ปิดตำนาน ซีอุย คืนศักดิ์ศรีให้ผู้ที่ถูกสังคมตราหน้าว่า “มนุษย์กินคน”
Faces

ปิดตำนาน ซีอุย คืนศักดิ์ศรีให้ผู้ที่ถูกสังคมตราหน้าว่า “มนุษย์กินคน”

Focus
  • ซีอุย หรือ ลีอุย แซ่อึ้ง ถูกประหารชีวิตเมื่อวันที่16 กันยายน 2502 ต่อมาวันที่ 27 กันยายน 2502 ทางคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช ได้ทำเรื่องขอศพซีอุยมาทำการศึกษา เพื่อหาเหตุแห่งความวิปริตผิดมนุษย์
  • ได้มีการดองศพและรักษาอยู่ใน “พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน” มาเป็นเวลากว่า 60 ปี ในเวลาต่อมาได้มีการสร้างหุ่นซีอุยแบบ หุ่นเรซินไฟเบอร์กลาส จัดแสดงใน พิพิธภัณฑ์สัมผัสฯ
  • ภายหลังมีการสืบข้อเท็จจริงพบว่า ซีอุยอาจเป็นเพียงแพะทางคดี ได้มีการนำร่างซีอุย ออกจากพิพิธภัณฑ์ ส่วนในพิพิธภัณฑ์สัมผัสฯ ก็ไม่ได้มีการจัดแสดงหุ่นไฟเบอร์กลาส และได้มีการจัดพิธีฌาปนกิจ ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563

ซีอุย หรือ ลีอุย แซ่อึ้ง เกิดปี 2470 ในครอบครัวเกษตรกรชาวจีน เขาสูง 150 เซนติเมตร เมื่ออายุครบ 18 ปี  ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 จากสถานการณ์อดอยากเห็นเพื่อนทหารทยอยตาย บังคับให้เขาต้องเรียนรู้รสชาติเนื้อมนุษย์ตั้งแต่นั้น 

เมื่อสงครามสงบซีอุยถูกปลดจากทหาร เขาจึงหนีความจนแร้นแค้นจากเมืองจีนมาหางานทำในไทยผ่านการหลบหนีเข้าเมืองมาเป็นกรรมกรรับจ้างบนเรือขนส่งสินค้า ก่อนเดินทางไปประจวบคีรีขันธ์ รับจ้างทำสวนผักอยู่ 8 ปี กระทั่งถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุอาชญากรรมจับเด็กมาฆ่า ควักตับและหัวใจกินโดยเชื่อว่าเป็นยาอายุวัฒนะ แล้วหลบหนีไปก่อเหตุที่จังหวัดอื่น ๆ อีกจนถูกจับได้ในคดีฆาตกรรมที่ระยองในปี พ.ศ. 2501 

ตามข่าวที่ปรากฏในตอนนั้น ซีอุยรับสารภาพว่าฆ่าเด็ก 7 คดี ส่วนจิตแพทย์ได้ลงความเห็นว่าซีอุยไม่ได้เป็นบ้า จากนั้นเขาจึงถูกตัดสินยิงเป้าในเดือนกันยายนปีถัดมา แต่ที่น่าเศร้าคือหลังจากการตายของซีอุยซึ่งน่าจะจบความผิดของเขาได้ แต่ชื่อของเขายังคงอยู่และกลายเป็นวลีขู่เด็กของผู้ใหญ่ที่ใช้ขู่เด็กดื้อทั้งหลายว่า “ซีอุยจะมากินตับ” 

หลังจากการตายของซีอุย มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (ศิริราช) ทำเรื่องขอศพซีอุยมาศึกษาในฐานะอาจารย์ใหญ่ให้แก่นักศึกษาแพทย์ จากนั้นได้ดองศพและจัดแสดงศพไว้ใน “พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน” โรงพยาบาลศิริราช หรือ ที่หลายคนเรียกติดปาก ว่า “พิพิธภัณฑ์ซีอุย”

ซีอุย
หุ่นเรซินไฟเบอร์กลาสซีอุย ที่เคยจัดแสดงใน พิพิธภัณฑ์สัมผัส ฯ

ต่อมาใน พ.ศ. 2560 เมื่อมีการเปิด พิพิธภัณฑ์สัมผัส เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมราชินีนาถ หุ่นเรซินไฟเบอร์กลาสซีอุย จึงถูกสร้างขึ้นใหม่ในลักษณะเสมือนจริงกับที่จัดแสดงใน พิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน แต่เป็นการสร้างด้วยระบบ 3Dscan และ 3D printing เน้นความละเอียดเป็นพิเศษตรงส่วนศีรษะถึงช่วงอกซึ่งเป็นรอยแผลสำคัญที่เกิดขึ้น

สำหรับ พิพิธภัณฑ์สัมผัสฯ ตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช ซึ่งที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่อการเข้าชมแบบสัมผัสและการฟังเสียง โดยผู้พิการทางสายตาสามารถเข้าชมได้ ส่วนผู้ที่สายตาปกติทางพิพิธภัณฑ์จะเตรียมผ้าปิดตาไว้ โดยจะมีนิทรรศการเกี่ยวกับการแพทย์ อนามัย หมุนเวียนมาจัดแสดง

กลางปี 2562 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประชุมปรึกษาเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับร่าง ลีอุย แซ่อึ้ง เริ่มจากปลดป้าย “มนุษย์กินคน” ออกจากตู้ซีอุย เหลือเพียงข้อความ “ซีอุย แซ่อึ้ง” และชื่อภาษาอังกฤษ หลังมีการเรียกร้องให้คืนความเป็นธรรมแก่ซีอุย ผู้ที่ถูกกล่าวหา ว่าเป็นมนุษย์กินคน แต่ภายหลังมีการสืบข้อเท็จจริงพบว่า ซีอุยอาจเป็นเพียงแพะทางคดี

สุดท้ายจึงได้มีการนำร่างซีอุย ออกจากพิพิธภัณฑ์นิติเวชศาสตร์ สงกรานต์ นิยมเสน ส่วนในพิพิธภัณฑ์สัมผัสฯ ปัจจุบันก็ไม่ได้มีการจัดแสดงหุ่นซีอุยไฟเบอร์กลาส และได้มีการจัดพิธีฌาปนกิจ ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 วัดบางแพรกใต้ จังหวัดนนทบุรี เป็นอันปิดตำนาน ซีอุย และเป็นการทวงคืนศักดิ์ศรีให้กับผู้ที่ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็น “มนุษย์กินคน”

ภาพ :  บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช

ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี กุมภาพันธ์ 2561