1 พฤษภาคม จากวันฉลองฤดูเพาะปลูกสู่ วันแรงงาน
Lite

1 พฤษภาคม จากวันฉลองฤดูเพาะปลูกสู่ วันแรงงาน

Focus
  • วันที่ 1 พฤษภาคม ไม่ได้มีความสำคัญแค่วันแรงงาน ในยุโรปสมัยโบราณ 1 พฤษภาคม มีความสำคัญ ในแง่ที่เป็นวันเฉลิมฉลองของการเริ่มต้นเพาะปลูก
  • ประเทศไทยเริ่มประกาศให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2499 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี

ก่อนที่จะเป็น วันแรงงาน วันที่ 1 พฤษภาคม ในยุโรปสมัยโบราณ มีความสำคัญในแง่ที่เป็นวันเฉลิมฉลองของการเริ่มต้นเพาะปลูก และเคยมีวันหยุดตามประเพณี

ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม วันที่ 1 พฤษภาคม กลายเป็นวัน May Day โดยในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1886 ขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานในเมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา นัดหยุดงานครั้งใหญ่มาชุมนุมที่จตุรัสเฮย์มาร์เก็ต (Haymarket) เพื่อเรียกร้องให้สิทธิแรงงานหลายอย่าง

ไฮไลต์คือเรียกร้องให้นายจ้างยอมรับมาตรฐานกำหนดเวลาทำงานสูงสุดไม่เกิน 8 ชั่วโมงใน 1 วัน ซึ่งเป็นมาตรฐานของการจ้างงานตามกฏหมายแรงงานส่วนใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้  และประเทศในฝั่งตะวันตกจึงกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นวันแรงงาน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ต่อสู้ที่มีการปะทะบาดเจ็บกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วย

ประเทศไทย เริ่มประกาศให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันกรรมกรแห่งชาติ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2499 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี  และต่อมาใน พ.ศ. 2500 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วันแรงงานแห่งชาติ  แต่วันแรงงานที่เป็นวันหยุดของแรงงานเพิ่งเริ่่มในปี พ.ศ.2517 หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่ประชาชนและนักศึกษาออกมาเดินขบวนขับไล่ผู้นำเผด็จการผ่านไปแล้ว

นอกจากนี้ 1 พฤษภาคม  ยังเป็นวันเกิดของ แมรี แฮร์ริส โจนส์ (Mary Harris Jones) หรือ คุณแม่โจนส์ (Mother Jones) นักต่อสู้เรียกร้องสิทธิของกรรมกร ซึ่งได้ร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงานโลก (Industrial Workers of the World หรือ IWW) ขึ้นในปี พ.ศ.2448 และนั่นทำให้เธอได้รับฉายาว่าเป็นสตรีที่อันตรายที่สุดในสหรัฐอเมริกา

ต้นเรื่อง : นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 315 พฤษภาคม 2554