ไทม์ไลน์ชีวิต บิดาแห่งระเบิดปรมาณู เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์
Faces

ไทม์ไลน์ชีวิต บิดาแห่งระเบิดปรมาณู เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์

Focus
  • จูเลียส ออพเพนไฮเมอร์ หรือที่เป็นที่รู้จักในชื่อ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) เกิดวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1904 เมื่อตอนอายุ 5 ขวบ  คุณปู่ของเขาจุดประกายความสนใจในเรื่องธาตุต่างๆ ในวิชาเคมี
  • กลุ่มนักฟิสิกส์สายทฤษฎีฟิสิกส์ในเบิร์กลีย์มีออพเพนไฮเมอร์เป็นผู้นำกลุ่ม ผลักดันให้สร้างห้องทดลองศึกษานิวตรอนเร็วและการร่างแบบระเบิดอะตอม

ชื่อของ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer)  นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญของโลกที่ได้รับฉายาว่าเป็น  บิดาแห่งระเบิดปรมาณู กลับมาอยู่ในกระแสของปี ค.ศ. 2023 อีกครั้งหลังจาก Oppenheimer  ภาพยนตร์กำกับและเขียนบทโดย คริสโตเฟอร์ โนแลน ออกฉาย เล่าเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์ที่นำทีมนักวิจัยหัวกะทิสร้างระเบิดด้วยปฏิกิริยานิวเคลียร์ จนในที่สุดระเบิดปรมาณูก็ถูกใช้ในภารกิจทำลายพลเมืองที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ และนั่นก็ทำให้ ออพเพนไฮเมอร์ ถูกตั้งคำถามในฐานะที่เขาเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย  Sarakadee Lite ชวนไปเปิดไทม์ไลน์ชีวิตฉบับ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ ตั้งแต่ความสนใจในวัยเยาว์ ชีวิตนักวิทยาศาสตร์ที่รุ่งเรือง ไปจนถึงช่วงชีวิตที่ถูกไต่สวน

เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์
เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (ภาพ : Nuclear Museum) 

ความหลงใหลวิชาเคมีที่เริ่มตั้งแต่วัยเยาว์

.. 1904 : จูเลียส ออพเพนไฮเมอร์ หรือที่เป็นที่รู้จักในชื่อ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) เกิดวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1904  พ่อของเขาเป็นนักธุรกิจในนิวยอร์กที่อพยพมาจากเยอรมนี

เมื่อตอนออพเพนไฮเมอร์อายุ 5 ขวบ  คุณปู่ของเขาจุดประกายความสนใจในเรื่องธาตุต่างๆ ในวิชาเคมี  เด็กชายออพเพนไฮเมอร์ยังมีเรือใบเด็กเล่นที่เขาตั้งชื่อว่า Trimethy ตามชื่อสารเคมี และในตอนเรียนประถมนั่นเอง เขาสามารถคำนวณแรงที่น่าจะเป็นจากการขว้างลูกบอลของเด็กคนหนึ่ง ที่ขว้างออกไปชนกับทางเท้านอกสนามเด็กเล่นเพื่อพิสูจน์ว่าความเร็วของลูกบอลไม่แรงพอที่จะทำร้ายใครได้ พอถึงช่วงมัธยม เขาสนใจวิชาแคลคูลัสคู่ขนานไปกับศิลปวิทยาการยุคกรีกและอ่านวรรณกรรมของซอโฟคลีส (Sophocles) ได้อย่างเข้าใจและอ่านจบภายในเวลา 1 เดือนโดยไม่ต้องใช้พจนานุกรมแปลภาษา

.. 1921 : ออพเพนไฮเมอร์จบการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียน Ethical Culture School โรงเรียนที่ก่อตั้งโดยชาวยิวหัวก้าวหน้าในนิวยอร์ก เน้นการเรียนการสอนที่ใส่ประเด็นความยุติธรรมในสังคม ความรับผิดชอบของพลเมือง และมนุษยธรรม  

.. 1922 : แม้ออพเพนไฮเมอร์จะเรียนต่อปริญญาตรีสาขาเคมี ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่เขาสนใจด้านฟิสิกส์มากกว่า ทั้งยังไม่ทิ้งความสนใจด้านปรัชญา  เขาเริ่มอ่านงานที่ว่าด้วยเรื่องราวของพระเจ้า ซาตาน นรก สวรรค์ รวมถึงงานคลาสสิกอย่าง Divine Comedy และ Inferno ของ ดันเต (Dante) มหากวีชาวอิตาเลียนที่โด่งดังในศตวรรษที่ 14 

.ศ. 1925 : เขาเริ่มงานศึกษาวิจัยหลังปริญญาตรีที่ Cavendish Laboratory ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ กับ J.J. Thomson นักฟิสิกส์รางวัลโนเบล (ค.ศ. 1906) ผู้ค้นพบ อิเล็กตรอน  ที่นี่เองที่ออพเพนไฮเมอร์ค้นพบว่าเขาถนัดฟิสิกส์สายทฤษฎีมากกว่าสายทดลองปฏิบัติการ

ค.ศ. 1926 : ออพเพนไฮเมอร์ตอบรับคำเชิญของ แม็กซ์ บอร์น (Max Born) ผู้อำนวยการสถาบันทฤษฎีฟิสิกส์ (Institute of Theoretical Physics) ไปศึกษาวิจัยต่อที่มหาวิทยาลัยเกิททิงเงิน เยอรมนี (University of Göttingen) ช่วงเวลานั้นวงการฟิสิกส์ในยุโรปก้าวหน้าอย่างมาก ความสำเร็จด้านวิทยาศาสตร์ที่พลิกโลกเกิดในวงการฟิสิกส์ เช่น  การค้นพบทฤษฎีควอนตัมแม็กคานิกส์  ซึ่งเป็นบันไดสู่การพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ในเวลาต่อมา และใน ค.ศ. 1927 ออพเพนไฮเมอร์ก็จบปริญญาเอกด้านทฤษฎีฟิสิกส์จากเยอรมนี 

ออพเพนไฮเมอร์
จากซ้าย : Ernest Lawrence, Glenn Seaborg และ ออพเพนไฮเมอร์
(ภาพ : Nuclear Museum) 

นักฟิสิกส์ที่ชีวิตอยู่บนหอคอยงาช้าง

ค.ศ. 1929 : หลังกลับจากเยอรมนี ออพเพนไฮเมอร์รับงานสอนอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียหรือแคลเทก (California Institute of Technology – Caltech) และยูนิเวอร์ซิตีออฟแคลิฟอร์เนียที่เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley)  งานวิจัยของเขาเน้นศึกษาการทำงานของอะตอมและการแยกอนุภาคอะตอม และศึกษาทฤษฎีควอนตัม ช่วงต้นทศวรรษ 1930 เป็นช่วงที่เพื่อนนักวิชาการต่างยกให้เป็น “ช่วงอยู่บนหอคอยงาช้าง” ของออพเพนไฮเมอร์  ที่แคลิฟอร์เนียออพเพนไฮเมอร์ได้รู้จักกับ เออเนสต์ ลอว์เรนซ์ (Ernest Lawrence)นักฟิสิกส์ผู้คิดค้น เครื่องไซโคลทรอน (cyclotron) ที่นำมาใช้ทางการแพทย์ด้านเภสัชรังสีในปัจจุบัน  ทั้งคู่กลายเป็นเพื่อนสนิทกัน และเป็นที่พึ่งยามยากของออพเพนไฮเมอร์ได้เสมอและนอกจากทำงานวิจัยและศึกษาควอนตัมเชิงลึก ออพเพนไฮเมอร์ ยังคงความสนใจงานเชิงปรัชญาศาสนา วรรณกรรม และหนังสือ  เขาอ่านงานวิจัยด้านฟิสิกส์ควบคู่ไปกับ คำภีร์ภควัทคีตา วรรณคดีสันสกฤตหนังสือเกี่ยวกับคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และงานของ ดอสโตเยฟสกี นักเขียนรัสเซีย

ช่วงชีวิตที่เป็นอาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยนั้น ออพเพนไฮเมอร์ไม่สนใจอ่านข่าวสารเศรษฐกิจการเมือง หรือเสพสื่อใดๆ เขาทุ่มเทกับงานวิชาการ อ่านหนังสือ และพูดคุยเรื่องปรัชญา วรรณคดีสันสกฤต ความรู้จากวัฒนธรรมศาสนาฮินดู (เป็นที่มาของคำพูดของเขาที่อ้างจากคำภีร์ภควัทคีตาหลังจากทดลองระเบิดลูกแรกสำเร็จ)  จดหมาย 43 หน้าที่ออพเพนไฮเมอร์เขียนเล่าประสบการณ์ชีวิตของเขาเพื่อตอบโต้ข้อกล่าวหาเมื่อ ค.ศ. 1954 ว่า

“ผมไม่เคยอ่านหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารปัจจุบัน ไม่มีวิทยุหรือโทรศัพท์ ผมสนใจมนุษย์และประสบการณ์ของเขา ผมสนใจวิทยาศาสตร์อย่างล้ำลึก แต่ผมไม่มีความเข้าใจใดๆ ต่อความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสังคมเลย”

เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์
ออพเพนไฮเมอร์กับเครื่องมือต่างๆ ก่อนการทดลอง Trinity test
(ภาพ : Nuclear Museum) 

ชีวิตยามสงคราม

.. 1936 : สหรัฐอเมริกายุคเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และเป็นช่วงที่นาซีเยอรมนีเริ่มใช้นโยบายกีดกันพลเมืองเชื้อชาติยิว ขณะนั้นออพเพนไฮเมอร์เริ่มสังเกตเห็นผลกระทบของเศรษฐกิจการเมืองผ่านนักศึกษาของเขา เขาเริ่มสนใจสังคม แต่บอกว่ายังหาแนวคิดทางการเมืองหรือมุมมองใดมาทำให้เขาเข้าใจสถานการณ์นั้นได้อย่างจริงจังไม่ได้ แต่เขาก็เริ่มศึกษาสงครามต้านฟาสซิสต์ของฝ่ายลัทธิคอมมิวนิสต์ในสเปนในยุคนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก ซึ่งเขาบอกว่าไม่เคยไปสเปน แต่รู้จักประเทศนี้จากวรรณกรรมหรืองานเขียนต่างๆ  เขาเริ่มมีใจฝักใฝ่ฝ่าย loyalist ด้วยเหตุผลว่า ความพ่ายแพ้ในสงครามของฝ่าย loyalist  ทำให้เขาเศร้าใจมาก เขาบริจาคเงินสมทบช่วยผู้ประสบภัยในสงครามที่สเปนผ่านทาง ดร.โทมัส แอดดิส เพื่อนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์

ค.ศ. 1939 :  ออพเพนไฮเมอร์ได้พบกับ แคทเทอรีน ภรรยาของ ดร.แฮริสัน เพื่อนอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย และนั่นเป็นจุดเริ่มที่ออพเพนไฮเมอร์รู้จักแนวความคิดคอมมิวนิสต์มากขึ้น เพราะแคทเทอรีนเคยแต่งงานมาก่อน และสามีเก่าของเธอชื่อ โจ ดัลเลท ยังเป็นเจ้าหน้าที่ในพรรคคอมมิวนิสต์สเปน และเสียชีวิตในสนามรบกับฝ่ายฟาสซิสต์

.. 1939 : ตรงกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และลัทธิต้านยิวเริ่มขยายวงไปในยุโรปและฝั่งอเมริกา  ความรู้ทางฟิสิกส์เริ่มมีความเป็นได้ว่าปฏิกิริยาแบ่งแยกนิวเคลียสอาจจะเป็นแหล่งของพลังงานนิวเคลียร์ได้ และหลังจากการค้นพบปฏิกิริยาการแบ่งแยกนิวเคลียสทางกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้รับข้อมูลจากอาจารย์ฟิสิกส์ในมหาวิทยาลัยว่า ระเบิดที่ทำจากธาตุยูเรเนียมจะปลดปล่อยพลังงานมากกว่าลูกระเบิดอื่นๆ หลายล้านเท่าตัว

ค.ศ. 1939 : ลีโอ ซีลาร์ด (Leo Szilard) ส่งจดหมายอ้างชื่อ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ไปเตือนประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ ของสหรัฐฯ ว่าเยอรมนีอาจจะกำลังสร้างระเบิดอะตอม  ต่อมาสหรัฐฯ ได้จัดตั้งคณะกรรมการยูเรเนียม และให้ทุนสนับสนุนการศึกษาพลังงานนิวเคลียร์แก่นักฟิสิกส์ในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย

.. 1941 : ในเดือนธันวาคม กองทัพญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ของสหรัฐฯ และจากนั้นในเดือนมกราคมปีถัดไป (ค.ศ. 1942) ออพเพนไฮเมอร์เปิดหลักสูตรทฤษฎีฟิสิกส์เกี่ยวกับนิวตรอนเร็ว (fast neutron theoretical physics) ที่มหาวิทยาลัยซิตีออฟแคลิฟอร์เนีย และร่วมงานกับ Chicago Met Lab เพื่อทดลองและก่อตั้งหลักสูตรนิวตรอนฟิสิกส์  ต่อมาในเดือนกันยายน กลุ่มนักฟิสิกส์สายทฤษฎีฟิสิกส์ในเบิร์กลีย์มีออพเพนไฮเมอร์เป็นผู้นำกลุ่ม ผลักดันให้สร้างห้องทดลองศึกษานิวตรอนเร็ว (fast-neutron lab) และการร่างแบบระเบิดอะตอม

ค.ศ. 1942 : วันที่ 15 ตุลาคม นายพลเลสลี อาร์. โกรฟส์ ทาบทามออพเพนไฮเมอร์มาเป็นหัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ในโครงการที่ใช้ชื่อชั่วคราวว่า Project Y เพื่อก่อตั้งห้องปฏิบัติการกลางสำหรับการวิจัยและออกแบบอาวุธตามหลักการฟิสิกส์  ต่อมาวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1942 Vannevar Bush อนุมัติแผน Project Y หลังจากได้พูดคุยกับนายพล โกรฟส์และออพเพนไฮเมอร์  ต่อมาวันที่ 16 พฤศจิกายน นายพลโกรฟส์และออพเพนไฮเมอร์ลงพื้นที่ลอสอะลามอสที่รัฐนิวเม็กซิโก และตัดสินใจตั้ง Site Y หรือค่ายปฏิบัติการProject Y ที่นี่

.. 1943 : เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการลอสอะลามอส ( Los Alamos Laboratory)  ในโครงการที่ได้ชื่อใหม่เป็นทางการว่าแมนแฮตตันโปรเจกต์ ค่ายปฏิบัติลับของกองทัพนี้ตั้งอยู่ที่ลอสอะลามอส เมืองกลางทะเลทรายในรัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ถึง ค.ศ. 1945

ออพเพนไฮเมอร์
ออพเพนไฮเมอร์ หลังความสำเร็จ Trinity test (ภาพ : Nuclear Museum) 

การทดลองระเบิดอะตอมลูกแรกที่เปลี่ยนโลก

ค.ศ. 1945 : วันที่ 16 กรกฎาคม  ค.ศ. 1945 ประวัติศาสตร์โลกต้องจากรึก เมื่อการทดลองระเบิดอะตอมลูกแรกในชื่อปฏิบัติการทดสอบ Trinity test  กลางทะเลทราย Alamogordo ประสบความสำเร็จ  หลังจากเห็นเปลวเพลิงระเบิดพวยพุ่ง ออพเพนไฮเมอร์ได้กล่าวถึงสิ่งที่เขาสร้างขึ้นโดยอ้างอิงจากภควัทคีตา คำภีร์ของฮินดู ในถ้อยคำที่ว่า

“ถ้ารังสีจากพระอาทิตย์นับพันดวงจะระเบิดขึ้นสู่ท้องฟ้า คงเป็นดั่งความเพริศแพร้วของพลังอันยิ่งใหญ่..ข้าพเจ้ากลายเป็นความตาย เป็นผู้ทำลายล้างโลก”  

ออพเพนไฮเมอร์
Trinity test 

ต่อมาในวันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ระเบิดปรมาณูชื่อ Little Boy ถูกส่งไปถล่มเมืองฮิโรชิมา ระเบิดถูกทิ้งจากเครื่องบิน  Enola Gay ที่ระดับความสูง 31,060 ฟุต ในเวลา 08.16.02 นาฬิกาตามเวลาท้องถิ่น  ครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตจากระเบิดราว 140,000 คน และส่งให้วันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1945 รัฐมนตรีต่างประเทศญี่ปุ่นได้บีบให้ทูตโซเวียตพยายามโน้มน้าวให้โซเวียตเป็นตัวกลางเจรจาสงบศึก แต่รัฐมนตรีต่างประเทศของโซเวียตกลับยกเลิกการประชุม และโซเวียตประกาศสงครามกับญี่ปุ่นมีผลในวันรุ่งขึ้น คือ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ทำให้ญี่ปุ่นต้องส่งใบปลิวและประกาศเตือนทางวิทยุให้ประชาชนญี่ปุ่นเตรียมหลบภัยจากระเบิดลูกที่ 2 และในวันนั้นเองระเบิดปรมาณูลูกที่ 2 ชื่อ Fat Man ได้ถล่มเมืองนางาซากิ ส่งผลให้พลเมืองเสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 74,000 คน และวันที่ 14 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม

วันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1945 เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ เตือน เฮนรี สติมสัน รัฐมนตรีฝ่ายสงครามของสหรัฐฯ ถึงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์จะเพิ่มปริมาณและพลังทำลายล้างสูงขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้ และไม่มีการพัฒนาเครื่องมือใดๆ  ที่จะป้องกันหรือต่อสู้อาวุธนิวเคลียร์  สหรัฐฯ ไม่สามารถรักษาสถานะมหาอำนาจด้านนิวเคลียร์แต่เพียงประเทศเดียวได้ และไม่มีทางเลี่ยงการเกิดสงคราม แม้จะมีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าได้ก็ตาม

วันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1945 ออพเพนไฮเมอร์ลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์ฯ ที่ลอสอาลามอส  ถัดมาใน ค.ศ. 1947 เขาขึ้นเป็นผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาขั้นสูง (Institute for Advanced Study) ที่พรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์ และเป็นที่ปรึกษาให้คณะกรรมาธิการด้านพลังงานปรมาณู (Atomic Energy Commission) ผลักดันความร่วมมือควบคุมอาวุธระดับนานาชาติ

เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์
John von Neumann และ ออพเพนไฮเมอร์
(ภาพ : Nuclear Museum) 

ชีวิตที่ถูกไต่สวน

ค.ศ. 1953 : ในเดือนธันวาคม พลเอก เคนเนท นิโคลส์ ผู้จัดการทั่วไปของ เออีซี ส่งหมายตั้งข้อหาออพเพนไฮเมอร์เป็นภัยต่อความมั่นคง และทำให้เดือนมีนาคมในปีต่อมาออพเพนไฮเมอร์ส่งเอกสารโต้แย้งข้อกล่าวหาความยาว 43 หน้า และยื่นขอให้เปิดการไต่สวนภายในต่อหน้าคณะกรรมการบริหารของเออีซี ซึ่งคณะกรรมการไต่สวนฯ นำโดย กอร์ดอน เกรย์ ประธานสภามหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตีออฟนอร์ทแคโรไลนา อดีตเลขาธิการกองทัพ (secretary of the army)

ค.ศ. 1954 : วันที่ 29 มิถุนายน ทะเบียนประวัติของออพเพนไฮเมอร์ที่ได้รับการคุ้มครองโดยฝ่ายความมั่นคงถูกถอด และประวัติเกี่ยวพันกับคอมมิวนิสต์และเรื่องส่วนตัวของเขาถูกนำมาเป็นหลักฐานปรักปรำการเป็นสายลับส่งข้อมูลนิวเคลียร์ให้ฝ่ายโซเวียต  ข้อหาถูกตั้งโดยคณะกรรมาธิการด้านพลังงานปรมาณูของสหรัฐอเมริกา (The US Atomic Energy Commission) ส่งผลให้เกิดกระแสไม่พอใจในแวดวงนักวิทยาศาสตร์ที่มองว่าออพเพนไฮเมอร์เป็นเพียงแพะรับบาปของลัทธิต้านคอมมิวนิสต์ในสหรัฐฯ ยุค 50 ของวุฒิสมาชิก โจเซฟ แม็กคาร์ที โดยเพื่อนนักฟิสิกส์ได้กล่าวท่ามกลางการไต่สวนกลางสภาคองเกรสว่า “…ถ้าออพเพนไฮเมอร์อยู่อังกฤษคงได้เป็นอัศวินไปแล้ว…”  ขณะที่ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ออกมาแขวะคณะกรรมาธิการด้านพลังงานปรมาณูของสหรัฐอเมริกา (The US Atomic Energy Commission) ว่า AEC น่าจะย่อมาจาก Atomic Extermination Conspiracy มากกว่า

วันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1954 เอฟบีไอ หรือหน่วยสอบสวนกลางของสหรัฐฯ ยังไม่ยอมปิดแฟ้มคดีปฏิบัติการออพเพนไฮเมอร์ (Operation Oppenheimer) ซึ่งยังระแวงว่าออพเพนไฮเมอร์ถูกโซเวียตซื้อตัวไปเรียบร้อยจากบันทึกการไต่สวนที่ชื่อ In the Matter of J. Robert Oppenheimer 

ค.ศ. 1960 ออพเพนไฮเมอร์จับมือกับนักวิทยาศาสตร์ระดับไอคอน ทั้ง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, เบอร์ทรองด์ รัสเซลล์ และโจเซฟ โรต์บลาต์ ก่อตั้ง World Academy of Art and Science และเดินสายบรรยายให้ความรู้ทางฟิสิกส์ทั่วโลก

ค.ศ. 1963 ออพเพนไฮเมอร์ได้รับรางวัล Enrico Fermi Award รางวัลที่ตั้งเป็นเกียรติแก่ เอนริโก แฟร์มี ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งฟิสิกส์นิวเคลียร์ และผู้คิดค้นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์

ค.ศ. 1967 : วันที่ 18 กุมภาพันธ์ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ เสียชีวิตขณะอายุ 62 ปี ด้วยโรคมะเร็งลำคอที่พรินซ์ตัน รัฐนิวเจอร์ซีย์  ตลอดช่วง 15 ปีสุดท้ายของชีวิต ออพเพนไฮเมอร์ตกอยู่ในวังวนของความหวาดระแวงจากการถูกจับตามองจากหน่วยงานสืบราชการลับทุกฝีก้าว ทั้งการดักฟังการสื่อสาร หรือการติดตามชีวิตของเขาในทุกอย่าง

ค.ศ. 1977 : เรื่องราวของออพเพนไฮเมอร์ส่งผลอย่างมากต่อ โทนี ออพเพนไฮเมอร์ บุตรสาว โดยเธอได้ปลิดชีวิตตัวเองใน ค.ศ. 1977  นิตยสารไทม์ เขียนถึงเธอว่า โทนีเป็นนักแปลภาษาได้ถึงสามภาษา และสมัครงานกับองค์การสหประชาชาติ ซึ่งเงื่อนไขที่น่ากังวลคือประวัติต้องผ่านการรับรองเรื่องภัยความมั่นคง และเอฟบีไอยังคงไม่หยุดสืบประวัติเธออย่างละเอียด จนท้ายที่สุดเธอก็ไม่ได้รับการรับรอง และหมดสิทธิ์เข้าทำงานอย่างที่เธอหวัง และในเดือนมกราคมค.ศ. 1977 เธอก็ปลิดชีวิตตัวเอง

.. 2014 : กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ เปิดเผยบันทึกการไต่สวนคดีของออพเพนไฮเมอร์ฉบับเต็มหลังจากถูกเก็บเป็นเอกสารลับทางราชการมากว่า 60 ปี  ประเด็นที่โดดเด่นขึ้นมาจากรายละเอียดคือภาพสะท้อนความอิจฉาริษยากันเองในแวดวงวิชาการ และความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ในยุคลัทธิแม็กคาร์ทีครอบงำสังคมการเมืองอเมริกา

ค.ศ. 2022 : กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ก็ได้คืนความยุติธรรมและลบล้างข้อสงสัยต่อออพเพนไฮเมอร์ โดย เจนนิเฟอร์ แกรนโฮล์ม รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวว่าคดีของออพเพนไฮเมอร์เกิดจากอคติและความไม่เป็นธรรม ทำให้นักฟิสิกส์มือหนึ่งถูกเบียดให้ออกไปจากแวดวงการพัฒนานิวเคลียร์อย่างน่าเสียดาย

ออพเพนไฮเมอร์

กรกฎาคม ค.ศ. 2023 : ภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตของออพเพนไฮเมอร์และประวัติศาสตร์การสร้างระเบิดปรมาณู เรื่อง Oppenheimer กำกับโดย คริสโตเฟอร์ โนแลน ออกฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วโลก

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป