ประวัติศาสตร์ แพนด้า สัตว์โลกล้านปีที่เคยโดนฝรั่งไล่ล่า สู่สัตว์ขวัญใจมหาชน สถานะใกล้สูญพันธุ์
Lite

ประวัติศาสตร์ แพนด้า สัตว์โลกล้านปีที่เคยโดนฝรั่งไล่ล่า สู่สัตว์ขวัญใจมหาชน สถานะใกล้สูญพันธุ์

Focus
  • แม้แพนด้าจะดำรงอยู่บนโลกนี้มาหลายล้านปี แต่ไม่น่าเชื่อว่าไม่มีการพบรูปวาดแพนด้าโบราณเลย รูปเขียนเก่าแก่ที่สุดของแพนด้าคือสมัยศตวรรษที่ 19
  • ชาวโลกรู้จักแพนด้าผ่านชาวตะวันตก คือ “อาร์มองด์ ดาวิด” มิชชันนารีฝรั่งเศสซึ่งทำงานในประเทศจีน ดาวิดเดินทางไปเสฉวนเมื่อปี 1869 เขาเห็นหนังแพนด้าในบ้านนายพรานท้องถิ่น

แม้ แพนด้า จะดำรงอยู่บนโลกนี้มาหลายล้านปี แต่ไม่น่าเชื่อว่าไม่มีการพบรูปวาดแพนด้าโบราณเลย รูปเขียนเก่าแก่ที่สุดของแพนด้าคือสมัยศตวรรษที่ 19 แม้แต่การบันทึกถึงเรื่องแพนด้าก็ยังไม่แน่ชัดว่าสัตว์ที่กล่าวถึงนั้นใช่แพนด้าจริงหรือไม่ ชาวโลกรู้จักแพนด้าผ่านชาวตะวันตก คือ “อาร์มองด์ ดาวิด” มิชชันนารีฝรั่งเศสซึ่งทำงานในประเทศจีน

ดาวิดมีงานอดิเรกเป็นนักสำรวจธรรมชาติ เขาชอบเดินทางไปเก็บตัวอย่างพืชและสัตว์แปลก ๆ ส่งไปประเทศของตน ดาวิดเดินทางไปเสฉวนเมื่อปี 1869 เขาเห็นหนังแพนด้าในบ้านนายพรานท้องถิ่น และได้ว่าจ้างทีมนายพรานล่า แพนด้า ไม่กี่วันต่อมาทีมนายพรานนำซากแพนด้าหนุ่มมาขายดาวิดในราคาแพง ดาวิดชำแหละซากแล้วส่งหนังกับกระดูกไปยังพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาในปารีสพร้อมแนบจดหมายว่าเขาคิดว่าสัตว์นี้เป็น “หมีสีขาวดำที่วิเศษสุด”

เมื่อฝรั่งได้ซากแพนด้าแล้วก็อยากเห็นแพนด้าตัวเป็น ๆ แต่หลายคนต้องผิดหวังเพราะแพนด้าอาศัยบนภูเขาสูง ในป่าไผ่หนาทึบที่เดินฝ่าเข้าไปลำบากและยากจะพบเห็น ฝรั่งคนแรกที่ได้เห็นแพนด้ามีชีวิตตัวเป็นๆ เพราะเขาซื้อลูกแพนด้ามาจากชาวบ้าน แต่ลูกหมีอยู่ได้ไม่นานก็ตาย

 แพนด้า
ช่วงช่วง (ซ้าย) และหลินฮุ่ย (ชื่อไทยคือเทวัญและเทวี) เอนกายกินไผ่อย่างสบายอารมณ์
(ภาพ : สกล เกษมพันธุ์ )

ฝรั่งคนแรกที่ยิงแพนด้าสำเร็จคือลูกชายสองคนของประธานาธิบดีรูสเวลต์ ซึ่งขอทุนจากพิพิธภัณฑ์ชิคาโกไปเสฉวนในปี ค.ศ. 1929 หลังจากนั้นพิพิธภัณฑ์อื่น ๆ ที่แข่งขันกันอยู่ก็ส่งคนออกล่าแพนด้าบ้าง และเพียงช่วงเวลา5 ปี สถาบันสมิทโซเนียนได้ตัวอย่างแพนด้าถึง 20 ตัว ส่วนชาวบ้านเองถ้าล่าได้ก็นำหนังแพนด้ามาขายให้ชาวตะวันตกที่กำลังตื่นเต้นกับแพนด้า โดยวิธีล่าของชาวบ้านในสมัยก่อนคือการล่อหมีลงจากภูเขาด้วยกลิ่นอาหาร (กระดูกหมู) และวางกับดักไว้ตามรายทาง เมื่อกับดักทำงานแพนด้าจะถูกหอกไม้ปักหัวใจ แต่ฝรั่งไม่ชอบใช้วิธีนี้สู้เอาปืนออกไปล่าเองไม่ได้

แพนด้ากับการทำหน้าที่ทูตสื่อสัมพันธ์มีมาเนิ่นนาน อย่างเจียงไคเช็กเองก็เคยส่งแพนด้าคู่หนึ่งให้สวนสัตว์บรองซ์ในนิวยอร์คปี 1941 เพื่อขอบคุณอเมริกาที่ช่วยจัดโครงการระดมเงินช่วยเหลือคนจีนในช่วงที่ถูกญี่ปุ่นรุกราน ต่อมาเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์เรืองอำนาจในปี 1949 ก็สิ้นยุคการล่าแพนด้าของฝรั่ง นอกจากนี้จีนยังเคยมอบแพนด้า 1 คู่ให้อเมริกาในวาระที่ประธานาธิบดีนิกสัน เยือนจีนในปี 1972 และแพนด้าคู่นี้ได้กลายมาเป็นดาวเด่นของสวนสัตว์แห่งชาติในวอชิงตัน ดี.ซี. ในเวลาต่อมา

นักวิจัยเริ่มศึกษาแพนด้าป่า พบว่าหมีแต่ละตัวอาศัยอยู่ในอาณาบริเวณ 5 ตารางกิโลเมตร และเคลื่อนไหวเฉลี่ยวันละครึ่งกิโลเมตร แพนด้าตกลูกปีเว้นปีในถ้ำเล็ก ๆ หรือโพรงไม้ ลูกหมีครึ่งหนึ่งอยู่รอดถึงอายุ 1 ปี และลูกหมีจะอยู่กับแม่นานกว่า 1 ปีครึ่ง

 แพนด้า
หลินฮุ่ยในสวนสัตว์เชียงใหม่ (ภาพ : สกล เกษมพันธุ์ )

ปี 1962 จีนออกกฎหมายห้ามล่าแพนด้า และกรมป่าไม้ของจีนก็สนับสนุนให้สร้างเขตอนุรักษ์แพนด้ามากกว่า 60 แห่ง ส่วนในปี 1979 ก็ได้ร่วมมือกับ WWF ทำการวิจัยอย่างเร่งด่วนถึงกรณีที่แพนด้าสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว เหตุผลหนึ่งคือหมีแพนด้าจะไม่กินต้นไม้อื่นเลยนอกจากต้นไผ่ 25 ชนิด ซึ่งต้นไผ่เหล่านี้บางชนิดใช้เวลาถึง 30-120 ปีกว่าจะผลิดอกออกผล การทำลายผืนป่าและถิ่นอาหารของแพนด้าจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ยิ่งกว่าการล่าแพนด้าเสียอีก

แม้แพนด้าจะเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธ์เนื่องจากพื้นที่ป่าที่ลดลงไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า หรือเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นเกษตรกรรม แต่จีนก็ยังได้เดินหน้าโครงการอนุรักษ์ร่วมมือกับอเมริกาศึกษาแพนด้าป่าและเพิ่มอัตราการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติของแพนด้าเลี้ยงจากไม่ถึง 1 ใน 3 เป็นร้อยละ 90 และพัฒนาวิธีการผสมเทียมเพื่อรักษาความหลากหลายของประชากรแพนด้า

สำหรับชาวจีนถือว่าแพนด้าเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ จะสังเกตได้ว่าแพนด้าในสวนสัตว์ต่างๆ จะถูกตั้งชื่อสองพยางค์แบบเดียวกับการตั้งชื่อคน สะท้อนให้เห็นว่าแพนด้าได้รับความรักจากคนมากเพียงใด ส่วนที่อยู่อาศัยของ แพนด้า คือที่ราบสูง เช่นที่ เสฉวน ฉานซี และกานสู

ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี มีนาคม 2554


Author

กองบรรณาธิการ
กองบรรณาธิการ Sarakadee Lite