Pink Man Story บันทึกมหากาพย์ชีวิตและสังคมในมุมมอง สุภาพบุรุษชุดชมพู
Faces

Pink Man Story บันทึกมหากาพย์ชีวิตและสังคมในมุมมอง สุภาพบุรุษชุดชมพู

Focus
  • Pink Man Story เป็นหนังสือที่รวบรวมผลงานสร้างสรรค์ชุดชายสีชมพู ของ มานิต ศรีวานิชภูมิ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1997-2018
  • มานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปิน นักถ่ายภาพ ผู้มีผลงานได้รับการยอมรับมากมายจากทั้งไทยและต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินด้านศิลปศาสตร์และวรรณกรรมจากรัฐบาลฝรั่งเศส
  • โดยเดิมทีหนังสือเล่มนี้จะเปิดตัวในนิทรรศการศิลปะ Pink Man Story แต่ด้วยเหตุโควิด-19 ทำให้งานนิทรรศการนี้ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด

Pink Man เป็นตัวละครชายในชุดสีชมพูสะดุดตาที่หลาย ๆ คน สามารถพบเห็นได้ในประวัติศาสตร์ศิลปะไทย และเป็นงานภาพถ่ายชุดที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งหมุดหมายสำคัญของวงการศิลปะไทยร่วมสมัย สร้างสรรค์โดย มานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปิน นักถ่ายภาพผู้มีผลงานที่ได้รับการยอมรับมากมายจากทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ รางวัล The Overseas Photographer Prize จาก Higashikawa Prize รวมทั้งยังเป็นผู้ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน ด้านศิลปศาสตร์และวรรณกรรมจากรัฐบาลฝรั่งเศส ซึ่ง Pink Man เป็นงานศิลปะสื่อผสมที่ผสานทั้งสื่อการแสดง (Performance Art) ภาพถ่าย วิดีโอ และประติมากรรม เรียกได้ว่าเป็นงานชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของ มานิต ศรีวานิชภูมิ

มานิต ศรีวานิชภูมิ
มานิต ศรีวานิชภูมิ
Pink Man Story
Pink Man Story

เนื่องในโอกาสที่หนังสือ Pink Man Story ได้เผยแพร่สู่สาธารณะ เราจึงชวน มานิต ศรีวานิชภูมิ มาย้อนถึงการเกิดขึ้นของชายชุดสีชมพูที่หลายคนคิดถึง ทั้งนี้เดิมทีหนังสือ Pink Man Story ได้วางแผนเปิดตัวพร้อมกับนิทรรศการศิลปะ Pink Man Story ช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 แต่ด้วยเหตุการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้งานนิทรรศการนี้ต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยทางทีมงานได้มีการเตรียมงานไว้แล้วครบทั้งการแสดงผลงานภาพถ่าย สมุดร่างภาพความคิด (Sketch Book) ตุ๊กตาที่ระลึก ชุดเครื่องแต่งกาย ประติมากรรม รวมทั้งการแสดงสดอีก

แต่แม้งานนิทรรศการจะเลื่อนออกไป ทว่าตัวหนังสือเล่มนี้ยังคงเดินหน้าเผยแพร่ต่อตามกำหนดเดิม ซึ่งมานิตได้กล่าวถึงหนังสือรวบรวมศิลปะชุด Pink Man ที่ดำเนินมามากกว่า 20 ปีในรูปแบบหนังสือเล่มนี้ว่า

“อยากมีผลงานรวมเล่มเพื่อเป็นหลักฐาน แสดงถึงที่มาที่ไปวิธีคิดและรูปแบบของงาน เลยเป็นเหตุผลหลักที่อยากรวบรวมงานชุดนี้ตั้งแต่ ค.ศ. 1997-2018 ที่ยาวนานพอและอีกอย่างคือเหมือนวงดนตรีที่มีการยุบวงกันไป หลังจากทำงานร่วมกับ สมพงษ์ ทวี เพื่อนผู้แสดงเป็นพิ้งค์แมนมาอย่างยาวนาน ผมเองเห็นว่าสมควรแก่เวลาที่จะจบโปรเจกต์นี้เสียที”

กำเนิด Pink Man

“Pink Man เกิดจากความรู้สึกของผมเอง ซึ่งคิดว่าคนจำนวนไม่น้อยคงรู้สึกกับเศรษฐกิจไทยบูมช่วงป๋าเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีประมาณปี 1982 (พ.ศ. 2525) ที่เริ่มมีแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว Visit Thailand (เยี่ยมเยือนประเทศไทย) มีการบูมของเศรษฐกิจต่าง ๆ เมื่อเห็นการบูมเกิดขึ้น ผมที่โตมากับสังคมเกษตรแล้วเห็นว่าสังคมไทยเปลี่ยนไป เริ่มจากเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม แล้วเริ่มไปเป็นการลงทุนทางการเงินเม็ดเงินต่าง ๆ ที่เข้าสู่เศรษฐกิจ สร้าง GDP สูงขึ้น ผมคิดว่าคนไทยทำงานกันหนัก มีการใช้เงินกันอย่างเกินตัว สังคมที่อยู่ในระบบแบบนี้กระตุ้นให้ประชาชนใช้เงินเกินตัว จนกลายเป็นหนี้เป็นสิน กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ซึ่งหากโตมากับสังคมเกษตรและมีแนวคิดแบบพุทธก็จะคิดตั้งคำถามกับเรื่องนี้”

“หนัก ๆ เข้าวิกฤตเศรษฐกิจก็เกิดในปี พ.ศ. 2540 เพราะระบบเศรษฐกิจนี้เราไม่ใช่เจ้าของแนวคิดว่าเกิดขึ้นอย่างไร ป้องกันอย่างไร ผู้นำประเทศในขณะนั้นจึงไม่เข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ประสบการณ์ตรงของผมคิดว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในรูปแบบนี้ เราได้เห็นผู้คนตกงาน เงินบาทมีค่าน้อยลง คนมีหนี้ล้นพ้นตัว สถาบันทางการเงินถูกปิด ชาวบ้านถูกหลอกให้ไปลงทุนจนหมดตัว นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับวิกฤตเศรษฐกิจ ผมว่ามีอะไรผิดปกติอยู่ และคิดว่าก่อนหน้านั้นเราหลงระเริงอย่างมากกับฟองสบู่ นี่คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิด Pink Man ตัวละครที่ล้อเลียนเสียดสีถึงสภาวะความเป็นเศรษฐีใหม่หรือสามล้อถูกหวยของคนไทย เราถูกกระตุ้นเร้าให้บริโภคไม่สิ้นสุด Pink Man จึงเกิดขึ้นมาเพื่อตั้งคำถามเรื่องนี้กับสังคมไทย”

Pink Man Story

“ถ้าพูดถึงทีแรกเลยผมเคยคิดว่าจะทำเป็นภาพขาวดำมาก่อน แต่ก็อยากทำอะไรแรง ๆ เลยใช้สีและในคนรุ่นผม สีชมพูสะท้อนแสงแบบนี้ดูไร้รสนิยมดี แต่แรกตั้งใจทำงานชิ้นนี้เป็นศิลปะสื่อแสดงสด (Performance Art) ก่อน โดยพิ้งค์แมนจะเข็นรถเข็นซูเปอร์มาร์เก็ตเปล่า ๆ ไปทั่วย่านสีลม สยามสแควร์ส่วนภาพถ่ายเป็นสื่อบันทึกการแสดงอีกที เพื่อมาเตือนผู้คนว่าอย่าหลงระเริงกับการบริโภค โดยตั้งใจแสดง 3 ครั้ง ครั้งสุดท้ายใช้ลูกโป่งสีชมพูเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของฟองสบู่แตก

“หลังจากทำงานชุดนี้เสร็จเพื่อน ๆ ที่เห็นแล้วชอบก็เชียร์ให้ทำต่อ ทำเหมือน Super Man ซีรีส์ คือมีหลายตอน หลังจากนั้น Pink Man ก็มีชีวิตของมันเอง ไปแตะเรื่องต่าง ๆ ของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง มีหลายเรื่องหลายชุดต่อ ๆ กันไป จนถึงล่าสุดที่วางแผนไว้สำหรับนิทรรศการที่เลื่อนออกไป ก็ยังคิดว่าจะทำเรื่องเกี่ยวกับ Pink Man ในชุดหลังความตาย เพื่อแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการความเป็นไปของบริโภคนิยม ทุนนิยม ที่ทุกวันนี้เราเห็นได้ว่าบริโภคนิยมกำลังอยู่ในอาการร่อแร่เพราะโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายให้แก่มนุษยชาติอย่างมหาศาล”

Pink Man Story

โลกของ Pink Man ในวันนั้น กับ เศรษฐกิจของไทยวันนี้

“ปัจจุบันผมว่าเศรษฐกิจแย่กว่าตอนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 40 ด้วยซ้ำ ปีนั้นเป็นวิกฤตเกิดในวงจำกัดเหมือนสงครามจำกัดพื้นที่ แต่ครั้งนี้มันระบาดไปทั้งโลกและรวดเร็ว ซึ่งต่างกับการระบาดครั้งอื่น ๆ แม้แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu)ระบาดครั้งใหญ่ก็อาจไม่ไปไกลเท่านี้ หรือไม่รวดเร็วเท่าครั้งนี้ ถึงแม้ไข้หวัดใหญ่สเปนจะมีอัตราการตายสูงหลายสิบล้านคนก็ตาม โควิด-19 ครั้งนี้สร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจและสังคมของโลกอย่างมากแล้วไหนกว่าจะฟื้นตัวอีกคงต้องใช้ระยะเวลา

“เท่าที่สังเกตผมคิดว่ารัฐบาลเองก็ประมาท แม้ในช่วงต้นจะตั้งรับได้ดีแต่ไม่มีมาตรการในการเดินไปข้างหน้า และการจัดการวัคซีนต้องถือว่าล้มเหลว นี่เราปีชนปีแล้ว ถามว่ารัฐบาลทำอะไรเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนหรือยารักษาบ้าง รัฐพยายามควบคุมการระบาดก็ควบคุมไม่ได้ การ์ดตกจึงเกิดระบาดระลอก 3 ทุกอย่างช้าไปหมด ทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่หนัก รัฐบาลไม่มีเงินอัดฉีดแล้ว รวมทั้งเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลที่ไม่มีทีมเศรษฐกิจที่แข็งแรง ถึงตอนนี้รัฐบาลเองก็ไม่มีแนวคิดใหม่ ๆ ทางเศรษฐกิจ ตั้งรับอย่างเดียว ไม่มีรุก แล้วการเน้นตั้งรับนี้ก็นำไปใช้กับประชาชน กับม็อบผู้ประท้วงอีกด้วย ใช้กฎหมายเพื่อควบคุม ซึ่งเป็นการกดทับเหตุการณ์ ไม่ใช่การแก้ปัญหา แล้วยังมีเรื่องเก็บภาษี เมื่อประชาชนมีเงินน้อยลง ภาษีก็จะเก็บได้น้อยลง รัฐบาลก็มีเงินเก็บน้อยลง เหมือนอย่างเราที่ควักเงินเก็บมาใช้เรื่อย ๆ ที่น่าห่วงคือประชาชนระดับล่างจะเดือดร้อนมาก ตัวเลขอาชญากรรมจะสูงขึ้น ตอนนี้ผมคิดว่ารัฐบาลไม่สามารถสร้างหนทางไปข้างหน้าให้ประชาชนได้ เหมือนเราเข้าอุโมงค์ลึกไปเรื่อย ๆ แล้วไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์

“งานชุดนี้ผมสนุกที่ได้เก็บเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปของสังคม รวมทั้งสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาเป็นแรงบันดาลใจ จะเห็นได้ว่าแต่ละช่วงของ Pink Man จะสะท้อนเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยบ้าง เช่น มีเรื่องชาตินิยม โลกาภิวัตน์ ความทันสมัย ความเป็นไทย ซึ่งเป็นการตั้งคำถามและเป็นการตรวจสอบความคิดของผู้คนในสังคมไปพร้อม ๆ กัน”

จาก Pink Man ถึงทิศทางศิลปะไทยในปัจจุบัน

“ทุกวันนี้ผมเห็นศิลปินรุ่นใหม่ทำงานสังคมการเมืองกันเยอะ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีและมีสีสันน่าสนใจ เพราะในช่วงที่ผมทำ Pink Man ตอนนั้นยังมีไม่มาก กระแสหลักในช่วงนั้นยังเป็นเรื่องความงาม สุนทรียภาพ เรื่องเชิดชูนิยมความเป็นไทย หลัง ๆ มานี้ศิลปินรุ่นใหม่วิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นไทยไปจนถึงเรื่องของสถาบันมันเป็นอะไรที่น่าสนใจ

“แล้วอีกอย่างคนรุ่นใหม่มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีไม่จำกัดรูปแบบการแสดงออกแค่ว่าต้องแสดงในพื้นที่หอศิลป์เท่านั้น เดี๋ยวนี้เอาไปแสดงออกในม็อบการประท้วง ทำลงโซเชียล ทำให้เข้าถึงผู้ชมวงกว้างและรวดเร็ว ลงทุนน้อย แต่ได้ผลกระทบสูง”

“ผมคิดว่าศิลปะมีหน้าที่ตั้งคำถามต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนคำตอบจะเป็นอะไรนั้น สังคมก็ต้องช่วยกันคิดช่วยกันหาคำตอบให้ ส่วนการเปลี่ยนแปลงก็เป็นความคาดหวังของคนทำงานศิลปะทุกคน มันตอบไม่ได้หรอกว่าจะเกิดขึ้นทันที หรือนี่อาจเป็นการจุดประกายที่จะต้องส่งต่อเชื้อไฟไปเรื่อย ๆ มันอาจไม่ใช่ระเบิดตูมแบบภูเขาไฟของการเปลี่ยนแปลง หลาย ๆ ครั้งศิลปะก็มีผลต่อสังคม เพราะศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และศิลปินก็มีสิทธิ์ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนคำตอบก็อยู่ที่สังคมว่าเห็นเป็นอย่างไร”

Pink Man จบแล้ว?

“ผมไม่อยากสรุป เพราะผมเคยเห็น Superman Return”

Fact File

  • สั่งซื้อหนังสือ Pink Man Story ทางออนไลน์ได้ที่ qrco.de/pinkman และ Kathmandu Photo Gallery ราคา 1,800 บาท หนังสือ 280 หน้า ขนาด 25×25 เซนติเมตร หนา 2.5 เซนติเมตร

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน