Long Take 101 : ทำไมการถ่าย Long Take จึงเป็นมนตราของโลกภาพยนตร์
Lite

Long Take 101 : ทำไมการถ่าย Long Take จึงเป็นมนตราของโลกภาพยนตร์

Focus
  • เทคนิค Long Take คือการถ่ายภาพด้วยกล้องตัวเดียวเป็นระยะเวลานานต่อ 1 เทค ผลลัพธ์ที่ได้คือความสมจริงของอารมณ์ เหมือนผู้ชมกำลังตามติดตัวแสดงนั้นไปตลอด
  • อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษเป็นผู้วางรากฐากของภาพยนตร์แบบ One-Shot Film ที่ถ่ายโดยเทคนิค Long Take จากเรื่อง ROPE (1948)
  • โรเจอร์ ดีกินส์ (Roger Deakins) ช่างภาพวัย 70 ปี ได้พา 1917 คว้ารางวัล Best Cinematography จากเวทีออสการ์ ครั้งที่ 92 มาครองได้ด้วยเทคนิคการถ่าย Long Take

เทคนิค Long Take (ลองเทค) เป็นหนึ่งในมนต์มายาทางภาพยนตร์ที่ทำหน้าที่เสกความสมจริงให้เกิดขึ้นผ่านเทคนิคการถ่ายทำที่ให้ความต่อเนื่อทางอารมณ์อย่างไม่ถูกคั่นจังหวะ เรียกว่าต่อการถ่าย 1 เทคนั้นต้องใช้เวลาถ่ายนานกว่าปกติ และในปี ค.ศ.2020 นี้แฟนภาพยนตร์ทั่วโลกได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ที่ใช้เทคนิคลองเทคตลอดทั้งเรื่องคือ 1917 โดยผู้กำกับ แซม เมนเดส (Sam Mendes) ซึ่งเขาได้จงใจสร้างสรรค์ภาพยนตร์สงครามด้วยเทคนิค Long Take ตลอดทั้งเรื่อง และนั่นก็ส่งให้ โรเจอร์ ดีกินส์ (Roger Deakins) ช่างภาพวัย 70 ปี พา 1917 คว้ารางวัล Best Cinematography จากเวทีออสการ์ ครั้งที่ 92 มาครองได้ตอกย้ำว่า Long Take ยังคงเป็นหนึ่งในวิธีการทางภาพยนตร์ที่น่าตื่นตาตื่นใจอยู่เสมอ

Long Take


ทำไม Long Takeจึงเป็นความยากของวงการภาพยนตร์

Long Take คือการถ่ายบันทึกภาพด้วยกล้องตัวเดียวเป็นระยะเวลานานต่อ 1 เทค (Take) หรือ 1 ครั้งของการถ่าย ดังนั้น Long Take จึงเป็นการถ่าย 1 ครั้งด้วยระยะเวลานานกว่าการถ่ายทั่วไป คำถามต่อมาคือต้องนานเท่าไรจึงจะเรียกว่า Long Take

คำตอบคือไม่มีกฎกำหนดตายตัว แต่สามารถวัดได้จากเทคไหนที่มีการถ่ายด้วยระยะเวลานานกว่าการถ่ายในครั้งอื่นๆของภาพยนตร์เรื่องนั้นเองอย่างเห็นได้ชัดเทคนั้นจะถือเป็น Long Take ซึ่งความยากของการถ่ายด้วยเทคนิคนี้จำเป็นต้องตระเตรียมทุกองค์ประกอบให้พร้อม

เทคนิค Long Take

นักแสดงทุกคนต้องจำจุดเกิดเหตุต่างๆให้แม่นยำอย่างมาก ย้ำว่าทุกตำแหน่งจะพลาดไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพื่อให้รับกับคิวกล้องที่จะเคลื่อนอย่างไม่หยุดไปตามจุดที่ทำการซักซ้อมไว้ ทั้งการแต่งหน้า ทำผม เอฟเฟ็กต์ที่จะเกิดขึ้นก็ต้องมาให้ทันการก้าวเดินของนักแสดง การจัดแสงก็ต้องให้เป๊ะกับการเคลื่อนที่ไปในมุมต่างๆ ทั้งยังต้องหลบมุมไม่ให้เข้ากล้องซึ่งที่ผ่านมาทั้งภาพยนตร์เรื่อง 1917 และ The Revenant (2015) ที่ใช้เทคนิคนี้ทั้งเรื่องก็ตัดสินใจถ่ายทำแสงจากธรรมชาติไปเลย

Long Take จึงเป็นวิธีการที่อาศัยการเตรียมพร้อมมาก เพราะไม่สามารถคัตหรือตัดกล้องหากนักแสดงผิดคิวได้เลยหรือหากเพียงกล้องคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อยก็ทำให้ต้องเริ่มการถ่ายทำฉากนั้นๆ ใหม่ทั้งหมด ยิ่งถ่ายไปแล้วนานมากเท่าไรก็ต้องกลับมานับหนึ่งใหม่ยกขบวน เพิ่มความเหนื่อยของทุกฝ่ายไปอีกเท่าตัว

เทคนิค Long Take

จาก Long Take สู่ภาพยนตร์ One-Shot Film

โดยทั่วไปภาพยนตร์หลายเรื่องมักใช้วิธีการตัดต่อเพื่อร่นเวลาให้กระชับ ทำให้ภาพยนตร์ดูเร็วซึ่งเป็นวิธีการเล่าเรื่องยอดนิยมเพราะโดยปกติภาพยนตร์อาจต้องเล่า 1 สัปดาห์ 1 เดือน 1 ปี หรือหลายปีในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง แต่วิธีการ Long Take ใช้เพื่อสร้างความต่อเนื่องของเวลาในภาพยนตร์จากการถ่ายที่ยาวขึ้น ซึ่งจะทำให้เวลาของผู้ชมขนานไปกับเวลาจริงในเรื่องวินาทีต่อวินาทีจากการที่ไม่มีการตัดต่อ ทำให้เพิ่มดีกรีความความลุ้นระทึกในการรับชม ชนิดที่รู้สึกเหมือนกำลังเดินตามไปกับตัวละคร เทคนิค Long Take จึงมักเป็นเทคนิคที่ช่างภาพ หรือผู้กำกับหยิบมาใช้เมื่อต้องการสร้างความสมจริงทางเวลาให้กับภาพยนตร์

หากภาพยนตร์ใช้ เทคนิค Long Take ติดต่อกันตลอดเรื่องเราสามารถเรียกภาพยนตร์รูปแบบนั้นได้ว่า One-Shot Film เป็นคำที่ใช้เรียกภาพยนตร์ที่ต่อเนื่องเสมือนมีฉากเดียวตลอดเรื่อง ตัวอย่างที่โด่งดังคือ ภาพยนตร์รางวัลปาล์มทองคำ Russian Ark (2002) ซึ่งเป็นภาพยนตร์เชิงประวัติศาสตร์ที่พาผู้ชมเดินผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ในราชวังฤดูหนาวแห่งรัสเซีย (Winter Palace) ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการถ่ายทำด้วย เทคนิค Long Take ยาวตลอดระยะเวลา 96 นาที ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเรียกได้ว่าเป็น One-Shot Film อย่างเต็มตัว

เทคนิค Long Take
ผลงานภาพยนตร์ Long Take ในประวัติศาสตร์ของ Alfred Hitchcock

ย้อนอดีตจุดเริ่มต้น Long Take

การถ่ายยาวครั้งแรกๆที่เป็นกรณีศึกษาครั้งสำคัญและสามารถพูดได้ว่าเป็น Long Take อย่างชัดเจนเกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง ROPE (1948) ของปรมาจารย์โลกภาพยนตร์ชาวอังกฤษ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock) เขาได้สร้างรากฐากของ One-Shot Film ผ่านข้อจำกัดในยุคสมัยของกล้องฟิล์ม 35มม. ซึ่งมีเงื่อนไขคือเวลาบันทึกของฟิล์มแต่ละม้วนฮิตช์ค็อกใช้วิธีการถ่ายจนฟิล์มหมดม้วนเท่ากับ 1 ชอต

ระหว่างการเปลี่ยนจะนำกล้องเข้าหลบไปในเงามืดเช่นเบื้องหลังของเสื้อคลุมนักแสดงเพื่อเปลี่ยนม้วนแล้วเคลื่อนออกมาถ่ายต่อทำให้ดูต่อเนื่องเหมือนภาพยนตร์เป็นเนื้อเดียวกันใน ROPE ฮิตช์ค็อกถ่ายภาพยนตร์ทั้งเรื่องความยาว 80 นาทีด้วยจำนวนช็อตทั้งหมดเพียง 11 ชอต นับเป็นการถ่าย Long Take ครั้งสำคัญของโลกภาพยนตร์

ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยด้วยกล้องภาพยนตร์ดิจิทัลทำให้การสร้างสรรค์ One-Shot Film เป็นไปได้ง่ายขึ้นด้วยปัจจัยที่ไม่ต้องมีการเปลี่ยนม้วนฟิล์มหรือขนาดกล้องอันเทอะทะแถมด้วยยังมีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟิกมาช่วยสร้างความต่อเนื่อง

เทคนิค Long Take
อเลฆันโดร กอนซาเลซ อีนาร์ริตู (Alejandro González Iñárritu) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเม็กซิกัน

Long Take ยังคงสร้างความตื่นเต้นได้เสมอ

หากกล่าวถึงหนึ่งในผู้กำกับปัจจุบันที่ได้ใช้เทคนิค Long Take คนสำคัญหนึ่งในรายชื่อมากมายคงหนีไม่พ้น อเลฆันโดร กอนซาเลซ อีนาร์ริตู (Alejandro González Iñárritu) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเม็กซิกัน เจ้าของ 4 รางวัลออสการ์ที่สร้างปรากฏการณ์ภาพยนตร์ One-Shot Film ใน Birdman (2014) ภาพยนตร์ตลกร้ายที่พาผู้ชมเข้าสำรวจชีวิตของนักแสดงละครเวทีตกอับ ซึ่งในกรณีนี้ไม่ได้เป็นการเปิดกล้องบันทึกยาวเป็น One-Shot Film ตลอดจริงๆ แต่มีการใช้เทคนิคพิเศษด้านคอมพิวเตอร์กราฟิกมาใช้เสริมการถ่ายทำ Long Take เชื่อมฉากต่างๆ เข้าด้วยกันจนเป็น One-Shot Film

ยิ่งไปกว่านั้นเขายังแหกขนบของ เทคนิค Long Take ที่ส่วนมากใช้เพื่อสร้างความสมจริง อีกทั้ง Birdman ยังใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกสร้างฉากเหนือจริงเข้าไปผสมผสาน การที่ตัวละครเดินๆ อยู่แล้วลอยได้ในฉากต่อเนื่องเป็นการสลายความสมจริงแต่ด้วยเทคนิคนี้ก็ทำให้สิ่งเหนือจริงต่างๆ ในภาพยนตร์ดูสมจริงขึ้นมามากขึ้น

เรียกว่าเทคโนโลยีพัฒนามากขึ้นเท่าไร ความสมจริงจากการถ่ายด้วย เทคนิค Long Take ก็จะยิ่งน่าตื่นเต้นมากขึ้นเหมือนผู้ชมได้หลุดเข้าไปอยู่กับนักแสดงชนิดก้าวต่อก้าว ซึ่งทั้งหมดคือคำตอบที่ว่าทำไม Long Take จึงเปรียบดั่งมนตราของโลกภาพยนตร์

ขอบคุณภาพ: www.imdb.com และ www.1917.movie


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน