ฮาจิโกะ สุนัขยอดกตัญญู กับการรอคอยสัญญานับสิบปี
Lite

ฮาจิโกะ สุนัขยอดกตัญญู กับการรอคอยสัญญานับสิบปี

Focus
  • ฮาจิโกะ หรือ Hachiko El gos que esperaba ผลงานการเขียนของ หลุยส์ พรัทส์ (Lluís Prats) เล่าเรื่องราวความผูกพันอันลึกซึ้งของ ฮาจิโกะ สุนัขพันธุ์อาคิตะและเจ้าของ จากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น
  • เรื่องราวของฮาจิโกะเคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วถึงสองครั้ง อีกทั้งแอนิเมชันเรื่อง Futurama โดยผู้สร้าง The Simpsons ซีซันที่ 7 ตอน Jurassic Bark ก็ยังนำความภักดีของฮาจิโกะไปเป็นแรงบันดาลใจ

“นี่คือเรื่องราวของความสัมพันธ์ที่ไม่มีวันจางหาย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม” ประโยคข้างต้นปรากฏตัวหนาอยู่ในบรรทัดสุดท้ายบนปกหลังของหนังสือเรื่อง ฮาจิโกะ ตีพิมพ์ฉบับแปลไทยโดยสำนักพิมพ์ Piccolo ชวนให้นึกภาพความตราตรึงที่คอยจะแล่นเข้ามาในความรู้สึกหลังจากพลิกอ่านเรื่องราวที่บรรจุอยู่ด้านใน

ฮาจิโกะ หรือ Hachiko El gos que esperaba (Hachiko, the waiting dog) คือผลงานการเขียนของ หลุยส์ พรัทส์ (Lluís Prats) ในภาษากาตาลัน ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาสเปนโดยออลก้า การ์เซีย ประกอบกับภาพวาดจากฝีไม้ลายมือของนักวาดภาพประกอบชาวโปแลนด์ ซูซานนา เซเลค์ (Zuzanna Celej) ถ่ายทอดเรื่องราวความผูกพันอันลึกซึ้งของสุนัขและเจ้าของจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น

ฮาจิโกะ
Hachi-ko (1987) และ Hachi: A Dog’s Tale (2009)
ฮาจิโกะ
Futurama ตอน Jurassic Bark

ก่อนหน้าที่จะถูกตีพิมพ์เป็นวรรณกรรม เรื่องราวนี้เคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วถึงสองครั้ง คือภาพยนตร์ญี่ปุ่นชื่อ Hachi-ko (1987) กำกับโดย Seijiro Koyama และภาพยนตร์อเมริกัน ดัดแปลงบทและนำแสดงโดย ริชาร์ด เกียร์ (Richard Gere) ในชื่อ Hachi: A Dog’s Tale (2009) อีกทั้งแอนิเมชันเรื่อง Futurama โดยผู้สร้าง The Simpsons ซีซันที่ 7 ตอน Jurassic Bark ก็ยังนำความภักดีของฮาจิโกะไปเป็นแรงบันดาลใจ 

ตัวเอกของเรื่องราวที่กลายเป็นตำนานเล่าขานนี้ แน่นอนว่าหนีไม่พ้นเจ้าของชื่อ ฮาจิโกะ ก่อนอื่นเราเลยขอถอดลักษณะของเจ้าขนฟูตัวนี้ตามรายละเอียดที่ปรากฏอยู่ในหนังสือมาเล่าสู่กันฟัง

  1. ฮาจิโกะเป็นสุนัขขนฟูพันธุ์อาคิตะ สายพันธุ์ที่ได้ชื่อว่าเป็นหมาของนักรบซามูไรที่หนักแน่นและมั่นคง
  2. ฮาจิโกะเดินทางมาจากเมืองโอดาเตะ เพื่อเป็นของขวัญให้แก่ลูกสาวของศาสตราจารย์เอซาบูโร อูเอโนะ ซึ่งอาศัยอยู่ในย่านชิบูย่า กรุงโตเกียว ในเดือนมกราคม ค.ศ.1924
  3. ฮาจิโกะผูกพันกับศาสตราจารย์เอซาบูโร ด้วยกิจวัตรประจำวันที่ต้องเดินเคียงข้างไปส่งเขาที่สถานีรถไฟชิบูย่าในทุกเช้า ก่อนจะกลับมาคอยอยู่ที่บ้านในเวลากลางวัน และตกเย็นที่เข็มนาฬิกาบอกเวลาห้าโมงสิบห้านาที ฮาจิโกะจะรีบพุ่งตัวไปรอรับเจ้านายที่จัตุรัสของสถานีรถไฟราวกับตั้งนาฬิกาส่วนตัวไว้ 
  4. ฮาจิโกะได้รับฟังเรื่องที่ควรรู้จากศาสตราจารย์มากมาย ขณะไปเดินเล่นด้วยกันในวันหยุด ซึ่งนอกเหนือจากเรื่องธรรมชาติ ต้นไม้ ดอกไม้ เด็ก ๆ และข่าวซุบซิบของคนในหมู่บ้าน คำหนึ่งที่ศาสตราจารย์เอซาบูโรมักพูดกับฮาจิโกะเสมอคือ “ฉันสัญญานะฮาจิโกะ สัญญาจริง ๆ”
  5. ฮาจิโกะมีเสียงหนึ่งที่จดจำและรอคอยอยู่เสมอคือเสียงไม้เท้าหุ้มเงินกระทบพื้น ซึ่งเป็นเสียงที่ฮาจิโกะได้ยินขณะเดินอยู่ข้าง ๆ ศาสตราจารย์เอซาบูโร

ตลอดเรื่อง ชีวิตประจำวันของคู่หูต่างวัยต่างสปีชีส์ดำเนินไปอย่างเรียบง่าย ผ่านร้อน ผ่านหนาว ฤดูแล้วฤดูเล่า ค่อย ๆ หล่อเลี้ยงความอบอุ่นและความผูกพันให้เติบโตไปพร้อมกับคำมั่นสัญญาที่ศาสตราจารย์เอซาบูโรคอยรักษาคำพูดเสมอ เว้นแต่ข้อสุดท้ายที่ศาสตราจารย์ไม่ได้ตั้งใจละเลย แต่ฮาจิโกะกลับไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้ทวงสัญญาข้อนี้กับเจ้าตัว การรอคอยอันยาวนานจึงเริ่มขึ้น โดยที่ฮาจิโกะไม่เคยท้อถอยเลยตลอดเวลานับสิบปีของชีวิตที่เหลืออยู่ กระทั่งโรคพยาธิหนอนหัวใจนำพาฮาจิโกะไปจากโลกจริง ๆ ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1935 

อย่างที่ทราบว่าความซื่อสัตย์ภักดีของ ฮาจิโกะ ที่มีต่อศาสตราจารย์เอซาบูโร อูเอโนะ ยังคงถูกเล่าต่อไม่รู้จบในรูปแบบที่หลากหลายทั้งในประเทศญี่ปุ่นและทั่วโลก อีกทั้งสถานีชิบูย่ายังได้กลายเป็นจุดนัดพบที่ผู้คนแห่แหนไปพบฮาจิโกะตั้งแต่ช่วงสุดท้ายของชีวิตที่มารอเจ้านายอยู่ที่เดิมทุกวัน จนกระทั่งปี ค.ศ.1934 ก่อนฮาจิโกะจากไป 1 ปี ผู้โดยสารรถไฟที่ผ่านไปมาและคนละแวกนั้นที่ผูกพันกับฮาจิโกะได้มีการระดมทุนสร้างรูปปั้นบรอนซ์โดยวัดขนาดจากฮาจิโกะตัวจริงขึ้นเป็นครั้งแรก สร้างสรรค์ด้วยฝีมือของช่างแกะสลักคนดัง เทรุ อันโด (Teru Ando) แต่แล้วรูปปั้นชิ้นแรกได้ถูกนำไปหลอมเพื่อใช้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อมาในปีค.ศ.1945 ทาเคชิ อันโด (Takeshi Ando) ลูกชายของศิลปินเทรุที่เสียชีวิตไปในช่วงสงคราม ก็ได้เริ่มสร้างสรรค์รูปปั้นขึ้นใหม่ ฮาจิโกะในรูปปั้นบรอนซ์จึงได้ปรากฏตัวต่อสาธารณะอีกครั้งในปีค.ศ.1948 บริเวณหน้าสถานีชิบูย่าหรือที่เรียกว่า Hachiko Square มาจนถึงปัจจุบัน 

มหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo) หรือชื่อย่อคือ โทได (Todai) ที่ถูกกล่าวถึงในเรื่องว่าศาสตราจารย์เอซาบูโร สังกัดอยู่คณะเกษตรศาสตร์นั้นก็ได้เปิดตัวรูปปั้น ฝีมือช่างแกะสลัก Tsutomu Ueda ขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.2015 ในโอกาสครบรอบ 80 ปีการจากไปของฮาจิโกะ โดยรูปปั้นนี้มีความพิเศษตรงที่เพิ่มหุ่นศาสตราจารย์เอซาบูโร อูเอโนะขึ้นมาคู่กับฮาจิโกะด้วย

แต่นอกจากรูปปั้นและของที่ระลึกมากมายที่สร้างขึ้นมาแทนใจแล้ว ชิ้นส่วนร่างกายจริงส่วนหนึ่งของฮาจิโกะได้นำไปฝังไว้กับหลุมศพของศาสตราจารย์เอซาบูโรที่สุสานอาโอยามะ (Aoyama Cemetery) และร่างของฮาจิโกะตัวจริงได้ถูกสตัฟฟ์และรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติและวิทยาศาสตร์แห่งชาติ กรุงโตเกียว (National Museum of Nature and Science) ที่ตอนนี้เปิดให้เข้าชมแบบ Experience at Home แล้วทาง www.kahaku.go.jp/english/VR/ สามารถพบปะฮาจิโกะได้ที่ชั้น 2 โซน Japan Pavilion คลิกเข้าชมได้เลย

อ้างอิง

Fact File

  • ฮาจิโกะ เขียนโดย หลุยส์ พรัทส์ ภาพประกอบโดย ซูซานนา เซเลค์ แปลโดย รัศมี กฤษณมิษ 
  • สำนักพิมพ์ Piccolo 
  • ราคา 195 บาท

Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ