ขุนพันธ์ 3 : ตำรวจและโจรในระบบอยุติธรรมพิพากษา
Lite

ขุนพันธ์ 3 : ตำรวจและโจรในระบบอยุติธรรมพิพากษา

Focus
  • ภาคปิดไตรภาคที่ถือว่าเป็นการครบรอบ 10 ปีแห่งโครงการภาพยนตร์ชุด ขุนพันธ์ ผลงานสร้างโดยผู้กำกับมากวิสัยทัศน์ ก้องเกียรติ โขมศิริ เจ้าของผลงานภาพจำชัดอย่าง เฉือน อันธพาล และขุนพันธ์ทั้ง 3 ภาค
  • ขุนพันธ์ เป็นผลงานของสตูดิโอสุดบู๊ สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล ที่เคยฝากหนังบู๊ในตำนานทั้ง 7 ประจัญบาน องค์บาก และ ต้มยำกุ้ง

และแล้วก็มาถึงบทสรุปแห่งไตรภาคของ ขุนพันธ์ โครงการภาพยนตร์ยักษ์ใหญ่ที่ใช้เวลาสร้างสรรค์ถึง 10 ปี เป็นอีกผลงานสร้างชื่อแห่งสตูดิโอ สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล เจ้าของผลงานบู๊ล้างผลาญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยมากมายไม่ว่าจะ ต้มยำกุ้ง (2005) องค์บาก (2003) 7 ประจัญบาน (2002)  และสำหรับ ขุนพันธ์ 3 ยังสามารถสานต่อสุนทรียะแห่งหมัดมวย ปืน ระเบิด ให้เทิดเถิงอลังการในแบบที่หาได้ยากในภาพยนตร์ไทยยุคปัจจุบัน นอกจากสตูดิโอที่เชี่ยวชาญในการผลิตภาพยนตร์บู๊ฟอร์มยักษ์ ที่สำคัญภาพยนตร์ชุดนี้ยังได้ผู้กำกับมากวิสัยทัศน์อย่าง ก้องเกียรติ โขมศิริ ที่เปี่ยมคุณภาพการกำกับพร้อมทั้งเอกลักษณ์ในการสร้างโลกในภาพยนตร์ขึ้นมาจนทำให้โลกจินตนาการนั้นมีรายละเอียดน่าสนใจและเชื่อสนิทใจว่าสมจริง ไม่ว่าจะเป็นโลกของคนเล่นของใน ลองของ 2 (2008) โลกของนักเลงใน อันธพาล (2012) หรือจะการดัดแปลงโลกวรรณคดีจนเข้ามือมีสไตล์ใน ขุนแผน ฟ้าฟื้น (2019) 

ขุนพันธ์ 3

สำหรับในโครงการภาพยนตร์ชุด ขุนพันธ์ ก้องเกียรติยังคงสร้างโลกอาคมสุดขลังของเหล่าจอมขมังเวทย์ที่ฟาดฟันกันด้วยทุกอาวุธและศาสตราคาถา โดยภาพยนตร์ชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจจาก ขุนพันธรักษ์ราชเดช หรือ บุตร พันธรักษ์ ตำรวจมือปราบที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ไทยมาสร้างสรรค์ตัวละคร ขุนพันธ์ และนำตำนานเรื่องเล่าบางส่วนที่มีการพูดถึงภารกิจจับเสือร้ายมาใช้สร้างโลกแห่งชุมเสือและบรรยากาศบ้านเมืองยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศไทย ซึ่งภาคนี้ยังคงอ้างอิงตำนานการปราบเสือภาคกลางมาสร้างตัวละครคู่ปรับสำคัญของขุนพันธ์อย่าง เสือดำ และ เสือมเหศวร

ขุนพันธ์ 3
ขุนพันธ์ 3

ขุนพันธ์ 3 จึงเป็นภาพยนตร์ที่น่าจับตาด้วยทั้งความยิ่งใหญ่ของสเกลงานสร้าง และฝีมือการกำกับของก้องเกียรติผู้สร้างโลกขุนพันธ์ทั้ง 3 ภาค บทสรุปสุดยิ่งใหญ่ในครั้งนี้เล่าเรื่องตอนที่ 3 ของภาพยนตร์ชุดขุนพันธ์ที่มาในชื่อตอนว่า วันพิพากษา เป็นภารกิจสุดท้ายก่อนสิ้นความคงกระพันของ ขุนพันธ์ (รับบทโดย อนันดา เอเวอร์ริ่งแฮม) ที่ต้องบุกจับตายทะลายชุมโจรใหญ่แห่งสุดท้ายของ เสือดำ (รับบทโดย ภาคิน คำวิลัยศักดิ์) และ เสือมเหศวร (รับบทโดย มาริโอ้ เมาเร่อ) สองเสือมหาเวทย์จอมคาถาที่มาพร้อมกับขบวนการกองโจรอาวุธครบมือ ภารกิจจับตายครั้งนี้จึงมีชีวิตของขุนพันธ์ นายตำรวจ (ที่เคย) หนังเหนียวเป็นเดิมพัน พร้อมกับภารกิจสำคัญของสองเสือที่ต้องคุ้มครองสมาชิกผู้แทนราษฎรฝ่ายซ้ายทั้ง 3 คน ให้สามารถมีชีวิตไปเปลี่ยนแปลงสังคมต่อไปในวันที่กลุ่มการเมืองต่างห้ำหั่นกันด้วยชีวิต โดยมีฉากหลังเป็นเมืองไทยช่วง พ.ศ.2493 ยุคแห่งความวุ่นวายของการเอาชนะทางการเมืองระหว่างอำนาจศักดินาแบบเก่า และฝ่ายก้าวหน้าผู้สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยในไทย ภารกิจของเหล่าจอมขมังเวทย์ครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การดวลคาถาอาคม แต่ยังมีชีวิตและอนาคตบ้านเมืองเป็นเดิมพัน

ศาลอยุติธรรมกับระบบเจ้านาย

“มึงกับกูต่างกันแค่เสื้อผ้า” 

อัลฮาวียะลู (รับบทโดย กฤษดา สุโกศล แคลปป์) มหาโจรแดนใต้กล่าวกับขุนพันธ์ในภาคแรก คำพูดนี้มีความหมายกับภาพยนตร์ชุดขุนพันธ์เสมอมาจนกระทั่งถึงภาค 3 ด้วยการสะกิดให้เห็นถึงตัวตนภายใต้เครื่องแบบของขุนพันธ์ นายตำรวจคงกระพันที่นำทีมบุกทะลายชุมเสือไปทั่วว่า แท้จริงแล้วเขาก็ฆ่าคนและทำลายสิ่งต่างๆ ไม่แพ้พวกเสือพวกโจร จะต่างกันแค่ขุนพันธ์ไม่ผิด แต่เหล่าโจรผิด โดยในภาค 2 ขุนพันธ์ได้ปะทะกับ อัศวิน นายตำรวจคลั่งอำนาจและไสยเวทย์หนังเหนียวที่นิยมใช้ความรุนแรงในการฆ่าล้างเสือสุพรรณ ขุนพันธ์จึงได้พบว่า ตำรวจผู้ใช้กฎหมายเองก็สามารถทำสิ่งที่เลวร้ายได้ยิ่งกว่าเสือนอกกฎหมาย เพราะอำนาจที่มีทำให้สามารถใช้ความรุนแรงได้อย่างชอบธรรมในโลกของกฎหมาย อัศวิน จึงเป็นตัวละครกระจกที่สะท้อนทำให้ขุนพันธ์เห็นตัวเอง และในสุดท้ายขุนพันธ์จึงใช้วิธีการเอาผิดคนร้ายด้วยหลักฐานแทนการจับกุมด้วยกำลัง 

ในภาคที่ 3 นี้ต่อยอดเนื้อหาสู่คำถามใหม่ว่า ถ้าการใช้หลักฐานจับกุมและไม่ใช้กำลังมันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ขุนพันธ์ควรทำอย่างไร” ภาพยนตร์ภาคนี้จึงสร้างเงื่อนไขของระบอบความอยุติธรรมในทุกมิติของความเป็นรัฐราชการ ตำรวจ ผู้บังคับบัญชาในหน่วยงานรัฐ ทั้งหมดเป็นทรราชย์ที่ใส่ใจเพียงการครองอำนาจและการสยบต่ออำนาจที่ใหญ่กว่าเป็นชั้นลำดับอย่างมีระบบตามสูตรรัฐราชการรวมศูนย์ ขุนพันธ์ซึ่งเป็นตำรวจก็เป็นผลผลิตของส่วนกลางและระบบแบบนี้ด้วย โดยในภาคนี้มีฉากที่ทำให้เห็นว่า ถึงมีหลักฐานชัดเจนแต่หากระบบชนชั้นในราชการไม่เห็นด้วยก็สามารถทำลายหลักฐานเพื่อเบี่ยงเบนการพิพากษาด้วยความชอบธรรมตามกลไกของระบอบเอง เช่น การที่ผู้บังคับบัญชาใหญ่โตกว่าจะโต้แย้งและไม่มีระบบคำร้องที่คุ้มครองการแย้งใดๆ ได้ รวมถึงหากแย้งกับชนชั้นราชการที่สูงกว่าก็อาจนำไปสู่ความลำบากได้ ชนชั้นราชการจึงกดขี่ข้าราชการน้ำดีให้เป็นบ่อน้ำเน่าในมหาสมุทรน้ำเน่าได้ด้วยอำนาจบาตรใหญ่ แนวคิดของขุนพันธ์ที่จะใช้กฎหมายจึงจบลงด้วย สะท้อนให้เห็นถึงทางตันของระบบตำรวจและบีบบังคับให้ปฏิบัติการด้วยความรุนแรงกับเหล่าเสือในนามกฎหมายที่ได้รับอนุมัติจากส่วนกลาง ระบบบีบให้มีตำรวจอย่างขุนพันธ์ขึ้นไม่ว่าเขาจะอยากเป็นหรือไม่ก็ตาม ในส่วนนี้จะเห็นว่าขุนพันธ์เคยพยายามโต้กับนายตำรวจที่ใหญ่กว่าเขาโดยเสนอว่าจะจับเป็น แต่นายตำรวจใหญ่ผู้นั้นตอกกลับว่า “ท่านขุนไม่มีอำนาจต่อรองอะไร” 

การตัดสินใจหรือพิพากษาเหล่าเสือให้จับตาย รวมทั้งการตัดสินวิธีจับเสือให้ขุนพันธ์แบบไม่มีข้อโต้แย้งจึงสะท้อนระบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่ทำให้การใช้อำนาจตามอำเภอใจกลายเป็นเรื่องปกติของระบบ แสดงให้เห็นว่าในระบบนี้การพิพากษาไม่ใช่ความเป็นธรรม แต่เป็นเพียงการตัดสินใจของผู้ที่มีชนชั้นทางอำนาจสูงกว่า ไม่ใช่การหาเหตุผลที่ยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อความเป็นธรรมแต่อย่างใด รวมทั้งเปิดแผลให้เห็นว่าระบบราชการที่ให้อำนาจตามชั้นลำดับ อำนาจจะสามารถกลายเป็นระบบทรราชย์อย่างมีระบบรองรับ เปิดให้ผู้มีอำนาจมากกว่าสามารถสั่งพิพากษาสิ่งต่างๆ ได้  และลดหลั่นอำนาจนี้ตามลำดับขั้นที่รองลงมาเพื่อกดขี่ผ่านระบบอย่างเป็นลำดับชั้น

ในฉากปะทะของขุนพันธ์และเสือดำในภาคนี้จบลงด้วยประโยคสนทนาถึงความมีน้ำใจ ความเป็นนักเลงคำไหนคำนั้นด้วยการเรียกว่า “คนจริง” ขุนพันธ์ยอมรับว่าเสือดำเป็นคนจริง เสือดำก็ยอมรับขุนพันธ์เช่นกัน แต่ก็ยังมีคำต่อว่าตามมาว่า ขุนพันธ์ที่เป็นคนจริงนี้ควรตั้งคำถามว่าเจ้านายเป็นคนจริงด้วยหรือเปล่า เพราะขุนพันธ์เองแทบจะตัดสินใจอะไรไม่ได้เลย เป็นเพียงผู้รับคำสั่งจากเจ้านายราชการมาอีกที ดังนั้นความเป็นคนจริงอาจไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าผู้นั้นยอมรับการถูกควบคุมโดยอำนาจรัฐที่ฉ้อฉล ระบบเจ้านายที่ริดรอนเจตจำนงส่วนบุคคล จึงเป็นการแสดงเปรียบเทียบได้ระหว่าง ชุมเสือที่มีเหล่าเสือเฒ่าและศาลเสือตัดสินพิพากษาด้วย ธรรมเนียมเสือ กับ ระบบรัฐราชการรวมศูนย์ที่ปลัดกระทรวง ผู้บังคับบัญชา ราชการลำดับใหญ่โต เป็นผู้คุมกฎและแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมจนเป็นธรรมเนียมของหน่วยงาน และมีน้ำหนักมากกว่ากฎหมายด้วยซ้ำ ทั้งยังสามารถตัดสินพิพากษา กำหนดกฏเกณฑ์ให้องคาพยพของราชการดำเนินการตามเป็นลำดับขั้น จากมีอำนาจสูงลงไปหาอำนาจต่ำ หากเทียบกันทั้งสองสิ่งก็นอกเหนือไปจากความยุติธรรมทั้งคู่ กล่าวได้ว่าเป็นระบบคณาธิปไตยที่มีกลุ่มคนบงการพิพากษาตัดสินใจกำหนดสังคมในทั้งระบบตำรวจและชุมเสือ ซึ่งสังคมที่ให้เลือกระหว่างอยู่ในเมืองใต้กฎหมาย หรือเข้าป่าหาชุมโจร อย่างไรประชาชนก็ไม่สามารถหลุดไปจากระบบ เจ้านาย หรือ คณาธิปไตย แบบนี้ไปได้ โลกในภาพยนตร์ ขุนพันธ์ 3 จึงแสดงให้เห็นถึงปัญหาของรัฐรูปแบบเผด็จการอันมีระบบนอกกฎหมายซ้อนทับอยู่ และสร้างระบบเจ้านายอันเป็นปัญหาของสังคมไทยที่เหมือนว่าจะไม่ได้เป็นโลกที่สร้างอยู่เพียงในจอ

ว่าด้วยคงกระพันและความเสื่อม

“คนชั่วเต็มเมือง แต่ก็ไม่สามารถหาหลักฐานเอาผิดอะไรใครได้ นี่แหละเมืองไทย วันที่เราเดาอะไรไม่ได้เลยว่าจะเป็นใครในวันข้างหน้า” 

คำกล่าวของนายตำรวจหัวหน้าภารกิจปราบชุมเสือใต้ในภาคแรก ซึ่งแนวคิดนี้เป็นเสาหลักแห่งการผจญภัยของขุนพันธ์ทั้ง 3 ภาคจนถึงภาคที่ 3 ความอยุติธรรมของสังคมในเรื่องได้ประจักษ์ชัด และขุนพันธ์เองก็ได้เรียนรู้จนถึงจุดที่ยอมรับว่า หากกฎหมายเป็นกฎของทรราชย์กดขี่ประชาชน ระบบที่เขาอยู่มันจะเน่าเฟะจนความเป็นตำรวจไร้ราคา เพราะกฎหมายจะกลายเป็นเพียงกำแพงให้เหล่าคณะทรราชย์มากกว่าปกป้องประชาชน ในภาคนี้จึงสานต่อเข้าสู่บทสรุปแห่งการผจญภัยของตำรวจมือปราบหนังเหนียวที่ใช้หนังของตนเป็นกำแพงปกป้องชุมเสือแห่งสุดท้าย และช่วยเสือดำและเสือมเหศวนต่อกรกับกองกำลังส่วนกลางที่มุ่งทำลายชุมเสือ

ในวันที่เดาไม่ได้จากเสื้อผ้า จากคำนำหน้าตำรวจหรือเสือ ขุนพันธ์ได้ละตัวตนจากตำรวจผู้รับใช้ส่วนกลางสู่ประชาชนผู้ร่วมต่อสู้เพื่อพิทักษ์ประชาชนด้วยกัน ในชุมเสือภาคนี้จึงเต็มไปด้วยเหล่าประชาชน นักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ ที่มีฝันต้องการการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมาอยู่รวมกัน ต้องการให้อาหารตกถึงท้องประชาชนทุกคน ดูได้จากคำขู่ของเสือมเหศวนที่ขู่รถไฟว่าหากแจกจ่ายอาหารให้เด็กยากไร้จะไม่ปล้น และอุดมการณ์ของเสือดำที่จะไม่กลับใจจากการเป็นกลุ่ม เชิ้ตดำ ที่มีแนวคิดการปล้นคนรวยช่วยคนจนมาตั้งแต่ภาค 2 ของภาพยนตร์ชุดนี้ การปฏิบัติการของชุมเสือจึงสามารถมองได้ว่าเป็นการเรียนกร้องเชิงสัญลักษณ์รูปแบบหนึ่ง 

ในภาคนี้สานต่อให้เห็นถึง ชุมเสือ ในฐานะปฏิบัติการภาคประชาชนในการเขย่าอำนาจรัฐ ขุนพันธ์จึงเลือกที่จะเป็นตัวผสานระหว่างรัฐกับโจร แต่แล้วบทสรุปของภาคนี้ยังคงมุ่งให้เห็นว่า รัฐร้ายกว่าโจร เพราะรัฐเป็นเจ้าของอำนาจทุกสิ่ง กฏหมาย อาวุธ การใช้ความรุนแรง อย่างชอบธรรมจากการสร้างกฎเกณฑ์กลไกเพื่อเอื้อต่อการกระทำของตนและสามารถทำให้การกระทำเดียวกันนี้ไม่เป็นความผิด เดินลอยหน้าลอยตาได้ในสังคม ต่างจากชุมเสือที่พอออกปล้นเพื่อความเท่าเทียมกลับต้องหลบซ่อนและจับตาย

ในภาคนี้อาคมติดตัวของขุนพันธ์ได้เสื่อมลงอันเป็นจุดจบแห่งความหนังเหนียว ที่น่าสนใจคือเนื้อเรื่องหลักส่วนนี้ยังอุปมาความเสื่อมที่ขุนพันธ์สัมผัสได้จากเลือดเนื้อของตนเองไปถึงเครื่องแบบตำรวจ จากที่เคยเชื่อว่าตนเองเป็นความยุติธรรมปราบเสือ สู่การมองเห็นตนเองในฐานะ เครื่องจักรสังหาร ที่อนุมัติใบสั่งฆ่าโดยรัฐอย่างถูกกฎหมาย หนำซ้ำยังช่วยระบบกดขี่การเรียกร้องประชาชนอย่างไม่ได้ตั้งใจ พอรู้ความจริงอีกแบบจึงกระทบต่อศรัทธาในเครื่องแบบของตน เครื่องแบบในฐานะความเชื่อของขุนพันธ์จึงเสื่อมไปด้วย จนไปถึงขุนพันธ์หันกลับไปถือสัจจะข้างโจรพิทักษ์ชุมเสือจากกำลังส่วนกลาง ความเสื่อมทั้งร่างกายและความเชื่อของขุนพันธ์ได้สรุปในภาพยนตร์จนถึงฉากสุดท้ายที่ขุนพันธ์เองกำลังจะเดินไปหาเสียงปืนปริศนาด้วยชุดธรรมดาไม่มีเครื่องแบบตำรวจอีกต่อไป รวมถึงเขาเองก็ไม่มีอาคมคงกระพันอีกต่อไปเช่นกัน

ความเสื่อมของไสยเวทย์ในภาคนี้จึงสะท้อนให้เห็นทั้งมิติของการเลือกมุมมองการไม่ปักใจกับคุณค่าเดิม และการยอมรับว่าต่อให้คงกระพันแค่ไหนก็ไร้ประโยชน์ถ้าไม่ใช้กำลังนั้นเพื่อความเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีกว่า ในภาคนี้ผู้ชมจะเห็นขุนพันธ์ในฐานะผู้วิ่งตามเรื่องไม่ใช่นำเรื่อง เขาคือคนแก่เสื่อมคาถาที่วิ่งไปมาระหว่างสงครามเสือกับกำลังตำรวจส่วนกลาง ขุนพันธ์ในภาคนี้จึงจบในช่วงที่เขาเป็นผู้ชราที่ทำได้อย่างมากที่สุดคือจับโจร ไม่ใช่ผู้ฝันเห็นสังคมที่ดีขึ้นทั้งหมดแบบเสือมเหศวร ผู้คอยสนับสนุนกลุ่มขบวนการประชาชนที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง 

ขุนพันธ์ 3 จึงเป็นการแสดงภาพของสังคมที่ล่มสลายเพราะระบบเก่าและผู้เชื่อในระบบเก่า ที่สุดท้ายแม้จะรู้ความจริงอีกแบบก็แก่และเสื่อมเกินไปกว่าจะปฏิบัติการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยตัวเองแบบขุนพันธ์ แต่ผู้ชราที่ผ่านโลกและยอมรับความผิดพลาดก็สามารถมีประโยชน์และสนับสนุนขบวนการคนรุ่นใหม่ให้ดำเนินการต่อไปได้ในแบบที่ขุนพันธ์สนับสนุนเสือมเหศวรจนท้ายที่สุด เสือมเหศวรคือผู้รอดชีวิตไปเป็นปฏิกริยาทางสังคมต่อไปได้ แนวคิดดังนี้ยังพ้องกับสิ่งที่พระหลวงพ่อพูดคุยกับขุนพันธ์ในช่วงเริ่มเรื่องก่อนละสังขารว่า “หากไร้ตัวตนได้ความคงกระพันก็ไม่จำเป็น” แสดงให้เห็นแนวคิดเตือนใจมือปราบคงกระพันให้เห็นถึงการยอมรับความเสื่อม และไม่ยึดติดว่าตนจะต้องคงกระพันพร้อมรบตลอดกาล แต่การยอมรับว่าสิ่งเก่าตายไป สิ่งใหม่เกิดได้ต่างหากจะเป็นแนวทางสำคัญของสังคมและระบบประชาธิปไตยในประเทศไทย


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน