
เคลื่อน : อ่านชีวิตที่เคลื่อนคล้อยผ่านปลายปากกา “ศรีนิติ สุวรรณศักดิ์”
- ศรีนิติ สุวรรณศักดิ์ นักเขียนเรื่องสั้นที่มีผลงานอันเป็นที่รู้จักจากรวมเรื่องสั้น สสารไม่มีวันสูญหาย และเรื่องสั้นรวมนักเขียน ทำลาย, เธอกล่าว และล่าสุดกับ เคลื่อน
- เคลื่อน ผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ที่ยังคงเอกลักษณ์ของการผสมผสานการเล่าเรื่อง เชิงสัจนิยม เข้ากับนิสัยที่ชวนพิศวงของตัวละคร อีกทั้งยังคงใช้ขนบ ไพรัชนิยาย มาบรรยายฉากบ้านเมืองและสำแดงการเคลื่อน
ศรีนิติ สุวรรณศักดิ์ นักเขียนเรื่องสั้นที่มีผลงานอันเป็นที่รู้จักจากรวมเรื่องสั้น สสารไม่มีวันสูญหาย และเรื่องสั้นรวมนักเขียน ทำลาย, เธอกล่าว และล่าสุดกับ เคลื่อน ผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่ที่ยังคงเอกลักษณ์ของการผสมผสานการเล่าเรื่อง เชิงสัจนิยม เข้ากับนิสัยที่ชวนพิศวงของตัวละคร อีกทั้งยังคงใช้ขนบ ไพรัชนิยาย มาบรรยายฉากบ้านเมืองซึ่งมีมาตั้งแต่เล่ม สสารไม่มีวันสูญหาย และเป็นเหมือนขนบที่ผู้เขียนมักหยิบมาใช้ โดยในรวมเรื่องสั้นเล่มใหม่นี้ขนบไพรัชนิยายถูกนำมาเป็นอีกหนึ่งแกนหลักที่เป็นเสมือนจุดหมุนทางเหตุต่างๆ ของตัวละคร พร้อมนำแนวคิดของ “การเคลื่อน” มาผูกเล่าหลากเรื่องราวในเล่มนี้และสอดคล้องไปกับการเป็นไพรัชนิยาย อันมุ่งเน้นการเขียนเรื่องแต่งที่มีฉากหลังและหรือตัวละครในต่างแดน ทำให้ใน เคลื่อน ความเป็นไพรัชนิยายได้สำแดงให้เห็นถึงความรู้สึกที่แตะพื้นผิวบนผืนดินของเรื่องเล่าที่ไม่อาจลงลึกได้ด้วยการ “ท่องเที่ยว” อันเป็นประเด็นสำคัญของ เคลื่อน ที่ทำให้ผู้อ่านได้ดำเข้าไปในความเข้าใจและไม่เข้าใจ จากการที่บรรดาตัวละคร “เคลื่อน” ผ่านเหตุการณ์ ผู้คน สถานที่อย่างรวดเร็วจนบางทีไม่สามารถเข้าใจกับสิ่งที่เจอได้ทั้งหมด
ความน่าสนใจอีกประเด็นของเรื่องนี้คือ ความเข้าใจ “เท่าที่เข้าใจ” ที่ถูกตั้งคำถามว่าสิ่งนั้นนับเป็นความเข้าใจด้วยหรือไม่ เช่นการที่เราไปท่องเที่ยวในสถานที่แปลกใหม่ในระยะหนึ่งจนเราเริ่มเข้าใจพื้นที่ความเข้าใจจากการไปแตะพื้นผิวชั่วคราวนั้นพอจะสามารถยืนยันว่าเรา “เข้าใจ” ได้จริงหรือเปล่า และท้ายที่สุดการเข้าใจมันใช้เวลาและการดำดิ่งลึกแค่ไหนถึงจะสามารถยืนยันกับตัวเองได้ว่าเราเข้าใจแล้ว

“เธอจะไม่มีวันรู้ ไม่ว่าเธอจะเจ็บแค่ไหน มันก็ไม่มีทางเป็นความเจ็บเดียวกันกับเขา”
ประโยคจากบทสนทนาในเรื่องสั้นย่อยภายในเล่ม พื้นที่พักคอย แสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างความเข้าใจโดยอุปมากับความเจ็บปวด ตั้งคำถามเกี่ยวกับความรู้สึกที่ถ่ายโอนให้รับรู้กันได้ยาก โดยคำถามดังกล่าวก็ตั้งแง่กับความเป็นวรรณกรรมในตัวเองด้วย เนื่องจากในมุมหนึ่งวรรณกรรมเป็นพื้นที่ทางศิลปะที่แปรสิ่งต่างๆ ให้กลายเป็นอักษรโดยที่อักษรเหล่านั้นกลายเป็นเรื่องราวและชวนให้รู้สึกไปกับเรื่องราว แต่ความรู้สึกต่อเรื่องราวก็เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยทั้งตัวบท ความเข้าใจส่วนบุคคล ที่กระตุ้นให้ผู้อ่านถูกรู้สึก ในบางครั้งบทเดียวกันเรื่องเดียวกันแม้จะรู้สึกเหมือนกัน แต่อาจมีน้ำหนักต่างกันไปก็ได้ ดังนั้น ความเจ็บปวด จะถูกเล่าให้เข้าใจได้หรือไม่อย่างไรในเมื่อน้ำหนักของความเจ็บปวดมันมีความละเอียดที่ถ่ายทอดได้ยาก เช่นเดียวกับอีกประโยคสำคัญของเรื่องเดียวกันนี้ที่ว่า
“ฉันไม่เคยเชื่อในพระเจ้าเลยสักนิด แต่เมื่อชีวิตเราตกไปอยู่ในมือคนอื่น เราก็ได้แต่ภาวนาให้มือนั้นมีเรี่ยวแรงวิเศษแข็งแรงพอจะฉุดเราขึ้นมาได้ แม้ความวิเศษนั้นจะมาจากสิ่งที่เราไม่เชื่อเลยก็ตาม สิ่งนี้เรียกว่าความสิ้นหวัง”
ประโยคดังกล่าวถ่ายทอดความยอกย้อนของความเชื่อในตัวละครสะท้อนความคิดที่ขัดแย้งกันเองได้อย่างดีว่าหากเราสูญสิ้นความเชื่อเพื่อเป้าหมายแม้จะเป็นความหวัง แต่การทิ้งความเชื่อของตนเองก็เป็นสิ่งที่น่าผิดหวังอีกแบบหนึ่ง
ในเรื่อง ภาพเหมือนของสัตว์บาดเจ็บ ก็มีประโยคหนึ่งของบทสนทนาที่ว่า “ไม่ได้โกหกซะหน่อย แค่บางคำหล่นหายระหว่างทาง ธรรมชาติของการแปลก็แบบนี้” ที่แสดงให้เห็นถึงช่องว่างของการสื่อสารเช่นเดียวกัน และยังขยายความด้วยเหตุการณ์การชุมนุมกลางเมืองในฉากสุดท้ายที่ลงเอยด้วยคำถามของตัวละครว่าจะ “เราจะไปไหนกันต่อ?” ช่องว่างของการสื่อสารถูกนำมาใช้เป็นอุปมาของการเป็นคนนอกคนในเช่นเดียวกับการแปลภาษาเมื่อเทียบกับความเป็นคนในคนนอกในการชุมนุม กล่าวได้ว่าในการชุมนุมหนึ่งนั้นก็มีมากไปกว่าภาษาหรือข้อเสนอของการเรียกร้อง แต่ยังมีทั้งความรู้สึกและเหตุผลส่วนบุคคลประกอบด้วย
หรือในเรื่อง นอกระยะการมองเห็น ได้พูดถึงตัวละครหนึ่งที่จะมาสถานที่เดิมประจำในวันเดิมของทุกปี แต่แล้วท้ายที่สุดก็ต้องพบถึงการเปลี่ยนแปลงว่าปีหนึ่งสถานที่นั้นได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วจากร้านอาหารไปเป็นคอนโดมิเนียมที่พักอาศัยแทนโดยจบลงที่ประโยคว่า
“เสียงก่อสร้างกระแทกดังกึงกังฝ่าเท้าเธอรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน”
ในเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าการเคลื่อนของบางอย่างอยู่นอกไปจากการรับรู้ของเรา และเราก็อาจไม่สามารถรับรู้ได้หากไม่ได้เอาตนเองเคลื่อนไปสัมผัส ในเรื่องนี้จึงจบด้วยประโยคที่แสดงให้เห็นว่าตัวละครมองเห็นความเปลี่ยนไป และสัมผัสถึงแรงสะเทือนของการเปลี่ยนดังกล่าวด้วยร่างกายของตนเอง ร่างกายจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะใช้รับรู้การเปลี่ยนไปของสถานที่ต่างๆ ที่ก็เคลื่อนแบบเดียวกับที่ร่างกายของตัวละครที่ก็เคลื่อนหายไปจากสถานที่ต่างๆ ด้วย
การเคลื่อนจึงแสดงให้เห็นด้านกลับไปมาของทั้งองค์ประธาน เราสามารถจะมองว่า สถานที่เคลื่อนไปจากคนได้ เช่นเดียวกับคนที่เคลื่อนไปจากสถานที่ ขึ้นอยู่กับว่าอะไรจะถูกตั้งไว้เป็นองค์ประธานที่เราจะนิยามการเคลื่อนของวัตถุที่องค์ประธานเป็นผู้รับรู้ ในหนังสือเล่มนี้จึงใช้อุปลักษณ์ทางพื้นที่มากมายสะท้อนกับการเคลื่อนของตัวละครต่างๆ ในเล่มที่มาเจอมาพบบรรจบและแยกหาย เช่นเดียวกับสถานที่ที่ทั้งเปลี่ยนแปลงและบางความรู้สึกที่ก็เปลี่ยนไปในใจของตัวละครด้วยเช่นกัน
ในบางครั้งหากเราอ่านการ “เคลื่อน” ในวรรณกรรมเล่มนี้ของ ศรีนิติ สุวรรณศักดิ์ นอกจากความยอกย้อนของวัตถุที่จะนิยามการขยับเคลื่อนไหวกันและกัน ความเป็นอักษรยังแสดงให้เห็นถึงจุดแกนกลางที่เป็นจุดหมุนองค์ประธานดังกล่าวว่า นามธรรมที่มนุษย์ไม่สามารถหยิบจับอย่างการเคลื่อนก็อาจเป็นองค์ประธานที่มีวัตถุหมุนในแกนของนามธรรมนี้เองก็ได้ หากคิดว่าองค์ประธานเป็นแนวคิดนามธรรมที่หยิบจับได้ยากไม่เป็นวัตถุแบบคนและตึกแล้วทำให้ความเป็นวรรณกรรมของเรื่องนี้ได้สำแดงให้เห็นสิ่งที่ไม่ปรากฏ แต่เข้าใจได้ ผ่านอักษรที่มองเห็น เพื่อจินตนาการถึงนามธรรมที่ถ่ายทอดกันได้ยาก…ยากแบบเดียวกับการเข้าใจการเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหวของชีวิตมนุษย์
Fact File
ผู้เขียน : ศรีนิติ สุวรรณศักดิ์
สำนักพิมพ์ : Lélio (เลลิโอ)
