5 หนังสือภาพ รวมศาสตร์และศิลป์ที่ควรค่าแก่การอ่านและเก็บสะสม
Lite

5 หนังสือภาพ รวมศาสตร์และศิลป์ที่ควรค่าแก่การอ่านและเก็บสะสม

Focus
  • ต้อนรับปีใหม่ 2566 อย่างเต็มอิ่มด้วยอาหารสมองและอาหารตากับ 5 หนังสือภาพที่ควรค่าแก่การอ่าน เก็บสะสม และเลือกซื้อเป็นของขวัญ
  • หนังสือเหล่านี้เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่รวมศิลปะการใช้ภาษาอย่างมีชั้นเชิงและเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับภาพศิลปะและการออกแบบรูปเล่มที่สวยงาม

ส่งท้ายปี 2565 กับ ส.ค.ส. (ส่งหนังสือสื่อความสุข) Sarakadee Lite ขอคัดเลือก 5 หนังสือภาพ ที่ควรค่าแก่การอ่านด้วยศิลปะการใช้ภาษาอย่างมีชั้นเชิงและเนื้อหาที่เป็นประโยชน์พร้อมเสริมทัพด้วยภาพศิลปะและการออกแบบรูปเล่มที่สวยงามทำให้หนังสือแต่ละเล่มเป็นดั่งงานศิลปะชิ้นเยี่ยม ว่าแล้วก็เตรียมเก็บเข้าลิสต์การอ่านกันเลยรับรองว่าเต็มอิ่มทั้งอาหารสมองและอาหารตาแน่นอน

หนังสือภาพ

หนังสือชุด Harry Potter Illustrated Edition

ผู้เขียน: เจ.เค. โรว์ลิ่ง (J.K. Rowling)

ภาพประกอบ: จิม เคย์ (Jim Kay)

สำนักพิมพ์: Bloomsbury (ฉบับแปลไทยโดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์)

หนังสือชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ของ เจ.เค. โรว์ลิ่ง ยังคงร่ายเวทมนตร์แก่นักอ่านอย่างต่อเนื่องแม้จะผ่านมากว่า 2 ทศวรรษนับตั้งแต่หนังสือเล่มแรกในชุดคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับศิลาอาถรรพ์ วางจำหน่ายในฉบับภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1997 และหนึ่งในส่วนต่อขยายของอาณาจักรเวทมนตร์ที่แฟนคลับของพ่อมดแฮร์รี่ไม่ควรพลาดคือ หนังสือชุดฉบับภาพประกอบ 4 สี ปกแข็ง Harry Potter Illustrated Edition วาดโดย จิม เคย์ (Jim Kay) นักวาดภาพประกอบชื่อดังชาวอังกฤษและเจ้าของรางวัล Kate Greenaway Medal ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ที่มอบให้แก่หนังสือสำหรับเด็กที่มีภาพประกอบยอดเยี่ยมในประเทศอังกฤษโดยจิม เคย์ได้รับรางวัลนี้ในค.ศ.2012 สำหรับหนังสือเรื่อง Monster Calls เขียนโดย แพทริกเนสส์ (Patrick Ness)

หนังสือภาพ

เจ.เค. โรว์ลิ่ง เป็นผู้ที่เลือกให้จิม เคย์ เป็นศิลปินเพียงคนเดียวที่วาดภาพประกอบหนังสือชุดสุดคลาสิกของเธอที่ขายไปแล้วกว่า 450 ล้านเล่มและแปลไปแล้ว 78 ภาษา โดย เจ.เค.ได้เขียนชื่นชมถึง จิม เคย์ บนปกหลังของหนังสือภาพเล่มแรกที่ตีพิมพ์เมื่อค.ศ.2015 ว่า “การเห็นภาพประกอบของ จิม เคย์ กระทบใจฉันอย่างลึกซึ้ง ฉันชอบโลกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่เขาสร้าง ฉันรู้สึกเป็นเกียรติและซาบซึ้งใจที่เขาทุ่มเทความสามารถสร้างโลกนั้นขึ้นมา”

โปรเจกต์เขียนภาพประกอบหนังสือชุดแฮร์รี่ฯ เริ่มต้นขึ้นในค.ศ.2013 โดยหนังสือเล่มที่ 1-4 ที่ออกมาชุดแรกได้มีการตีพิมพ์ในช่วง ค.ศ.2015-2019 และเล่มล่าสุด Harry Potter and the Order of the Phoenix (แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์) วางจำหน่ายเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.2022 โดยในเล่มนี้ จิม เคย์ ได้วาดภาพร่วมกับเพื่อนศิลปินของเขาคือ นีล แพ็กเกอร์ (Neil Packer) ผู้วาดภาพประกอบหนังสือเรื่อง The Odyssey and The Iliad และ The Silk Roads: A New History of the World เนื่องจากหนังสือเล่มที่ 5 นี้เป็นเล่มที่หนาที่สุดของหนังสือภาพชุดนี้ รวมทั้งมีรายละเอียดมากมายโดยนักเขียนทั้งสองใช้เวลาร่วม 2 ปีในการวาดภาพประกอบเล่มล่าสุด

หนังสือภาพ
หนังสือภาพ

จิม เคย์ เคยให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The New York Times เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2019 ว่า “ปัญหาของการวาดภาพสำหรับหนังสือแฟนตาซีซึ่งสิ่งต่างๆ ไม่มีอยู่จริงคือการสร้างมันขึ้นมาให้เหมือนจริง อย่างเช่น สัตว์มหัศจรรย์ต่างๆ ที่ไม่มีจริง บางครั้งผมจะทำโมเดลขึ้นมาจากดินหรือดินน้ำมันเพื่อดูแสงและเงาเพื่อทำให้ภาพวาดไม่แบนราบแต่มีมิติแบบงานประติมากรรม”

หลังจากใช้เวลากว่า 10 ปีในการเขียนภาพประกอบหนังสือชุดแฮร์รี่ฯ ตั้งแต่เล่ม 1 ถึง 5 จิม เคย์ ได้ประกาศก่อนที่หนังสือเล่มที่ 5 จะวางจำหน่ายได้ไม่นานว่า เนื่องจากปัญหาสุขภาพเขาจำเป็นต้องส่งไม้ต่อให้ศิลปินคนอื่นมารับช่วงสำหรับสองเล่มสุดท้ายคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม และ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต โดยมีการคาดหมายว่าอาจจะเป็น นีล แพ็กเกอร์ ผู้มาสานงานต่อเนื่องจากเขาได้ร่วมทำงานในเล่ม 5 ซึ่งเป็นเล่มล่าสุด

หนังสือภาพชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ นับว่าเป็นงานศิลปะชิ้นเยี่ยมที่ผสมผสานอัจฉริยะด้านภาษาของ เจ.เค. กับอัจฉริยะด้านภาพของจิม เคย์ ได้อย่างลงตัวและควรค่าแก่การสะสมอย่างยิ่ง 

ติดตามผลงานของ จิมเคย์ เพิ่มเติมได้ที่ https://creepyscrawlers.com

หนังสือภาพ

The Silk Roads: A New History of the World – Illustrated Edition

ผู้เขียน: ปีเตอร์ ฟรานโคพาน (Peter Frankopan)

ผู้แปล: คุณากร วาณิชย์วิรุฬห์

ภาพประกอบ: นีล แพ็กเกอร์ (Neil Packer)

สำนักพิมพ์: บุ๊คสเคป

หนังสือเรื่อง The Silk Roads: A New History of the World โดย ปีเตอร์ ฟรานโคพาน (Peter Frankopan) ฉบับภาพประกอบ 4 สีปกแข็ง เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ย่อยข้อมูลประวัติศาสตร์โลกให้เข้าใจง่ายตั้งแต่ยุคอาณาจักรโบราณและการก่อกำเนิดเส้นทางสายไหมเมื่อ 2,000 ปีก่อนที่เปรียบดั่งระบบประสาทส่วนกลางของโลกที่เชื่อมโยงผู้คน การค้า ศาสนา โรคภัย สงคราม ตลอดจนวิทยาการและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน รวมไปถึงโครงการเส้นทางสายไหมใหม่ของศตวรรษที่ 21 โดยประธานาธิบดีสีจิ้นผิงประกาศเมื่อปี 2556 ให้เป็นแผนพัฒนายุทธศาสตร์แห่งชาติของจีนซึ่งจะใช้เงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเชื่อมเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย ยุโรปและแอฟริกาผ่านเส้นทางการค้าทั้งทางบกและทางทะเล

ฟรานโคพานเป็นศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์โลกแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดเขาเห็นว่าประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่คอยเตือนสติเราว่าการเปลี่ยนแปลงในอดีตเกิดขึ้นได้อย่างไร และช่วยให้เข้าใจว่าทำไมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคตจึงควรเริ่มต้นด้วยการศึกษาเส้นทางการค้าในอดีตแต่เมื่อ “การค้าอาจให้ประโยชน์มหาศาล แต่การครอบครองย่อมให้ผลประโยชน์มากยิ่งกว่า” ดังเช่นที่เขาเขียนในหนังสือย่อมนำมาซึ่งปมความขัดแย้งอันเป็นชนวนของสงครามต่อมาเช่น สงครามครูเสดระหว่างชาวคริสต์และมุสลิมในยุคกลาง ยุคการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 สงครามอิรัก จนกระทั่งถึงสงครามเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน

นอกจากเนื้อหาที่เข้าใจง่ายแล้ว ภาพประกอบโดย นีล แพ็กเกอร์ (Neil Packer) นักวาดภาพประกอบชื่อดังชาวอังกฤษยังช่วยเสริมให้หนังสือเล่มนี้มีมิติและน่าอ่านมากยิ่งขึ้น แพ็กเกอร์สร้างสรรค์ภาพให้มีมูดและโทนคล้ายภาพวาดสมัยโบราณที่เข้ากับเนื้อหาของหนังสือได้อย่างดี เขาสามารถถ่ายทอดข้อมูลประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเมืองในสมัยโบราณที่ปรากฏขึ้นตามเส้นทางสายไหมจากชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของจีนและรัสเซียสู่ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของยุโรปและแอฟริกา รวมทั้งจากสแกนดิเนเวียทางทิศเหนือจดมหาสมุทรอินเดียทางทิศใต้มาเป็นภาพแผนที่ที่ช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดถึงที่ตั้งของสถานที่ต่างๆในอดีตรวมไปถึงสถานที่หลายแห่งซึ่งสูญหายหรือถูกทำลายไปแล้วในปัจจุบัน เช่น เมืองเมิร์ฟในเติร์กเมนิสถานซึ่งเคยเป็นมหานครใหญ่โตและงดงาม แต่ถูกทำลายในการสู้รบเมื่อ 800 ปีที่แล้ว หรืออย่างนครโมซูลในอิรักที่เมื่อ 1,000 ปีก่อนที่มีชื่อเสียงเรื่องการผลิตลูกธนู อาน และโกลนม้าคุณภาพเยี่ยม แต่ได้ถูกทำลายจากสงครามกับกองกำลังไอเอสเมื่อไม่นานมานี้

แพ็กเกอร์มีผลงานภาพประกอบหนังสือที่ได้รับความนิยมหลายเล่ม อาทิ The Odyssey and The Iliad, One Hundred Years of Solitude, Mythical Beasts, The Divine Comedy และล่าสุดเขาได้ทำงานร่วมกับ จิม เคย์ (Jim Kay) ผู้วาดภาพประกอบหนังสือชุด Harry Potter Illustrated Edition สำหรับเล่ม Harry Potter and the Order of the Phoenix (แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์)

ติดตามผลงานของ นีลแพ็กเกอร์ เพิ่มเติมได้ที่ www.neilpacker.co.uk

หนังสือภาพบันทึกของแอนน์ แฟร้งค์

ผู้ดัดแปลงเรื่อง: อาริ โฟลแมน (Ari Folman)

ภาพประกอบ: ดาวิด โปลอนสกี้ (David Polonsky)

ผู้แปล: ในใจ เม็ทซกะ

สำนักพิมพ์: ผีเสื้อ

หนังสือ The Diary of a Young Girl หรือในชื่อภาษาไทยว่า บันทึกลับของ แอนน์ แฟร้งค์ (ตามชื่อหนังสือโดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ) ที่เด็กหญิงแอนน์ แฟร้งค์ (Anne Frank) ชาวเยอรมันเชื้อสายยิววัย 13 ปี ได้จดบันทึกเรื่องราวของเธอขณะหลบซ่อนในห้องลับกับครอบครัวและผู้ร่วมชะตากรรมอีกสี่คนที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นเวลากว่า 2 ปี ระหว่าง ค.ศ.1942-1944 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมโดยพรรคนาซีของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ที่ต้องการกวาดล้างชาวยิว เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์มากกว่า 30 ล้านเล่มและได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ มากกว่า 55 ภาษา และกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แสดงถึงความโหดร้ายของสงครามและการต่อสู้เพื่ออิสรภาพ

วันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ.1942 แอนน์ แฟร้งค์ ได้รับสมุดบันทึกปกสีชมพูลายตารางเป็นของขวัญวันเกิดในวัย 13 ปีซึ่งเธอตั้งชื่อให้ว่า “คิตตี้” และกลายมาเป็นเพื่อนที่เธอใช้ระบายความในใจตลอดการหลบซ่อนในห้องแคบๆ แอนน์แฟร้งค์ เสียชีวิตในวัย 15 ปี ด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ในค่ายกักกัน และหากเธอมีชีวิตอยู่จนถึงวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ.2022 เธอจะมีอายุ 93 ปี

เพื่อรำลึกถึงนักเขียน ทางสำนักพิมพ์ผีเสื้อได้ตีพิมพ์หนังสือภาพ Anne Frank’s Diary: The Graphic Adaptation ดัดแปลงเรื่องโดย อาริ โฟลแมน (Ari Folman) และภาพประกอบ 4 สีทั้งเล่มโดย ดาวิด โปลอนสกี้ (David Polonsky) ในฉบับภาษาไทยชื่อว่า หนังสือภาพบันทึกของ แอนน์ แฟร้งค์ เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2022 ในรูปแบบทั้งปกแข็งและปกอ่อนด้วยสำนวนการแปลของ เด็กหญิงในใจ เม็ทซกะ ขณะอายุ 13 ปีเท่ากับแอนน์แฟร้งค์ เมื่อเริ่มจดบันทึก

โฟลแมนได้รับการติดต่อจากมูลนิธิแอนน์ แฟร้งค์ (Anne Frank Fonds) ให้เรียบเรียงสมุดบันทึกเป็นฉบับภาพวาดซึ่งเขายอมรับว่าเป็นงานที่ท้าทายมากดังเช่นที่เขียนไว้ในหนังสือว่า “…เป็นบทความที่เป็นเอกลักษณ์มาก ผมจะไป ‘ดัดแปลง’ ได้อย่างไร งานนี้ยังแสดงความท้าทายอีกอย่างหนึ่ง ถ้าจะวาดสมุดบันทึกทั้งเล่มเป็นหนังสือการ์ตูนก็คงต้องใช้เวลานานนับทศวรรษ และน่าจะยาวสัก 3,500 หน้า งานซึ่งยากที่สุดก็คือ คัดเลือกเฉพาะส่วนสำคัญของสมุดบันทึกต้นฉบับ ขณะเดียวกันก็ยังคงซื่อสัตย์ต่อผลงานทั้งหมด”

หนังสือภาพจึงขมวดบันทึกหลายวันเข้าด้วยกันแต่ขณะเดียวกันก็ยังรักษาแก่นของเนื้อหาหลักไว้และเสริมด้วยภาพประกอบในรูปแบบการ์ตูนช่องของโปลอนสกี้เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของนักเขียน อย่างไรก็ตามผู้ดัดแปลงเรื่องเลือกที่จะใส่บันทึกเต็มของบางวันโดยไม่มีภาพวาดเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการเขียนและสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติของแอนน์แฟร้งค์ ที่โตเกินวัย เช่น ความเห็นเรื่องการทะเลาะเบาะแว้งของผู้ใหญ่ การรับมือกับความโศกเศร้า การปลุกปลอบใจตัวเองให้มีความหวังที่จะมีชีวิตรอด ความเท่าเทียมทางเพศ รวมไปถึงบันทึกหน้าสุดท้ายลงวันที่ 1 สิงหาคม ค.ศ.1944 ก่อนที่จะถูกจับกุมตัวในวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1944 และคาดว่าเธอเสียชีวิตช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. 1945 ท่ามกลางหลุมฝังศพจำนวนมากใน ค่ายแบร์เกิน-เบ็ลเซิน (Bergen-Belsen) ก่อนที่ทางกองทัพอังกฤษจะปลดปล่อยค่ายนี้เพียงไม่กี่สัปดาห์

รายละเอียดเกี่ยวกับมูลนิธิแอนน์แฟร้งค์ คลิก www.annefrank.ch/en

เซเปียนส์ ประวัติศาสตร์ฉบับกราฟิก เล่ม 1-2

ผู้เขียน: ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari)

ผู้เขียนร่วม: เดวิด แวนเดอร์มิวเลน (David Vandermeulen)

ภาพประกอบ: แดเนียล คาสซาเนฟ (Daniel Casanave)

ผู้แปล: ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์

สำนักพิมพ์: ยิปซี

หากความหนากว่า 500 หน้าของหนังสือ เซเปียนส์: ประวัติย่อมนุษยชาติ” (Sapiens: A Brief History of Humankind) โดย ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) ที่มีเนื้อหาที่อัดแน่นครอบคลุมทั้งประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมือง วิทยาศาสตร์ ศาสนาที่เริ่มตั้งแต่ปรากฏการณ์บิ๊กแบง (Big Bang) เมื่อประมาณ 13,500 ล้านปีที่แล้วจนถึงเทคโนโลยีวิศวกรรมไซบอร์ก (Cyborg engineering) ในยุคปัจจุบันอาจทำให้นักอ่านหลายคนยังอ่านไม่ถึงหน้าสุดท้าย เซเปียนส์ฯ ในเวอร์ชันการ์ตูนกราฟิกได้ย่อยเนื้อหาซึ่งเป็นแก่นหลักของหนังสือเล่มให้เข้าใจได้ง่ายพร้อมภาพกราฟิกแบบการ์ตูนช่อง 4 สีทั้งเล่มทำให้เข้าถึงผู้อ่านได้กว้างมากขึ้น

เซเปียนส์ ประวัติศาสตร์ฉบับกราฟิก (Sapiens: A Graphic History) แบ่งเป็น 2 เล่มโดยเล่มแรกเป็นเรื่องการกำเนิดมนุษยชาติ (The Birth of Humankind) และเล่มที่ 2 เรื่องเสาหลักแห่งอารยธรรม (The Pillars of Civilization) โดยให้ แฮรารี นักเขียนชาวอิสราเอลเป็นคาแรกเตอร์หลักในการเดินเรื่องและทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์เล่าเรื่องราวของจุดกำเนิดและวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่ย้อนไปประมาณ 70,000 ปีที่แล้วที่สิ่งมีชีวิตในสปีชีส์ โฮโมเซเปียนส์และอยู่ในวงศ์วานรยักษ์ค่อยๆ พัฒนาและมีวิวัฒนาการจนก่อร่างสร้างอาณาจักรจากนั้นได้ยึดครองและเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ในที่สุด นอกจากนี้ยังเพิ่มความสนุกด้วยตัวละครอื่นๆ เช่นศาสตราจารย์โรบิน ดันบาร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสื่อสารของมนุษย์ ศาสตราจารย์สรัสวตี ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยา มนุษย์ถ้ำซินดี้และบิล นักสืบโลเปชแห่งนิวยอร์กผู้สืบหาว่าใครคือผู้ล่าสัตว์โลกขนาดใหญ่จนสูญพันธุ์เมื่อ 10,000 ปีที่แล้ว

แฮรารีให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Guardian เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.2020 ว่าเมื่อแรกเริ่มโปรเจกต์หนังสือฉบับกราฟิกและหลายฝ่ายเห็นพ้องว่าจะให้เขาเป็นคาแรกเตอร์หลักในการดำเนินเรื่องนั้นเขาไม่เห็นด้วยเลย

“ผมคัดค้านเพราะผมพยายามกันตัวเองออกจากหนังสือที่ตัวเองเป็นคนเขียน แต่พวกเขาชักจูงว่านี่จะเป็นเทคนิคการเล่าเรื่องที่ดีและเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายถ้าเรามีไกด์ที่นำคนอ่านเข้าสู่เนื้อหาต่างๆ ในที่สุดเราก็เห็นตรงกันว่าควรจะมีคาแรกเตอร์ของนักวิทยาศาสตร์ท่านอื่นๆมาอธิบายทฤษฎีต่างๆ เพราะวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่ต้องร่วมมือกันไม่ใช่เรื่องที่ทำได้เพียงลำพัง… แก่นเรื่องของหนังสือเล่มยังคงเดิมเมื่อดัดแปลงเป็นฉบับกราฟิกแต่ข้อดีของการทำเล่มนี้คือทำให้ผมมีโอกาสทบทวนรายละเอียดในหลายๆเรื่องเพราะวิทยาศาสตร์มีการค้นพบสิ่งใหม่ๆเสมอในช่วงทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา” 

สำหรับเวอร์ชันการ์ตูนกราฟิกนี้ แฮรารีได้ทำงานร่วมกับ เดวิด แวนเดอร์มิวเลน (David Vandermeulen) นักเขียนการ์ตูนชาวเบลเยียมที่มีชื่อเสียงในการเขียนเนื้อหาที่ขบขันและเสียดสีเพื่อดัดแปลงเนื้อเรื่องในหนังสือเล่มที่มียอดขายกว่า 10 ล้านเล่มและมีการแปลไปแล้วมากกว่า 50 ภาษาให้ได้อรรถรสแบบฉบับการ์ตูนแต่ไม่ละทิ้งข้อเท็จจริงและแก่นเรื่องหลัก นอกจากนี้พวกเขายังได้ แดเนียล คาสซาเนฟ (Daniel Casanave) นักเขียนภาพประกอบชื่อดังชาวฝรั่งเศสซึ่งเคยร่วมงานกับแวนเดอร์มิวเลนในหนังสือการ์ตูนกราฟิกเรื่อง Shelly

ติดตามผลงานของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี ได้ที่ www.ynharari.com

Accidentally Wes Anderson

ผู้เขียน: วอลลี โควัล (Wally Koval)

ผู้แปล: ปิยบุตร หล่อไกรเลิศ

สำนักพิมพ์: broccoli

วอลลี โควัล (Wally Koval) ชาวนิวยอร์กเป็นแฟนคลับตัวยงของผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวอเมริกัน เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) นับตั้งแต่ที่ได้ดูหนังเรื่อง Rushmore (1998) ทำให้เขาซึมซับเอกลักษณ์องค์ประกอบศิลป์ในหนังของแอนเดอร์สันซึ่งมีลายเซ็นชัดเจนในการใช้สีพาสเทล ความสมมาตรของภาพ พร็อปที่เป็นงานคราฟต์และภาพที่สะอาดตา ดังนั้นเมื่อเขาเห็นภาพถ่ายหลายๆสถานที่ที่มีกลิ่นอาย “ความเป็นเวส” โควัลและภรรยาจึงเริ่มโปรเจกต์ “ลิสต์ที่เที่ยวในฝันก่อนตายฉบับส่วนตัว” เมื่อค.ศ.2017 และท่องเที่ยวไปตามที่ต่างๆพร้อมถ่ายภาพมาลงในแอ็กเคานต์อินสตาแกรม @accidentallywesanderson

หลังจากนั้นแอ็กเคานต์อินสตาแกรมของเขาได้กลายเป็น “ชุมชนของคนรักงานเวส” ที่ต่างพร้อมใจกันแบ่งปันเรื่องราวและสถานที่ต่างๆทั่วโลกที่มีมูดแอนด์โทนแบบองค์ประกอบภาพในภาพยนตร์ของเวสแอนเดอร์สัน ปัจจุบันแอ็กเคานต์นี้มีผู้ติดตามถึง 1.7 ล้านคนและต่อยอดเป็นหนังสือ Accidentally Wes Anderson ที่คัดเลือกภาพถ่ายจากฝีมือถ่ายภาพของโควัลเองและจากที่มีผู้ส่งเข้ามาร่วมกว่าหมื่นภาพจนเหลือประมาณ 200 ภาพเพื่อตีพิมพ์ในหนังสือโดยให้ครอบคลุมสถานที่ต่างๆ ทุกทวีปในโลกพร้อมกับให้ข้อมูลประวัติความเป็นมาของแต่ละแห่ง

สถานที่ต่างๆ ในหนังสือล้วนสะท้อนพาเลตสีพาสเทลเช่นสีชมพู เหลือง แดง เขียวและฟ้าที่เป็นซิกเนเจอร์ในงานของแอนเดอร์สัน อาทิ โรงแรมมิลล์เฮาส์ในเซาท์แคโรไลนา โรงแรมโอเปร่าในกรุงปรากของสาธารณรัฐเช็กและสถานีรถไฟใต้ดินในเมืองพยองยางของเกาหลีเหนือซึ่งต่างก็ทาด้วยสีพาสเทลชมพูล้วนชวนให้แฟนคลับของแอนเดอร์สันนึกถึงโรงแรมสีนมชมพูสุดหรูบนภูเขาในภาพยนตร์ตลกร้ายเรื่อง The Grand Budapest Hotel (2014)

โทนสีเหลืองของขบวนรถไฟสาย Delaware and Ulster ของรัฐนิวยอร์ก และห้องสมุดโคโลอานในมาเก๊ามีความคล้ายกับเฉดสีที่ย้อมในเรื่อง The Royal Tenenbaums (2001) ในขณะที่เฉดสีฟ้าในอาคารของพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติยูเครนที่กรุงเคียฟและโรงอาบน้ำมาร์แชลล์สตรีตในกรุงลอนดอนราวกับหลุดออกมาจากพาเลตสีหลักในเรื่อง The Darjeeling Limited (2007)

เวส แอนเดอร์สัน ยังได้เขียนคำนำให้หนังสือเล่มนี้ด้วยโดยระบุว่ามีสถานที่มากกว่า 200 แห่งในเล่มนี้ที่เขาต้องไปหาประสบการณ์บ้างโดยเฉพาะแผงขายแพนเค้กในอุทยานแห่งชาติเคอร์คา ประเทศโครเอเชียที่เขาให้ความสนใจเป็นพิเศษ

หนังสือเล่มนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนออกเดินทางไปหาประสบการณ์ในสถานที่ใหม่ๆ แต่โควัลปรารถนาให้เราหันกลับมามองบ้านเกิดตัวเองเพื่อค้นหามุมมองใหม่ที่น่าสนใจ และถึงแม้สถานที่ในเมืองไทยไม่ได้ปรากฏในหนังสือเล่มนี้แต่พบเจอได้ในอินสตาแกรมของนักเขียน เช่น สไลเดอร์หลากสีพาสเทลในสวนสยาม ฟาซาดของพระราชวังสราญรมย์ สถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลของบ้านพระนนท์ เบดแอนด์เบรคฟาสต์ และขบวนรถไฟที่สถานีกาญจนบุรี

ติดตามผลงานอื่นๆได้ที่ IG:@accidentallywesanderson และ accidentallywesanderson.com

อ้างอิง

• www.nytimes.com/2019/11/06/books/jim-kay-harry-potter-illustrator.html

• www.theguardian.com/culture/2020/nov/08/a-new-chapter-in-the-evolution-of-yuval-noah-harari-sapiens-interview-graphic


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ