10 ปี ลุงบุญมีระลึกชาติ จากหนังเล็กๆ สู่รางวัลปาล์มทองคำ
Lite

10 ปี ลุงบุญมีระลึกชาติ จากหนังเล็กๆ สู่รางวัลปาล์มทองคำ

Focus
  • ลุงบุญมีระลึกชาติ เป็นภาพยนตร์ผลงานการกำกับของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คนไทยคนแรก และผู้กำกับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนแรกที่ชนะรางวัลปาล์มทองคำ สำหรับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 64
  • ภาพยนตร์ ลุงบุญมีระลึกชาติ มีเนื้อเรื่องเกี่ยวถึงผี วิญญาน การกลับชาติมาเกิดในเชิงสัญลักษณ์สะท้อนสังคม อันเป็นผลงานส่วนหนึ่งของโครงการศิลปะชุด ดึกดำบรรพ์

ระลึกชาติ 10 ปี กับ 10 เรื่องที่เมืองคานส์ เมื่อหนังไทย ลุงบุญมีระลึกชาติ โดย อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้รับรางวัลปาล์มทองคำ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ คร้้งที่ 64

1.ลุงบุญมีระลึกชาติ เป็นภาพยนตร์ผลงานการกำกับของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล คนไทยคนแรก และผู้กำกับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนแรกที่ชนะรางวัลปาล์มทองคำ สำหรับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ครั้งที่ 64 เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งนี่ถือเป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาล

2. “มันคล้ายความฝันที่แปลก และสวยงาม ซึ่งคุณจะไม่เห็นมันบ่อยครั้งนัก”  ทิม เบอร์ตัน ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังของฮอลลีวูด (Edward Scissorhands , Nightmare Before Christmas, Alice in Wonderland) และประธานคณะกรรมการตัดสิน เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ คร้้งที่ 64 กล่าวถึง ลุงบุญมีระลึกชาติ หนังเล็กๆ เรื่องหนึ่งของไทย ที่ชนะภาพยนตร์นานาชาติอีกกว่า 20 เรื่อง จนสามารถคว้ารางวัลสูงสุดในคานส์ไปครองได้ 

3. “เป็นใครก็ตื่นเต้นแน่นอน ในรอบกาลา เข้าไปดูหนังตัวเองโดยที่มีคนดูในชุดทักซิโด 2,000 กว่าคน พอดูไปครึ่งเรื่อง…คนหัวเราะ…เรารู้สึกได้ถึงแม่เหล็กของหนังที่ส่งถึงคน…แต่ตอนนั้นเราเหนื่อยมาก…ไปเดินพรมแดงยิ้มร่า…แล้วก็หลับ ตื่นตอนได้ยินเสียงปรบมือเมื่อหนังจบแล้ว”  อภิชาติพงศ์ เล่าถึงบรรยากาศในคานส์รอบฉายปฐมทัศน์เดินพรมแดง ซึ่งเขาเองเกือบจะไปไม่ทัน และไปถึงก่อนหนังฉายรอบกาลาเพียง 1 วัน เพราะสถานทูตฝรั่งเศสออกวีซ่าล่าช้า เนื่องจากสถานการณ์การเมืองไทยมีการปิดล้อมแยกราชประสงค์และปิดสนามบินสุวรรณภูมิ

“ตอนนั้นเราเหนื่อยมาก เดินทางมา (ถึงคานส์) แล้วสัมภาษณ์เลย แล้วก็ไปเดินพรมแดงยิ้มร่า เราก็เลยหลับ(ในรอบฉายปฐมทัศน์) …เพราะเราเจ็ตแล็กกัน มาตื่นกันตอนที่ได้ยินเสียงปรบมือเมื่อหนังจบแล้ว ในประเพณีของคานส์ไฟจะเปิด กล้องจะจับที่หน้าเรา แล้วภาพจะฉายปรากฏไปทั่วเทศกาล โชคดีที่ตื่นก่อนไฟจะเปิด แล้วมันเป็นการปรบมือที่นานมากที่สุดในหนังของเรา โค้งแล้วโค้งอีก แค่นี้คุ้มแล้วที่พยายามเดินทางมา”

4. “หนังเรื่องนี้มันพูดถึงเรื่องความเชื่อและความตายในสังคม ในการเมืองไทย และในหลายๆ อย่าง  หนังเรื่องนี้มันเหมือนการแสดงความเคารพและการอำลากับภาพยนตร์ในรูปแบบหนึ่งที่เราโตมาและกำลังจะหายไป”  อภิชาติพงศ์ พูดถึง ลุงบุญมีระลึกชาติ

5. ภาพยนตร์ ลุงบุญมีระลึกชาติ  มีเนื้อเรื่องเกี่ยวถึงผี วิญญาน การกลับชาติมาเกิดในเชิงสัญลักษณ์สะท้อนสังคม อันเป็นผลงานส่วนหนึ่งของโครงการศิลปะชุด ดึกดำบรรพ์ (มีงานอินสตอลเลชัน วิดีโออาร์ต หนังสือ ภาพถ่ายและภาพยนตร์) ระลึกความทรงจำต่อผู้คนในหมู่บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม พื้นที่สำคัญที่เกิดเหตุการณ์สู้รับระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและรัฐบาลไทย เมื่อ พ.ศ. 2508  พร้อมกันนั้นก็ได้แทรกประวัติศาสตร์การเมืองสังคมของภาคอีสานลงไป

ลุงบุญมีระลึกชาติ

6. ลุงบุญมีระลึกชาติ  สร้างขึ้นเพื่อระลึกความทรงจำต่อผู้คนในหมู่บ้านนาบัว จังหวัดนครพนม ในเหตกุารณ์สู้รบระหว่าง พคท. กับทางการไทย หลังวันเสียงปืนแตก 7 สิงหาคม พ.ศ. 2508 หนังถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16 มม.  เสมือนเป็นการอุทิศให้แก่ภาพยนตร์ที่กำลังจะตายแล้ว หนังเล่าเรื่องของ บุญมี ชายชาวอีสานที่ป่วยด้วยอาการไตวาย เขาเดินทางกลับบ้านเกิดในช่วงวาระสุดท้าย และฝันเห็นอดีตชาติของตนผ่านฉากที่ตัดสลับเข้ามาเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมคิดเอาเองว่าชาติที่แล้วของชายผู้นี้คืออะไร ซึ่งนักวิจารณ์หลายคน เปรียบเทียบผลงานชิ้นนี้ว่า มีความงดงามราวบทกวี

7. เทศกาลหนังเมืองคานส์ ถือว่าเป็นเทศกาลที่สำคัญมากในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพราะถือได้ว่าเป็นเทศกาลรวมญาติของคนในวงการหนัง ทั้งผู้ผลิต และผู้จัดจำหน่าย จากทั่วโลก และเทศกาลทำให้ได้รับการยอมรับมากและยาวนาน เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ เป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่เก่าแก่ที่สุดอันดับ 2 ของโลกรองจากเทศกาลที่เวนิซ อิตาลี และมาก่อนเทศกาลภาพยนตร์ที่เมืองเบอร์ลิน เยอรมนี  “เขาสามารถผสมผสานเวทีของหนังศิลปะและตลาดหนังเข้าด้วยกัน ทำให้ทุกคนจำเป็นต้องไปคานส์ ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า ดารา คอหนังหรือนักวิจารณ์ เลยกลายเป็นที่รวมญาติของวัฒนธรรมภาพยนตร์โลก” อภิชาติพงศ์ ให้ความเห็น

ลุงบุญมีระลึกชาติ

8. อภิชาติพงศ์ หรือ เจ้ย เติบโตในจังหวัดขอนแก่น จบการ ศึกษาระดับปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ด้วยความที่สนใจด้านภาพยนตร์จึง เข้าศึกษาต่อปริญญาโท สาขาภาพยนตร์ที่สถาบันศิลปะชิคาโก  (Art Institute of Chicago) สหรัฐอเมริกา  เขาเป็นผู้กำกับไทยเพียงไม่กี่คนที่ทำงานหนังขนาดยาวนอกระบบสตูดิโอตั้งแต่ผลิตผลงานชิ้นแรกคือเรื่อง ดอกฟ้าในมือมาร เมื่อปี 2543 และ เป็นผู้กำกับไทยคนแรกที่สามารถคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์มาครองได้ ทั้ง สุดเสน่หา (รางวัล Un Certain Regard)  ในปี  2545 และ สัตว์ประหลาด (รางวัล Jury Prize  สายประกวดหลัก) ในปี 2547 รวมถึงเป็นศิลปินไทยที่  ได้รับรางวัลศิลปาธรประจำปี 2548 ในสาขาภาพยนตร์

9. รางวัลที่อภิชาติพงศ์ ได้รับจากเมืองคานส์เสมือนเป็นการกรุยทางให้สังคมได้รู้จักวงการหนังอิสระ ภาพยนตร์ที่สร้างโดย  คนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งนำเสนอมมุมองและเล่าเรื่องผิดแผกไปจากภาพยนตร์เชิงพาณิชย์ เอกลักษณ์ในผลงานของอภิชาติพงศ์อยู่ที่  การเล่าเรื่องซึ่งผสมผสานระหว่างการถ่ายทำแบบสารคดีกับเหตกุารณ์เหนือจริง ผ่านชีวิตคนชายขอบ ทั้งแรงงานต่างด้าว กลุ่มรักร่วมเพศ ชาวบ้านในชนบท ฯลฯ  อีกทั้งนักแสดงก็ล้วนเป็นคนธรรมดาๆ แหวกขนบหนังไทยที่ผ่านมาโดยสิ้นเชิง

10. อภิชาติพงศ์ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมงานสารคดีหลังจบเทศกาลหนังเมืองคานส์ในตอนนั้นว่า ลุงบุญมีระลึกชาติ  เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จที่สุดที่เขาเคยทำมา “ที่ภูมิใจสำหรับคนทำหนังคือ หลายประเทศ เขาซื้อก่อนได้รางวัล แค่หนังฉายคืนนั้นตอนที่มีการจัดงานปาร์ตี้ พวก distributor (ผู้ซื้อภาพยนตร์ไปจัดจำหน่ายในแต่ละประเทศ) ก็มาแสดงความยินดีแล้ว”

ต้นเรื่อง