มาเรีย เรสซา : ผู้สื่อข่าวหญิงแกร่งกับชีวิตที่ยอมแลกเพื่อการคงอยู่ของ “ความจริง”
Faces

มาเรีย เรสซา : ผู้สื่อข่าวหญิงแกร่งกับชีวิตที่ยอมแลกเพื่อการคงอยู่ของ “ความจริง”

Focus
  • มาเรีย เรสซา (Maria Ressa) อดีตบรรณาธิการและนักข่าวมือฉมังแห่งสถานีโทรทัศน์ CNN ประจำประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนลาออกมาก่อตั้งเว็บไซต์ข่าว Rappler
  • มาเรีย เรสซา ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2021 ร่วมกับ ดิมิทรี มูราทอฟ (Dmitry Muratov) เพื่อนร่วมอาชีพจากรัสเซีย

ในแวดวงสื่อมวลชนระหว่างประเทศ ชื่อของ มาเรีย เรสซา (Maria Ressa) ถือเป็นที่คุ้นเคยเป็นอย่างดีในฐานะอดีตบรรณาธิการและนักข่าวมือฉมังแห่งสถานีโทรทัศน์ CNN ประจำประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนลาออกมาก่อตั้งเว็บไซต์ข่าว Rappler สื่อออนไลน์อิสระเพื่อให้ตนเองสามารถทำหน้าที่ตรวจสอบความโปร่งใสและรายงานความจริงที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงไปตรงมา ภายใต้การบริหารปกครองของรัฐบาลฟิลิปปินส์ มาเรีย เรสซา เป็นผู้สื่อข่าวหญิงคนเก่งสุดแข็งแกร่ง ที่หลายต่อหลายคนชื่นชม และยึดเป็นแบบอย่างของการเป็นสื่อมวลที่ดีของฟิลิปปินส์ ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในลำดับต้น ๆ ที่อาชีพสื่อมวลชนมีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามถึงชีวิตมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

มาเรีย เรสซา
ภาพ : © Rappler

ทั้งนี้ มาเรีย เรสซา ในวัย 58 ปี ตกเป็นข่าวพาดหัวหน้าหนึ่งของสื่อทั่วโลกทุกฉบับเมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เมื่อคณะกรรมการ รางวัลโนเบล ลงมติตัดสินมอบ รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพประจำปี 2021 นี้ ให้แก่ มาเรีย เรสซา คู่กับ ดิมิทรี มูราทอฟ (Dmitry Muratov) เพื่อนร่วมอาชีพจากรัสเซีย โดย บริต ไรส์-แอนเดอร์เซ่น (Berit Reiss-Andersen) หัวหน้าคณะกรรมการรางวัลโนเบล กล่าวว่า การมอบรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพให้แก่ผู้สื่อข่าว 2 คนนี้เพื่อเป็นหลักฐานพิสูจน์การทำงานที่ยอดเยี่ยมในสายอาชีพ ซึ่งแสดงให้เห็นความหมายที่แท้จริงของการเป็นผู้สื่อข่าวที่ใช้เสรีภาพในการแสดงคิดเห็น ตามสิทธิอันชอบธรรมภายใต้สถานการณ์ที่ท้าทาย ยากลำบาก และเป็นอันตรายร้ายแรง

มาเรีย เรสซา
มาเรีย เรสซา และ ดิมิทรี มูราทอฟ
(ภาพ :  Ill. Niklas Elmehed © Nobel Prize Outreach )

อย่างไรก็ตาม รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ที่ได้ล่าสุดนี้ไม่ใช่รางวัลแรกและรางวัลเดียวที่เรสซาได้รับจากการทำงานของตัวเอง ก่อนหน้านี้ในปี ค.ศ. 2017 เรสซาได้รับรางวัล Democracy Award ขณะที่ในปี ค.ศ. 2018 ได้รับรางวัล Knight International Journalism Award, Golden Pen of Freedom Award ของสมาคมหนังสือพิมพ์และผู้จัดพิมพ์ข่าวโลก (World Association of Newspapers) และ Gwen Ifill Press Freedom Award โดยคณะกรรมการปกป้องผู้สื่อข่าว (Committee to Protect Journalists)

แม้รางวัลที่ได้รับจะมีมาก แต่คดีความฟ้องร้องจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลกลับมีมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ลาออกมาตั้งสื่อออนไลน์อย่าง Rappler ในปี ค.ศ. 2012 เพราะความยอมหักไม่ยอมงอ และความมุ่งมั่นที่จะขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากลเพื่อตีแผ่ออกมาจนส่งผลกระทบต่อผู้มีอิทธิพลในสังคม รวมถึงรัฐบาล โดยลำพังแค่ในช่วงภายใต้การปกครองประธานาธิบดี โรดรีโก ดูแตร์เต (Rodrigo Roa Duterte) ในปัจจุบันเรสซาโดนฟ้องหาหมิ่นประมาททางไซเบอร์หลายครั้งและถูกตัดสินให้มีความผิดครั้งหนึ่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ.2020 ขณะที่เฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการออกหมายจับเรสซาถึง 10 ฉบับ และมีข้อหาฟ้องร้องดำเนินคดีในชั้นศาลอีก 9 กรณี

นอกจากนี้ ยังไม่นับรวมกรณีที่เรสซาต้องเผชิญกับการขู่อาฆาตคุกคามหมายเอาชีวิตอีกหลายต่อหลายครั้ง และถูกคุมขังอีกนับไม่ถ้วน โดยมีรายงานระบุว่า เฉพาะในช่วงที่ Rappler เริ่มต้นสืบสวนในประเด็น “ปฏิบัติการข่าวสาร” (Information Operation: IO) ที่กลายเป็นอาวุธบนสื่อสังคมออนไลน์ มีการจ้างกองทัพเกรียนให้ส่งข้อความแสดงความเกลียดชังถึงเรสซาเกือบ 100 ข้อความต่อชั่วโมงผ่านโซเชียลมีเดียของเจ้าตัว

มาเรีย เรสซา
ภาพ : facebook.com/mariaressa

ทั้งนี้ ในสายตาของรัฐบาลและผู้ทรงอิทธิพลเรสซาเคยให้สัมภาษณ์ว่าตัวตนของตัวเองไม่ต่างอะไรจากเสี้ยนหนามชิ้นเล็ก ๆ ที่ไม่ทำให้ถึงตายแต่ก็เจ็บปวดแสนสาหัสได้ กระนั้น เมื่อลองสอบถามเพื่อนร่วมอาชีพและชาวฟิลิปปินส์ทั่วไป ความเห็นจะเป็นไปในทางเดียวกันทันทีว่า เรสซา คือ คนต้นแบบ (Role Model) ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความชอบธรรม และสนับสนุนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนมาอย่างยาวนาน

รางวัลโนเบล

ขณะที่ผลงานในการก่อตั้งและปลุกปั้นสื่อออนไลน์อย่าง Rappler ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเริ่มแพร่หลาย ทุกวันนี้ Rappler คือหนึ่งในสื่อท้องถิ่นฟิลิปปินส์ภาคภาษาอังกฤษที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด และเป็นสื่อแรกของประเทศที่บุกเบิกการรายงานข่าวสืบสวนสอบสวนเชิงลึกเพื่อให้สังคมตระหนักถึงอันตรายของ “Fake News” หรือ ข่าวลวงและการบิดเบือนข้อมูลเพื่อประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ.2016 ที่รายงานของเรสซาเผยแพร่บน Rappler ทำให้สังคมได้ฉุกคิดและเห็นความไม่ชอบมาพากลของข้อมูลเลือกตั้งบนเฟซบุ๊กซึ่งแม่นถึงขนาดทายผลการเลือกตั้งล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำเกินไป

ยิ่งไปกว่านั้น Rappler ยังเป็นผู้ริเริ่มเรียกร้องให้สังคมตระหนักถึงอันตรายของการใช้ความรุนแรงบนโลกไซเบอร์ การคุมคามออนไลน์ และพฤติกรรมของพวก “เกรียนคีย์บอร์ด” (online trolls) ทั้งหลาย ตลอดจนเป็นสื่อมวลชนรายแรกในฟิลิปปินส์ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านกฎหมายหมิ่นประมาทบนโลกไซเบอร์ที่อดีตประธานาธิบดี เบนิกโน อากีโน (Benigno Aquino) ที่ 3 ของฟิลิปปินส์อนุมัติรับรองให้บังคับใช้เป็นกฎหมายในช่วงปี ค.ศ. 2012 โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายดังกล่าวมีช่องโหว่ในการนำมาบังคับใช้ และเกรงว่าจะกลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการคุกคามสื่อหรือแกนนำทางการเมืองที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับอำนาจรัฐ (ซึ่งต่อมาก็เป็นจริงตามที่ Rappler วิตก)

อีกหนึ่งผลงานที่โดดเด่นไม่แพ้กันก็คือการรายงานแบบกัดไม่ปล่อยของ Rappler ภายใต้การนำของเรสซาเกี่ยวกับนโยบายปราบปรามยาเสพติด (War on Drugs) ของรัฐบาลประธานาธิบดีดูแตร์เต ที่กลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองท้องถิ่นละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน รวมถึงฉวยโอกาสกำจัดกวาดล้างศัตรูทางการเมืองของตน จนในที่สุด เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ศาลอาญาระหว่างประเทศได้เปิดการสอบสวนอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเรสซาให้สัมภาษณ์ยืนยันจุดยืนของตนเองหลายต่อหลายครั้งว่า ไม่เคยมีความคิดที่จะเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลของประเทศ สิ่งเดียวที่ตนเองต่อสู้ก็คือความจริงของความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะความไม่ชอบธรรมในการใช้อำนาจของรัฐบาล

หลายฝ่ายมองว่า รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ที่เรสซาได้รับในครั้งนี้ ไม่ต่างอะไรกับการออกมาตบหน้ารัฐบาลฟิลิปปินส์ที่ออกโรงกล่าวหาเรสซามาโดยตลอดว่า รับเงินจากฝ่ายตรงข้ามเพื่อบ่อนทำลายรัฐ บั่นทอนเสถียรภาพและความมั่งคงของประเทศ

ขณะที่ถ้อยแถลงตอนหนึ่งของคณะกรรมการ รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพระบุว่า เรสซาใช้ Rappler เป็นช่องทางในการตีแผ่เปิดโปงการใช้อำนาจโดยมิชอบ การใช้ความรุนแรง และอำนาจเผด็จการที่เพิ่มขึ้นในประเทศบ้านเกิดของเจ้าตัว

ส่วนทางด้านเรสซาเมื่อได้รับข่าวว่าตนเองได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพประจำปี 2021 เจ้าตัวเพียงยิ้มและพูดว่า

“สิ่งที่ฉันทำมาตลอดก็คือ การพูดความจริงเท่านั้นเอง”

อ้างอิง


Author

นงลักษณ์ อัจนปัญญา
สาวหมวยตอนปลาย ผู้รักการอ่าน ชอบการเขียน สนใจเหตุบ้านการเมืองในต่างแดน และกำลังอยู่ในช่วงการฝึกฝนสายวีแกน