบ้าง แต่จะไม่ใช่งานสำหรับปล่อยออกแสดง อย่างงานเมื่อปี 2021 เป็นงานนิทรรศการกลุ่มของแกลลอรีเอกชน Limner Gallery ที่นิวยอร์กก็เป็นนีโอเซอเรียลเหมือนกัน

ย้อนกลับไปในการทำงาน จำความรู้สึกตอนที่งานชิ้นแรกถูกขายออกไปได้ไหม

จำไม่ได้เลยว่าชิ้นแรกขายอะไรไป (หัวเราะ) แต่ชิ้นที่จำได้แบบประทับใจว่าขายงานได้และเปลี่ยนชีวิตเราพอสมควร คือ Sound of Light หลังจากเอางานกลับมาจากงานแสดงนิทรรศการที่ไต้หวันก็มีคนซื้อเลย น่าจะประมาณปี ค.ศ 2015-2016 ช่วงนั้นเป็นจุดเปลี่ยนของผมด้วย จากที่ผมเริ่มต้นเขียนสีน้ำมันแนวอิมเพรสชันนิสม์ เขียนรูปตึก เขียนทิวทัศน์ก็เริ่มรู้สึกอิ่มตัว เพราะทำมาเกือบ 10 ปี และงานพวกนั้นมันต้องออกมาสเก็ทช์ ต้องออกมาถ่ายภาพ ต้องออกมาเขียนในสถานที่จริง ต้องแบกอุปกรณ์ทุกวัน อีกอย่างโลเคชันในกรุงเทพฯ เราเป็นคนกรุงเทพฯน่ะ เราเก็บหมดทุกมุมแล้ว ไม่มีอะไรจะเขียนแล้ว

และตอนนั้นรู้สึกว่าแค่อยากตื่นมาแล้วทำงานได้เลย โดยที่เราไม่ต้องออกจากบ้านไปไหน ไม่ต้องเตรียมตัวไม่ต้องเตรียมของ ก็เลยหันมาสนใจงานศิลปะแนวเซอร์เรียลลิสม์ รู้สึกว่ามันได้ใช้จินตนาการสูง เพราะเราเป็นคนคิดเยอะด้วยก็เปลี่ยนแนวเลย ซึ่งก็เป็นช่วงที่ทรมานมาก เพราะว่ามันยากมากครับ การที่เราจะเปลี่ยนอย่างหนึ่งไปเป็นอีกอย่างหนึ่งแล้วทำให้มันดี มีมาตรฐานที่เราโอเค  พอใจ มันเป็นเรื่องยากมาก เปลี่ยนรูปแบบเลย ทำให้คนมาชื่นชมมาชอบหรือแม้แต่ตัวเราเอง ทำให้เราชอบ เป็นเรื่องยากมาก แล้วตอนนั้นก็รู้สึกล้มเหลวมาตลอดเป็นปีๆ เลย เราทำงานก็ลองส่งออกไปแสดงบ้าง ส่งเข้าเวทีประกวดบ้าง ล้มเหลวก็คือถูกคัดออก เป็นอย่างนั้นมาตลอดมาประมาณ 2 ปีได้ จนมีอยู่ครั้งหนึ่งประมาณปี 2016 มีชิ้นหนึ่งชื่อ Sound of Light พอดีมีงานประกวดศิลปะแนววาดเส้นและภาพพิมพ์นานาชาติ จัดที่ประเทศไต้หวัน เป็นรายการใหญ่ ผมก็เลยลองส่งชิ้นนี้ไป มันได้แค่เข้ารอบสุดท้าย แต่ได้เข้าไปร่วมแสดงในนิทรรศการรวมหลายศิลปินที่หอศิลป์แห่งชาติไต้หวัน และก็ได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร จุดนั้นมันทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย! มันใช่แล้วว่ะ เรามาถูกทางแล้ว

Drama (บทละครตอนสามัญ)

อยากให้พูดถึงงานชิ้นใหญ่ที่ถูกซื้อไปติดที่เยอรมนีเมื่อปี 2019

งานชิ้นนั้นชื่อ Mood Selection เป็นงานขนาด 2×2.5 เมตร  ทำชิ้นงานขึ้นมาเพื่อจัดแสดงที่ “ช่างชุ่ย”  พอเสร็จงานที่ช่างชุ่ย ก็มีคอลเลคเตอร์ติดต่อขอซื้อและมันก็ถูกติดตั้งถาวรอยู่ที่โรงแรมเมอคิวรี่ในสนามบินแฟรงค์เฟิร์ต ทุกวันนี้ก็ยังติดอยู่ที่ล็อบบี้ งานชิ้นนั้นเป็นรูปแรดสีน้ำเงินตัวใหญ่บนพื้นหลังสีเหลือง ตอนนั้นเรารู้สึกว่าเราอยากทำตัวละครสักตัวหนึ่ง ที่มันไม่ใช่ผู้ล่าแต่มันแข็งแรงพอที่จะดูแลตัวเอง และเป็นสัตว์ที่ผู้ล่าทำอะไรไม่ได้ เราก็นึกถึงแรด แรดเป็นสัตว์กินพืช แรดไม่ใช่ผู้ล่า ไม่ฆ่าใคร แต่ใครอย่ามายุ่งกับฉันนะฉันเอาตาย

มีนักสะสมงานศิลปะประจำไหม

มีครับ ของผมเริ่มมีตั้งแต่ชิ้นงานมันเดินทางไปต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่เป็นนักสะสมในประเทศ มีจากต่างประเทศบ้างประปราย ทุกวันนี้ก็ยังมีคนซัพพอร์ตกันอยู่ ชิ้นไหนที่เห็นแล้วชอบเขาก็จะทักมา โดยกระบวนการแล้วนักสะสมจะเป็นคนแรกๆ ที่ได้งานไป แต่สำหรับผมไม่ได้มีเยอะเท่ากับศิลปินฮ็อตฮิตยุคนี้ ผู้สนับสนุนหรือนักสะสมอันนี้ชัดเจนอยู่แล้วว่าทำให้เราเติบโตขึ้น เดินทางต่อได้สะดวกขึ้น แต่ว่าในด้านการเป็นศิลปินในทางสร้างสรรค์ ไม่ว่าสิ่งนั้น (คนสะสมงาน) จะเกิดขึ้นหรือเปล่า เราก็ยังต้องทำต่อไป ต้องพยายามทำให้ตัวเองโตและแข็งแรงขึ้น 

ทำงานงานศิลปะที่เป็น merchandise บ้างไหม

ผมทำแบรนด์ของตัวเองชื่อ Mood เป็นโปรดักท์ที่มีดีไซน์จากงานศิลปะของผม สำหรับงานนิทรรศการ DRAMA ก็มีของที่ระลึก เป็นกระเป๋าผ้ามีแบบเดียว ส่วนตัวโปรดักส์ของของแบรนด์ Mood วางขายที่ชอปของที่ระลึกในโซนศิลปะของริเวอร์ซิตี้ และก็ที่พิพิธภัณฑ์ MOCA ด้วย หลักๆ ก็เป็น กระเป๋าลายกราฟฟิกจากภาพแรดสีน้ำเงินจากชิ้นงาน Mood Selection วัตถุประสงค์หลักที่ทำกระเป๋า คือเราอยากให้งานศิลปะของเราอยู่กับคน เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตปกติ เมื่อก่อนทำหลายอย่าง แต่ว่าพอเราทำไปแล้วในเชิงการขาย ความต้องการมันอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์นัก อย่างแก้วก็จะขายยาก ก็เลยลดไลน์ผลิตออกไปเรื่อยๆ เหลือแค่กระเป๋าที่มันยังเดินทางต่อไปได้ แล้วเราเองก็รู้สึกว่ากระเป๋าตอบโจทย์ที่สุดแล้ว  คนหิ้วไปไหนมาไหนได้ เป็น Display ไปด้วย

วางเป้าหมายในการเป็นศิลปินไว้อย่างไร 

เป็นคำถามที่ตอบยากมาก คร่าวๆ คิดไว้อยากเติบโตไปเรื่อยๆ อยากแข็งแรง เรายังอยากมีแรง ที่สำคัญคือยังอยากตื่นมาแล้วทำงานศิลปะได้ทุกวันแล้วอยู่ได้ มีคนสนับสนุน ศิลปินก็ไม่ได้แตกต่างจากคนอื่น ต้องกินต้องใช้ มีภาระ มีคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแล เราอาจจะยากกว่าตรงที่เราไม่สามารถคอนโทรลหรือมีเงินเดือนได้ สำคัญสุดคือการที่เรายังได้อยู่กับสิ่งที่เรารัก และเราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยที่เราไม่เดือดร้อน คิดไว้เท่านี้เลย ถ้าแค่นี้แล้วมันไปได้ในทุกๆ วัน ผมว่าอนาคตมันก็ดีอยู่แล้ว

อย่าง ในงานชุด DRAMA มีเซ็ตภาพวาดเหมือนก้อนเนื้อเป็นฟรีฟอร์มดูคล้ายร่างกายมนุษย์แต่บิดเบี้ยว มาจากแนวคิด ดรามาในชีวิตประจำวัน ผมคุยกับเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่มันรู้สึกชีวิตเจออุปสรรค เรื่องแย่ๆ โชคชะตา ไม่ได้ไม่มีไม่เป็นอย่างที่คิด ทำให้รู้สึกเหมือนไม่มีตัวตน แล้วผมก็วาดรูปออกมาเป็นก้อนเนื้อเป็นฟรีฟอร์มอยู่ในทะเลและความเวิ้งว้าง ส่วนตัวผมรู้สึกว่า มันออกมาแบบนี้ไม่ได้หมายความว่ามันไม่งามนะ ก้อนเนื้อนี่มันสวยจะตาย เท่จะตาย มันแข็งแรงได้ มีคุณค่าของมันได้ เหมือนการมีตัวตนของคนแหละ หลายคนเจอปัญหาแล้วรู้สึกเป๋ไปเป๋มา  คิดว่าเราไม่มีความแข็งแรง เราไม่มีฟอร์มที่มันชัดเจน ทำชิ้นนี้เสร็จผมก็ส่งกลับไปให้เพื่อน ผมถือว่าป็นประโยชน์อย่างหนึ่งของศิลปะ

ตั้งเป้าแสดงงานที่ไหนอีกบ้างไหม

คิดไว้บ้างแล้ว แต่ผมไม่ได้เป็นคนแบบ ฉันคิดแล้วต้องไป ฉันจะต้องไปให้ถึงตรงนั้นให้ได้แบบไม่ลืมหูลืมตา เอาเป็นเอาตาย เพราะผมเคยทำแล้ว แต่มันไม่มีความสุข เวลาที่เราตื่นมาทำงานแล้วเรารู้สึกว่า จริงๆ แล้วความคาดหวังของเรามันอยู่แค่ในผลงาน ตรงนั้นมันจะไปถึงหรือไม่ถึงมันอยู่ที่ผลงาน ถ้าไม่มีความสุขในการทำงาน มันส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพของงาน แล้วถ้าคุณส่งงานชิ้นนั้นไป ไม่ว่าที่ไหนก็ไม่ผ่าน เพราะงานมันไม่มีคุณภาพ แต่กลับหากเรามาโฟกัสแค่งานที่เราทำในแต่ละวันให้มันดีที่สุด กลายเป็นว่างานที่ดีคุณไม่ต้องไปเสนอที่ไหน พองานมันดีปุ๊บเดี๋ยวเขายิงมาหาคุณเอง…ให้งานมันพาไป

Fact File

  • นิทรรศการ DRAMA By TETA บทละครตอนสามัญ โดยศิลปิน ธีธัช ธนโชคทวีพร   จัดแสดงถึงวันที่ 30เมษายน 2566 ที่ PLAY art house  ถนนทรงวาด กรุงเทพฯ  
  • ติดตามผลงานของศิลปินTETAT-ธีธัช ธนโชคทวีพร ได้ที่ IG : ton_tetat

Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม