Koong.bg ศิลปินนักวาดคอมมิคที่สื่อสารความรัก LGBTQ+ ด้วยความธรรมดาแต่แสนพิเศษ
Faces

Koong.bg ศิลปินนักวาดคอมมิคที่สื่อสารความรัก LGBTQ+ ด้วยความธรรมดาแต่แสนพิเศษ

Focus
  • Koong.bg คือนามปากกาของ บุ๊ง-รักษิต จิตบูรณะชาติ Illustrator ที่เริ่มต้นเส้นทางงานวาดจากงานแฟนอาร์ต ก่อนที่ Heartstopper ผลงานซีรีส์จากปลายปากกาของ Alice Oseman ชาวอังกฤษจะส่งแรงบันดาลใจให้เกิดออริจินัลคาแรคเตอร์อย่าง แดนและคราม
  • Pointillism พวกเราคือเหล่าเม็ดสี คือชื่อเรื่องบน Webtoon ที่ถ่ายทอดเรื่องราวโมเมนต์แสนพิเศษของแดนและครามเอาไว้ โดยที่บุ๊งตั้งใจว่าในอนาคตจะมีเม็ดสีอื่นๆ เข้ามาเติมเต็มให้เป็นภาพที่สมบูรณ์ขึ้น

“สวัสดีครับชื่อบุ๊งนะครับ เราวาดคอมมิค OC (Original Character) ครับชื่อ Pointillism ลง Webtoon ครับ เราชอบพวกโมเม้นเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในวันธรรมดา มันดูพิเศษในความธรรมดาของมัน เลยอยาก Snap จังหวะนั้นไว้ ตอนนี้มี 2 ตัวละครคือ แดนกับคราม แต่กำลังจะเพิ่มเพื่อนๆ น้องแล้ว ฝากติดตามด้วยนะครับ” ข้อความแนะนำตัวขนาดไม่เกิน 280 ตัวอักษร ปรากฏขึ้นบนหน้าฟีดทวิตเตอร์พร้อมแฮชแท็ก #เมคเฟรนนักวาด ซึ่งนั่นก็นำพาให้เรา รวมถึงผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายคนได้รู้จักกับแดนและคราม ในฉบับย่นย่อ ก่อนที่มวลความอบอุ่นของภาพจะพาเราไปดูต่อด้วยความอยากรู้ว่า Koong.bg สแนปโมเมนต์และเรื่องราวแบบไหนเอาไว้บน Webtoon อีกบ้าง

Koong.bg
Pointillism ตอน Sleepy Head

นอกจากโมเมนต์ที่จับจังหวะความรักของแดนและครามไว้อย่างงดงาม เราก็ได้รู้ว่าเจ้าของนามปากกาคือ บุ๊ง-รักษิต จิตบูรณะชาติ สถาปนิกที่หยิบชื่อเล่นมารวมกับชื่อแซ่ และนิยามตัวเองว่าเป็น Part Time Thai Artist จากคนที่วาดภาพเป็นงานอดิเรกและรู้สึกห่างไกลจากคำว่า ศิลปินนักวาดการ์ตูน ปัจจุบันเขามีผู้ติดตามกว่า 70,000 คนบนอินสตาแกรม และวันนี้เราก็ได้มาพูดคุยกัน

Koong.bg
บุ๊ง-รักษิต จิตบูรณะชาติ

“ในตอนแรกเรายังทำเป็นงานอดิเรก แต่พอตอนนี้จะเรียกว่า Koong.bg เป็นอีกงานหนึ่งก็ได้ เพราะเราเริ่มมีฐานแฟนคลับ เริ่มมีแพลตฟอร์มที่เปิดให้คนมาช่วยสนับสนุนเรา พอมันจริงจังขนาดนั้นแล้ว เราก็ไม่ได้อยากคิดว่ามันเป็นแค่งานอดิเรก เพราะคนที่เขาติดตามหรือจ่ายเงินให้เรา เขาคาดหวังแค่งานอดิเรกไม่พอ เวลาเราทำงานออกไปเลยอยากให้เขารู้สึกว่าที่เราทำเราจริงจังและคิดมาแล้ว ถ้าเกิดกลับไปดูงานตอนที่เพิ่งสร้างคาแรกเตอร์เส้นจะแอบรกๆ เพราะเราไม่ได้จริงจังมาก แต่ช่วงหลังๆ เราพยายามเคลียร์เส้นให้สะอาดขึ้น พยายามให้ซูมดูแล้วไม่มีจุดบอด” บุ๊งพูดถึงผลงานดิจิทัลอาร์ตของตัวเอง

Boy meets boy. Boys become friends. Boys fall in love.

น่าจะเหมือนกับนักวาดอีกหลายคน บุ๊งเริ่มต้นเส้นทาง Illustrator จากการเสพการ์ตูนในวัยเด็ก แล้วเริ่มต้นทดลองหัดวาด ซึ่งกว่าจะมาเป็นลายเส้นและสไตล์งานที่ชัดเจนมากขึ้นแบบ Koong.bg ช่วงแรกๆ เขาเริ่มทดลองเผยแพร่ผลงานลงเพจ (ที่ไม่ได้บอกใคร) ด้วยภาพวาดแนวแฟนอาร์ตเพื่อผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน ก่อนที่ซีรีส์ Heartstopper (ค.ศ. 2022) บน Netflix ซึ่งพัฒนามาจากกราฟิกโนเวลของ Alice Oseman นักเขียนและนักวาดชาวอังกฤษ จะเข้ามาจุดประกายให้เกิดออริจินัลคาแรกเตอร์อย่างแดนและครามขึ้นมา

Heart Stopper
Heartstopper

“แดนและครามเริ่มมาจากวันที่เราได้ดู Heartstopper เรื่องนี้เป็นซีรีส์ในดวงใจของจริง ให้เลยอันดับ 1 นัมเบอร์วัน (เน้นเสียง) เราดูไปหกเจ็ดรอบ ชอบมาก ชอบจริงๆ  คือมีสิ่งหนึ่งที่ตั้งแต่เกิดมาพูดคำนี้ได้เลยว่าดูเรื่องไหนเราก็ไม่เคยรู้สึกถึงการได้รับการ represent อยู่ในสื่อนั้นๆ เราเป็น LGBTQ+ แล้วเราเคยเสพสื่อภาพยนตร์ ซีรีส์ต่างๆ ไม่ว่าจะไทยหรือต่างประเทศก็ตาม ไม่ว่าจะกี่เรื่องเราก็ไม่เคยรู้สึกว่าถูก represent อยู่ในนั้น แม้จะเป็นหนัง LGBTQ+ ก็ตาม

“สำหรับ Heart Stopper คนเขียนเขาคิดมาค่อนข้างกลม ชื่อตอนทั้ง 8 ตอนก็มีคอนเซปต์ที่ค่อนข้างนำเสนอภาพ queer romance ตั้งแต่ meet love kiss ขั้นตอนความรักอะไรแบบนั้น… ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเราถึงชอบเรื่องนี้มาก แต่อาจเป็นเพราะหนึ่ง เราเห็นว่าความรักของ LGBTQ+ มันสวยงามได้ง่ายๆ ไม่ได้จำเป็นจะต้อง โห ดราม่ามาก ทะเลาะตบตี มีอารมณ์รุนแรงหรือเซ็กซ์กระหึ่ม  มันอาจจะเป็นแค่ความเรียบง่ายแบบนั้น และเรื่องของการเปิดตัว เขาทำไว้ได้ดี เขาทำให้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องง่ายมากเลยกับการที่เราจะออกมาบอกว่าเราเป็นแบบนี้ และพ่อแม่ที่เข้าใจก็มีอยู่จริง มันไม่จำเป็นต้องทำให้เห็นถึงความเจ็บปวดของการไม่ยอมรับ คือมันมีแหละ แต่เนื้อหาแบบนั้นมันเยอะแลัว แค่อยากเห็นว่าเด็กๆ ที่เป็น LGBTQ+ มีความรักที่แฮปปี้บ้างก็ได้ เราไม่ค่อยเห็นความสุขของคนกลุ่มนี้ในสื่อแค่นั้นเอง” บุ๊งอธิบายถึงจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจด้วยน้ำเสียงและตาเป็นประกาย

Koong.bg

Consistency is a Key

จากอินสตาแกรมที่เป็นช่องทางเผยแพร่ผลงานหลัก ปัจจุบัน Koong.bg มีช่องทางให้ติดตามมากขึ้นทั้ง Twitter, Patreon, Webtoon ทั้งเวอร์ชันภาษาไทยและภาษาอังกฤษ รวมถึงสินค้าของสะสม อาทิ สติกเกอร์ โปสเตอร์ ที่ผลิตออกมาจำหน่าย จริงอย่างที่เห็น ปัจจุบันแพลตฟอร์มออนไลน์เปรียบได้กับช่องทางหลักที่ศิลปินรุ่นใหม่ได้เผยแพร่ผลงานออกไปสู่วงกว้างและกลายเป็นที่รู้จัก แต่ขณะเดียวกันสำหรับบุ๊ง การเข้าถึงง่ายก็มีทั้งด้านดีและไม่ดี

“เมื่อก่อนเราไม่ค่อยกล้าลงและเขียนไปด้วยความลังเลมากๆ จนเราเจอพี่ที่เป็นอาร์ติสเหมือนกัน เขาก็บอกว่าทำไปเลยแบบที่ลังเลอยู่นั่นแหละ แล้วเราจะรู้เองว่าทำได้ดีหรือไม่ดีแค่ไหน เวลาเราเห็นคนไลก์เยอะขึ้น เราก็ค่อนข้างมั่นใจมากขึ้น จริงๆ พูดแบบนี้มันก็ทุนนิยมเหมือนกันเนอะ แต่มันก็มีทั้งแง่บวกและแง่ลบที่ตามมา ในอินสตาแกรมจะเห็นว่าอาร์ติสหลายคนเขาปิดยอดไลก์ แต่ก่อนเราก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอกว่าทำไม แต่ตอนนี้เราเริ่มเข้าใจแล้วว่า มันเหมือนเราโดนตัดสินในผลงานทุกครั้งว่ารูปนี้ไลก์เยอะหรือไลก์น้อย เราเคยมีรูปในไอจีที่ยอดไลก์สามแสนกว่า ตอนนั้นช็อกมากเลยนะ มีคนฟอลประมาณสองหมื่นคนแต่คนไลก์ถึงสามแสน คือมันทั้งดีใจด้วยแต่ก็กดดันมากขึ้นด้วยว่าหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งก็เป็นอย่างที่คิด หลังจากนั้นก็ไม่เคยไปถึงขั้นนั้นแล้ว เลยทำให้รู้ว่า เออ มันเป็นช่วงจังหวะเวลา อัลกอริทึมหรืออะไรก็แล้วแต่ คืออย่างน้อยก็ได้รู้ว่าเราไม่ควรตัดสินด้วยยอดไลก์เพียงอย่างเดียว 

“จริงๆ มีคอมเมนต์และข้อความเยอะมาก ทั้งดีบ้าง ไม่ดีก็เยอะ ส่งรูปมาด่าก็มี ยิ่งรูปที่ไลก์เยอะไปดูคอมเมนต์ได้เลย 50 เปอร์เซ็นต์ เหยียดหมด ซึ่งตอนนี้เราไม่ติดอะไร เมื่อก่อนเราอาจจะด่ากลับบ้าง หลังๆ ขี้เกียจแล้ว คอมเมนต์ดีๆ ก็มีเยอะ เขามาเล่าชีวิตให้ฟังทั้งเรื่องที่ดีและเล่าให้ฟังว่าชีวิตเขาอยู่ต่างประเทศซึ่งเป็นประเทศที่ homophobic (เกลียดชังคนรักเพศเดียวกัน) มากเลย ไม่สามารถเปิดเผยกับใครได้ ได้เห็นงานเราแล้วเขารู้สึกฟูลฟีล นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่ายังอยากทำงานนี้ต่อไป”

Koong.bg

Pointillismพวกเราคือเหล่าเม็ดสี

เรื่องราวแต่ละช่วงเวลาของเม็ดสีแต่ละเม็ดที่ได้มาจุดข้างๆ กัน แต่ละคนต่างมีสีของตัวเองแสดงถึงตัวตน ความรัก ความชอบในสิ่งต่างๆ เราไม่จำเป็นต้องชอบในสิ่งเดียวกันถึงจะรักกัน แต่เรารักในความต่างของกันและกัน…

ข้างต้นคือคำอธิบายที่ระบุอยู่ข้างๆ บทตอนของ Webtoon ที่ชื่อว่า Pointillism พวกเราคือเหล่าเม็ดสี ตัวละครหลักของเรื่องคือ แดน หนุ่มหุ่นหมีใส่หมวกสีแดง และ คราม หนุ่มแว่น สองนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมที่ได้มาอยู่ข้างกันในชีวิตประจำวันแสนเรียบง่าย โดยที่ระหว่างทางมีเรื่องราวตรึงใจเกิดขึ้นบางเวลา

“Pointillism เป็นเรื่องของโมเมนต์ ชื่อ Pointillism จริงๆ มาจากมูฟเมนต์หนึ่งในช่วงงานศิลปะสมัยก่อนคือ Neo Impressionism เป็นรูปแบบหนึ่งของการสร้างงานศิลปะ งานศิลปะที่ออกมาจะเป็นในแง่ของการจับจังหวะประทับใจ เช่น รูปที่ดังๆ จะเป็นรูปคนยืนอยู่ริมแม่น้ำ ชื่อ A Sunday Afternoon on the Island of La Grande Jatte ของ จอร์จส์ เซอราต์ (Georges Seurat) เทคนิคที่เขาใช้คือการจุดเม็ดสี ปกติงานอาร์ตจะเป็นการผสมสีลงสี แต่เทคนิคของภาพนี้คือการจุดเม็ดสีแต่ละเม็ดสีลงไปแล้วให้ตาของเราผสมสีเอง สมมุติว่าเราอยากได้สีส้ม เราจะจุดสีเหลืองกับสีแดงข้างๆ กัน เวลามองจะเห็นไกลๆ จะกลายเป็นสีส้ม สิ่งนี้เหมือนสิ่งที่เราตีความออกมา คือแต่ละคนคือเม็ดสีเม็ดหนึ่งที่เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้อยู่ด้วยกันได้ แต่ในแต่ละจุดที่เม็ดสีมาอยู่ด้วยกันมันจะทำให้เกิดการสร้างสีใหม่ๆ เกิดขึ้นในบริเวณนั้น เหมือนกับสังคมเรา เราไม่ต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อที่จะเป็นสีเหมือนคนอื่น แต่เราอยู่ด้วยกันแล้วกลายเป็นภาพที่สมบูรณ์ได้” 

Pointillism พวกเราคือเหล่าเม็ดสี
Pointillism ตอน Gamer

สำหรับคาแรกเตอร์ของแดนและครามนั้นบุ๊งขยายความว่า “แดนและครามจะเป็นเด็กผู้ชายตัวเล็กและเด็กผู้ชายตัวใหญ่ที่ปกติอาจจะไม่ค่อยมี ตั้งแต่เราทำมา สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่านี่แหละเราทำถูกแล้ว เราวางคาแรคเตอร์แบบนี้ถูกแล้ว คือการที่มีคนส่งข้อความมาเยอะมากเลยว่า นี่คือเขาเลย นี่คือคู่ของเขา เขาไม่เคยรู้สึกว่ามีคู่ไหนเหมือนเขาเท่านี้อีกแล้ว เพราะเวลาเราเสพงานอาร์ต ถ้าเป็นแนว LGBTQ+ ส่วนใหญ่จะเป็นคู่หมี-หมี หรือว่าคนผอม-ผอมคู่กันมากกว่า”

มาถึงตรงนี้ผู้ชมผู้อ่านอย่างเราเราอาจจะเริ่มมองเห็นเม็ดสีต่างๆ จากแววตาและสมองของบุ๊งได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  “เม็ดสีในที่นี้ ในความหมายของเราเลยเป็นตัวละครที่จะเข้ามาเล่าเรื่องราวต่างๆ ซึ่งตอนนี้มันยังไม่ตรงปกนิดหนึ่งตรงที่ว่า เราเพิ่งมีตัวละครสองตัวเอง นี่แค่ 1 เปอร์เซ็นต์เองมั้ง มันเขินเหมือนกันนะที่จะบอกว่าชื่อเรื่องเราคือ Pointillism เรายังต้องทำงานอีกเยอะกว่าจะสามารถเรียกชื่อนั้นได้เต็มปาก เราคิดว่าจะเพิ่มตัวละครขึ้นเรื่อยๆ เป้าหมายที่คิดไว้คืออยาก represent คนอื่นๆ ให้มากขึ้น เลยคิดว่านี่จะเป็นเนื้อหาที่จะเกิดขึ้นต่อไป” 

บุ๊งเล่าต่อถึงความตั้งใจพร้อมกับย้ำอีกครั้งว่าสิ่งที่ทำเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ซึ่งเราก็หวังว่าวันหนึ่งภาพ Pointillism ที่ศิลปินวาดไว้จะค่อยๆ ถูกเติมเต็มเป็นภาพที่แตกต่างแต่กลมเกลียว ไปพร้อมกับเรื่องราวเล็กๆ ในความสัมพันธ์ที่รอให้ผู้อ่านติดตามทุกสัปดาห์…และแน่นอนว่าเราคือหนึ่งในผู้อ่านที่ตั้งตารอแต่ละเม็ดสีของ Pointillism ในทุกสัปดาห์เช่นกัน

Fact File

ขอบคุณสถานที่ถ่ายภาพ : The Salil Hotel Sukhumvit 57 โทร.02-114-3536 www.thesalilhotels.com/sukhumvit57