สุทธิรัตน์ แอนน์ ลาลาภ กับเบื้องหลังเครื่องแต่งกายสายลับ เจมส์ บอนด์ No Time To Die
Faces

สุทธิรัตน์ แอนน์ ลาลาภ กับเบื้องหลังเครื่องแต่งกายสายลับ เจมส์ บอนด์ No Time To Die

Focus
  • สุทธิรัตน์ แอนน์ ลาลาภ นักออกแบบเครื่องแต่งกายเชื้อชาติไทย สัญชาติอเมริกัน ผู้อยู่เบื้องหลังการแต่งตัวที่ทำให้ตัวละครในภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ มีบุคลิกและสะท้อนตัวตนของพวกเขาออกมาอย่างชัดเจนในทุกภาค รวมทั้ง No Time To Die
  • ชุดสูททักซิโดคือภาพของเจมส์ บอนด์ ที่ สุทธิรัตน์แอนน์ ลาลาภ ได้ทำงานออกแบบร่วมกับ ทอม ฟอร์ด ดีไซเนอร์ดังระดับโลก

ความสำเร็จของภาพยนตร์สายลับรหัส 007 เจมส์ บอนด์ ที่ออกสู่สายตาผู้ชมทั่วโลกมากว่าครึ่งศตวรรษ นับรวมได้ 25 ตอนไม่ได้มีแค่บทภาพยนตร์ ผู้กำกับ และนักแสดงเท่านั้นที่เป็นหัวใจ งานออกแบบเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็เป็นอีกส่วนที่ช่วยสร้างภาพจำและเพิ่มมูลค่าของตำนานสายลับระดับโลก ผู้มักปรากฏตัวในสูทเนี้ยบหรู ผูกเน็กไท เป็นสายลับที่มีการแต่งกายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซ่อนอำพรางความลับของรหัส 007 ไว้ได้อย่างแนบเนียน และในเจมส์ บอนด์ ฉบับล่าสุด No Time To Die ผู้ที่อยู่เบื้องหลังงานออกแบบเครื่องแต่งกายในตำนานก็คือ สุทธิรัตน์ แอนน์ ลาลาภ (Suttirat Anne Larlarb) นักออกแบบเครื่องแต่งกาย เชื้อชาติไทย สัญชาติอเมริกัน

เจมส์ บอนด์

“คุณจะแบกรับน้ำหนักหนักอึ้งบนบ่าในฐานะนักออกแบบของบอนด์ สำหรับตัวละครเจมส์ บอนด์ ทุกคนคาดหวังว่าเขาจะเป็นผู้ชายที่แต่งตัวเนี้ยบที่สุดในโลก และมันก็มีความเชื่อมโยงกับแบรนด์ (สินค้า) บางแบรนด์ตามมาด้วย มันมีการร่วมมือกันมากมายเลย”

สุทธิรัตน์ แอนน์ ลาลาภ นักออกแบบเครื่องแต่งกาย เจมส์ บอนด์ No Time To Die ผู้พกเครดิตคนทำงานออกแบบชุดในพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2012 เมื่อครั้งที่ลอนดอนเป็นเจ้าภาพแต่สำหรับบทบาทใหม่ในฐานะผู้ออกแบบเสื้อผ้าให้แก่ตัวละครสายลับผู้โด่งดังและมีระเบียบการแต่งกายของตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์มากว่า 50 ปีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันคือภาระที่หนักอึ้งที่เธอต้องสานต่อเอกลักษณ์ของเอกบุรุษที่คนทั่วโลกรู้จักเป็นอย่างดี

สุทธิรัตน์บอกความรู้สึกในการทำงานกับทีมภาพยนตร์ No Time To Die ว่าการจัดการเครื่องแต่งกายตัวละคร ไม่ได้เป็นการทำงานเพียงลำพัง แต่ยังมีผู้เล่นสำคัญนั่นก็คือ ผู้กำกับภาพยนตร์ นักออกแบบเครื่องแต่งกาย และนักแสดงที่สวมใส่เสื้อผ้าเพื่อเป็นตัวละครนั้นๆ โดยเฉพาะการตีโจทย์การออกแบบเครื่องแต่งกายให้ตัวละครสายลับที่มีเอกลักษณ์ และโลดแล่นบนจอภาพยนตร์มา 25 ตอน สุทธิรัตน์ได้กล่าวว่า

เจมส์ บอนด์

“บอนด์มีความเป็นมนุษย์ มีอารมณ์ความรู้สึกและบางทีก็อ่อนแอเหมือนกัน ความที่บอนด์เป็นมนุษย์ เป็นผู้ชายคนหนึ่ง ภาพมุมนี้จึงเป็นอีกด้านเลยเมื่อเทียบกับความเป็นสายลับ 007 ในสูทเนี้ยบและเฉียบขาด”

ทั้งนี้สิ่งสำคัญของงานออกแบบเครื่องแต่งกายให้ตัวละครที่นอกจากจะเป็นส่วนต่อขยายจากบทบาทของตัวละครนั้นๆ แล้ว สุทธิรัตน์ย้ำว่าเสื้อผ้าก็ต้องตอบสนองความพึงพอใจให้คนดูได้ด้วย

“มันไม่ใช่หนังสารคดีที่เล่าประวัติคนผ่านเหตุการณ์นั่นนี่สักหน่อย มันคือหนังเจมส์ บอนด์ และก็ต้องทำให้ได้ตามความคาดหวังที่คนมีต่อหนังบอนด์นะ”

Sarakadee Lite ชวนแฟนๆ สายลับ 007 มาแกะรอยการทำงาน วิธีคิดการออกแบบเครื่องแต่งกายของแต่ละตัวละครพร้อมความหมายที่ซ่อนอยู่ในเสื้อผ้าฉบับ เจมส์ บอนด์ No Time To Die

เจมส์ บอนด์

สูท เน็กไท ทักซิโด เอกลักษณ์ของเจมส์ บอนด์

โจทย์เสื้อผ้า : สำหรับโจทย์เสื้อผ้าหลักที่ถูกออกแบบให้เป็นชุดเอกลักษณ์ของเจมส์ บอนด์ ในเวอร์ชัน No Time To Die จะต้องเน้นความเนี้ยบแต่คล่องตัว อิงต้นแบบเดิมจากบอนด์ในภาพยนตร์ภาคก่อนๆ ที่เป็นตำนาน แต่ก็ต้องไม่เชย ไม่ล้าสมัย

สูทสีน้ำเงินเข้มเกือบดำ : ก่อนงานเขียนของ เอียน เฟลมมิง (Ian Fleming)จะออกวางแผง ตัวละครสายลับในนิยายหรือภาพยนตร์มักมีเอกลักษณ์การแต่งกายที่คล้ายกัน นั่นคือต้องสวมเสื้อโค้ตตัวยาวและหมวกปีกกว้างโดยให้เหตุผลเรื่องการอำพรางใบหน้าและซ่อนเรือนร่างภายใต้รูปร่างที่เป็นเหมือนเงาลึกลับที่น่าเกรงขาม แต่เอียน เฟลมมิง ได้ออกแบบชุดประจำตำแหน่ง หรือชุดทำงานของสายลับ 007 ที่ชื่อเจมส์ บอนด์ ให้แต่งตัวต่างออกไป ด้วยสูทสีน้ำเงินเข้มเกือบดำ

เน็กไท : ในภาพยนตร์เราจะเห็นว่าบอนด์นิยมผูกเน็กไท ทั้งนี้เพราะ เอียน เฟลมมิง ผู้เขียนนิยายต้นฉบับของเรื่องราวและตัวละครเจมส์ บอนด์ ได้กำหนดให้บอนด์ต้องใส่สูทผูกเน็กไท และต้องผูกปมเน็กไท แบบ โฟร์อินแฮนด์ ซึ่งมีประวัติว่าเป็นสไตล์ที่สุภาพบุรุษฉบับสโมสรสุภาพบุรุษ (Gentlemen’s Club) ณ กรุงลอนดอน ในสมัยศตวรรษที่ 19 นิยม ถามว่าทำไมผู้เขียนไม่เลือกการผูกเน็กไทแบบเรียบหรูระดับขุนนางเชื้อพระวงศ์อังกฤษนิยมเช่น ปมเน็กไทแบบวินด์เซอร์ (ตั้งตามชื่อของ ดยุคแห่งวินด์เซอร์) เหตุผลเพราะปมโฟร์อินแฮนด์ ที่เจมส์ บอนด์ผูกจะทำให้เน็กไทดูแบนบางและเอียงนิดๆ ไม่ต้องผูกตึงตรงกลางเป๊ะๆ เหมาะกับบุคลิกความคล่องตัวของสายลับที่ต้องดูดี แต่พร้อมลุยทุกสถานการณ์

ชุดสูททักซิโดกับภาพจำของเจมส์ บอนด์ : ขณะที่ชุดสูทผูกเน็กไทเป็นเครื่องแบบในที่ทำงานของบอนด์ แต่ชุดที่เป็นภาพจำในตอนสำคัญที่สุดของภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ทุกภาคเมื่อบอนด์จะต้องปรากฏตัวพร้อมหว่านสเน่ห์และข่มขวัญไปในตัวกับการแนะนำตัวว่า “ผมชื่อ บอนด์ เจมส์ บอนด์” คือ ชุดสูททักซิโดส่วนใน No Time To Dieชุดสูททักซิโดเป็นการตัดเย็บโดย ทอม ฟอร์ด (Tom Ford) ดีไซเนอร์เจ้าของแบรนด์ ทอม ฟอร์ด ซึ่งเข้ามาร่วมงานในฐานะผู้จัดทำชุดให้บอนด์ตั้งแต่เรื่อง Skyfall (ค.ศ. 2012)

เบื้องหลังการทำงาน

สุทธิรัตน์บอกวิธีการทำงานดีไซน์เสื้อผ้าของตัวเอกระดับตำนาน เขาต้องคุยกับ แดเนียล เครก เพื่อช่วยกันตีโจทย์ เสื้อผ้าของบอนด์ ต้องอิงต้นแบบเดิมที่เป็นตำนานไปแล้ว แต่ต้องไม่เชย ไม่ล้าสมัย

“เราได้พูดคุยกันหลายครั้งเพื่อทำให้แน่ใจว่าบอนด์จะให้ความรู้สึกเหมือนเขากำลังก้าวไปข้างหน้า ด้วยองค์ประกอบที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้วในครั้งก่อนๆ ที่ (แดเนียล เครก)เขาเคยรับบทบอนด์ แต่มันก็ยังอ้างถึงตำนานบอนด์โดยทั่วๆ ไป ในขณะที่เดินหน้าไปสู่อนาคตด้วยค่ะ”

สำหรับการออกแบบชุดสูททักซิโดใน No Time To Die สุทธิรัตน์บอกวิธีทำงานว่า “ชุดทักซิโดอาจจะเป็นลุคที่เป็นภาพจำมากที่สุดในบรรดาเสื้อผ้าของเจมส์ บอนด์ดังนั้น สำหรับ No Time To Die ฉันก็เลยย้อนกลับไปดูว่าบอนด์แต่ละคนสวมใส่ชุดออกงานอะไรในหนังทุกเรื่องก่อนหน้านี้ แล้วค่อยให้ความใส่ใจเป็นพิเศษกับสิ่งที่แดเนียลเคยสวมในหนังเรื่องก่อนๆ ของเขา เรารู้ในทันทีเลยว่าเราไม่อยากจะทำซ้ำกับสิ่งที่เคยมีการทำมาก่อนแล้ว ฉันหวังว่านี่จะเป็นอะไรที่พิเศษสุด”

เจมส์ บอนด์

เสื้อผ้าลำลอง ถอดตัวตนความเท่ของบอนด์

โจทย์เสื้อผ้า : ดูดี แบบไม่พยายามมากในรายละเอียดเสื้อผ้าช่วงบอนด์ปลดประจำการ ไปพักผ่อนบนเกาะที่จาเมกา คือต้องดูผ่อนคลาย เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติหาดสวยทะเลใสแต่ต้องโดดเด่นดูดี แบบมีความเท่อยู่ในสัญชาตญาณ

ดังนั้นเสื้อผ้าลำลองของบอนด์จึงถูกเลือกให้มีรูปทรงแบบพอดีตัว แต่หลวมกว่าชุดสูทที่บอนด์ใส่เป็นประจำรูปทรงพอดีตัวเพื่ออวดรูปร่างสมส่วนที่เป็นเสน่ห์ส่วนตัวของเจมส์ บอนด์และทำให้หลวมกว่าชุดสูทเพื่อให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศเขตร้อนชื้นของจาเมกา และเสื้อผ้าลำลองต้องไม่เน้นลวดลายหรือรายละเอียดในการออกแบบ มาจากไอเดียของการรักษาความลึกลับ เหมือนแอบพรางตัวอยู่ของสายลับ แม้จะเป็นช่วงพักร้อนก็ตาม

เบื้องหลังการทำงาน

เสื้อผ้าลำลองของบอนด์ต้องดูเหมือนบอนด์ไม่คิดเยอะ แต่นักออกแบบเครื่องแต่งกายต้องคิดเยอะเลยทีเดียว สุทธิรัตน์เล่าเบื้องหลังตั้งแต่ต้องคุยแนวคิดกับนักแสดงว่า

“เรา (สุทธิรัตน์กับนักแสดง) ได้คุยกันถึงการที่เขาจะต้องให้ความรู้สึกเหมือนเป็นบอนด์ในแบบที่แตกต่างออกไป(จากภาพสายลับ)โดยสิ้นเชิง บอนด์ที่คุณจะจำไม่ได้ บอนด์ที่ไม่จำเป็นจะต้องใส่สูทเนี้ยบ เขาจะต้องให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลาย เขาจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมของเขา แต่ต้องโดดเด่น ดังนั้น มันก็เลยเป็นสองเรื่องที่ค้านกันอยู่ค่ะ”

“เราอยากให้ทุกอย่างของเขา (เจมส์ บอนด์) ให้ความรู้สึกเหมือนว่า เขาหยิบชุดไหนใส่ได้ดูดี เพราะมีสไตล์อยู่ในสัญชาตญาณ แบบชุดนี้ไม่ได้คิดมากนัก มันเป็นไปเอง”

“โชคดีที่ไม่ว่าคุณจะให้แดเนียล เครก (ผู้รับบทเจมส์ บอนด์) สวมใส่อะไร ก็ดูดีไปหมด เราก็เลยแค่ต้องหาเสื้อผ้าที่คุณไม่คาดคิดว่าบอนด์ใส่เวลาใช้ชีวิตอยู่ที่ลอนดอนหรือเวลาออกไปลุยภารกิจในต่างประเทศ”

เสื้อผ้าฉบับสายลับผู้หญิง

โจทย์เสื้อผ้า : ผ่อนคลาย แต่เซ็กซี่และดูมีอำนาจ คือโจทย์การออกแบบเสื้อผ้าเพื่อสะท้อนตัวตน ของ โนมิ สายลับรหัส 00 (ดับเบิลโอ) ตัวละครสำคัญใน No Time To Die ที่จะมาเป็น ตัวแทนหญิงแกร่ง กล้า ดุดัน เข้าร่วมภารกิจต่อสู้กับผู้ร้ายร่วมกับเจมส์ บอนด์

เบื้องหลังการทำงาน

เพราะตัวละครใหม่เป็นสายลับฝีมือดีที่สุดของหน่วย MI6 เพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกับเจมส์ บอนด์ แต่เป็นผู้หญิง สุทธิรัตน์ตีโจทย์เสื้อผ้าของ โนมิ สายลับดับเบิลโอ ว่า “เสื้อผ้าไม่ได้คุมตัวตนของเธอ เธอต่างหากที่เป็นคนควบคุมมันและเสื้อผ้าก็คือส่วนขยายของความเป็นตัวตนของเธอ ความสง่างามและความมีอำนาจ”

ลาชานา ลินช์ (Lashana Lynch) นักแสดงผู้รับบทเป็น โนมิสายลับรหัส 00 เล่าถึงการทำงานกับสุทธิรัตน์ในการออกแบบเครื่องแต่งกายให้สายลับผู้หญิงว่า “อะไรจะเป็นสิ่งที่เป็นตัวแทนโนมิได้เต็มที่ที่สุดล่ะคะ อะไรที่จะทำให้เธอรู้สึกผ่อนคลาย แต่ก็ยังทำให้เธอรู้สึกเซ็กซี่และมีอำนาจสุทธิรัตน์มีวิธีในการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวคุณในทันที เธออ่านคนได้ง่ายดายและรวดเร็วมากๆ และเธอก็ทำงานกับทุกๆ ส่วนในร่างกายฉันค่ะ”

ผู้ร้าย ทำไมต้องใส่หน้ากาก

โจทย์เสื้อผ้า : เรียบง่าย แต่มีนัยบ่งบอกถึงความหรูหราหรือลึกลับ สะท้อนความเป็นนักล่าบุคลิกน่ากลัว เงียบสงบหรืออาจดูก้าวร้าวได้ สะท้อนอารมณ์หลากหลายของผู้ร้ายคนใหม่ ซึ่งก็คือ ซาฟิน เขาเปิดตัวในชุดนักล่าสัตว์ และสวมหน้ากากโนห์ แรงบันดาลใจจากหน้ากากของนักแสดงละครโนห์ในญี่ปุ่น

ตัวละคร ซาฟิน (แสดงโดย รามี มาเลค (Rami Malek)) ศัตรูคนล่าสุดของบอนด์ เป็นตัวละครใหม่ แต่ต้องวัดรอยของบรรดาตัวละครผู้ร้ายในหนังเจมส์ บอนด์ 24 เรื่องที่ผ่านมา ซึ่งล้วนเป็นไอคอนตัวร้ายและถูกเอาไปล้อเลียนมากมาย

เบื้องหลังการทำงาน

วิธีคิดตั้งต้นของการออกแบบเครื่องแต่งกายของผู้ร้ายในหนังบอนด์ตอนที่ 25 สุทธิรัตน์บอกว่า

“พวกเขา (ผู้ร้ายในหนังบอนด์ตอนก่อนๆ) กลายเป็นไอคอน และพวกเขาก็ถูกทำเป็นภาพล้อเลียนด้วยซ้ำไปค่ะแต่มันก็มีอะไรบางอย่างที่เหมือนๆ กันในตัวพวกเขา ที่ฉันอยากจะแสดงความเคารพมันน่ะค่ะ ประเด็นเกี่ยวกับหน้ากากโนห์คือมันไร้ความรู้สึกแต่มันสามารถสะท้อนถึงอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไปได้ โดยอาศัยลักษณะการเคลื่อนไหวของนักแสดงและการใช้แสง มันอาจจะน่ากลัว เงียบสงบหรืออาจดูก้าวร้าวก็ได้ และคำอธิบายทั้งสามคำนั้นก็เป็นสิ่งที่เราอยากให้ซาฟินเป็นพอดีเลยค่ะ”

No Time To Die

สาวบอนด์ สวยหรูเข้าถึงได้

โจทย์เสื้อผ้า : เรียบง่าย มีความเป็นผู้หญิง หรูแต่ดูเข้าถึงได้ คือโจทย์หลักของเสื้อผ้าฉบับสาวบอนด์ หรือตัวละครหญิงสาวที่เป็นนางเอกดึงดูดใจเจมส์ บอนด์ ในภาพยนตร์แต่ละตอนนั้นไม่ซ้ำกัน และอาจจะมีมากกว่า 1 คน แต่สำหรับใน No Time To Die สาวบอนด์เป็นคนเดิมจากภาพยนตร์เรื่องที่แล้ว (Spectre ค.ศ.2015) คือตัวละครสัญชาติฝรั่งเศสที่ชื่อ แมดเดอลีนสวอนน์อาชีพนักจิตวิทยา เธอทั้งสวยทั้งฉลาด แถมเป็นตัวละครที่มีปมพัวพันกับบอนด์อีก เพราะพ่อของเธอคือมือสังหารในตอนก่อน และตอนนี้ก็จะเปิดปมเรื่องแม่ของเธอเพิ่มมาอีก

เบื้องหลังการทำงาน

เลอา แซดู (Léa Seydoux) นักแสดงหญิงชาวฝรั่งเศส ผู้รับบทแมดเดอลีน สวอนน์ เล่าเบื้องหลังการทำงานกับสุทธิรัตน์ว่า

 “เราอยากได้ชุดที่ดูคลาสสิกไม่เคยตกยุคสำหรับตัวละครแมดเดอลีน แต่ในขณะเดียวกันก็อยากให้เป็นเสื้อผ้าที่เรียบง่าย มีความเป็นผู้หญิง หรูหรา แต่ก็ไม่มากเกินไป มันจะต้องเรียบง่ายในแบบที่ผู้หญิงทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ และสุทธิรัตน์ก็เข้าใจเรื่องนั้นจริงๆ ค่ะ”

No Time To Die

เกี่ยวกับผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย “สุทธิรัตน์ แอนน์ ลาลาภ”

สุทธิรัตน์ แอนน์ ลาลาภนักออกแบบเครื่องแต่งกาย เชื้อชาติไทย สัญชาติอเมริกัน เกิด ค.ศ. 1971 ที่รัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา สุทธิรัตน์เข้าเรียนด้านสตูดิโออาร์ตที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก่อนจะจบการศึกษาระดับปริญญาโทจาก เยล สกูล ออฟ ดรามา

ผลงานเด่นของเธอมีมากมาย ตั้งแต่ออกแบบการสร้าง งานออกแบบเครื่องแต่งกาย ไปจนถึงงานกำกับศิลป์ในสายงานภาพยนตร์และซีรีส์ทางโทรทัศน์ รวมถึงงานพิธีเปิดโอลิมปิกปี 2012 เมื่อครั้งที่ลอนดอนเป็นเจ้าภาพ สุทธิรัตน์ได้มีโอกาสออกแบบเครื่องแต่งกายในพิธีเปิด นอกจากนี้เธอยังมีผลงานออกแบบเครื่องแต่งกายให้ละครเวทีบรอดเวย์เรื่อง Straight White Men, Waitress, Of Mice and Menไปจนถึงละครเวที Macbeth ที่แอลเอ โอเปรา (LA Opera) และละครเวที Frankenstein ที่รอยัล เนชันแนล เธียเตอร์ (RoyalNational Theatre) ในกรุงลอนดอน พร้อมกันนั้นเธอยังทำหน้าที่เป็นผู้กำกับศิลป์ให้ภาพยนตร์เรื่อง The Namesake และ My Sassy Girl เวอร์ชันฮอลลีวูด

No Time To Die
สุทธิรัตน์ ถ่ายที่ LA Opera (ภาพ : LA Opera)

สุทธิรัตน์มีเกียรติประวัติได้รับรางวัลสมาพันธ์ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยมปี 2009 ในสาขาภาพยนตร์ร่วมสมัย รางวัลเอ็มมี อวอร์ด (Emmy Awards)สำหรับผลงานทางโทรทัศน์ในปี 2012 และรางวัลไอรีน ชาราฟฟ์ ยังค์ มาสเตอร์ อวอร์ด(Irene Sharaff Young Master Award) ในปี 2016

การได้ร่วมงานกับผู้กำกับ แดนนี บอยล์(Danny Boyle)เจ้าของผลงานรางวัลออสการ์ มาตั้งแต่เรื่องThe Beach, Slumdog Millionaire, Steve Jobs, 127 Hours ในฐานะผู้ออกแบบงานสร้างและผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย รวมถึงงานโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 ได้ปูทางให้สุทธิรัตน์เข้ามาสู่โปรเจกต์หนังเจมส์ บอนด์ เริ่มจากการที่ แดนนี บอยล์ถูกวางตัวเป็นผู้กำกับ เจมส์ บอนด์ ตอนที่ 25 แม้ว่าในภายหลังต้องเปลี่ยนผู้กำกับภาพยนตร์ แต่ทางผู้อำนวยการสร้างและแดเนียล เครก นักแสดงนำ ก็ยืนยันที่จะให้สุทธิรัตน์รับหน้าที่ออกแบบเครื่องแต่งกายให้ No Time To Die

ใน No Time To Dieสุทธิรัตน์ยังได้ร่วมงานกับ มาร์ก ทิลเดสลีย์ (Mark Tildesley) ที่เคยร่วมกันออกแบบเสื้อผ้าและงานศิลปะชุดที่เรียกว่า “dove bikes” ซึ่งใช้ในงานพิธีเปิดโอลิมปิกฤดูร้อน 2012 (แดนนี บอยล์ เป็นผู้อำนวยการสร้างสรรค์งานพิธีเปิด) ส่งผลให้สุทธิรัตน์ได้รับการเลือกจากลอนดอน อีฟนิง สแตนดาร์ด (London Evening Standard) สื่อมวลชนกระแสหลักของอังกฤษ ให้ติดทำเนียบ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลในลอนดอนปี 2012

นอกจาก No Time To Die แล้วผลงานล่าสุดของเธอยังรวมถึงงานออกแบบเสื้อผ้าในเรื่อง Obi-Wan Kenobi ซีรีส์ใหม่ทางดิสนีย์ พลัส เล่าเรื่องราวของ โอบีวัน เคโนบี ปรมาจารย์ของอัศวินเจได เรื่องราวภาคแยกจากมหากาพย์ Star Wars

No Time To Die

เกี่ยวกับภาพยนตร์ No Time To Die

No Time To Dieกำกับโดย แครี โจจิ ฟุกุนากะ (Cary Joji Fukunaga)บทภาพยนตร์โดย นีล เพอร์วิส (Neal Purvis)และโรเบิร์ต เว้ด(Robert Wade)แครี โจจิ ฟุกุนากะ และฟีบีวอลเลอร์-บริดจ์(Phoebe Waller-Bridge)เป็นภาพยนตร์ลำดับที่25 ในหนังชุดเรื่องราวของเจมส์ บอนด์หรือสายลับรหัส 007 สังกัดหน่วยงานสืบราชการลับ MI6 (เอ็มไอซิก) ของประเทศอังกฤษดัดแปลงเค้าโครงและอิงโครงสร้างตัวละครสายลับจากนิยายของ เอียน เฟลมมิง

ภาพยนตร์ที่เรียกว่าเป็นหนังชุดเจมส์ บอนด์ สร้างมาถึง 25 เรื่อง เริ่มจาก Dr. No (ออกฉาย ค.ศ.1962) อำนวยการผลิตโดย Eon Productions Ltd. ของตระกูลบรอกโคลี ซึ่งปัจจุบัน บาร์บารา บรอกโคลีทายาทของตระกูลบรอกโคลียังคงสืบทอดกิจการของตระกูล โดยยังคงเป็นหนึ่งในผู้อำนวยการสร้างหลักของภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ตอนล่าสุด โดยเนื้อเรื่องในภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ ตอนล่าสุดนี้ เป็นงานสร้างสรรค์ร่วมกันของ นีล เพอร์วิส, โรเบิร์ต เว้ด และแครี โจจิ ฟุกุนากะ (ผู้กำกับภาพยนตร์) โดยอิงจากโครงสร้างตัวละครเจมส์ บอนด์และเรื่องราวจากนิยายของเอียน เฟลมมิงและภาพยนตร์ 24 เรื่อง

เรตภาพยนตร์ ตามกฎหมายจัดเรตภาพยนตร์ในสหรัฐอเมริกา จัดให้ No Time To Dieเป็นภาพยนตร์ เรตPG-13 หมายถึง ผู้ชมที่มีอายุไม่เกิน 13 ปี ควรมีผู้ปกครองแนะนำ เนื่องจากเนื้อหาและภาพในภาพยนตร์มีฉากที่แสดงความรุนแรง การต่อสู้และภาพที่อาจมีผลกระทบกระเทือนใจ รวมถึงการใช้ภาษาหยาบคายเล็กน้อยและเนื้อหาที่มีการชี้นำ

เรื่องย่อ No Time To Die เล่าถึง เจมส์ บอนด์ สายลับรหัส 007 แห่ง MI6ได้ปลดประจำการ ไปใช้ชีวิตสุขสงบในจาเมกา ประเทศในหมู่เกาะแถบทะเลแคริบเบียน แต่ความสงบสุขของเขาก็ช่างแสนสั้น เมื่อเฟลิกซ์ ไลเตอร์ เพื่อนเก่าของเขาจากซีไอเอ (หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกา) ปรากฏตัวขึ้นเพื่อขอความช่วยเหลือ ภารกิจในการช่วยเหลือนักวิทยาศาสตร์ที่ถูกลักพาตัวไปกลับยุ่งยากกว่าที่คาดคิดไว้ ทำให้บอนด์ต้องไล่ล่าวายร้ายลึกลับที่มีเทคโนโลยีใหม่เป็นอาวุธ

สำหรับ แดเนียล เครก นักแสดงชาวอังกฤษ เขารับบท เจมส์ บอนด์ ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 5 เครกเริ่มรับบทนี้ใน Casino Royale (2006)Quantum of Solace (2008)Skyfall (2012)และSpectre (2015)

Fact File

  • No Time To Die ภาพยนตร์เรื่องที่25 ในหนังชุดเรื่องราวของเจมส์ บอนด์หรือสายลับรหัส 007 สังกัดหน่วยงานสืบราชการลับ MI6 (เอ็มไอซิก) ของประเทศอังกฤษ No Time To Die กำกับภาพยนตร์โดย แครี โจจิ ฟุกุนากะ ดัดแปลงเค้าโครงและอิงโครงสร้างตัวละครสายลับจากนิยายของ เอียน เฟลมมิง
  • No Time To Die เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ประเทศไทย 7 ตุลาคม 2564

ภาพ : UNITED INTERNATIONAL PICTURE (THAILAND)

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป