นางนาก จากเรื่องเล่าผีชาวบ้านสู่ตำนานหนังไทย 150 ล้าน
Lite

นางนาก จากเรื่องเล่าผีชาวบ้านสู่ตำนานหนังไทย 150 ล้าน

Focus
  • 30 กรกฎาคม 2542 วันแรกของการเปิดฉาย นางนาก  ภาพยนตร์ไทยทำรายได้ทะลุ 150 ล้านเรื่องแรก ในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร  นำแสดงโดย ทราย เจริญปุระ ในบท นางนาก และ  วินัย ไกรบุตร ในบท พ่อมาก
  • นางนาก เป็นภาพยนตร์ไทยดัดแปลงที่บ้างก็มาจากตำนาน จากนิทานโบราณ ที่ถูกเล่าขานต่อกันมา สันนิษฐานว่าจะเล่าต่อๆ กันมาตั้งสมัยรัชกาลที่ 4
  • เนื้อเรื่องเล่าเรื่องราวความผูกพันของแม่นาก สาวชาวบ้านแห่งทุ่งพระโขนง กับพ่อมาก ชายสยามที่ได้เวลาไปเป็นทหารรับใช้ชาติ แต่ความรับกลับไม่สมหวังเมื่อแม่นากก็เสียชีวิตระหว่างการคลอดบุตร กลายเป็นผีตายท้องกลม และเฝ้ารอการกลับมาของพ่อมาก

นางนาก หรือ แม่นาก พระโขนง คือหนึ่งในตำนานเรื่องผีไทยที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ยุคสมัยก็ยังคงมีมนต์ขลัง ทั้งในฐานะตำนาน ความสยองขวัญอย่างครบสูตร นิยาย บทเพลง ละคร หรือแม้แต่การหยิบจับมาทำภาพยนตร์ และภาพยนตร์นางนากที่โด่งดังเป็นประวัติการณ์ต้องยกให้ นางนากฉบับ ทราย เจริญปุระ กำกับโดย นนทรีย์ นิมิบุตร มี วินัย ไกรบุตร รับบท พ่อมาก เปิดฉายในโรงภาพยนตร์สำหรับผู้ชมทั่วไปในวันที่ 30 กรกฎาคม 2542 พร้อมสร้างปรากฏการณ์เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ทำรายได้จากการขายบัตรชมภาพยนตร์ วัดเฉพาะรายได้ในโรงภาพยนตร์ทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทะลุ 150 ล้านบาท ในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน

นางนาก

นางนาก เป็นภาพยนตร์ไทยดัดแปลงจากนิทานโบราณ บ้างก็ว่ามาจากตำนาน บ้างก็ว่าเป็นเรื่องเล่า ที่ถูกเล่าขานต่อๆ กันมาซึ่งสันนิษฐานว่าเล่ากันในหมู่ชาวบ้านตั้งสมัยรัชกาลที่ 4  โดยเนื้อเรื่องในแต่ละยุคสมัยมีจุดที่เหมือนกันคือ ความผูกพันระหว่าง นางนาก สาวชาวบ้านแห่งท้องทุ่งพระโขนง กับ พ่อมาก ชายสยามที่ต้องไปเป็นทหารรับใช้ชาติ และต้องปล่อยให้นากเมียรักที่กำลังตั้งท้องต้องอยู่เรือนเพียงลำพัง

โศกนาฏกรรมความรักเริ่มต้นระหว่างที่พ่อมากกำลังออกรบ แม่นากก็ได้มาตายจากระหว่างการคลอดลูก กลายเป็น ผีตายท้องกลม ที่ยังคงวนเวียนมาเฝ้ารอพ่อมากที่ริมท่าน้ำในทุกพลบค่ำ ชาวท้องทุ่งพระโขนงต่างเล่าลือของความดุ ความเฮี้ยนของนางนาก ต่อเมื่อพ่อมากกลับมา เขาได้ใช้ชีวิตอยู่กับแม่นากและลูกน้อยอยู่นานโดยไม่รู้ว่าตนอยู่ร่วมเรือนเดียวกับผี

เรื่องราวของแม่นากโยงไปถึง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 5 และดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ตั้งแต่ในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 และในตำนานก็กล่าวถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ว่าเป็นผู้ที่เข้ามาโปรดและปราบนางนาก รวมทั้งเป็นผู้เจาะกระโหลกหน้าผากของนางนากเพื่อเปิดทางให้วิญญาณได้เดินทางไปสู่ภพภูมิใหม่ (กระโหลกนางนากชิ้นนั้นยังคงเป็นปริศนาว่ามีจริงหรือไม่)

นางนาก

ภาพยนตร์นางนาก ฉบับปี 2542   ได้สร้างปรากฏการณ์ทั้งภาพยนตร์ทำเงิน และภาพยนตร์ไทยเกี่ยวกับเรื่องผี ที่ไม่ได้เล่นกับความน่ากลัวเพียงเท่านั้น แต่หนังชีวิตที่สะท้อนการมีอยู่ของตัวตนปัจเจก ปัจจัยในสังคม และบทบาทของพุทธศาสนาแบบไทยๆ อีกความโดดเด่นของงานสร้างภาพยนตร์มีเกร็ดประวัติศาสตร์และบริบทแทรกอยู่ในทุกองค์ประกอบศิลป์ โดยไม่ลืมอรรถรสของหนังชีวิตไทยๆ ในยุคที่สังคมกำลังโหยหาอัตลักษณ์และหันกลับมาสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นไทย สู้วิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (วิกฤติต้มยำกุ้ง) ที่เพิ่งเกิดขึ้นหมาดๆในช่วง 2 ปีก่อนนางนากเข้าฉาย

เรื่องราวของ นางนากแห่งท้องทุ่งพระโขนง ยังถูกสร้างต่อเนื่องทั้งในละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ไทย และละครเวที  ต่อจากเรื่อง นางนาก ก็มีเรื่อง แม่นาคพระโขนง ออกมาเป็นภาพยนตร์อีกหลายเวอร์ชั่นรวมทั้งละครเวที แถมเรื่องของนางนากยังถูกสร้างในฉบับเปลี่ยนแกนของเรื่องจากแม่นากไปเป็น “พ่อมาก” ในภาพยนตร์เรื่อง  “พี่มาก…พระโขนง”  ออกฉาย พ.ศ. 2556 กำกับโดย บรรจง ปิสัญธนะกุล และทุบสถิติภาพยนตร์ไทยอีกครั้ง ด้วยรายได้เฉพาะช่วงเข้าฉายโรงภาพยนตร์ทะลุ  1 พันล้านบาท เป็นเรื่องแรกและเรื่องเดียวของไทย ประชา สุวีรานนท์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ เคยให้เหตุผลถึงความคลาสสิกของนางนากไว้ว่า

“แม่นากคือผีที่ทุกคนรัก แม่นากคือผีที่ทุกคนกลัว”

ต้นเรื่อง : นิตยสารคดี พฤศจิกายน 2542