พิชัย แก้ววิชิต บทบาทของ พ่อ ใต้เงาเสื้อวินหมายเลข 3
Faces

พิชัย แก้ววิชิต บทบาทของ พ่อ ใต้เงาเสื้อวินหมายเลข 3

Focus
  • พิชัย แก้ววิชิต วินมอเตอร์ไซค์ย่านราชเทวี ที่หลายคนรู้จักในฐานะ พี่วิน ช่างภาพ
  • ชีวิตของพิชัยเปลี่ยนด้วยบทบาทของ “คุณพ่อวัยใส” ในวัย 22 ปี
  • เขาพยายามพิสูจน์ตัวเองในฐานะ “พ่อ” เพื่อจะพาลูกชายทั้งสามคนหลุดพ้นจากเงามืดแบบที่เขาเคยเจอมาในวัยเด็ก

มาถึงตอนนี้หลายคนคงรู้จัก พิชัย แก้ววิชิต ในมุมมองช่างภาพที่ถ่ายทอดแสงเงาผ่านเสื้อวินหมายเลข 3 ซึ่งใช้เวลาว่าง หลังขับมอเตอร์ไซค์วินย่านราชเทวี ตระเวนถ่ายรูป แต่ในอีกมุมหนึ่งเขาคือ “พ่อ” ที่พยายามพิสูจน์ตัวเอง เพื่อจะพาลูกชายทั้งสามคนหลุดพ้นจากเงามืดอย่างที่เขาเคยเจอในวัยเด็ก

Sarakadee Lite ชวน พิชัย แก้ววิชิต วางกล้อง ถอดเสื้อวิน แล้วนั่งลงคุยกันสักครู่ถึงบทบาทของ “พ่อ” ภายใต้เสื้อวินมอเตอร์ไซค์หมายเลข 3 

พิชัย แก้ววิชิต

วัยเด็กที่เหมือนไม่มีแสง

“ตอนเด็กชีวิตเราเหมือนไม่มีแสง เพราะพ่อกินเหล้าเมาทุกวัน” พิชัย เริ่มเล่าหลังพับเสื้อวินเก็บไว้ใต้เบาะรถ

ภาพในวัยเด็กที่พิชัยคุ้นชินคือพ่อดื่มเหล้าทุกเย็น พอเมาจะหาเรื่องทะเลาะกับแม่ แต่ถ้าวันไหนไม่ทะเลาะกับแม่ก็จะหาเรื่องด่าลูก พอบ่อยเข้าก็ได้แต่หันหน้าเข้าหากำแพง ก้มหน้าเล่นหุ่นยนต์ที่มีไม่กี่ตัว เพื่อหลีกหนีเสียงด่าของพ่อ มันเป็นอย่างนั้นทุกวันจนเขานึกไม่ออกว่าเมื่อไรจะหลุดพ้น

แม้ห้องเช่าที่ครอบครัวอยู่จะถูกเรียกว่าสลัม แต่ภาพทรงจำของพิชัย ถ้าวันไหนพ่อไม่ทะเลาะกับแม่ บ้านจะน่าอยู่มากขึ้น แต่ความจริงพ่อกลับดื่มหนักขึ้นเรื่อยๆ  ร้านขายผลไม้ของพ่อที่ตลาดมหานาค สะพานขาว ต้องปิดบ่อยครั้ง จนต้องกู้หนี้ยืมสินเป็นประจำ 

“ผมโตมากับวงเหล้าและดอกร้อยละ 20  พ่อไม่ชอบให้เราเล่นกับเด็กในซอย เพราะแต่ละคนเกเร แต่สิ่งที่พ่อสอนดูย้อนแย้งกับสิ่งที่พ่อทำ ทั้งเรื่องกินเหล้า ทะเลาะวิวาท  พอเราโตขึ้นก็เริ่มมีความคิด เริ่มต่อต้านพ่อ เพราะรู้สึกว่า พ่อดูถูกเรา เลยอยากเอาชนะ  พ่อชอบมองว่าเราอ่อนแอ เหยาะแหยะ ซึ่งเราได้บุคลิกแม่มามากกว่าพ่อ”

พิชัย แก้ววิชิต

ผมเป็นเด็กที่อยากให้แม่เลิกกับพ่อ

แต่ด้วยบุคลิกของแม่ที่ยอมพ่อทุกอย่าง ทำให้พิชัยในช่วงวัย 10 ขวบ เริ่มทนไม่ได้ต่อพฤติกรรมของพ่อ เพราะเกือบทุกคืนแม่ได้แต่ร้องไห้กับสิ่งที่เกิดขึ้น ขณะที่หนี้สินก็พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ

“ผมเป็นเด็กไม่กี่คนบนโลกนี้ที่อยากให้แม่เลิกกับพ่อ ถ้าต้องตกนรกก็ยอม เพราะไม่มีอะไรแย่ไปกว่าชีวิตช่วงนั้น เราเคยเข้าไปบอกแม่ให้เลิกกับพ่อ แม่จะได้มีอิสระ มีความสุข ไม่ต้องทนอยู่กับพ่อขี้เมา ทะเลาะกับแม่เรื่องเดิมๆ ทุกวัน แต่แม่ไม่ยอม พอเป็นอย่างนี้เรายิ่งอยากพิสูจน์ตัวเองว่าสิ่งที่พ่อดำเนินชีวิตมามันผิด เราเลยพยายามทำตัวเองให้ดี ให้มีแสงสว่างในชีวิต”

ไม่นาน พิชัย ต้องออกจากโรงเรียนจนต้องมาช่วยญาติขายผลไม้ที่ตลาดมหานาค ทุกเช้าต้องคอยเก็บเข่งผลไม้ แต่ก็เฝ้าถามตัวเองเมื่อเห็นเพื่อนวัยเดียวกันใส่ชุดนักศึกษาไปโรงเรียนในทุกเช้า แต่ทุกอย่างก็เหมือนล่มสลายอีกครั้งเมื่อแฟนที่คบหากันบอกว่าท้อง!

ชีวิตเปลี่ยนด้วยบทบาทคุณพ่อวัยใส

“ตอนนั้นผมอายุ 22 แฟนอายุ 19 ใจหนึ่งรู้สึกผิดที่ต้องมาเป็นพ่อวัยใส ยังไม่ได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นให้คุ้มค่า แต่อีกใจหนึ่งรู้สึกเป็นอิสระที่ได้หลุดพ้นจากพ่อ พอแฟนคลอดลูกชายคนแรกก็ค่อยๆ ขยับขยายออกมาเช่าบ้านเปลี่ยนอาชีพจากการขายผลไม้มาเป็นมอเตอร์ไซค์วิน”

การเป็นพ่อแม่วัยรุ่นไม่ใช่เรื่องง่าย พิชัย ต้องเจอภาวะกดดันทั้งการทำมาหากิน สภาพแวดล้อม ที่หลายคนมองว่าพ่อแม่วัยรุ่นมักไปกันไม่รอด เพราะมีทางแยกในชีวิตเยอะมาก หลายคู่เดินไปต่อไม่ได้หลังคลอดลูก แต่เขากับภรรยาพยายามประคับประคอง เพราะสิ่งที่เป็นห่วงที่สุดคือลูก

“พอมานึกย้อนไป การเป็นพ่อแม่วัยใสไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แค่เรายอมรับ เรียนรู้ความเป็นจริง บางทีเด็กก็สอนเรา การเรียนรู้แบบนี้เหมือนค่อยๆ โตไปด้วยกัน แต่การเป็นพ่อแม่วัยรุ่นจะเจอทางแยกมากมาย บางคนไปเจอคนใหม่จนต้องเลิกกันไป แต่สำหรับเด็ก เขาไม่จบอยู่แค่นั้น บางเรื่องอาจติดค้างความรู้สึกเขาไปตลอดชีวิต แต่ผมโชคดีที่แฟนพร้อมจะลำบากไปด้วยกันจนอยู่ด้วยกันมากว่า 20 ปี”

ใครที่เป็นพ่อแม่วัยใส เมื่อเจอปัญหาจะต้องนึกถึงความรู้สึกแรกที่พบกัน ว่ารักกันเพราะอะไร เมื่อพลาดมีลูก แค่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอีกคน เรามีความรักระหว่างกันเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งดวง จริงๆ คนเราพลาดพลั้งในชีวิตได้ แต่ถ้าพลาดแล้วจะต้องเรียนรู้กับปัญหาอย่างไร ถ้าเรียนรู้ด้วยความรัก จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยความรัก

เงินสำคัญ แต่ความสุขที่ได้เห็นลูกเติบโตสำคัญกว่า

สำหรับคนหาเช้ากินค่ำอย่าง พิชัย อีกรอยต่อของชีวิตก็เกิดขึ้น เมื่อภรรยาเริ่มตั้งท้องลูกชายคนที่ 3 เพราะตอนนั้นภรรยาทำงาน ช่วง 3 เดือนแรกลาคลอดได้ แต่หลังจากนั้นใครจะเลี้ยงลูก มันเป็นความยากลำบากของหัวอกคนเป็นพ่อ ภรรยายื่นข้อเสนอให้ส่งลูกไปเลี้ยงกับย่าที่ต่างจังหวัด แต่เขาไม่ยอม ยังยืนยันจะเลี้ยงลูกเอง แม้ต้องทำงานหนักขึ้น เพราะภรรยาต้องลาออกจากงาน 

“เงินสำคัญ แต่ถ้าเราเลี้ยงลูกเองได้ มันมีความสุขกว่า ตอนนั้นมีภาระผ่อนบ้าน การที่แฟนต้องออกจากงานมาเลี้ยงลูก เราจะต้องวิ่งวินหนักขึ้น ผมยอมแลกถ้าบ้านโดนยึด ไม่สนใจว่าบ้านเราผ่อนมากี่ปี ถ้าผ่อนไม่ไหวก็ต้องให้เขายึด แต่ลูกต้องเลี้ยงเอง เรายอมแลกทุกอย่าง ต่อให้วิ่งวินจนตายก็ยอม เพื่อแลกกับสิ่งนี้”

แสงเงาของพ่อ

พิชัย ไม่เคยส่งลูกไปให้ญาติเลี้ยง หากต้องอด หรือมีความสุข ต้องไปด้วยกันทั้งครอบครัว  เขายอมรับว่าทำใจไม่ได้ เพราะอยากเห็นนาทีที่ลูกกำลังหัดคว่ำ หัดเดิน นาทีที่ลูกร้องไห้ด้วยความกลัว หรือตอนเขาล้ม พ่อได้มีโอกาสดึงมือให้ลุกขึ้น ทุกจังหวะชีวิตมันมีความสำคัญต่อเด็ก แต่หลายคนกลับมองว่าการส่งลูกไปให้พ่อแม่เลี้ยงที่ต่างจังหวัด เพราะอยากทำงานสร้างฐานะก่อน พอพร้อมเมื่อไรค่อยมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งรอจนลูกโตก็ไม่ได้อยู่ด้วยกัน ด้วยเอาเงินไปผ่อนรถ ซื้อโน่นนี่ สุดท้ายลูกก็มีพฤติกรรมแปลกๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสังคม 

ปัจจุบันพ่อของพิชัยเลิกดื่มเหล้าด้วยเห็นการกระทำที่เขาพยายามพิสูจน์มาตลอด ซึ่งเขาเองก็ไม่ได้โกรธกับเรื่องที่ผ่านมา แต่ก็พยายามนำบทเรียนเหล่านั้นมาสอนลูกทั้งสามคนถึงความเป็นพี่น้องที่ทะเลาะเถียงกันได้ แต่อย่าเกลียดชังกัน

เพราะอย่างน้อยให้นึกถึงแสงเงาที่พ่อค่อยๆ ก่อร่างสร้างขึ้นภายใต้เสื้อวินหมายเลข 3

Fact File

  • ติดตามผลงานภาพถ่ายของ พิชัย แก้ววิชิต ได้ทาง Instagram : phichaikeawvichit

Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว