9 เหตุผลที่ต้องเช็กอิน อ่างกา ป่าโบราณในม่านเมฆหนึ่งเดียวในไทย
Lite

9 เหตุผลที่ต้องเช็กอิน อ่างกา ป่าโบราณในม่านเมฆหนึ่งเดียวในไทย

Focus
  • ท่องเที่ยว อ่างกา ป่าดึกดำบรรพ์ปลายทางหิมาลัยที่ย้อนประวัติศาสตร์ไปได้ราว 4,300 ปี
  • เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกา สร้างครั้งแรกใน พ.ศ.2534-2536 และต่อมา พ.ศ.2564 บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดย มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ได้ร่วมกับ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พัฒนาเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาสู่ห้องเรียนธรรมชาติที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงได้

คุณรู้จัก “ป่าเมฆ” ไหม… ป่าเมฆที่ซ่อนตัวอยู่ท่ามกลางสายหมอกและอากาศที่หนาวเย็นตลอดปีไม่ใช่เพียงเรื่องเล่าหรือตำนาน แต่ป่าเมฆมีอยู่จริงที่ ดอยอินทนนท์ ยอดเขาที่นักเดินป่ารู้จักดีในฐานะยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศไทย แต่ระหว่างทางที่มุ่งไปพิชิตยอดดอยนั้นยังมีทางแยกเล็กๆ นำไปสู่ อ่างกา ป่าดึกดำบรรพ์ปลายทางหิมาลัยที่ย้อนประวัติศาสตร์ไปได้ราว 4,300 ปี เป็นป่าพรุภูเขาในสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปีจนต้นไม้ในผืนป่าแห่งนี้ต้องห่มคลุมตัวเองให้อบอุ่นด้วยมอสส์และเฟิร์น และด้วยความที่อ่างกาเป็นป่าพรุภูเขาในพิกัดพิเศษบนยอดดอยที่สูงที่สุดในไทย นั่นจึงแปลว่าระบบนิเวศของอ่างกาย่อมมีความพิเศษเฉพาะตัวแตกต่างจากป่าพรุ หรือป่ายอดดอยที่หลายคนคุ้นเคย

อ่างกา

อ่างกา แม้จะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับกิ่วแม่ปานหรือยอดดอยอินทนนท์ แต่ถ้าย้อนประวัติศาสตร์พฤกษศาสตร์ไทยจะพบว่าชื่อ อ่างกา นั้นมีมาก่อนที่จะมีการตั้งชื่อ ดอยอินทนนท์ เลยด้วยซ้ำ ย้อนไปเมื่อ 100 ปีก่อน ตามบันทึกของหมอคาร์ หรือ นายแพทย์ เอ.เอฟ.จี. คาร์ (Arthur Francis George Kerr) แพทย์ชาวอังกฤษผู้ออกสำรวจพันธุ์ไม้บนยอดดอยอินทนนท์ได้กล่าวถึงบึงน้ำขนาดใหญ่อันเป็นที่มาของชื่อ อ่างกา ระบุว่านอกจากสภาพอากาศที่หนาวจัดอย่างรุนแรงแม้เป็นฤดูร้อนก็ต้องสุมไฟและใช้ผ้าห่มถึงสามผืนแล้ว อ่างกาแห่งนี้ยังพบนกกินปลีหลากสีทั้งขนคอเขียวและขนคอเหลืองเป็นประกายสวยงาม

ต่อมาใน พ.ศ. 2534-2536 ไมเคิล แมคมิลแลน วอลซ์ นักสัตววิทยาและอาสาสมัครชาวแคนาดาประจำอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ได้ออกสำรวจอ่างกาอีกครั้งพร้อมสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติเป็นสะพานไม้ทอดยาวอยู่เหนือพื้นที่ซับน้ำที่สูงที่สุดในประเทศไทยถือเป็นการเปิดตัวด้านการท่องเที่ยวอย่างเป็นทางการของอ่างกา และต่อมาใน พ.ศ.2564 บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดย มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ได้ร่วมกับ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พัฒนายกระดับเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาสู่ห้องเรียนธรรมชาติป่าในม่านเมฆที่ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงได้ โดยไม่ทิ้งหัวใจสำคัญคือการรักษาระบบนิเวศพิเศษของป่าพรุน้ำจืดที่สูงที่สุดในประเทศไทยให้อยู่คู่กับเส้นทางศึกษาธรรมชาติผืนนี้ไปอีกนาน

และนี่คือ 9 เหตุผลที่เราอยากชวนคุณไปรู้จักกับความพิเศษของ อ่างกา ป่าโบราณในม่านเมฆหนึ่งเดียวในไทยที่คนรักป่าต้องไปเช็กอินให้ได้สักครั้ง

อ่างกา

1. มหัศจรรย์ป่าเมฆ

อ่างกา มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า ป่าเมฆ ซึ่งชื่อนี้ไม่ได้เป็นเพียงตำนานหรือเรื่องเล่า แต่ด้วยพิกัดความสูงของ อ่างกา ที่ตั้งอยู่บนยอดดอยอินทนนท์ราว 2,550 เมตรจากระดับน้ำทะเลซึ่งเป็นความสูงระดับเดียวกับก้อนเมฆ นั่นจึงทำให้อ่างกาเป็นป่าที่มีความชุ่มชื้นและอากาศที่หนาวเย็นตลอดปีแม้ในฤดูร้อนก็ยังเดินป่าได้อย่างสบาย อ่างกาจะสวยสุดในช่วงปลายฝนต้นหนาวซึ่งเป็นช่วงที่มีทั้งหมอกฤดูฝนและหมอกของฤดูหนาวไหลเวียนเข้ามาปกคลุมผืนป่า แม้บางช่วงเวลาจะมีแสงแดดแรงกล้าส่องลงมา แต่อีกสักพักม่านเมฆก็จะไหลจากอีกยอดเขาเข้ามาห่มคลุมจนอ่างกามีบรรยากาศไม่ต่างกับ ป่าเมฆ อย่างไรอย่างนั้น

อ่างกา

2. ป่าพรุภูเขาที่สูงที่สุดในไทย

ป่าแต่ละแห่งย่อมมีระบบนิเวศพิเศษเฉพาะตัวที่เป็นเสน่ห์แตกต่างกัน และสำหรับ อ่างกา นั้นหากเดินลึกไปใจกลางผืนป่าจะพบกับแอ่งน้ำซับลักษณะเป็นป่าพรุขนาด 30 ไร่ มีน้ำแช่ขังตลอดทั้งปีและมีการไหลเวียนของน้ำอย่างช้าๆ จัดเป็นแหล่งน้ำคุณภาพดีที่แม้น้ำจะมีสีชาก็ตาม ทั้งนี้หากดูเผินๆ ป่าพรุแห่งนี้ก็ดูไม่ต่างอะไรจากพื้นที่ป่าพรุทางภาคใต้ ทว่าด้วยความที่ตั้งอยู่บนยอดเขาที่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ทำให้ป่าพรุอ่างกามีระบบนิเวศที่หาได้ยากรูปแบบหนึ่งในไทย และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ทั้งยังเป็นแหล่งกักเก็บน้ำที่มีคุณภาพ และเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำที่ไหลไปรวมเป็นแม่น้ำปิง นอกจากนี้ลึกลงไปใต้ป่าพรุที่มีอุณหภูมิเย็นจัดราวช่องแช่แข็งยังมีซากพืช ซากสัตว์ทับถมและย่อยสลายอย่างช้าๆ ซึ่งนั่นคือเหตุผลที่ทำให้น้ำในป่าพรุอ่างกามีสีคล้ายชา และอีกความสำคัญของป่าพรุที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ การเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ปัจจัยสำคัญในการช่วยลดโลกร้อนนั่นเอง

อ่างกา

3. พรมธรรมชาติ “ข้าวตอกฤๅษี”

ที่อ่างกานั้นนอกจากต้นไม้จะห่มคลุมไปด้วยมอสส์จนเป็นสีเขียวแล้ว ผืนดินส่วนใหญ่ยังถูกปูด้วยพรมสีเขียวธรรมชาติที่เรียกว่า ข้าวตอกฤๅษี หรือ สแฟกนัมมอสส์ (Sphagnum sp.) เป็นพืชไร้ดอกจำพวกมอสส์สกุลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ทำหน้าที่เป็นฟองน้ำธรรมชาติคอยซับน้ำในอ่างกา โดยข้าวตอกฤๅษีมีคุณสมบัติพิเศษคือชอบขึ้นในที่ชื้นและหนาวเย็น แถมยังทนทานต่อการสูญเสียน้ำได้ดี ส่วนในฤดูแล้งก็สามารถหยุดพักการดำรงชีวิตแบบปกติไว้ได้ชั่วคราวเรียกว่าสามารถจำศีลแกล้งตายและฟื้นคืนชีพกลับมาในสภาวะแวดล้อมที่มีน้ำมากพอได้ ส่วนใบของข้าวตอกฤๅษีนั้นก็คล้ายกับฟองน้ำที่สามารถยืดขยายรองรับซับน้ำได้ถึง8 เท่า และเมื่อข้าวตอกฤๅษีตายลงซากของมันยังสามารถดูดซับน้ำได้ราว 20 เท่าของน้ำหนักตัวเอง ข้าวตอกฤๅษีจึงกลายเป็นฮีโร่ที่จะขาดไม่ได้ในระบบนิเวศป่าพรุพิเศษแห่งนี้

อ่างกา

4. ต้นไม้ใส่เสื้อในป่าดึกดำบรรพ์

แม้เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาจะเป็นเส้นทางบนสะพานไม้สั้นๆ ราว 320 เมตร แต่ด้วยบรรยากาศของผืนป่าในม่านเมฆและบรรยากาศของต้นไม้ส่วนใหญ่ที่คล้ายกับป่าดึกดำบรรพ์ทำให้เวลา1 ชั่วโมงไม่เคยพอสำหรับอ่างกา และที่บอกว่าอ่างกาคล้ายกับป่าดึกดำบรรพ์เพราะที่นี่แม้จะเป็นป่าพรุเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเกือบตลอดเส้นทาง ทว่าต้นไม้สองข้างทางเส้นทางศึกษาธรรมชาติกลับเป็นไม้ใหญ่ที่ห่มคลุมใส่เสื้อกันหนาวด้วยมอสส์เฟิร์นจนเหมือนเดินทะลุมิติไปสู่ยุคดึกดำบรรพ์ และถ้าเจาะลึกไปในงานวิจัยก็จะพบว่า อ่างกา ไม่ใช่ป่าดึกดำบรรพ์แค่ภาพบรรยากาศ เพราะจากผลงานวิจัยการศึกษาละอองเรณูและสปอร์ของพืชในอดีตกาลบริเวณแอ่งพรุภูเขาที่ อ่างกา ยังบ่งชี้ได้ว่า ผืนป่าอ่างกาแห่งนี้เป็นป่าดิบเขาที่ย้อนอายุไปไกลถึงราว 4,300 ปีก่อนเลยทีเดียว

อ่างกา

5. ปลายทางหิมาลัย

เช็กอินที่อ่างกาก็ให้ฟีลเหมือนได้บินไกลไปเดินป่าสู่หิมาลัย ที่นี่นอกจากจะเป็นป่าดึกดำบรรพ์ที่มีหลักฐานพิสูจน์ชัดเจนแล้ว ยอดภูเขาสูงแห่งนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัย และยังมีหลักฐานการพบเฟิร์นดินชนิดพันธุ์ Plagiogyria communis Ching ซึ่งเป็นพันธุ์เดียวกับที่พบบนเทือกเขาหิมาลัยอีกด้วย

6. กฎธรรมชาติ ป่าซ่อมป่า

ธรรมชาติล้วนมีระบบจัดการในแบบของมันเองเสมอ ที่อ่างกาก็เช่นกัน จุดที่ 10 ของเส้นทางศึกษาธรรมชาติจะพบกับ ป่าซ่อมป่า ซึ่งเป็นตัวอย่างวิธีการฟื้นฟูตัวเองของธรรมชาติที่เห็นได้อย่างชัดเจนมาก จุดนี้เราจะเห็นต้นไม้ใหญ่ที่ถูกลมพายุพัดจนโค่นล้ม ก่อให้เกิดพื้นที่ว่างที่แสงแดดเริ่มส่องถึง อุณหภูมิพื้นดินเริ่มสูงขึ้นจากเดิมที่ถูกปกคลุมด้วยกิ่งก้านของไม้ใหญ่ เมื่อความชื้นลดลง สภาพแวดล้อมใหม่และสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ก็เริ่มก่อเกิด พืชสายพันธุ์บุกเบิกที่ชอบแดดก็จะเริ่มเติบโต ซ่อมแซมผืนป่าที่เว้าแหว่งไปในขณะที่ไม้ล้มก็เริ่มกลายเป็นที่อยู่อาศัยของเห็ดรา ผุพังตามกาลเวลา เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้โดยไม่ต้องรอให้มนุษย์เข้าไปปลูกป่าเลยแม้แต่น้อย

7. กุหลาบพันปี สายพันธุ์หายาก

ย่างเข้าเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี ดอยอินทนนท์ โดยเฉพาะเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาจะถูกแต่งแต้มด้วยสีแดงก่ำของ กุหลาบพันปี ดอกไม้ที่ได้ฉายาว่า ราชินีแห่งอินทนนท์โดยชื่อทางวิชาการของกุหลาบพันปี คือ Rhododendron ป็นภาษากรีกโบราณ หมายถึง ดอกไม้ที่ออกดอกสีแดง ส่วนชื่อภาษาไทยมาจากลักษณะของดอกที่สีคล้ายกุหลาบแถมลำต้นก็มักถูกเกาะคลุมด้วยมอสส์คล้ายกับไม้โบราณที่มีอายุผ่านมาแล้วสักพันปี

ส่วนภาษาท้องถิ่นเรียกกุหลาบพันปีว่า คำดอย หรือ คำแดง ตามลักษณะดอกสีแดงสดใสซึ่งในไทยพบสายพันธุ์กุหลาบพันปีเพียง 9 สายพันธุ์ โดยที่ดอยอินทนนท์พบด้วยกันถึง 4 ชนิดเป็นสีขาว 3 ชนิด (ภาษาท้องถิ่นเรียก คำขาว) และสีแดงสายพันธุ์หายากอีก 1 ชนิด ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ต้องอยู่บนระดับความสูงมากกว่า 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล และอยู่ในสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดปี ทว่าสามารถพบได้ที่ดอยอ่างกาแห่งนี้โดยไม่ต้องเดินเข้าไปในป่าลึกเลยแม้แต่น้อย

การผลิบานของกุหลาบพันปีไม่ได้ดึงดูดแค่นักถ่ายภาพสายธรรมชาติ หรือเหล่าอินสตาแกรมเมอร์เท่านั้น แต่ลักษณะของดอกกุหลาบพันปีที่คล้ายแตรยังดึงดูด นกกินปลี ปากยาวโค้งให้แวะเวียนมา โดยเฉพาะ นกกินปลีหางยาวสีเขียว ชนิดย่อยอ่างกาเอนซิส ซึ่งเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ที่เดียวในโลกที่อ่างกา รวมทั้งนกอพยพอย่างนกกินปลีหางยาวคอสีฟ้า ที่บินมาลิ้มรสน้ำหวานจากกุหลาบพันปีที่อ่างกาในทุกฤดูหนาว

8.ทางเดินป่าอารยสถาปัตย์

เส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในช่วง พ.ศ.2534-2536 แต่ด้วยความที่ผืนป่ามีความชื้นสูงและมีสภาพเป็นป่าพรุชุ่มน้ำทำให้ทางเดินไม้ทรุดโทรมลง กระทั่ง บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป โดย มูลนิธิไทยรักษ์ป่า ได้จับมือกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ และ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติใหม่ขึ้นมีลักษณะเป็นเส้นทางวงกลมระยะทางรวม 320 เมตร ผ่านจุดสำคัญที่จะทำให้ได้เห็นระบบนิเวศพิเศษและความหลากหลายทางชีวภาพที่ซ่อนไว้ในป่าเมฆแห่งนี้ทั้ง 11 จุด ไม่ว่าจะเป็น ป่าซ่อมป่า ระบบพืชอิงอาศัย ต้นไม้ใส่เสื้อ มอสส์ขนาดใหญ่ที่สุดระดับโลก เป็นต้น

มานนีย์ พาทยาชีวะ เลขาธิการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า และผู้จัดการส่วนมูลนิธิ เอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสำรวจจัดทำข้อมูลอ่างกาบอกเล่าว่า “หัวใจสำคัญของการสร้างเส้นทางอนุรักษ์เส้นนี้คือการรักษาระบบนิเวศดั้งเดิมให้คงอยู่ การก่อสร้างทั้งหมดต้องไม่กระทบแม้กระทั่งรากไม้ที่มีลักษณะเฉพาะของพื้นที่ป่าพรุ หรือต้องไม่สร้างผลกระทบต่อแหล่งน้ำ อีกทั้งยังต้องเผยให้เห็นความพิเศษของระบบนิเวศที่มีเฉพาะที่อ่างกาเท่านั้น”

อีกสิ่งที่สำคัญที่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ ในการออกแบบเส้นทางธรรมชาติเส้นนี้คือการนำการออกแบบ อารยสถาปัตย์ (Universal Design) เข้ามาผสมผสานกับห้องเรียนธรรมชาติเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้ามาศึกษาธรรมชาติพิเศษของอ่างกาได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

“เราเชื่อเสมอว่าต้นทางที่ดีย่อมก่อกำเนิดผลลัพธ์ปลายทางที่ดี สำหรับเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาที่ตามปกติแล้วรถสามารถเข้าถึงได้ค่อนข้างสะดวก เราจึงอยากต่อยอดตรงนี้ให้ทุกคนเข้ามาในพื้นที่ป่าได้ ดังนั้นการออกแบบเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาจึงใช้หลักอารยสถาปัตย์มีทางสำหรับรถเข็นให้สามารถเข้าไปสัมผัสผืนป่า ฟังเสียงนก สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติควบคู่ไปกับการพัฒนาป้ายสื่อความหมายในเส้นทาง 11 จุด เพื่อเป็นสื่อกลางถ่ายทอดความรู้และคุณค่าทางธรรมชาติแก่ผู้มาเยือนตลอดเส้นทาง”

เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป และประธานกรรมการมูลนิธิไทยรักษ์ป่า กล่าวถึงที่มาของการสร้างทางสำหรับรถเข็นเชื่อมจากจุดจอดรถไปยังจุดเริ่มต้นของเส้นทางศึกษาธรรมชาติ

แม้ปัจจุบันทางสำหรับรถเข็นยังไม่สามารถเชื่อมไปยังเส้นทางศึกษาธรรมชาติทั้งหมดได้อันเนื่องมาจากข้อจำกัดเกี่ยวกับผลกระทบต่อระบบนิเวศที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา แต่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้คนทุกกลุ่มได้เข้ามาสัมผัสธรรมชาติ ซึ่งตรงจุดเช็กอินสำหรับรถเข็นนั้นมีชุดข้อมูลด้านธรรมชาติของอ่างกาแบบดิจิทัลที่เก็บรายละเอียดแม้กระทั่งเสียงนกหลากหลายชนิดที่แวะมาทักทายดอกไม้ที่อ่างกาแห่งนี้

9. เที่ยวป่ายุคดิจิทัล

การเรียนรู้ในยุคดิจิทัลไม่จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียนอีกต่อไป เพราะเส้นทางศึกษาธรรมชาติอ่างกาโฉมใหม่มาพร้อมกับการจัดทำชุดข้อมูลที่สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดอ่านข้อมูลได้ตลอดเส้นทาง หรือจะเลือกเปิด แอปพลิเคชันอ่างกา Virtual 360 หาข้อมูลเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการเดินป่าได้เลย หรือสำหรับใครที่นั่งวีลแชร์มาเช็กอินที่จุดรองรับจุดแรกก็สามารถเปิดเข้าถึงธรรมชาติในรูปแบบ 360 องศาผ่านระบบออนไลน์ควบคู่กันไปได้เช่นกัน หรือหากจะเที่ยวอ่างกาจากโซฟาที่บ้านก็สามารถหยิบแว่นตา 3D มาใส่เพื่อเพิ่มความสมจริงของการท่องเที่ยวได้อีกเช่นกัน

Fact File

  • แต่เดิมดอยอินทนนท์นั้นมีชื่อว่า “ดอยหลวง” หรือ “ดอยอ่างกา” มาจากขนาดของดอยที่ใหญ่มาก สำหรับชื่อ ดอยอ่างกา นั้นตามตำนานเล่าขานที่มาของชื่อว่ามาจากการที่อีกาแวะบินมากินน้ำก่อนที่จะบินไปเข้าเฝ้าฯ พระพุทธเจ้า บ้างก็ว่ามาจากภาษาปกาเกอะญอ แปลว่า “ใหญ่” เพราะฉะนั้นคำว่า “ดอยอ่างกา” จึงแปลว่าดอยที่มีขนาดใหญ่นั่นเอง
  • แอปพลิเคชัน อ่างกา Virtual 360 องศา https://thairakpa.org/angkha/index.htm
  • ชมเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนผืนป่าเมฆ3 เส้นทางแบบความละเอียด 5K https://youtu.be/0H4MOVOL6QU

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม