ด้วยรัฐและสัตย์จริง : ความหมาย “ความซื่อสัตย์” ที่วิเคราะห์ผ่านประวัติศาสตร์ สังคม การเมืองไทย
Lite

ด้วยรัฐและสัตย์จริง : ความหมาย “ความซื่อสัตย์” ที่วิเคราะห์ผ่านประวัติศาสตร์ สังคม การเมืองไทย

Focus
  • ด้วยรัฐและสัตย์จริง ผลงานล่าสุดของ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักวิชาการผู้มีงานเขียนเกี่ยวกับมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และประวัติศาสตร์
  • จุดเด่นของเนื้อหาในเล่มคือการถอดรื้อหาความหมายของแนวคิดเรื่อง “ความซื่อสัตย์” ผ่านการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ไทยในบริบทต่างๆ ทั้งวัฒนธรรม ไปจนถึงการเมือง

ด้วยรัฐและสัตย์จริง : ระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด จริยธรรมแห่งรัฐ และความซื่อสัตย์ที่ผันแปร หนังสือเล่มใหม่ของ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ นักวิชาการที่มีผลงานเขียนออกมาอย่างต่อเนื่องและน่าสนใจอย่าง การเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ของชนชั้นผู้นำไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 4 ถึงพุทธศักราช 2475 และ ลืมตาอ้าปาก จาก “ชาวนา” สู่ “ผู้ประกอบการ” โดยในเล่มใหม่ล่าสุด ด้วยรัฐและสัตย์จริง ยังคงสิ่งที่น่าสนใจและจุดเด่นของผู้เขียน คือ การเฝ้ามองการเปลี่ยนผ่านไทม์ไลน์ของประวัติศาสตร์ และแปรธาตุทางความคิดของสถาบันทางสังคมในประวัติศาสตร์ไทย อีกทั้งการสร้างวาทกรรมทางสังคมขึ้นมา และถอดรื้อแนวคิดดั้งเดิมที่คนส่วนใหญ่เข้าใจไปในทางเดียวกันให้เห็นอีกมุมมองที่ต่างออกไป

เช่นในเล่มนี้อรรถจักร์ได้ถอดรื้อแนวคิดของคำว่า ความซื่อสัตย์ ไว้อย่างสนุกและน่าสนใจทั้งในพลวัตรของประวัติศาสตร์ไทย เชื่อมโยงทั้งวัฒนธรรม ธรรมเนียมสังคม ไปจนถึงการเมือง เพื่อให้เห็นถึงความหมายของ ความซื่อสัตย์ ที่ถูกใช้งานในแง่ต่างๆ พร้อมชุดความรู้ที่ใช้นิยามความหมายของคำว่า ความซื่อสัตย์ คำนี้

และนั่นจึงทำให้คำว่า ความซื่อสัตย์ ไม่ได้มีความหมายเพียงว่า ความตรงไปตรงมา หรือ การยึดถือความจริง ดังที่คนส่วนใหญ่เข้าใจกันและคิดว่าความซื่อสัตย์คือจริยธรรมส่วนบุคคล ทั้งยังถอดรื้อให้เห็นตำแหน่งแห่งที่ที่สร้างความหมายครอบเป็น วาทกรรม ของคำว่า ความซื่อสัตย์ ไว้ตั้งแต่การเทียบเคียงกับวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ในราชสำนักอย่าง ลิลิตโองการแช่งน้ำ วรรณกรรมที่ใช้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่มีการพูดถึงแนวคิดความซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งในที่นี้ความซื่อสัตย์มีการพ่วงการใช้งานเชื่อมโยงกับตำแหน่งพระเจ้าแผ่นดิน ความซื่อสัตย์ในที่นี้จึงมีความหมายซ้อนครอบกับคำว่า ความสวามิภักดิ์ และทำให้แนวคิดความซื่อสัตย์ไม่ใช่คุณสมบัติลักษณะนิสัยของบุคคล แต่เป็นกริยาที่มีต่ออำนาจที่สูงกว่า กล่าวคือความซื่อสัตย์ถูกใช้ในความหมายของการจงรักภักดีต่อเจ้านาย ซื่อตรงรับใช้ ความซื่อสัตย์จึงเกิดแก่เจ้านายของผู้ผูกแนวคิดนี้ไว้ และไม่ใช่จริยธรรมส่วนบุคคล การถอดรื้อให้เห็นถึงแนวคิดดังกล่าวทำให้ความรู้เกี่ยวกับความซื่อสัตย์มีมิติยิ่งขึ้นหากใช้แนวคิดนี้วิเคราะห์เวลาเรากล่าวว่า คนคนนี้เป็น “ผู้ซื่อสัตย์” และมักจะต้องพ่วงด้วยคำว่าเขาซื่อสัตย์ “กับใคร”

ความซื่อสัตย์ยังถูกใช้เป็นกริยาที่เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้มีอำนาจที่ต้องการให้บริวารลูกน้องใสซื่อ ไม่คดเคี้ยว จงรักกับตน ซึ่งความซื่อสัตย์ดังกล่าวเชื่อมโยงกับ ระบอบเกียรติยศ (regimes of honor) ที่ทำให้ผู้ซื่อสัตย์ย่อมมีความรู้สึกนึกคิดถึงการรักษาเกียรติยศของตนไว้กับความซื่อสัตย์นั้น ดั่งคำกล่าวที่ว่า “เป็นกษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ” ก็เป็นคำที่แสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์แบบหนึ่งที่ต้องการรักษาความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับเกียรติยศของตนไว้ พันธสัญญาอะไรก็ตามจึงมักมีผลกับระบอบความรู้สึกนึกคิดภายในมนุษย์ด้วย เพราะความรู้สึกก็มีส่วนร่วมเป็นเครือเดียวกับความคิด ในบางครั้งจึงทำให้ทั้งสองสิ่งอาจไม่สามารถแยกขาดจากกันแม้จะมีความพยายามอธิบายว่า ความคิด กับ ความรู้สึก เป็นคนละส่วน แต่ในอีกมุมทั้งสองส่วนก็ไม่สามารถแยกขาดกันได้ อย่างความคิดเรื่องความซื่อสัตย์และการถือความรู้สึกอันทรงเกียรติ ซึ่งพอเป็นเช่นนี้ความรู้สึกก็เป็นผลพวงหนึ่งทางวัฒนธรรมที่ถูกสร้างจากกรอบความคิดได้เช่นกัน หาใช่เรื่องจิตวิญญาณอันล่องลอย

หนังสือเล่มนี้จึงพาผู้อ่านเข้าสู่โลกการเมืองที่เชื่อมโยงกับความเป็นปัจเจกในคำถามที่ว่า…หรือทั้งหมดของปัจเจกดำรงได้จากการเมืองภาพใหญ่ แม้แต่สิ่งที่เราคิดว่าเรารู้สึกด้วยตนเองก็ตามอาจเป็นผลจากวัฒนธรรมของการเมืองแบบสัตว์สังคม

Fact File

• ด้วยรัฐและสัตย์จริง : ระบอบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด จริยธรรมแห่งรัฐ และความซื่อสัตย์ที่ผันแปร
• เขียน : อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
• สำนักพิมพ์ : มติชน
• ราคา : 195 บาท


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน