เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย 5 หนังสะท้อนความหวัง ความฝันของผู้ลี้ภัยทั่วโลก
Lite

เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย 5 หนังสะท้อนความหวัง ความฝันของผู้ลี้ภัยทั่วโลก

Focus
  • เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 11 เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก จะจัดขึ้นในวันที่ 17 – 20 มิถุนายน ณ โรงภาพยนตร์ที่ 11 พารากอน ซีนีเพล็กซ์ กรุงเทพฯ
  • 20 มิถุนายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น วันผู้ลี้ภัยโลก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้ง ความรุนแรง และสงครามในมุมต่างๆ ของโลกยังคงเกิดขึ้นเป็นประวัติศาสตร์ที่วนซ้ำอย่างไม่รู้เลยว่าจะจบลงเมื่อไร โดยความขัดแย้งเหล่านั้นทำให้ผู้คนบนโลกต้องโยกย้ายถิ่นอาศัยเพื่อหนีภัยสงคราม หนีความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิมนุษยชน จนเกิดเป็น วันผู้ลี้ภัยโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 20 มิถุนายนของทุกปี ตอกย้ำให้คนทั้งโลกได้เห็นถึงปัญหาของการถูกบีบบังคับให้อพยพย้ายถิ่น การลี้ภัยละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด พร้อมเผยมุมที่ทำให้ได้เห็นถึงความเข้มแข็ง และความอดทนที่เหล่า ผู้ลี้ภัย ต้องเผชิญ

ปัจจุบันจำนวนผู้คนที่ถูกบังคับให้หนีจากความขัดแย้ง ความรุนแรง การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และสงครามจากทั่วโลก พุ่งสูงกว่า 100 ล้านคน ซึ่งนี่ถือเป็นสถิติที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์ สืบเนื่องมาจากสงครามในยูเครน รวมทั้งความขัดแย้งที่ยืดเยื้อในประเทศต่าง ๆ เช่น เอธิโอเปีย บูร์กินา ฟาโซ เมียนมา ไนจีเรีย อัฟกานิสถาน และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และเพื่อให้คนทั่วไปที่อาจจะมองว่าการลี้ภัยเป็นเรื่องไกลตัว อยู่ไกลกับเราคนละซีกโลกได้เข้าใจถึงสถานการณ์เรื่อง ผู้ลี้ภัย มากยิ่งขึ้น เราจึงขอชวนมาตีตั๋วชม เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 11 จัดโดย สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ร่วมกับภาคี นำภาพยนตร์และสารคดี  5 เรื่อง ภายใต้แนวคิด “สิทธิในการแสวงหาความปลอดภัย” มาให้ผู้สนใจได้เข้าชมฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ระหว่างวันที่ 17-20 มิถุนายน 2565 ณ โรงภาพยนตร์ที่ 11 พารากอน ซีนีเพล็กซ์ กรุงเทพฯ ส่วนจะมีเรื่องไหนกันบ้างที่ควรตีตั๋วชมใน เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ครั้งนี้ Sarakadee Lite จะพาไปรู้จักโลกของผู้ลี้ภัยกัน ลงทะเบียนชมภาพยนตร์ได้ที่ https://linktr.ee/rff11th

ผู้ลี้ภัย

Wandering: A Rohingya Story (2020)

เปิดโลกของโรฮิงญาในค่ายอพยพที่ใหญ่ที่สุดในโลก

สารคดีสัญชาติแคนาดาที่พาผู้ชมเข้าไปสำรวจ “ค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลอง” ค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดค่ายหนึ่งของโลกผ่านการเล่าเรื่องและเรียบเรียงคำบรรยายอย่างกินใจโดย คาลามิยา (คาลาม) ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาซึ่งเขาคือตัวแทนของ ผู้ลี้ภัย ทั่วโลกที่ต้องการให้ทุกคนได้ยินเสียงและเรื่องราวของพวกเขา

“ฉันต้องการเพียงอิสรภาพ

อิสรภาพที่จะได้เป็นครูเพื่อสอน

อิสรภาพที่จะได้เป็นหมอเพื่อรักษา

อิสรภาพที่จะได้เป็นผู้นำเพื่อส่งเสริมสันติภาพ

อิสรภาพที่จะได้เป็นเพื่อน

และฟังสิ่งที่ผู้คนรอบตัวฉันต้องการบอก

ฉันต้องการเพียงอิสรภาพ”

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับค่ายผู้ลี้ภัยที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลกอย่างค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลอง โดยเรื่องราวถูกบันทึกในปี พ.ศ. 2561 ภายในเวลาไม่กี่เดือนชาวมุสลิมโรฮิงญาจำนวน 700,000 คน ทะลักออกจากเมียนมา เพื่อลี้ภัยไปยังประเทศบังกลาเทศ ภายในเรื่องเราจะได้พบกับเรื่องราวความเข้มแข็งที่น่าทึ่งของผู้ลี้ภัยและเด็ก ๆ ที่ต้องเติบโตขึ้นพร้อมกับท่ามกลางความวุ่นวายและชีวิตที่ยังไม่รู้ว่าท้ายที่สุดแล้วโรฮิงญาจะมีบ้านหลังสุดท้ายโดยไม่ต้องโยกย้ายอยู่ที่ไหนในโลกใบนี้ ฉายวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 14.00 น. และวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 19.00 น. 

เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย

Captains of Za’atari (2021)

เมื่อผมถูกปล้นโอกาสจากการลี้ภัย

“เมื่อผมเป็นผู้ลี้ภัย ผมถูกปล้นโอกาสไปหมด แต่ผมจะไม่ยอมให้ความฝันของผมถูกขโมย”

นี่คือคำพูดสั้นๆ แต่สะเทือนถึงความฝันเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ของ เฟาซี (Fawzi) ตัวละครเอกจากภาพยนตร์สัญชาติอียิปต์เรื่อง Captains of Za’atari ที่เดินเล่าเรื่องถึงเฟาซีและเพื่อนในค่ายผู้ลี้ภัยซาตารี ประเทศจอร์แดน ซึ่งเป็นค่ายผู้ลี้ภัยชาวซีเรียที่ใหญ่ที่สุดในโลก เฟาซีและเพื่อนมีความฝันอันยิ่งใหญ่คือการเป็นนักฟุตบอลมืออาชีพ แม้ว่าชีวิตของเขาต้องฝ่าฝันอุปสรรคด้านอื่น ๆ มากมาย และทางเดินของผู้ลี้ภัยไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่พวกเขาก็ไม่เคยหยุดวิ่งตามความฝัน พวกเขาไม่เคยหยุดที่จะฝึกซ้อมฟุตบอลภายในสนามแคบๆ ของค่ายผู้ลี้ภัยแทบทุกวัน

และแล้ววันหนึ่งปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นเมื่อสถาบันกีฬาระดับโลกได้มีโอกาสมาเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัย และหยิบยื่นโอกาสให้เยาวชนชาวซีเรียคือเฟาซีกับเพื่อนได้สานต่อความฝันที่ดูจะริบหรี่ของพวกเขาให้กลับมามีความหวังขึ้นอีกครั้ง Captains of Za’atari เป็นภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความฝันและความหวัง ที่มีทั้งรอยยิ้มและคราบน้ำตา ฉายวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 19.00 น. และวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 14.00 น.

เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย

Encanto (2021)

ตัวแทนความเข้มแข็งของผู้ลี้ภัยทั่วโลก

Encanto แอนิเมชันสัญชาติอเมริกาผลงานล่าสุดจากผู้สร้าง Frozen และ Moana ที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ และพร้อมพาทุกคนไปเยือนเมืองแห่งเวทมนตร์ที่สะกดผู้ชมด้วยเสียงเพลงสนุกๆ กลิ่นอายลาตินอเมริกา ร่วมด้วยสถาปัตยกรรมที่น่าหลงใหล เสียงเพลงที่ตรึงใจ และวิถีของครอบครัวใหญ่ที่แน่นแฟ้นและความเข้มแข็งของผู้ลี้ภัยทั่วโลก

Encanto บอกเล่าถึงเรื่องราวของครอบครัวมหัศจรรย์ตระกูลมาดริกัลที่อาศัยในภูเขาแห่งโคลอมเบียที่บ้านเอนคันโต ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวของเวทมนตร์ เด็กๆ ทุกคนต่างได้รับพรสวรรค์นั้นยกเว้น “มิราเบล” คนธรรมดาหนึ่งเดียวในตระกูลมาดริกัล ซึ่งเธอหวังจะปกป้องทุกคนในครอบครัวให้ผ่านพ้นจากความทรงจำร้ายๆ ในการลี้ภัย ดังนั้นครอบครัวมาดริกัลจึงเปรียบได้กับตัวแทนความเข้มแข็งของผู้ลี้ภัยทั่วโลกที่แม้ระหว่างการออกเดินทางในแต่ละครั้งจะหมายถึงความสูญเสีย แต่พวกเขาก็ไม่เคยหมดหวัง ฉายวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 14.00 น. และวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 19.00 น.

เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย

Flee (2021)

การค้นหาความหมายของคำว่า “บ้าน”

แอนิเมชันสัญชาติเดนมาร์กที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 3 สาขาพร้อมกัน ในสาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยม ภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม และภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม กับเรื่องจริงของ อามิน นาวาบี (Amin Nawabi) ชาวอัฟกานิสถานที่ต้องลี้ภัยจากบ้านเกิดมาตั้งแต่เด็กพร้อมกับความลับที่เขาปกปิดมานานกว่า 20 ปี และครั้งแรกที่การ “หนี” อันแสนโหดร้ายจะถูกเปิดผย ผ่านลายเส้นและฝีมือการกำกับของ โยนัส โพเฮอร์ รัสมุสเซน (Jonas Poher Rasmussen)

“บ้าน มีความหมายสำหรับคุณอย่างไร”

“บ้านหรือ…สถานที่สักแห่งหนึ่งที่ปลอดภัย”

นี่คือคำถามที่ อามิน นาวาบี ตั้งไว้ใน Flee ซึ่งสำหรับเขา บ้านอาจจะไม่ได้จำกัดความง่ายเลย เพราะตั้งแต่เด็ก อามิน นาวาบี และครอบครัวต้องลี้ภัยออกจากอัฟกานิสถาน ประเทศบ้านเกิดที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศที่เจริญทั้งบ้านเมืองวัฒนธรรม แต่กลับเปลี่ยนไปเมื่อประเทศเข้าสู่ภาวะสงคราม

แอนิเมชันได้เล่าถึงความโหดร้ายและความหดหู่ในฐานะผู้ลี้ภัยรวมไปถึงวิธีการ “หนีตาย” ที่พวกเขาต้องเผชิญที่โหดร้ายจนอามินไม่แม้แต่จะกล้าเล่าให้กับคนรักหรือคนอื่นฟังเกี่ยวกับความเจ็บปวดครั้งนั้นซึ่งถูกเก็บงำมากว่า 20 ปี ฉายวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 19.00 น. และวันอาทิตย์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 14.00

ผู้ลี้ภัย

Life overtakes me (2019)

เรื่องราวของเด็กผู้ลี้ภัยที่ต้องการ “ถอนตัวออกจากโลก”

สารคดีเรื่องสั้นสัญชาติสวีเดน – อเมริกันที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสาขาสารคดีสั้นยอดเยี่ยมในเวทีออสการ์ครั้งที่ 92 ประจำปี 2020 โดย Life overtakes me เล่าเรื่องของเด็กผู้ลี้ภัยนับร้อยๆ คนที่ต้องถูกบีบคับให้ออกจากบ้านของตนและมาอาศัยอยู่ที่ประเทศสวีเดน การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่มาพร้อมกับความรุนแรงทำให้เด็กๆ ผู้ลี้ภัยได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรงจนเกิดกลไกการป้องกันตัวเองที่ต้องการตัดขาดจากการรับรู้โลกภายนอก ไม่กินอาหาร บ้างก็นอนหลับไปเฉย ๆ เป็นเดือนหรือกระทั่งเป็นปีโดยที่ระบบต่างๆ ของร่างกายยังคงทำงานปกติทุกอย่าง ทว่าร่างกายภายนอกไม่อยากที่จะตอบสนองต่อโลกภายนอกอีกต่อไป เด็กๆ ต้องตกอยู่ในภาวะโคม่าเพราะความรู้สึกไม่มั่นคงและความไม่แน่นอนต่อการมีชีวิตอยู่ เด็กผู้ลี้ภัยบางคนต้องตกอยู่ในภาวะนี้มากกว่า 15 ปีซึ่งจิตแพทย์เด็กเรียกว่าภาวะ “โรครีซิกเนชันซินโดรม” (Resignation Syndrome) หรือภาวะอาการ “ถอนตัวออกจากโลก”

นอกจากเรื่องราวของเด็กๆ แล้ว Life overtakes me ยังพาผู้ชมไปติดตามชีวิตของพ่อแม่ผู้ลี้ภัยที่ต้องใช้ความเข้มแข็งเพื่อดูแลลูกๆ ของพวกเขาไม่ว่าจะต้องให้อาหารทางสายยาง อาบน้ำ หวีผม ทำกายภาพบำบัด รวมถึงพูดคุยเรื่องต่าง ๆ ให้ลูก ๆ ฟัง แม้ว่าลูกของเขาจะอยู่ในภาวะนอนหลับแบบไม่รู้สึกตัวก็ตาม ในระหว่างการสร้างชีวิตใหม่นี้ แม้จะมีอุสรรคมากมายแต่พ่อแม่ของลูก ๆ ผู้ลี้ภัยก็พยายามก้าวผ่านอุปสรรคเหล่านั้นไปได้ ฉายวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2565 เวลา 19.00 น.

Fact File

  • UNHCR ประจำประเทศไทย ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย สถานเอกอัครราชทูตเดนมาร์ก ประจำประเทศไทย พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ด็อกคิวเมนทารี่ คลับ ทีวีบูรพา และแปลน ทอยส์ จัดงาน เทศกาลภาพยนต์ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 11
  • เทศกาลภาพยนตร์ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ 11 เนื่องในวันผู้ลี้ภัยโลก จัดขึ้นในวันที่ 17 – 20 มิถุนายน ณ โรงภาพยนตร์ที่ 11 พารากอน ซีนีเพล็กซ์ รับชมฟรีเพียงลงทะเบียน https://linktr.ee/rff11th

Author

ชลดา ชมกลิ่น
หญิงสาวในวัยแห่งการเติบโตและเดินตามความฝัน ปรารถนาที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างอิสระและมีความสุขผ่านการผจญภัยในแต่ละวัน