ความหมายที่ซ่อนอยู่หลังป้ายไฟ Barber’s Pole ร้านตัดผมเปิดแล้ว
Lite

ความหมายที่ซ่อนอยู่หลังป้ายไฟ Barber’s Pole ร้านตัดผมเปิดแล้ว

Focus
  • ความจริงแล้วการปิด หรือเปิด การติดหรือไม่ติด สัญลักษณ์ Barber’s Pole ไม่ได้มีอยู่ในข้อกฏหมายบังคับไว้ของ ร้านตัดผม แต่ถือว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติและเป็นสัญลักษณ์ของร้านตัดผมที่คนรู้จักทั่วไป
  • Barber’s Pole ถือกำเนิดมาจากสมัยยุคกลางของยุโรปช่วงศตวรรษ และก็ไม่ได้มี 3 สี คือ ขาว แดง น้ำเงิน อย่างในปัจจุบัน

3 พฤษภาคม 2563 ร้านตัดผม และ ร้านเสริมสวย กลับมาเปิดไฟ Barber’s Pole อีกครั้ง หลังจากที่ ศบค. มีมาตรการผ่อนปรนให้สถานประกอบการ ร้านตัดผม เสริมสวย กลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง หลังจากต้องปิดร้าน หยุดกิจการเพื่อลดการระบาดของ COVID-19 แต่การเปิดครั้งนี้ต้องอยู่ภายใต้มาตรการของกรมอนามัยในการควบคุมป้องกันเชื้อ COVID-19 อย่างเคร่งครัด

ถึงเวลาแล้วที่ป้ายไฟหมุน Barber’s Pole สีขาว แดง น้ำเงิน ที่หน้าร้านจะถูกเปิดสวิตซ์ขึ้นอีกครั้ง แต่แคยสงสัยไหมว่า ทำไมร้านตัดผมและร้านเสริมสวย ไม่ว่าจะเป็นร้านสำหรับหญิงและชายจึงต้องมีไฟหมุนสีขาว แดง น้ำเงิน อยู่หน้าร้านเพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ร้านตัดผมเปิดแล้ว

ความจริงแล้วการปิด หรือเปิด การติด หรือไม่ติด สัญลักษณ์ไฟ Barber’s Pole ไม่ได้มีอยู่ในข้อกฏหมายบังคับไว้ แต่ถือว่าเป็นธรรมเนียมปฏิบัติและเป็นสัญลักษณ์ของ ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ที่คนรู้จักทั่วไป ซึ่งป้ายหน้าร้านที่เรียกว่า Barber’s Pole ถือกำเนิดมาจากสมัยยุคกลางของยุโรปช่วงศตวรรษ และก็ไม่ได้มี 3 สี คือ ขาว แดง น้ำเงิน อย่างในปัจจุบัน

ต้นทาง Barber’s Pole มาจากสมัยยุคกลางของยุโรป เมื่อปี ค.ศ. 1540 รัฐสภาอังกฤษ สมัยพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 เป็นประมุข ได้กำหนดให้ร้านซึ่งเป็นที่ทำการของศัลยแพทย์ (ซึ่งเป็นทั้งหมอผ่าตัด ทำฟัน รักษาบาดแผล) ต้องมีบริการตัดผม โกนหนวด และเจาะเลือดอยู่ในที่เดียวกัน โดยร้านเหล่านี้ต้องแขวนป้ายสีขาว แดงไว้หน้าร้าน ใช่แล้ว สีแดง หมายถึง เลือด ส่วน สีขาว หมายถึง ผ้าพันแผล

ต่อมามีการให้แยกประเภทร้านไว้ชัดเจน ระหว่างร้านที่มีศัลยแพทย์อยู่ด้วยและให้บริการเจาะเลือด กำหนดให้ใช้ป้ายสัญญาน สีขาว-แดง ส่วนร้านที่ให้บริการตัดผมอย่างเดียว ให้ใช้ป้ายสัญญาน สีขาว-น้ำเงิน

มาในยุคปัจจุบันป้ายไฟ Barber’s Pole ที่เราเห็นส่วนใหญ่ได้รวบตึง 3 สี คือ น้ำเงิน ขาว แดง ซึ่งเป็นความนิยมมาจากฟากอเมริกา ซึ่งก็มีการสันนิษฐานว่าสีน้ำเงินก็อาจจะมาจากธงชาติอเมริกันก็ได้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ยังเหมือนกันของ Barber’s Pole คือ รูปทรงของป้ายไฟไหมหมุน ล้วนเป็นทรงกระบอกที่แขวนเด่น เห็นชัดเจนจากหน้าร้านเป็นสัญญาณว่า ร้านตัดผมเปิดแล้ว

ต้นเรื่อง :  นิตยสาร สารคดี พฤศจิกายน 2529