
Aftersun แด่อาทิตย์ที่กำลังร่ำลาและ “ความทรงจำ” ที่ไม่เคยจะเชื่อง
- Aftersun ผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ ชาร์ล็อต เวลส์ (Charlotte Wells) ผู้มีผลงานภาพยนตร์ขนาดสั้นฉายในเทศกาลระดับสากลมากมาย
- Aftersun ปรากฏชื่อในภาพยนตร์ลำดับที่ 1 ของลิสต์ 50 ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดแห่งปี 2022 ทั้งยังได้รับรางวัล French Touch Prize of the Critics’ Week Jury จากCannes Film Festival 2022
- หากบทกวีมีความหมายถึงการพยายามสร้างสรรค์ไวยากรณ์และฉันทลักษณ์เพื่อให้สอดคล้องและสร้างความหมายผ่านองค์ประกอบมากมาย ท่วงทำนองของ Aftersun ก็เป็นเช่นนั้น
Aftersun ผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของ ชาร์ล็อต เวลส์ (Charlotte Wells) ผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างชาวสกอตที่ฝากผลงานภาพยนตร์ขนาดสั้นในเทศกาลระดับสากลมากมาย ส่วน Aftersun เรื่องล่าสุดถือเป็นผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเต็มไม้เต็มมือเรื่องแรกที่เธอทำหน้าที่ทั้งควบคุมการกำกับภาพและเสียงอย่างแม่นมือ เต็มไปด้วยรสชาติที่สัมผัสใจผู้ชมแม้เนื้อเรื่องจะเรียบง่ายว่าด้วยทัวร์ตุรกีในวันหยุดของ แคลัม พ่อผู้มักเก็บงำความทุกข์ของตนไว้ในใจกับ โซฟี ลูกสาวที่ใช้ชีวิตอยู่กับแม่ โดยการเดินทางท่องเที่ยวธรรมดาๆ ของทั้งสองในครั้งนี้จะเป็นการพบกันที่ฝากความทรงจำอันขยันจางให้กับทั้งคู่ไปชั่วชีวิต
จากเรื่องราวที่เรียบง่ายทว่าเมื่อนำมาสู่ฝีมือการเล่าเรื่องและถ่ายทอดโดยผู้กำกับที่ขึ้นชื่อเรื่องความประณีตทางเทคนิคภาพยนตร์ร่วมด้วยทีมงานคุณภาพก็ทำให้ภาพยนตร์ Aftersun เข้าชิงรางวัลและชนะรางวัลในหลายเทศกาลระดับสากลเบอร์ต้นทั้งรางวัล French Touch Prize of the Critics’ Week Jury จากเทศกาลใหญ่อย่าง Cannes Film Festival 2022 อีกทั้งยังเข้าชิง 4 รางวัลสาขา Best Casting, Outstanding British Film of the Year, Outstanding Debut by a British Writer, Director, or Producer และ Best Leading Actor จากเวที BAFTA Awards 2023 และยังได้รับเลือกให้อยู่ในรายชื่ออันดับที่ 1 จาก 50 ภาพยนตร์ที่ดีที่สุดแห่งปี 2022 โดยนิตยสาร Sight and Sound และสำนักข่าว The Guardian

กล้องพกพาความทรงจำและห้องดำแห่งการลืมเลือน
Aftersun แบ่งการเล่าเรื่องหลักออกเป็น 3 มุมมองด้วยกัน เริ่มจากการเล่าเรื่องที่มาจากกล้องพกพา (Handycam) ของโซฟีที่ถ่ายวิดีโอบันทึกทริปทัวร์ตุรกีของเธอกับพ่อ ต่อด้วยการเล่าเรื่องของโซฟีและแคลัมในอดีตที่ไม่มีบันทึกในกล้องแต่เสมือนมาจากความทรงจำที่ขยายจากที่ถูกบันทึกไว้ และอีกมุมที่ชวนตราตรึงคือฉากแสงวูบวาบของปาร์ตี้ลึกลับในห้องดำมืดที่มีเพียงแสงไฟแฟลชกะพริบไหวเป็นจังหวะ ไม่ชัดเจนแต่ไหลวนอยู่รอบตัวละครพอให้เห็นอากัปกิริยาต่างๆ โดยทั้ง 3 รอยจำนี้เปรียบเสมือนระยะการมองของผู้ชมที่จะค่อยๆ เคลื่อนเข้าไปในสถานการณ์ต่างๆ โดยมีฉากจากกล้องพกพาเป็นหลักฐานทางความทรงจำของตัวละครและแม้กล้องพกพาตัวนั้นจะให้ความละเอียดของแสงและความคมชัดของภาพเพียงน้อยนิด แต่กลับชัดเจนถึงมุมมองของโซฟีในวัยเด็ก 11 ขวบที่ได้บันทึกทริปท่องเที่ยวตุรกีระหว่างเธอกับพ่ออย่างไม่เป็นลำดับ เดี๋ยวถ่าย เดี๋ยวปิดหน้ากล้อง เป็นความพยายามปะติดปะต่อเหตุการณ์เสมือนมาจากความทรงจำที่กระท่อนกระแท่นของพ่อลูก และเปรียบได้กับจิ๊กซอว์ให้ผู้ชมได้เห็นข้อมูลที่อาจไม่ปรากฏบนแผ่นฟิล์ม
อีกสิ่งที่น่าสนใจในด้านเทคนิคเล่าเรื่องของภาพยนตร์คือการเลือกใช้ความละเอียดภาพที่หยาบและคมชัดต่างกันระหว่างเรื่องเล่าที่ถูกบันทึกในกล้องกับเรื่องเล่าที่มาจากความทรงจำ ส่งให้เกิดการเว้นช่องว่าง ใส่ “เรื่องที่ไม่ได้เล่า” เพื่อให้ผู้ชมได้ตัดสินใจเองว่าจะเติมแต่งจินตนาการช่องว่างเหล่านั้นอย่างไร ซึ่งความซับซ้อนของเรื่องที่เว้นไว้ในช่องว่างนี้ผู้ชมจะสามารถรับได้ผ่านการแสดงแววตา และปฏิกิริยาเล็กน้อย เช่นที่ภาพยนตร์ไม่มีการอธิบายสถานะทางการเงินของแคลัมผู้เป็นพ่อ แต่บทพูดของโซฟีผู้เป็นลูกก็มีการชวนให้จินตนาการถึงปัญหาทางการเงินของพ่ออยู่ไม่น้อย แต่ภาพยนตร์ก็มีฉากที่แคลัมจงใจใช้เงินเพื่อความสุขของลูกสาวโดยที่ละประเด็นปัญหานั้นอย่างไม่อธิบาย หรืออย่างในเรื่องภูมิหลังของตัวละคร ภาพยนตร์ก็จงใจไม่เล่าที่มาที่ไปของกาลเวลาทั้งก่อนและหลังการบันทึกภาพโดยกล้องพกพา ผู้ชมอย่างเราจึงได้รับรู้เพียงเสี้ยวเดียวของชีวิตทั้งคู่เท่าที่ภาพยนตร์คัดเน้นมาให้รู้เท่านั้นเลย แต่ความไม่รู้เหล่านั้นกลับส่งให้เกิด “ความรู้สึก” ตามมา มากกว่าการพยายาม “เข้าใจ” ในเนื้อหาอันกระท่อนกระแท่นไม่ต่อเนื่อง เสมือนการจำๆ ลืมๆ ของตัวละคร
ตัดมาในฉากที่โซฟีเป็นวัยรุ่น Aftersun เปิดมุมมองในห้องลึกลับ บวกด้วยการแสดงที่เป็นนามธรรมทางเนื้อเรื่อง อุปมาได้กับชีวิตที่ยิ่งดำเนินไปก็ยิ่งมีเรื่องราวใหม่ๆ มีประสบการณ์ชีวิตที่เข้ามารบกวนความแจ่มชัดของความทรงจำเดิม ในส่วนนี้เราจึงได้เห็นตัวละครเติบโตขึ้นอย่างไม่รู้ทิศรู้ทาง อีกทั้งยังคาดเดาได้ยากว่าตัวละครกำลังใช้ชีวิตแบบไหน มีสุข หรือทุกข์ อย่างไร เพราะภาพยนตร์เลือกแสดงให้เห็นเพียงจังหวะชีวิตของพวกเขาและเธอที่กะพริบอย่างเลือนราง เสมือนยามอาทิตย์ลับสู่รัตติกาลมีหลายสิ่งรอบข้างเริ่มโกลาหล เสมือนการเติบโตของชีวิตที่คาดเดาสิ่งใดไม่ได้ ดังที่แคลัมเคยกล่าวถึงตนเองไว้
“ผมนึกภาพตัวเองอายุ 40 ไม่ออกด้วยซ้ำ รอดมาถึง 30 ได้ก็แปลกใจแล้ว”

อนาคตจึงเสมือนพื้นที่พิศวงและอยู่ในจุดตัดทางความคิดที่ว่าสุดท้ายแล้วเราควบคุมชะตากรรมได้ขนาดไหนในโลกที่คาดเดาอะไรได้ยากขึ้นและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างทุกวันนี้ และถ้าหากเราคาดการณ์ไม่ได้ คำตอบก็อาจตกมาที่ “เรา” ที่เป็นสิ่งที่มีเพียง “ปัจจุบัน” เท่านั้น และปัจจุบันที่กำลังเดินทางในกาลเวลาก็มีค่าเท่ากับการเดินห่างอดีตมากขึ้นเรื่อยๆ ผลลัพธ์ทำให้ความทรงจำของเราค่อยๆ เลือนไปอย่างควบคุมไม่ได้ด้วยเช่นกัน ห้องลึกลับในภาพยนตร์ส่วนนี้จึงเต็มไปด้วยความโกลาหลและยากที่จะระบุเรื่องราวใดๆ ของชะตากรรมตัวละคร (หรือแม้แต่ตัวเราเอง) ได้เลย
กล่าวได้ว่าชั้นเชิงการกำกับ “เรื่องที่ไม่ได้เล่า” ผ่านช่องว่างของการกระทำตัวละครและเทคนิคภาพยนตร์ รวมทั้งการชวน “รู้สึก” ไปพร้อมกับการจำกัดเนื้อเรื่องที่พอให้ “รู้เรื่อง” ขนานควบคู่กันไปตลอดเรื่องเป็นจุดเด่นสำคัญและทำให้ Aftersun เป็นภาพยนตร์เปี่ยมลีลาการเล่าอย่างมีความเป็นต้นฉบับเฉพาะตัวสูง ทั้งที่จริงแล้วเนื้อหาภาพยนตร์ที่เล่าเกี่ยวกับความสัมพันธ์พ่อลูกในโลกนี้มีอยู่มากมายจนถึงขั้นกลาดเกลื่อน แต่ Aftersun กลับใช้ความเฉพาะของลีลาการเล่า พร้อมทั้งการใช้ศักยภาพของเทคนิคภาพยนตร์มาร่วมเล่าอย่างเหมาะเจาะ อีกทั้งในโลกที่ใช้เหตุผลขับเคลื่อนเกือบทุกสิ่งอย่างและเป็นแนวทางหลักในการใช้ความคิดของยุคสมัยปัจจุบัน การได้ลองนั่งสำรวจอารมณ์ในเรื่องราวเล็กจ้อยแต่สะเทือนใจจึงทำให้ Aftersun เป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำทีเดียว

แม้ฟ้าเดียวกัน แต่วันหนึ่งดวงอาทิตย์ย่อมร่ำลา
“ดีจังเลยนะที่เรามีท้องฟ้าเดียวกัน บางทีหนูแหงนมองฟ้าแล้วถ้าเห็นดวงอาทิตย์หนูก็จะคิดถึงความจริงที่ว่าเราเห็นมันกันทั้งคู่ เพราะงั้นต่อให้เราไม่ได้อยู่ที่เดียวกันและไม่ได้อยู่ด้วยกันก็ยังเหมือนว่าเราอยู่ด้วยกัน”
โซฟีกล่าวกับแคลัมผู้เป็นพ่อแบบที่เธอเข้าใจความห่างกันเพียงพื้นที่ แต่ยังไม่มีการแสดงแนวคิดทางเวลาหรือความตาย อาจเนื่องจากเพราะตอนนั้นเธอยังเป็นเด็ก เธอจึงไม่ได้นึกถึงมิติทางเวลาว่าวันหนึ่งในอนาคตพ่อคนนี้อาจจะไม่ได้เห็นดวงอาทิตย์พร้อมกับเธอแล้วก็เป็นได้ ซึ่งบทพูดที่เรียบง่ายนี้นอกจากจะสื่อถึงมุมมองของโซฟีแล้วก็ยังสะท้อนความเป็นกวีของบทภาพยนตร์และเทคนิคด้านไวยากรณ์ทางการเล่าเรื่องอันคมคายเพื่ออุปมาทั้ง “เรื่อง” และ “ความรู้สึก” และด้วยวิธีการเล่าเสมือนบทกวีที่ไม่จำเป็นต้องรักษาความต่อเนื่องนี้เองทำให้เกิดการการผสานองค์ประกอบแบบสิ่งละอันพันละน้อย แต่ละคำหรือแต่ละประโยคที่ใช้ไม่จำเป็นต้องเรียงฉากเหมือนกับการไม่เรียบเรียงคำเข้าบรรทัดให้เป็นเรื่อง แต่ผู้กำกับ กลับสามารถจัดการองค์ประกอบเข้าด้วยกันและคงช่องว่างมากมายที่เป็นเอกลักษณ์ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงใจความได้
และหากบทกวีคือความพยายามสร้างสรรค์ไวยากรณ์และฉันทลักษณ์เพื่อให้สอดคล้องทั้งทำนองและความหมาย Aftersun ก็เป็นเช่นนั้น การตัดต่อภาพยนตร์ที่ไม่ต่อเนื่อง คัดเน้นเฉพาะเหตุการณ์และใช้องค์ประกอบมากมายมาต่อร้อยเนื้อหาที่ไม่ปะติดปะต่อไม่ดำรงระเบียบให้มาอยู่ด้วยกัน และขับเน้นเนื้อหาผ่านรูปแบบภาพยนตร์ที่ละเอียด คัดสรรจังหวะสำคัญของเนื้อหามาแสดงให้เห็นได้งดงาม มีทั้งอุปมาเปรียบเทียบและมีลีลาเย้าอารมณ์ไปพร้อมกัน เช่นในฉากที่ตัวละครทั้งสองอยู่ด้วยกันบนโต๊ะอาหารหลังจากเพิ่งถ่ายรูปโพลารอยด์ร่วมกันภาพยนตร์จงใจไม่ถ่ายรับใบหน้าหรืออารมณ์ตัวละคร แต่เลือกถ่ายไปที่ภาพโพลารอยด์ที่กำลังค่อยๆ ปรากฏสีชัดขึ้น เปรียบดั่งความสัมพันธ์ที่ถ้าหากจะชัดขึ้นมีน้ำหนักมากขึ้นก็พอจะวัดได้จากการใช้เวลาร่วมกันจนจดจำเหตุการณ์ต่างๆ ได้มากขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
นอกจากเทคนิคการเล่าที่สื่อความหมายอย่างมีมิติแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังชวนให้คิดถึงความสัมพันธ์ของพ่อลูกในเวลาสั้นๆ แต่ทิ้งไว้ในใจของทั้งคู่ตลอดกาล แม้กระท่อนกระแท่นหรือมีบางสิ่งจางหาย ทว่าหากมี “หลักฐานทางความทรงจำ” เราก็สามารถใช้สิ่งนั้นเป็นเครื่องช่วยรำลึกได้ แสดงให้เห็นว่าความทรงจำเป็นสิ่งที่เหนือการควบคุมของมนุษย์ มนุษย์อาจจำ ลืม หรือจางภาพความทรงจำต่างๆ ไปได้ แต่สิ่งของก็สามารถเป็นอุปกรณ์ช่วยทางความทรงจำได้อีกแรง และบางครั้งมนุษย์ก็ไม่สามารถที่จะเลือกจำและเลือกลืมได้อีกต่างหาก โดยมีปัจจัยของการแปรความทรงจำอันได้แก่ เวลา หาใช่ พื้นที่ แม้เราจะมีอาทิตย์เดียวกัน แต่หากดูดวงอาทิตย์นั้นคนละเวลา เราจะยังเรียกความสัมพันธ์นี้ว่า “เราอยู่ด้วยกันอยู่หรือไม่” นี่คือคำถามใหญ่ของภาพยนตร์

แม้อาทิตย์ใน Aftersun จะลาลับลงไปแต่สุดท้ายก็คงไม่สำคัญเท่าเราจำโลกตอนที่มันปรากฏในแสงสว่างจ้าจากความทรงจำเราได้ชัดขนาดไหน และในขณะที่เรานึกถึงความทรงจำดีๆ เหล่านั้น เราเองก็อาจกำลังเคลื่อนไปข้างหน้าผ่านเวลาที่เราต่างไม่รู้อนาคต ทำให้การมีช่วงเวลาดีๆ ก็เป็นความสุขที่สัมผัสได้พอๆ กับมันจะเป็นความทุกข์ใจได้เมื่อเราค่อยๆ ลืมมันอย่างไม่ตั้งใจและไม่สามารถควบคุมการลืมเลือนเหล่านี้ได้ แม้ความทรงจำที่ในขณะเราสามารถนึกถึงมันได้อย่างชัดเจน แต่วันหนึ่งอย่างไรเราก็จะเติบโตผ่านเวลาเรื่อยๆ ในโลกที่เราไม่รู้จักและควบคุมไม่ได้ใบนี้ ทำให้ความจำในตัวเราเป็นสิ่งไม่เชื่องพอๆ กับการที่เราไม่ใช่เจ้าของโลกที่จะห้ามไม่ให้ตะวันลาไป ทั้งหมดทั้งมวลของภาพยนตร์เรื่องนี้จึงทำให้เราเข้าใจหรือสัมผัสทางความรู้สึกกับมิติหนึ่งของนามธรรมที่ถูกเรียกกันว่า “เวลา”
