นางงามต้านซึมเศร้า “เกรซ-นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ” Brand Ambassador กรมสุขภาพจิต
Faces

นางงามต้านซึมเศร้า “เกรซ-นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ” Brand Ambassador กรมสุขภาพจิต

Focus
  • เกรซ-นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ” นอกจากจะได้ตำแหน่งมิสไทยแลนด์เวิลด์ 2019 แล้ว เธอยังเป็น Brand Ambassador กรมสุขภาพจิต 
  • ในช่วงปี พ.ศ.2561-2562 พบว่า มีคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ไม่ต่ำกว่า 4,000-4,200 คนต่อปี โดยทุก 9 นาที 55 วินาที มีคนไทย 1 คน พยายามฆ่าตัวตาย

 “การฟัง ดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย ๆ เป็นสิ่งที่ทำกันในชีวิตประจำวัน แต่เรารับฟังกันจริง ๆ หรือเปล่า เรารับฟังด้วยตา ด้วยหู ด้วยใจ หรือเปล่า รับฟังด้วยความจริงใจ เวลาคนมาปรึกษาเรา เรามักจะคิดหาคำพูดสวยหรูเพื่อให้เขารู้สึกดีขึ้น ซึ่งตรงนี้ไม่จำเป็นด้วยซ้ำ คนป่วยโรคซึมเศร้าหรือป่วยทางจิตเวช เขาแค่อยากมีคนอยู่ข้าง ๆ เขาเท่านั้นเอง บางทีเราไม่ต้องพูดอะไรด้วยซ้ำ เราแค่ใช้บทสนทนาเบื้องต้น เมื่อฟังเขาพูดแล้ว จับมือสัมผัสเขา ถามเขาว่าเขาสบายใจขึ้นหรือยัง นั่นสำคัญกว่า” 

“บางทีคนใกล้ตัวผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มักจะพูดว่า โอ๊ย เศร้าอะไร เรื่องแค่นี้เอง เดี๋ยวก็หาย 

สิ่งสำคัญเลยคือเรามักจะไปตัดสินคนอื่นก่อน เอามุมมองของตัวเองเป็นใหญ่ แล้วมองคนอื่นที่มีความคิดไม่ตรงกับเราว่ามันแปลก จนนำไปสู่การ Bully กลั่นแกล้งโดยไม่คิดถ้าเรามองคนอื่นในแบบที่เป็นตัวเขาเอง มองว่าทุกคนมีความแตกต่าง มีความสวยมีดีต่างกัน ถ้าเราให้เกียรติกัน ไม่ดูถูกกัน ตรงนี้จะช่วยผู้ป่วยทางจิตเวชให้ฟื้นฟูได้มากขึ้น เพราะว่าจิตแพทย์ไม่ได้อยากให้คนกินยาตลอดเวลา และเรื่องจิตใจสำคัญที่สุด” 

เกรซ-นรินทร ชฎาภัทรวรโชติ เจ้าของตำแหน่งมิสไทยแลนด์เวิลด์คนล่าสุด เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ สาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

จากความรู้ในห้องเรียนและการตั้งโครงการ Let Me HearYou กับเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัยของเกรซ ตรงกับโครงการHeartwithEars หัวใจมีหู ของกรมสุขภาพจิตทำให้เกรซ-นรินทร ได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ของกรมสุขภาพจิต เพื่อร่วมรณรงค์ให้สังคมรับรู้และช่วยกันแก้ปัญหาภาวะโรคซึมเศร้าในสังคมไทยที่กำลังเป็นทั้งกระแส และสถิติที่น่าเป็นห่วง 

ในช่วงปี พ.ศ.2561-2562 พบว่า มีคนไทยเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ไม่ต่ำกว่า 4,000-4,200 คนต่อปี

ทุก 9 นาที 55 วินาที มีคนไทย 1 คน พยายามฆ่าตัวตาย 

และตัวเลขประมาณการว่า ใน 1ปี มีคนไทยไม่ต่ำกว่า 53,000 คน พยายามฆ่าตัวตาย

ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตาย เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ร้อยละ 7.8 (ที่มา :Facebook กรมสุขภาพจิต)

“ธรรมชาติคนมีความอ่อนไหวอยู่แล้วและเราเป็นสัตว์สังคม ซึ่งแปลว่าสังคมค่อนข้างมีอิทธิพลต่อเรา จึงไม่แปลกเลยที่อิสระในการแสดงความคิดเห็นในโลกโซเชียลที่รวดเร็วทำให้คนรุ่น ๆ เกรซหรือวัยรุ่นรุ่นนี้จึงมีความอ่อนไหวมาก ดังนั้นเราจึงต้องมาสร้างอะไรมาคุ้มกันตัวเอง เพราะเราจะไปห้ามคนอื่นอีกเป็นล้าน ๆ ไม่ได้ เราต้องสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง เพราะเคสที่เคยเรียนมา ส่วนมากคนที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะไม่มีความมั่นใจในตัวเอง แบบไม่มีเลย ถามว่าเขารักตัวเองไหม รัก แต่เขาไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะสังคมภายนอกมากำหนด เกรซอยากให้คนรุ่นเราหันมาดูว่า อะไรที่จะทำให้เรามั่นใจมากขึ้น มันเป็นสิ่งสำคัญ ทุกวันนี้โรคซึมเศร้ามันระบาดมีทั้งที่เป็นจริง ๆ และอาจจะเป็นภาวะทางจิตอย่างอื่น

“การมองโลกในแง่บวกนั้นสำคัญ เพราะว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดใครได้ เราไม่สามารถจะห้ามไม่ให้ใครพูดได้สิ่งสำคัญสุดคือเราจะทำยังไงให้ตัวเราอยู่กับมันให้ได้คนชอบคิดว่าการมองโลกในแง่บวกคือการต้องมีความสุขทุกวัน การต้องพยายามยิ้มตลอดเวลา ไม่ใช่ค่ะสำหรับเกรซ การมองโลกในแง่บวกคือ คุณรู้ตัวว่าคุณมีปัญหา คุณยอมรับว่าคุณเหนื่อย รับรู้แล้ว เราก็เชื่อว่าพรุ่งนี้มันต้องดีกว่า เราต้องให้กำลังใจตัวเอง หากำลังใจจากคนรอบข้าง เราเหนื่อยเราเสียใจเราร้องไห้ได้ เพราะทุกคนมีมุมอ่อนแอ ถ้าเรายอมรับความจริง เราให้เวลากับตัวเองสักนิดหนึ่ง เกรซเชื่อว่าเราจะลุกขึ้นมายืนอย่างเข้มแข็งได้มากขึ้นกว่าเดิมค่ะ” 

คนสวยพูดอะไรก็ดูดี ดูมั่นใจไปเสียหมด แต่ตัวเธอเองก็ไม่รอดพ้นจากภาวะความอ่อนไหวและการถูกระรานเช่นกัน ผู้อ่านติดตามข่าวสารโดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/THAIDMH


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว