9 เกร็ดประวัติ กำเนิด พระแม่ลักษมี เทวีแห่งความรัก ความมั่งคั่ง
Faces

9 เกร็ดประวัติ กำเนิด พระแม่ลักษมี เทวีแห่งความรัก ความมั่งคั่ง

Focus
  • พระลักษมีเป็นเทพีในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อว่าเกิดจากฟองของน้ำในมหาสมุทรขณะกวนเกษียรสมุทรทำน้ำอมฤต
  • พระแม่ลักษมีจะมีหลายปาง มีตั้งแต่ 4 กร 6 กร 8 กร แต่ภาพจำที่ชัดเจนและได้รับความนิยมคือปาง 4 กร มือสองข้างด้านบนถือดอกบัว ส่วน 2 ข้างด้านล่างจะคว่ำมือกับหงายมือในท่าประทานพร และมีเหรียญไหลออกจากพระหัตถ์

คอลัมน์ เทพฮินดู 101 จะพาไป I Told พระแม่ลักษมี รู้จักเทวีแห่งความรัก ความมั่งคั่ง ซึ่งเป็นหนึ่งในเทพองค์สำคัญของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ที่มีผู้นิยมบูชามากที่สุดองค์หนึ่งในปัจจุบันไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระพิฆเณศ  Sarakadee Lite ชวนไปรู้จักเกร็ดประวัติเกี่ยวกับกำเนิด พระแม่ลักษมี จากฟองน้ำใน มหาสมุทรสู่ชายาแห่งพระวิษณุ

พระแม่ลักษมี

01 สถานะ : ชายาพระวิษณุ (พระนารายณ์)

02 กำเนิด : พระลักษมีเป็นเทพีในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่อว่าเกิดจากฟองของน้ำในมหาสมุทรขณะกวนเกษียรสมุทรทำน้ำอมฤต

03 บัลลังก์ : เหตุที่นิยมบูชาพระแม่ลักษมีด้วยดอกบัวชมพู ก็เพราะพระแม่ลักษมีในทุกปางจะประทับนั่งบนดอกบัว

04 ลักษณะ : สตรีสวมศิราภรณ์แบบกษัตริย์ แม้พระแม่ลักษมีจะมีหลายปาง มีตั้งแต่ 4 กร 6 กร 8 กร แต่ภาพจำที่ชัดเจนและได้รับความนิยมคือปาง 4 กร มือสองข้างด้านบนถือดอกบัว ส่วน 2 ข้างด้านล่างจะคว่ำมือกับหงายมือในท่าประทานพร และมีเหรียญไหลออกจากพระหัตถ์ หลายคนจึงบูชาพระองค์ในฐานะเทวีแห่งความมั่งคั่งร่ำรวย

05 ความเชื่อ : ความเชื่อดั้งเดิมนั้นพระแม่ลักษมีถือว่าเป็นเทวีแห่งโชคลาภ ความมั่งคั่งร่ำรวย เจริญงอกงาม อุดมสมบูรณ์ ส่วนปัจจุบันคนนิยมไปขอพรเรื่องความรัก คู่ครอง

06 คติการบูชา : การบูชาพระแม่ลักษมีนั้นมีให้เห็นมาช้านานในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ โดยมีพื้นฐานมาจากการบูชาพระแม่ (Mother Goddess)

07 ปาง : มี 8 ปาง (อัษฏลักษมี) แต่ปางที่มักพบเห็นบ่อยและมีความสำคัญคือ “คชลักษมี” หรือ “อภิเษกลักษมี” เป็นตอนที่พระลักษมีปรากฏขึ้นขณะกวนเกษียรสมุทร ก่อนที่จะถวายองค์แด่พระวิษณุ ปางนี้จะมีช้าง 2 เชือกกำลังรดน้ำบนพระเศียร

08 สถานที่บูชา : หลายวัดฮินดูมักมีองค์พระแม่ลักษมีให้บูชา แต่ที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือ เกษร วิลเลจ  วัดแขกสีลม  วัดวิษณุ และ วัดเทพมณเฑียร

09 เทศกาลบูชา : ดิวาลี และ วันวาราลักษมี วรัทตัม

อ้างอิง

Fact File

เทศกาลดิวาลีเป็นไม่ใช่แค่เทศกาลบูชาไฟของฮินดู แต่ยังเป็นวันสำคัญในการบูชาพระแม่ลักษมี โดย ดิวาลี (Diwali หรือ Divali) มาจากภาษาสันสกฤตว่า “ทีปวาลี” (Deepavali หรือ Dipavali) แปลว่า “แถวของตะเกียง” เทศกาลดิวาลีจึงมีความหมายว่า “เทศกาลแห่งแสงไฟ” มีการเฉลิมฉลองใหญ่นานถึง 5 วัน ในเดือนกรรติกา (ประมาณเดือนตุลาคมหรือพฤศจิกายน) โดยในวันที่ 3 วัน คือ ทีปวาลี (Dipawali) หรือ วันลักษมีบูชา (Lakshmi Puja) จะตรงกับวันแรม 15 ค่ำ ถือเป็นวันเฉลิมฉลองใหญ่ เป็นวันบูชาพระแม่ลักษมี (บางแห่งก็บูชาพระแม่กาลีร่วมด้วย) มีการจุดตะเกียงและให้สว่างทั่วทั้งบริเวณบ้าน บ้างก็จุดพลุ ขับไล่สิ่งชั่วร้าย ความมืด และตกแต่งบ้านด้วย รังโกลี (Rangoli) เพื่อต้อนรับพระลักษมี เทวีแห่งความมั่งคั่ง  


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite