4 มิถุนายน 1989  ย้อนไทม์ไลน์เหตุการณ์นองเลือด เทียนอันเหมิน
Lite

4 มิถุนายน 1989 ย้อนไทม์ไลน์เหตุการณ์นองเลือด เทียนอันเหมิน

Focus
  • 4 มิถุนายน 1989  ตรงกับเหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมิน ซึ่งในครั้งนั้นมีนักศึกษาชาวจีนนับแสนคนออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย โดยการชุมนุมยืดเยื้อยาวนานถึง 7 สัปดาห์ จัตุรัส เทียนอันเหมิน ใจกลางกรุงปักกิ่ง
  • รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ภายใต้การนำของ เติ้งเสี่ยวผิง ใช้กองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม มีการคาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตจากขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เทียนอันเหมินมากถึง 5,000 คน

หากพูดถึงเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ของฟากฝั่งเอเชีย แน่นอนว่าต้องมี เหตุการณ์นองเลือดเทียนอันเหมิน  ซึ่งในครั้งนั้นมีนักศึกษาชาวจีนนับแสนคนออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย โดยการชุมนุมยืดเยื้อยาวนานถึง 7 สัปดาห์ ณ จัตุรัส เทียนอันเหมิน กลางกรุงปักกิ่ง ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน ถึง 4 มิถุนายน ค.ศ.1989 และรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน ภายใต้การนำของ เติ้งเสี่ยวผิง ใช้กองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม รัฐบาลจีนอ้างว่ามีผู้เสียชีวิต 300 คน  แต่มีการคาดการณ์กันว่ายอดผู้เสียชีวิตจริงจากขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยที่เทียนอันเหมินอาจสูงถึง 5,000 คน Sarakadee Lite ขอพาย้อนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์ครั้งนี้

1. จัตุรัสเทียนอันเหมิน เดิมเป็นพื้นที่ที่เคยเป็นประตูกำแพงฝั่งทิศใต้เฉพาะทางผ่านของจักรพรรดิสู่พระราชวังหลวงตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงเมื่อศตวรรษที่ 15 จากนั้นในยุคพรรคคอมมิวนิสต์ปกครองประเทศจีนประตูกำแพงได้ถูกรื้อออกและขยายต่อเติม เริ่มตั้งแต่ ปี ค.ศ.1954 สมัยเหมา เจ๋อตง โดยผู้นำจีนในยุคนั้นตั้งใจสร้างจัตุรัสที่ขนาดใหญ่อลังการที่สุดในโลก และมีการต่อเติมในช่วงปี ค.ศ.1958-1959 พร้อมสร้างอาคารอนุสรณ์สถานรำลึกการสร้างชาติและการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์  มีพื้นที่รองรับมวลชนได้มากกว่า  5 แสนคน  และมีการต่อเติมเพิ่มอีกในปี ค.ศ. 1981 ตรงกับช่วงหลังเหมา เจ๋อตงเสียชีวิต ทำให้พื้นที่ทั้งหมดของ จัตุรัสเทียนอันเหมิน รองรับคนได้ถึง 6 แสนคน

เทียนอันเหมิน

2. หากพูดถึงความขัดแย้งของเหตุการณ์เทียนอันเหมินก็ต้องย้อนไปที่หน่ออ่อนแห่งความขัดแย้งในช่วง ปี ค.ศ. 1978 ตรงกับเหตุการณ์ “กำแพงประชาธิปไตย” มีการแสดงออกทางการเมืองเรียกร้องความโปร่งใส แก้ปัญหาทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ และเรียกร้องประชาธิปไตย โดยใช้ “หนังสือพิมพ์กำแพง” ซึ่งแพร่หลายในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือสื่อสารโจมตี ในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนั้นมีแกนนำถูกจับกุมและถูกคุมขังร่วม 20 ปี หนึ่งในแกนนำคนสำคัญคือ “เว่ยจิงเซียง” ผู้เรียกร้องความทันสมัยที่ 5 คือประชาธิปไตย

3. ปี ค.ศ. 1984 เริ่มมีการประท้วงของนักศึกษาออกมาเรื่อย ๆ โดยมุ่งประเด็นโจมตีพฤติกรรมทุจริตฉ้อฉลภายในพรรคคอมมิวนิสต์ เกิดการคอรัปชันเชิงนโยบายโดยอาศัยช่องโหว่ของระบบการปกครองและบริหารประเทศแบบกึ่งสังคมนิยม กึ่งกลไกตลาดเสรีที่ให้ภาครัฐมีอำนาจจัดสรรทรัพยากร แต่ราคาสินค้าและการบริการเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีสิทธิ์ขายสินค้าบางชนิดในปริมาณจำกัด และมีราคาต่ำกว่าตลาดให้กับผู้มีสายสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่รัฐ เรียกว่าเป็นยุคตลาดมืดสำหรับการคอรัปชันเชิงนโยบายเลยก็ว่าได้

4. วันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1989 การเสียชีวิตของ หู เย่าปัง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ผู้นำในฝั่งพรรคคอมมิวนิสต์ที่ประนีประนอมกับนักศึกษาและไม่ใช้วิธีการปราบปราม จุดกระแสความไม่พอใจ สร้างความคลางแคลงใจให้กับนักศึกษาและแนวร่วมอย่างเหล่ากรรมกรที่มารวมตัวเรียกร้องประชาธิปไตย ความโปร่งใสในการบริหารงาน การปราบปรามทุจริตฉ้อโกงของเหล่าอภิสิทธิ์ชน มีการอดอาหารประท้วง และผู้นำอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์บางส่วนพยายามประนีประนอมกับนักศึกษา

5. เช้าตรู่วันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1989 พรรคคอมมิวนิสต์จีนประกาศใช้กฎอัยการศึกในกรุงปักกิ่ง และเข้าสลายการชุมนุม พรรคคอมมิวนิสต์จีนปกปิดตัวเลขที่แท้จริงของการสังหารหมู่ ไม่มีใครทราบตัวเลขที่แท้จริงของผู้เสียชีวิตกลางจัตุรัสเทียนอันเหมิน

เทียนอันเหมิน
ภาพการรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมินในฮ่องกง

6. วันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1989 เข้าสู่วันที่ 5 หลังการสลายการชุมนุม เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำประเทศจีน ได้ออกมาปราศรัยชื่นชมการใช้กำลังปราบปรามการชุมนุม

7. สภาคองเกรส ลงมติให้สหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรทางการค้ากับจีน ประนามการปราบปรามครั้งนี้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนครั้งประวัติศาสตร์

“ชายผู้ยืนขวางรถถัง”  หรือ สื่อตะวันตกเรียกว่า แท็งก์แมน (Tank Man)

8. หลังเหตุการณ์เทียนอันเหมิน  รัฐบาลจีนปิดกั้นข้อมูลข่าวสารทุกวิถีทาง รวมทั้งมีความพยายามในการบล็อกและเซ็นเซอร์เว็บไซต์ต่างๆ  มีทีมตำรวจอินเทอร์เน็ตจำนวน 3-5 หมื่นคนทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลและความเห็นที่รัฐบาลเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง   (องค์การนิรโทษกรรมสากล รายงานเมื่อปีพ.ศ. 2551) เฉพาะในปีพ.ศ. 2553 ทางการจีนสั่งปิดเว็บไซต์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงถึง 1.3 ล้านเว็บ และตั้งข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตมากว่า 60 ข้อ อีกทั้งยังบล็อกคำค้นหา “เทียนอันเหมิน” ในเว็บไซต์ และไมโครบล็อก  รวมทั้งมีการบล็อกคำค้น “ เป็ดเหลือง” ที่เคยถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แทน “ชายผู้ยืนขวางรถถัง”  หรือ สื่อตะวันตกเรียกว่า แท็งก์แมน (Tank Man) ในเหตุการณ์เทียนอันเหมินปี 1989 หลังกองกำลังทหารยกพลมาสลายการชุมนุม

Fact File

  • จัตุรัสเทียนอันเหมิน คือลานประกาศชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์ และการสร้างชาติใหม่  เมื่อ เหมาเจ๋อตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนอ่านประกาศการเริ่มประวัติศาสตร์ใหม่ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ด้วยคมวาทะว่า “ณ บัดนี้ ประชาชนจีนได้ลุกยืนขึ้นมาแล้ว” ณ พลับพลากลางจัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2492
  • ชื่อ เทียนอันเหมิน หรือ ประตูสันติสวรรค์ มาจากประวัติศาสตร์เดิมของจัตุรัสนี้ที่เป็นประตูกำแพงทางฝั่งทิศใต้ของพระราชวังหลวง (Imperial City) และเป็นทางผ่านสำหรับจักรพรรดิหรือผู้ครองจักรวรรดิจีนเท่านั้น

ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี มิถุนายน 2555, มีนาคม 2553, กรกฎาคม 2562 และ กันยายน 2554

ภาพ : Protesters in Tiananmen Square, Beijing, 1989 © Shao Jiang (www.amnesty.org.uk)