อ่าน ทมยันตี จากวงวรรณกรรมพาฝัน สู่ความทรงจำในบันทึก 6 ตุลา
Faces

อ่าน ทมยันตี จากวงวรรณกรรมพาฝัน สู่ความทรงจำในบันทึก 6 ตุลา

Focus
  • คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ หรือ ทมยันตี เกิดเมื่อ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2555 เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ด้วยวัย 85ปี
  • คุณหญิงวิมลกระโดดเข้าสู่หน้าประวัติศาสตร์การเมืองในฐานะแกนนำของ “ชมรมแม่บ้าน” โจมตีขบวนนักศึกษา จากนั้นได้รับตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกวุฒิสภา

ในประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่านามปากกา ทมยันตี หรือชื่อจริง คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ เป็นนามปากกาของนักเขียนนวนิยายที่ส่งอิทธิพลต่อผู้อ่านมากที่สุดคนหนึ่งแห่งยุค โดยเฉพาะนักอ่านผู้หญิงที่ชอบนวนิยายแนวโรแมนติกพาฝัน โดยนิยายเรื่องแรก ในฝัน ได้รับการตีพิมพ์เมื่อคุณหญิงวิมลอายุได้ 19 ปี และจากนั้นก็มีงานเขียนต่อเนื่องมานับร้อยเล่มกระทั่งปี 2564 ทางสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ได้ประกาศเตรียมวางแผงนวนิยายเรื่องใหม่ เร้นรอย ในเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งตรงกับเดือนเกิดครบรอบ 85 ปีของทมยันตี ทว่ายังไม่ทันที่นวนิยายได้วางแผง ทมยันตีก็เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564

ภาพจำของนักอ่าน ทมยันตี คือ เจ้าแม่นิยายโรแมนซ์ยุคแรกๆ ของไทย กับการใช้ภาษาได้หวานจับใจ และหักมุมด้วยตอนจบที่เศร้า ตายจาก หรือไม่ก็พลัดพรากด้วยเหตุผลและหน้าที่ที่ต้องมาก่อนหัวใจ แต่ขณะเดียวกันนางเอกของทมยันตีก็ชัดเจนว่าต้องเป็นผู้หญิงกล้าแกร่ง มีความคิดความอ่านเป็นของตัวเอง ซึ่งนี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้นวนิยายชวนฝันโดยเฉพาะนามปากกา ทมยันตี เข้าไปนั่งในใจผู้อ่านผู้หญิงกับบริบทของสังคมไทยที่ผู้หญิงเริ่มออกมาอยู่แถวหน้า มีความคิดความอ่านมากกว่าจะเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านเท่านั้น

นอกจากความคมคายในงานเขียนแล้วชื่อของคุณหญิงวิมลยังปรากฏในฐานะนักพูดฝีปากกล้า โดยในช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา ทมยันตีมีบทบาทเป็นแกนนำของ “ชมรมแม่บ้าน” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของภรรยาข้าราชการในการกล่าวโจมตีขบวนการนักศึกษาว่าเป็นผู้บ่อนทำลายมิตรประเทศ (สหรัฐอเมริกา) ทั้งยังเคยจัดรายการผ่านสถานีวิทยุยานเกราะศูนย์กลางทหารม้า ปราศัยโจมตีขบวนนักศึกษาก่อนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

Sarakadee Lite ชวนมาย้อนอ่านเส้นทางของทมยันตีอีกครั้งจากเจ้าแม่นิยายโรแมนซ์แห่งวงวรรณกรรมสู่ความทรงจำที่ไม่เคยลืมเลือนของคน 6 ตุลา

ทมยันตี

ในฝัน นวนิยายเรื่องแรกของคุณหญิงวิมล

โรสลาเรน เป็นนามปากกาแรกที่ คุณหญิงวิมล ศิริไพบูลย์ ใช้เมื่อเริ่มเขียนนิยาย และนิยายเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่ออายุ 19 ปี คือ ในฝัน ตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์โดยนามปากกานี้มักใช้ในการแต่งเรื่องแนวนิยายพาฝัน แต่เรื่องที่รู้จักในวงกว้างของนามปากกาโรสลาเรนคือเรื่อง โสมส่องแสง และภาคต่อ รอยอินทร์ เนื่องจากได้นำมาดัดแปลงเป็นละครโทรทัศน์เมื่อ พ.ศ.2537 และได้รับความนิยมอย่างมาก โดยทั้งสองเรื่องนี้ตัวเอกฝ่ายหญิงถูกสร้างให้มีบุคลิกแบบผู้หญิงแกร่งที่พร้อมเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ชายแม้ในสนามรบ

โสมส่องแสง เล่าเรื่องเมืองเวียงสรอง เมืองเพื่อนบ้านของไทยที่เคยสุขสงบแต่กลับเกิดสงครามภายในที่แทรกแซงโดยต่างชาติเพื่อโค่นล้มระบบการปกครองเดิมและประหารองค์เจ้าหลวง ตัวเอกคือ เจ้านางรอยคำ ปลอมเป็นชายเพื่อหนีไปชายแดนสมทบกับพี่ชายของเธอคือ เจ้ารอยอินทร์ ผู้ซึ่งพยายามรวบรวมกองกำลังกู้ชาติกลับคืนมาด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนสนิท ภูริต นายทหารไทย และ มิรา หญิงไทยที่ทำงานให้กับองค์การกาชาดสากล

“จะทำอะไรได้มาก ได้น้อย แค่ไหนก็ต้องทำ…การกู้บ้าน กู้เมือง ต้องช่วยกันคนละไม้ ละมือ จะรอโน่น รอนี่บ่ได้ ถ้ามัวรามือราตีน เราจะมิมีวันกู้บ้าน กู้เมืองได้ มีวิชาแค่ไหน ใช้แค่นั้น มีแรงแค่ไหน ก็ใช้แรงแค่นั้น” คำพูดของเจ้านางรอยคำ หรือ เจ้าจ้อยตามที่ภูริตเรียก สะท้อนบทบาทของสตรีในมิติการเมืองซึ่งถือเป็นมุมมองใหม่ต่อสตรีในยุคนั้น ส่วนตัวละครเอกหญิง มิรา ในเรื่องรอยอินทร์ ได้ฉายภาพลักษณ์หญิงสาวยุคใหม่ที่มีบุคลิกคล่องแคล่ว ปราดเปรียว ไม่ห่วงความสวยงาม ตัดผมสั้นเหมือนผู้ชายและตะลุยทุกที่ในถิ่นทุรกันดารเพื่อช่วยเหลือผู้คนในประเทศด้อยพัฒนาเพราะเธอเชื่อว่า “ถ้าเราต้องการสิทธิเท่าผู้ชาย เราต้องหัดทำหน้าที่ให้เท่าผู้ชาย” และ “ใครก็ตามที่มีหน้าที่ และทำหน้าที่ตนได้ดีที่สุด คนนั้นแม้จะต้องกัดฟันเดินโดดเดี่ยวก็เป็นคนมีค่า”

แม้ฉากหลังเป็นสนามรบ แต่ถ้าใช้นามปากกา โรสลาเรน ก็ย่อมรับประกันว่าต้องมีประโยคหวานจับใจอยู่เสมอ เช่นวรรคทองหวานหู

“…หากจะรัก…รักนั้นต้อง ทั้งหมด

เกียรติยศฤาชีวิตปลิดให้ได้

ถึงโลกจะมหาศาล…ค่าปานใด

จะวางไว้ในอุ้งหัตถ์ รักนิรันดร์”

ทมยันตี

นามปากกาที่หลากหลาย และสไตล์ของนิยายที่แตกต่าง

แม้คุณหญิงวิมลจะมีนามปากกาที่หลากหลาย เลือกใช้ตามลักษณะสไตล์ของนิยายแต่ละประเภท ทว่านามปากกาที่เป็นที่จดจำมีดังนี้

ทมยันตี สำหรับเรื่องสะท้อนชีวิตและสังคม จำนวน 68 เรื่อง ได้แก่กฤตยา, กษัตริยา, แก้วกลางดง, คลื่นชีวิต, คำมั่นสัญญา, คุณหญิงนอกทำเนียบ, คู่กรรม, คู่กรรม 2 (ภาคจบสมบูรณ์), จดหมายถึงลูกผู้ชาย, จิตตเทวะ, จิตา, เจ้าแม่, ชามี, โซ่สังคม, ฌาน, ดาวนภา, ดาวเรือง, ตราบาป, ตะวันลา, ตามรอยโกโบริ, ถนนสายหัวใจ, เถ้ากุหลาบ, ทวิภพ, ทิพย์, เทพบุตรสุดแสบ, นางเอก, นายกหญิง, แนวสุดท้าย, บาป ,ใบไม้ที่ปลิดปลิว, ประกาศิตเงินตรา, แผลหัวใจ, พิเธีย ผู้จารเทวศาสตร์ ผู้บันทึกเทวธรรม, พิษสวาท, พี่เลี้ยง, เพลงชีวิต, มงกุฎหนาม, มณีร้าว, มายา, เมียน้อย, แม่ดอกสวะ, ยอดอนงค์, ใยเสน่หา, ร่มฉัตร, รอยมลทิน, รอยลิขิต, รักที่ต้องมนตรา, รักลวง, ราชาวดี, ล่า, วันที่รอคอย, เวียงกุมกาม, ไวษณวี, ศิวาลัย, สตรีหมายเลขหนึ่ง, สองชีวิต, สะพานดาว, สายรุ้ง, สำรองรัก, สุดหัวใจ, สุริยวรรมัน, อตีตา, อธิราชา, อย่าลืมฉัน, อันธการ, จิต, มายา, ฌาณ

ลักษณวดี สำหรับนิยายรัก จำนวน 17 เรื่อง ได้แก่ จักรพรรดินี, เจ้าแห่งรัตติกาล, ดั่งดวงหฤทัย, เทวปักษี, ธุวตารา, บาดาล, มงกุฎกุหลาบ, มงกุฎที่ไร้บัลลังก์, มหารานี, รัศมีจันทร์, ราชินีชีบา, เลือดขัตติยา, สรวงฟ้า, สายใจ, หนี้รัก,เทพอวตาร และ มนตราแห่งดารา

โรสลาเรน สำหรับเรื่องพาฝันหรือจินตนิยาย จำนวน 16 เรื่อง ได้แก่ ค่าของคน, เงา, ตราบแผ่นดินกลบหน้า, ทางรัก, ในฝัน, บัลลังก์เงา, ม่านหัวใจ, มาลาเค, เมฆขาว, รอยอาลัย, รอยอินทร์, สายสัมพันธ์, สิ้นสวาท, โสมส่องแสง, บัลลังก์เงา และ มงกุฎกุหลาบ

มายาวดี สำหรับเรื่องเกี่ยวกับศาสตร์แห่งเทวะหรือเรื่องเล่าจากตำนาน จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ จดหมายจากวิญญาณ, ทิพยอาภา “คัมภีร์มรณะ”, สนธยากาล และ ชีวิตหลังความตาย

กนกเรขา สำหรับแต่งเรื่องเบาสมอง ชวนขำขัน จำนวน 10 เรื่อง ได้แก่ เดชแม่ยาย, แต่งกับงาน, บิ๊กเสี่ย, พ่อครัวหัวป่าก์, พ่อปลาไหล, พ่อม่ายทีเด็ด, แรงรัก, สมาคมม่าย, อุบัติเหตุ และ ไอ้คุณผี

ทมยันตี

นางเอกของ “ทมยันตี” และการสะท้อนบทบาทของหญิงไทย

เหตุผลหนึ่งที่น่าจะทำให้งานเขียนของ ทมยันตี เข้าไปนั่งอยู่ในใจของนักอ่านผู้หญิงก็คือการสอดแทรกภาพสะท้อนของผู้หญิงในบริบทของสังคมยุคนั้นๆ ขึ้นชื่อว่า นางเอกของทมยันตี โดยเฉพาะตัวเอกหญิงภายใต้นามปากกา “ทมยันตี” มักสะท้อนบุคลิกของผู้หญิงที่เข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว กร้าวแกร่งต่อชีวิต รักเกียรติ รักศักดิ์ศรี มีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ได้แฝงค่านิยมความรักชาติ

นิยายสร้างชื่อภายใต้นามปากกา ทมยันตี คือ คู่กรรม (ภาคแรก) ประพันธ์เมื่อ พ.ศ.2508 และได้นำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์รวมแล้ว 10 เวอร์ชัน โศกนาฏกรรมเรื่อง คู่กรรม เล่าเรื่องสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งไทยยอมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและมีกองกำลังทหารญี่ปุ่นประจำการอยู่ในประเทศไทยจำนวนมาก ในขณะที่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยมีการเคลื่อนไหวอย่างลับๆ ในการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อรวบรวมคนไทยทั้งในและนอกประเทศทำงานต่อต้านญี่ปุ่น

อังศุมาลิน ตัวละครเอกฝ่ายหญิงจำต้องแต่งงานกับ โกโบริ ทหารหนุ่มแห่งกองทัพเรือญี่ปุ่นด้วยเหตุผลทางการเมืองเพราะพ่อของอังศุมาลินซึ่งเป็นนายทหารเรือระดับสูงถูกสงสัยว่าเป็นพวกเสรีไทย ในนวนิยายจึงมีคำพูดของอังศุมาลิน นิสิตสาวคณะอักษรศาสตร์ ที่ล้วนตอกย้ำความคิดของเธอที่ต่อต้านการรุกรานของกองทัพญี่ปุ่นในขณะนั้น เช่น “ฉันยินดีจะแต่งงานกับคนที่เลวที่สุดในชาติไทย ดีกว่าแต่งงานกับคนที่สูงสุดในชาติศัตรู เพราะฉันจัดตัวเองอยู่ในประเภทคนหลงชาติเสียด้วย” และ “มนุษย์เรา ถ้าหากว่าขาดเกียรติศักดิ์เสียอย่างเดียว ถึงอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์”

แต่แม้คู่กรรมจะเป็นนิยายดังมีแฟนคลับอยู่มาก ทว่าอีกแง่มุมก็มีผู้อ่านที่ตั้งคำถามว่าสมควรแล้วหรือที่เราจะยกย่องชาติญี่ปุ่นให้มาเป็นตัวเอกผู้แสนดีอบอุ่น และการเขียนที่สะท้อนภาพด้านดีของทหารญี่ปุ่นเมื่อเทียบกับสิ่งที่ญี่ปุ่นกระทำกับคนไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

อีกเรื่องโด่งดังในนามปากกาทมยันตีที่สามารถสะท้อนภาพของผู้หญิงในบริบทสังคมยุคนั้นได้ดีคือ คำมั่นสัญญา ที่ได้สะท้อนทัศนคติและค่านิยมของสังคมเรื่องการให้ความสำคัญกับยศฐาบรรดาศักดิ์ทำให้ ชลันดา ลูกสาวคนเดียวของผู้พันชลิตต้องโดนตีกรอบให้ดำเนินชีวิตตามกรอบค่านิยมและการเลี้ยงดูที่ถูกอบรมสั่งสอนว่าเป็นลูกทหารต้องเข้มแข็งและอดทน แม้ชลันดาจะมีใจรักให้กับ สาริน ที่สนิทสนมกันมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ด้วยฐานะของสารินที่โดนมองว่าเป็นเพียง “ลูกจ่าในบ้าน” หรือลูกของทหารยศจ่าซึ่งเป็นทหารรับใช้ในบ้านของผู้พัน ทำให้ทั้งคู่ได้รับการประทับตราจากสังคมว่าไม่เหมาะสม สารินเองก็เจียมตัวและไม่กล้าก้าวล่วงจนในที่สุดชลันดาจำใจแต่งงานกับคนอื่นที่คนรอบข้างเธอต่างก็คิดว่าคู่ควร

“รักมีสองอย่างน้องดา รักตัวเองกับรักเกียรติยศ น้องดาเลือกแล้ว เป็นการเลือกที่ถูกต้องที่สุด งดงามที่สุด มนุษย์เรานั้นอย่าอยู่เพื่อตัวเอง เพราะไม่นานเราก็ตาย…พี่เป็นทหาร เขาสอนกันว่า แม้จะตายยังต้องตายอย่างมีเกียรติ ฉะนั้นเราจะต้องเลือกว่าเราควรรักอะไรมากกว่ากัน ทหารต้องเข้มแข็ง เมื่อรู้ว่าตัวเองควรเลือกทางใด เขาจะมุ่งมั่นทางนั้น ไม่หวนไห้ ไม่วกวน ไม่พะวงหา” สารินพูดกับชลันดาในคืนก่อนวันแต่งงานของเธอ

ทางเลือกที่โดนตีกรอบท้ายที่สุดแล้วเมื่อไม่มีความรักเป็นตัวหล่อเลี้ยง ชีวิตคู่ของชลันดาก็พังไม่เป็นท่ารวมไปถึงโรคร้ายที่เธอประสบก็คร่าชีวิตเธอไปจากคนที่เธอรักและรักเธอ

ทมยันตี

มีงานเขียนนับร้อยแต่ไม่เคยได้รางวัล

แม้จะมีงานเขียนออกมานับร้อย แต่ทราบหรือไม่ว่างานเขียนของทมยันตีไม่เคยได้รางวัลใหญ่ในเวทีใดเลย จะมีก็แต่การประกาศเกียรติคุณตัวบุคคลคือรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2555 ทั้งนี้เคยมีการบันทึกไว้ว่าเหตุที่ไม่มีผลงานเรื่องใดของทมยันตีได้รับรางวัล เป็นเพราะเธอไม่ประสงค์ให้ส่งผลงานไปประกวด แต่กระนั้นนวนิยายสวนใหญ่ของคุณหญิงวิมลก็ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายเรื่อง แต่ละเรื่องได้รับความนิยมและผลิตซ้ำมาจนถึงปัจจุบันโดยเฉพาะ คู่กรรม และ ดั่งดวงหฤทัย

คุณหญิงวิมลกับบันทึก 6 ตุลา

นอกจากปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยแล้วชื่อของ คุณหญิงวิมลยังอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองที่สำคัญของไทยโดยข้อมูลดังกล่าวมีบันทึกไว้ใน โครงการบันทึก 6 ตุลา ซึ่งเป็นโครงการที่บันทึกกรณีนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยตรงกับ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกลุ่มฝ่ายขวาหลายกลุ่มร่วมมือกันก่อการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตฝ่ายประชาชนอย่างน้อย 41 คน และบาดเจ็บ 145 คน ส่วนนักศึกษาประชาชนที่เหลือรอดจากการถูกสังหารจำนวน 3,094 คน ถูกจับกุมทั้งหมดภายในวันนั้น

ข้อมูลจากโครงการบันทึก 6 ตุลา ได้กล่าวถึง “ชมรมแม่บ้าน” ไว้ว่า เป็นชมรมก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2519 เพื่อโจมตีขบวนนักศึกษาที่เคลื่อนไหวต่อต้านฐานทัพอเมริกาโดยตรง โดยมี นางวิมล ศิริไพบูลย์ (เจียมเจริญ) เป็นแกนนำสำคัญและรวมเอาภรรยาข้าราชการ ภรรยานายพล รวมทั้งแม่บ้านจำนวนมากเข้าเป็นสมาชิก บทบาทที่เด่นชัดของชมรมแม่บ้านคือ การปกป้องและแก้ต่างแทนสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหามิตรในขณะนั้น และโจมตีขบวนการนักศึกษาว่าเป็นบ่อนทำลายมิตรประเทศ โดยในวันที่ 19 มีนาคม 2519 ชมรมแม่บ้านได้จัดอภิปรายที่โรงพยาบาลสงฆ์ โดยเชิญนายสมัคร สุนทรเวช ไปกล่าวโจมตีขบวนการนักศึกษา ซึ่งได้นำไปออกอากาศที่สถานีวิทยุยานเกราะ ต่อมาในวันที่ 17 พฤษภาคม 2519 ชมรมแม่บ้านก็จัดการชุมนุมคัดค้านนักศึกษาที่สนามไชย การโจมตีขบวนการนักศึกษามีมาอย่างต่อเนื่องจากฝ่ายขวาจนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519

หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา คุณหญิงวิมลได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ตามด้วยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ต่อมาในปี 2522 ได้เป็นสมาชิกวุฒิสภา และปี 2527 ได้เป็นผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

ปรากฏการณ์งานเขียนทมยันตีในวงการวิทยานิพนธ์

งานเขียนจากปลายปากกาของ คุณหญิงวิมล ไม่ได้มีอิทธิพลต่อนักอ่านเพียงอย่างเดียว แต่ในวงการการศึกษา คุณหญิงวิมล ถือว่าเป็นนักเขียนเบอร์ต้นๆ ที่มีคนทำการศึกษา และมีวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับงานเขียนของคุณหญิงวิมลให้เลือกอ่านอยู่เยอะมาก โดยเฉพาะในหมวดสตรีนิยม การศึกษาวรรณกรรมสตรีไทย ไปจนถึงเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศที่ปรากฏในวรรณกรรม อาทิ การศึกษานวนิยายเรื่อง ล่า ใน ตัวตนและผลกระทบต่อสตรีในวรรณกรรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ การล่วงละเมิดทางเพศ โดย สุคนธ์ทิพย์ ศิริพวาเกตุ, การศึกษาแนวคิดสตรีนิยมในนวนิยายของทมยันตีระหว่างพุทธศักราช 2506-2534 โดย ภัทรพร หงษ์ทอง, ผู้หญิงในนวนิยายของวิมล ศิริไพบูลย์ : การศึกษาเชิงวิเคราะห์ โดย เพ็ญแข งามดวงใจ เป็นต้น

ทมยันตี

นวนิยายเรื่องสุดท้ายที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์

เมื่อ 8 ปีที่แล้วทางสำหนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ได้โพสต์ถึงนวนิยายเรื่องสุดท้ายของทมยันตีเรื่อง จอมศาสดา ที่ผู้เขียนตั้งใจเขียนก่อนวางมือจากวงการวรรณกรรมเพื่อเป็นพุทธบูชาในความยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่แล้วในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 85 ปี ทมยันตี ทางเพจ ณ บ้านวรรณกรรม ได้ทำการแชร์คลิป เกี่ยวกับนวนิยายเรื่อง “เร้นรอย” ซึ่งเดิมทีทางเพจสำนักพิมพ์มีการโพสต์ไว้ว่านิยายเรื่องนี้จะวางแผงในเดือนกรกฎาคม 2564 อันเป็นเดือนเกิดของผู้เขียน แต่ ณ วันที่ผู้เขียนสิ้นชีวิต 13 กันยายน 2564 ปรากฏว่านวนิยายเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ออกสู่สายตานักอ่าน ซึ่งทมยันตีได้กล่าวไว้ในไลฟ์ครั้งนั้นว่า ต้องใช้เวลาในการเขียนเรื่องนี้เพราะต้องกลับไปดูประวัติศาสตร์ของสุโขทัย การเกิดขึ้นของอาณาจักร ซึ่งมีข้อโต้เถียงที่ต้องค้นอีกมากโดยเฉพาะที่มาของคำว่า “ไทย”  และเรื่องราวหลายอย่างในประวัติศาสตร์ที่ล้วนถูก “เร้นรอย”

ทมยันตีกล่าวว่าปัญหาข้อสงสัยเกี่ยวกับ “รอยของไทย” อยู่ในความสงสัยของเจ้าตัวมาเนิ่นนาน อะไรคือจริง อะไรคือปลอม แต่ละฝ่ายมีหลักฐานอย่างไร อะไรคือสิ่งที่คนโบราณต้องการ เร้นรอย เอาไว้ โดยเฉพาะในหมวดคาถา อาคม แต่ทมยันตีบอกแฟนๆ ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ผี และรับรองว่าไม่ได้เป็นแนวเขียนแบบพิษสวาทแบบเดิม และทมยันตีก็ได้ทิ้งท้ายเกี่ยวกับนวนิยายที่อาจจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่ยังไม่ได้ตีพิมพ์นี้ไว้ว่า

“ดิฉันขุดอยุธยามาขายให้คุณอ่านเยอะแล้ว วันนี้ดิฉันจะขุดสุโขทัยมาให้คุณคอยอ่านใน ‘เร้นรอย’ รอยของไทยเราเอง ซึ่งเราลืมเสียแล้ว”

อ้างอิง

  • https://doct6.com/learn-about/how/chapter-3/3-3/3-3-4
  • การศึกษาแนวคิดสตรีนิยมในนวนิยายของทมยันตีระหว่างพุทธศักราช 2506-2534, ภัทรพร หงษ์ทอง
  • ทำเนียบนักเขียนไทยร่วมสมัย, สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
  • www.facebook.com/nabaanwannagum

Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite