ประวัติศาสตร์ วันสตรีสากล เกิดขึ้นจากพลังของกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า
Lite

ประวัติศาสตร์ วันสตรีสากล เกิดขึ้นจากพลังของกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า

Focus
  • ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้หญิงที่โยงมาสู่ วันสตรีสากล เริ่มต้นในช่วงปี ค.ศ. 1900 เมื่อกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่แสนร้อนและอับทึบ ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา ลุกขึ้นประท้วง
  • ในปี ค.ศ. 1910 ที่ประชุม International Conference of Working Women ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ประกาศให้มีวันที่ระลึกถึงความสามัคคีของสตรีทั่วโลก

แค่เพียงการเคลื่อนไหวเล็กๆ ก็สามารถเปลี่ยนโลกได้ เช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มหญิงสาวผู้เป็นกรรมกรค่าแรงต่ำในโรงงานทอผ้าที่สามารถพลิกโลก ทำให้เสียงของผู้หญิงดังขึ้น และกลายเป็นที่มาของ วันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี

ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้หญิงที่โยงมาสู่ วันสตรีสากล เริ่มต้นราวช่วงปี ค.ศ. 1900 จากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าที่แสนร้อนและอับทึบ ณ เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา แรงงานหญิงเหล่านี้ออกมารวมตัวกันเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากนายจ้าง นอกจากค่าแรงที่ต่ำแล้ว พวกเธอยังต้องทนกับเสียงเครื่องจักรที่ดังกึกก้องบีบประสาทอยู่ตลอดเวลา นานถึงวันละ 12-15 ชั่วโมง การประท้วงเริ่มจากการรวมตัวนัดหยุดงานและเดินขบวนเพื่อลดเวลาการทำงานของกรรมกรหญิงให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง รวมทั้งการเรียกร้องสิทธิ์ในการออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งพวกเธอไม่เคยได้รับมาก่อน

หลังจากที่ข่าวการประท้วงเริ่มเผยแพร่ออกไปก็มีผู้สนับสนุนพวกเธออย่างกว้างขวาง ถือเป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่ยืดเยื้อกินเวลายาวนานถึง 13 สัปดาห์  และจบลงด้วยการที่โรงงานยอมปรับปรุงสภาพแวดล้อมในโรงงาน แต่มากกว่านั้นคือเหล่ากรรมกรหญิงได้เริ่มก่อตั้งสหภาพแรงงาน

เสียงของผู้หญิงเริ่มดังขึ้น โดยในปี ค.ศ.1908 ได้มีการชุมนุมเรียกร้องความเท่าเทียมเรื่องสิทธิของผู้หญิงที่มหานครนิวยอร์กโดยมีผู้หญิงราว 15,000 คน ออกมาร่วมเคลื่อนไหวในเรื่องค่าแรงและการลดเวลาทำงาน ต่อมาใน ค.ศ.1909 วันสตรี (National Woman’s Day) ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาก็ถูกกำหนดขึ้น ตรงกับวันที่ 28 กุมภาพันธ์

ในปี ค.ศ. 1910 ที่ประชุม International Conference of Working Women ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ประกาศให้มีวันที่ระลึกถึงความสามัคคีของสตรีทั่วโลกในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพที่ผู้หญิงทุกคนไม่ว่าเชื้อชาติไหนก็ควรจะได้รับ และผลจากการประชุมก็ทำให้ในปีต่อมาคือ ค.ศ. 1911 วันสตรีสากล International Women’s Day  ก็ถูกประกาศขึ้น แต่ที่เป็นการเฉลิมฉลองอย่างเป็นทางการในหลายประเทศนั้นเริ่มภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ราว ค.ศ. 1975 โดยที่องค์การสหประชาชาติได้เริ่มเฉลิมฉลองให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล และยึดวันดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนี้ในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1914 ยังมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นที่  Sylvia Pankhurst นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีถูกจับ อีกทั้งวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1917 ยังเป็นวันที่สตรีในรัสเซียลุกขึ้นมาชุมนุมต่อต้านสงครามที่ทำให้มีสตรีรัสเซียกว่า 2 ล้านคน ตายในสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่วนวันที่ 8 มีนาคม ย้อนไป ค.ศ.1857 ตรงกับวันลอบวางเพลิงโรงงานทอผ้า ซึ่งในวันนั้นเป็นวันที่สตรีในโรงงานทอผ้ากำลังลุกขึ้นประท้วงเพื่อสิทธิของพวกเธอ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 119 ราย

อ้างอิง