7 เรื่องเบื้องหลังงานประกาศผล รางวัลออสการ์ครั้งแรก
Lite

7 เรื่องเบื้องหลังงานประกาศผล รางวัลออสการ์ครั้งแรก

16 พฤษภาคม 1929   รางวัลอคาเดมี อวอร์ดส์  (Academy Awards) หรือที่ทั่วโลกรู้จักในชื่อ รางวัลออสการ์ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก Sarakadee Lite ขอสรุป 7 เรื่องที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังรางวัลอันทรงเกียรติของแวดวงภาพยนตร์ระดับโลกรางวัลนี้

  1. สถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์ภาพยนตร์ ในสหรัฐอเมริกา ( The Academy of Motion Picture Arts and Sciences) จัดงานมอบรางวัล อะคาเดมี อวอร์ดส์  (Academy Awards) เป็นครั้งแรก หรือ รางวัลออสการ์  หลังจากสถาบันก่อตั้งมาได้ 2 ปี รางวัลนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่นักแสดง ผู้กำกับและผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา
  2. งานประกาศผลและมอบรางวัลอคาเดมี อวอร์ดส์ ครั้งที่ 1  จัดแบบกาลาดินเนอร์ที่โรงแรมฮอลลีวูด รูสเวลต์  (Hollywood Roosevelt Hotel) บนถนน ฮอลลีวูดบูเลวาร์ด เมืองลอสแอนเจลีส รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งถือเป็นเมืองศูนย์กลางของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของสหรัฐอเมริกา หรือ ฮอลลีวูด
  3. สำหรับภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลอคาเดมี อวอร์ดส์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเรื่องแรก  คือ Wings เป็นภาพยนตร์เงียบ (มีเสียงดนตรีประกอบแต่ไม่มีเสียงตัวละครสนทนา) เล่าเรื่องเรื่องราวความรักหนุ่มสาวที่เกิดขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ผลงานกำกับของ William A. Wellman
  4. งานประกาศผลและมอบรางวัลอคาเดมี อวอร์ดส์ ครั้งที่ 1   จัดเป็นงานกาลาดินเนอร์มีผู้เข้าร่วมงาน ราว 270 คน และการประกาศผลใช้เวลาเพียง 15 นาทีเป็นอันจบงาน
  5. งานประกาศผลและมอบรางวัลอคาเดมี อวอร์ดส์ ครั้งที่ 1 เป็นครั้งเดียวในประวัติศาสตร์งานออสการ์ที่ไม่มีการถ่ายทอดผ่านสื่อใดๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ หรือโทรทัศน์
  6. ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1931 รางวัลอคาเดมี อวอร์ดส์ ต่อมาเป็นที่รู้จักในชื่อ (เล่น) เรียกติดปากว่า รางวัลออสการ์ (Oscar) ตามตัวรางวัลซึ่งเป็นรูปหล่อสำริดขนาดสูง 34 เซนติเมตร เป็นรูปอัศวินในท่ายืนคล้ายนักรบกุมดาบ ตั้งบนฐานที่เป็นรูปม้วนใส่ฟิล์มภาพยนตร์  ออกแบบโดย เซดริก กิบบอนส์ หัวหน้าฝ่ายศิลป์อาวุโสสังกัดบริษัท MGM ค่ายภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่
  7. ที่มาชื่อตุ๊กตาออสการ์ มาจากคำเปรียบเปรยว่า รูปหล่อสำริดตุ๊กตารางวัลนี้ “เหมือนลุงออสการ์ของฉันเลย” ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่แน่ชัดว่าใครเป็นคนพูด เพราะมีประวัติที่มา ความเป็นไปได้ถึง 4 แหล่ง คือ 1. มาร์กาเร็ต เฮอร์ริก บรรณารักษณ์ของสถาบัน The Academy of Motion Picture Arts and Sciences   2. บ้างก็ว่ามาจากการเปรียบเปรยของเลขานุการฝ่ายบริหารของสถาบันอีกคนว่า ตุ๊กตาตัวนี้เหมือนลุงออสการ์ เพียร์ซ ของเธอ  3. บ้างก็ว่า เบ็ตตี้ เดวิส ดาราฮอลลีวูดชื่อดังแห่งยุค 30s (ผลงานเด่น Sunset Boulevard) เป็นคนพูด 4. บ้างก็ว่าซิดนีย์ สกอลสกี นักเขียนคอลัมน์ภาพยนตร์ เป็นคนพูด

ต้นเรื่อง

  • นิตยสาร สารคดี ฉบับ ตุลาคม 2538 และ พฤษภาคม 2545