Love Letters : จดหมายรักลับ ๆ ของ ไอน์สไตน์ กับสายลับโซเวียต
Faces

Love Letters : จดหมายรักลับ ๆ ของ ไอน์สไตน์ กับสายลับโซเวียต

Focus
  • อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ได้พบกับรักซ้อนที่ต้องซ่อนเป็นความลับกับ นางมาร์การิตา โคเนนโควา สาวโซเวียตอายุ 39 ปี สาวสวยผู้ติดตามสามี เซอร์กี โคเนนคอฟ ประติมากรชื่อดัง
  • นางมาร์การิตา โคเนนโควา ย้ายมาสหรัฐอเมริกา ในฐานะภรรยาประติมากรชื่อดัง ฉากหน้าเธอเป็นสาวสังคม แต่ฉากหลังเธอเป็นหนึ่งในสายลับโซเวียตยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ เกิดที่เยอรมนีเมื่อ ค.ศ. 1879 และจบการศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์ระดับปริญญาเอกเมื่อ ค.ศ.1905 เขาได้ประกาศผลงานฉบับสมบูรณ์ว่าด้วยการค้นพบ ทฤษฎีสัมพัทธภาพ ในปี ค.ศ. 1915 ก่อนจะย้ายมารับตำแหน่งศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยพรินสตัน (Princeton) รัฐนิวเจอร์ซีย์ สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1933 นอกจากทฤษฎีพลิกโลกแล้วเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของ ไอน์สไตน์ ก็เป็นสิ่งที่ทั่วโลกจับตามองโดยเฉพาะการขุดคุ้ยเรื่องรักลับ ๆ ของเขา

ก่อนอื่นต้องบอกว่าสมัยที่โลกยังไม่สามารถเชื่อมกันรวดเร็วเป็นวินาทีต่อวินาที จดหมาย คือเครื่องมือสื่อสารที่ทุกคนต้องใช้ อย่างไอน์สไตน์เองก็มีจดหมายที่เก็บสะสมไว้เยอะมาก เช่นครั้งหนึ่งมหาวิทยาลัยฮิบรูเคยนำจดหมายลายมือไอน์สไตน์ราว 3,500 หน้ามาแสดงและประมาณ 1,400 ฉบับ เป็นจดหมายที่เขียนถึงภรรยาคนแรกของเขา Mileva Marić

ไอน์สไตน์
ไอน์สไตล์ และ เอลซา

ค.ศ.1935 ตอนที่ ไอน์สไตน์ อายุ 56 ปี และยังคงดำรงสถานะคู่ชีวิตกับเอลซา (Elsa Löwenthal) ภรรยาคนที่สองซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของเขาเอง (หลังจากหย่าร้างกับคนแรก) ช่วงนั้นไอน์สไตน์กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นศึกษาการสร้างระเบิดปรมาณูอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และปีนั้นเองที่เขาได้พบกับรักซ้อนที่ต้องซ่อนเป็นความลับไว้เมื่อเขาได้พบกับ นางมาร์การิตา โคเนนโควา (Margarita Konenkova) สาวโซเวียตอายุ 39 ปี สาวสวยผู้ติดตามสามี เซอร์กี โคเนนคอฟ (Sergei Konenkov) ประติมากรชื่อดัง ผู้ได้รับคำชื่นชมในฝีมือว่าเป็น ออกุสต์ โรแดงฉบับรัสเซีย ซึ่งได้มาทำงานอยู่ที่สหรัฐอเมริการะหว่างปี ค.ศ.1920-1945

ค.ศ.1935 มหาวิทยาลัยพรินสตัน (Princeton University) ได้ขอให้ เซอร์กี โคเนนคอฟ ปั้นรูปไอน์สไตน์ขนาดย่อม เพื่อเชิดชูเกียรติศาสตราจารย์คนดังและนั่นก็เป็นจุดเริ่มให้ ไอน์สไตน์ ได้รู้จักกับ โคเนนโควา ภรรยาของศิลปิน และหลังจากนั้นหนึ่งปี เอลซา ภรรยาคนที่สองของไอน์สไตน์ก็เสียชีวิตลง

ไอน์สไตน์ และ มาร์การิตา โคเนนโควา (ภาพ : historycollection.com)

ค.ศ. 1939 ความสัมพันธ์ของ ไอน์สไตน์ กับสาวรัสเซียแน่นแฟ้นขึ้น ระหว่างที่เซอร์กี สามีของเธอปักหลักทำงานอยู่ที่เมืองชิคาโก โคเนนโควาก็หาเหตุให้หมอเขียนจดหมายรับรองว่า เธอจำเป็นต้องใช้เวลาอยู่แถว ๆ ทะเลสาบซาราแนค นิวยอร์กซึ่งอากาศดีต่อสุขภาพเธอมากกว่าอยู่ชิคาโก เพื่อจะได้อยู่ใกล้ ๆ กับไอน์สไตน์ ในแต่ละปีเธอใช้เวลาอยู่กับไอน์สไตน์หลายเดือน และมีชื่อเรียกเฉพาะของทั้งคู่ว่า อัลมาร์ ที่มาจาก อัลเบิร์ต + มาร์การิตา

นางมาร์การิตา โคเนนโควา ย้ายมาสหรัฐอเมริกา ในฐานะภรรยาประติมากรชื่อดัง ฉากหน้าเธอเป็นสาวสังคม ทำงานในตำแหน่ง เลขาธิการสมาคมการกุศลช่วยเหลือชาวรัสเซียในอเมริกา (the Russian Society for Relief ภายใต้การดูแลของ the American Society for Russian Relief Inc.) ที่มีคนชั้นสูงในสังคมอยู่ในสมาคมด้วย ทำให้เธอได้รับความสนใจจากสื่อต่าง ๆ บวกกับความสวยและกิจกรรมออกสังคมต่าง ๆ แต่ฉากหลังเธอเป็นหนึ่งในสายลับโซเวียตยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกส่งมาทำภารกิจสำคัญ คือ การแนะนำให้ไอน์สไตน์รู้จักกับ พาเวล มิไคลอฟ (Pavel Mikhailov) รองกงสุลโซเวียต ณ กรุงนิวยอร์ก ซึ่งเธอก็ทำได้สำเร็จ 

ไอน์สไตน์

ไอน์สไตน์ ได้พบกับรองกงสุลโซเวียตบ่อยครั้ง และภารกิจสำคัญสุดของสายลับโซเวียต คือ การล้วงความลับของการสร้างระเบิดปรมาณูของสหรัฐฯ โดยเฉพาะจากโปรเจกต์ชื่อ เดอะ แมนฮัตตัน โปรเจกต์ ซึ่ง โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (นักฟิสิกซ์บิดาของปรมณู) เป็นคนทำอยู่ แม้ว่าไอน์สไตน์จะไม่ได้รับผิดชอบหรือร่วมทำโปรเจกต์นี้โดยตรง แต่ก็อยู่แวดวงเดียวกับคนที่เกี่ยวข้องแม้จะไม่มีหลักฐานว่าล้วงสำเร็จหรือไม่แต่กลับมีคำบอกเล่าว่า โคเนนโควาได้รับความเกรงใจจากนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ยุคนั้นเป็นพิเศษ

พฤศจิกายน ค.ศ.1945 ถึง กรกฎาคม ค.ศ. 1946 หลังจากโคเนนโควาและสามีประติมากร ถูกเรียกตัวกลับกรุงมอสโก สหภาพโซเวียต ไอน์สไตน์ ได้เขียนจดหมายถึงโคเนนโควา และมีหลักฐานหลงเหลืออยู่ถึง 9 ฉบับ ไฮไลต์จากจดหมายรักของไอน์สไตน์ถึงสายลับสาวมีข้อความว่า “ถ้าคุณมีเวลา โปรดเขียนถึงผมให้เร็วที่สุด และประทับรอยจูบถึงผมแนบจดหมายมาด้วย” ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1945 เนื้อหาในจดหมายบรรยายความทรมานใจที่ต้องรอคอยจดหมายตอบกลับจากโคเนนโควาและยังพบข้อความ “ทุกสิ่งทุกอย่างในที่แห่งนี้ยังคงเตือนความทรงจำให้ผมคิดถึงคุณเสมอ” ในจดหมายที่ไอน์สไตน์เขียนถึงโคเนนโควาจากมหาวิทยาลัยพรินสตัน

แม้ใจความในจดหมายจะเป็นความลับส่วนตัวระหว่างคนทั้งคู่แต่ในปี ค.ศ.1998 จดหมายรักของไอน์สไตน์ถึงสายลับสาวรวม 9 ฉบับกลับถูกนำออกประมูลขาย หรืออย่างในปี ค.ศ.1992 หลานสาวคนหนึ่งของ ไอน์สไตน์ ก็ได้รวบรวมจดหมายรัก 48 ฉบับของไอน์สไตน์ที่เขียนถึงภรรยาคนแรก ( Mileva Marić ) ได้รับการรวมเล่มตีพิมพ์ในชื่อ Albert Einstein / Mileva Marić : The Love Letters เป็นจดหมายสมัยเริ่มจีบกันใหม่ ๆ ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยที่สวิตเซอร์แลนด์ ปี ค.ศ. 1897 จนถึงแต่งงานปี ค.ศ. 1903 ก่อนที่จะจบลงด้วยการหย่าร้างในปี ค.ศ. 1919 และหลังจากได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปี ค.ศ. 1921 ไอน์สไตน์ได้ยกเงินรางวัลให้อดีตภรรยาทันทีตามคำสัญญาที่ให้ไว้ในการแยกทางกัน (ที่มา : www.amazon.com)

ปี ค.ศ. 1995 อดีตหัวหน้าหน่วยสายลับโซเวียต Pavel Sudoplatov ได้เขียนหนังสือบันทึกความจำ และเปิดโปงว่า มาร์การิตา โคเนนโควา เป็นสายลับของโซเวียต แต่ไม่มีระบุว่าระหว่างที่โคเนนโควาสนิทสนมกับไอน์สไตน์นั้น เขารู้ว่าตัวตนที่แท้จริงของเธอหรือไม่

บทสรุปชีวิตรักของไอน์สไตน์นั้นผ่านมาทั้งโรแมนติกและความเศร้า รักแรกพบเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนอายุ 16 ปี เมื่อเขาตกหลุมรัก มารี วินเตเลอร์ สาวรุ่นพี่อายุ 17 ปีลูกสาวตระกูลวินเตเลอร์ ที่สวิตเซอร์แลนด์และเขาเขียนจดหมายรักถึงเธอในเดือนเมษายน ค.ศ.1896 ด้วยสำนวนที่ลึกล้ำว่า 

“ฉันไม่สนใจหญิงใดอื่นที่เคยทำให้ฉันใจเต้นมาก่อนแล้ว เธอมีความหมายต่อจิตวิญญานของฉันยิ่งกว่าใด ๆ ในโลกหล้าเคยมีมาก่อน”

แต่หลังจาก ไอน์สไตน์ไปเรียนมหาวิทยาลัยความรักก็จืดจาง ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1897 ไอน์สไตน์ก็ส่งจดหมายมาถึงแม่ของมารีเพื่อแจ้งข่าวขอยุติความสัมพันธ์ 

ช่วงเวลาคาบเกี่ยวในปี ค.ศ. 1897 ไอน์สไตน์ ก็เริ่มความรักครั้งใหม่กับ Mileva Marić เพื่อนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยในซูริค สวิตเซอร์แลนด์ Mileva อายุมากกว่าไอน์สไตน์ 2 ปี และมีความเฉลียวฉลาดไม่แพ้กัน ทั้งคู่จีบกันและรักกันอย่างหวานชื่น (ค.ศ. 1897-1903) จนแต่งงาน มีลูกชาย 2คน และลูกสาวที่เสียชีวิตตั้งแต่เป็นทารก 1 คน แต่ชีวิตคู่ก็จบลงด้วยการแยกกันอยู่และหย่าร้างในที่สุด

ความรักครั้งที่สามอย่างเป็นทางการของ ไอน์สไตน์ เกิดขึ้นกับ เอลซา ที่มีสถานะเป็นลูกพี่ลูกน้องของเขา ทั้งคู่แต่งงานกันแต่ระหว่างนั้นเขาก็มีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น รวมถึงสาวสังคมในเบอร์ลิน ที่ชื่อ Ethel Michanowski ซึ่งมีหลักฐานในจดหมายที่เขาเขียนถึงเอลซา หลังจากภรรยาจับได้ว่าเขาแอบมีชู้ด้วยคำอธิบายที่ว่า“คนเราควรทำอะไรที่พึงพอใจ ตราบใดที่ไม่ทำร้ายคนอื่น”

ชีวิตคู่ของเขากับเอลซาจบลงที่การเสียชีวิตของฝ่ายหญิงในปี ค.ศ. 1936 อันเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับความสัมพันธ์ครั้งใหม่ระหว่างไอน์สไตน์กับมาร์การิตา โคเนนโควาซึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบชู้รัก เพราะโคเนนโควานั้นมีครอบครัวอยู่แล้วอีกทั้งยังเป็นความรักที่มีความลับซ่อนเร้นเพราะเธอเป็นสายลับโซเวียต แม้มีหลักฐานจดหมายรักแสดงความรักลึกซึ้งของไอน์สไตน์ แต่สุดท้ายโคเนนโควาก็ย้ายกลับโซเวียตไปพร้อมสามี ส่วนไอน์สไตน์ยังดำเนินชีวิตต่อไปในแวดวงวิชาการในฐานะอัจฉริยะแห่งวงการวิทยาศาสตร์ และไอคอนของชาวโลก ไอน์สไตน์เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1955 ขณะอายุ 76 ปีก่อนที่โคเนนโควาจะถูกเปิดโปงว่าเป็นหนึ่งในสายลับโซเวียต

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป