6 พิกัดประวัติศาสตร์ ไฮไลต์ Night Museum ฉลอง 101 ปี พระราชวังพญาไท
Lite

6 พิกัดประวัติศาสตร์ ไฮไลต์ Night Museum ฉลอง 101 ปี พระราชวังพญาไท

Focus
  • ครั้งแรกกับการเปิด พระราชวังพญาไท ยามค่ำคืนจัดแสดง Projection Mapping และ Lighting Installation เพื่อเฉลิมฉลอง 101 ปี พระราชวังพญาไท
  • จากตำหนักในทุ่งนาช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปรับปรุงเป็นพระราชวังพญาไทในสมัยรัชกาลที่ 6 และเปลี่ยนเป็นโรงแรมหรูและสถานพยาบาลในสมัยรัชกาลที่ 7 จนกระทั่งมีการบูรณะให้เป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน
  • การจัดแสดงแสง สี เสียงเน้นการนำเสนอความงามของสถาปัตยกรรมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งโดดเด่นในการผสมผสานศิลปะแบบตะวันตกและสอดแทรกด้วยการประดับตกแต่งอย่างศิลปะแบบอิสลาม จีนและไทย

ครั้งแรกกับการเปิด พระราชวังพญาไท ยามค่ำคืนเป็น Night Museum จัดแสดงแสง สี เสียง เพื่อขับเน้นความงามของสถาปัตยกรรมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งโดดเด่นในการผสมผสานศิลปะแบบตะวันตกโดยเฉพาะในยุควิคตอเรียนและสอดแทรกด้วยการประดับตกแต่งอย่างศิลปะแบบอิสลาม จีนและไทย ในวาระฉลองครบรอบ 101 ปี พระราชวังพญาไท ที่เริ่มต้นจากการเป็นตำหนักที่ประทับในทุ่งนาช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 สู่พระราชวังพญาไทในสมัยรัชกาลที่ 6  และปรับเป็นโรงแรมสุดหรูและสถานพยาบาลในสมัยรัชกาลที่ 7 จนกระทั่งเป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในสมัยรัชกาลที่ 9 และมีการบูรณะปรับปรุงให้เป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน

พระราชวังพญาไท

101 ปี พระราชวังพญาไท THE GLORY OF SIAM โดย มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาสิริโสภาพัณณวดี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 กุมภาพันธ์-16 มีนาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00- 21.30 น. กับการแสดงศิลปะแบบ Projection Mapping และ Lighting Installation ที่แบ่งเป็น 6 โซนด้วยการผนึกกำลังสร้างสรรค์จาก 5 สตูดิโอชั้นนำของไทย ประกอบด้วย อาม่า สตูดิโอ (AMA STUDIO) ดีไซนด์ คิท (DecideKit) ณ สัทธา (Na Satta) ฟอส ไลท์ติ้ง ดีไซน์ (FOS Lighting Design) และ ไลท์ซอร์ส (LightSource)

ขอบอกก่อนว่าการจัดแสดง Night Museum ครั้งนี้เน้นการฉาย Projection Mapping และ Lighting Installation บริเวณด้านนอกอาคารจึงไม่ได้มีการเปิดให้ชมห้องต่างๆ ภายในหมู่พระที่นั่งให้ได้ชมเหมือนเช่นรอบการนำชมปกติเวลากลางวันในทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์

Sarakadee Lite ปักหมุด 6 พิกัดที่จะพาย้อนรอยประวัติศาสตร์ของ พระราชวังพญาไท และความงดงามของสถาปัตยกรรมรวมทั้งพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 6 โดยเฉพาะด้านวรรณกรรม

พระราชวังพญาไท

01 จากตำหนักในทุ่งนาสู่พระราชวัง โรงแรม โรงพยาบาลและพิพิธภัณฑ์

พิกัด: พระที่นั่งพิมานจักรี

พิกัดแรกที่ถือเป็นจุดไฮไลต์และไม่เสียค่าเข้าชมคือการฉาย Projection Mapping บนอาคาร พระที่นั่งพิมานจักรี ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระที่นั่งและโดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างโรมาเนสก์ (Romanesque) กับ โกธิค (Gothic) โดยมีลักษณะเด่นคือยอดโดมสูงสำหรับชักธงมหาราชขึ้นสู่ยอดเสาเมื่อเวลาเสด็จประทับ

การฉาย Projection Mapping มาในธีมของห้องหนังสือและสมุดแต่ละเล่มที่ดึงออกมาจะบอกเล่าความเป็นมาของพื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ที่มีจุดเริ่มต้นจากการที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักและสวนที่ทุ่งนาพญาไทเพื่อทดลองปลูกพืชไร่และทำนาหลวงเมื่อ พ.ศ.2452 และเพียงหนึ่งปีถัดมาเสด็จสวรรคต  พระตำหนักพญาไทต่อมาจึงกลายเป็นที่ประทับของสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีจนเสด็จสวรรคตในปี 2462 หลังจากนั้นรัชกาลที่ 6 โปรดให้รื้อพระตำหนักพญาไทและสร้างพระราชมณเฑียรขึ้นใหม่และมีพระที่นั่ง 5 องค์ชื่อคล้องจองกันได้แก่ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระที่นั่งพิมานจักรี พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ และพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์  และมีพระราชพิธีเฉลิมพระที่นั่ง ในปี 2465

พระราชวังพญาไท

ในช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชปรารภให้ปรับพระราชวังพญาไทเป็น โฮเต็ลวังพญาไท แต่เสด็จสวรรคตเสียก่อนที่จะมีการดำเนินการ  โฮเต็ลวังพญาไทเปิดบริการในปี 2468 ในสมัยรัชกาลที่ 7 และถือว่าเป็นโรงแรมสุดหรูในขณะนั้นมีห้องพักประมาณ 60 ห้องและห้องพระบรรทมเป็นห้องเดอลุกซ์ในราคาคืนละ 120 บาท นอกจากนี้บริเวณชั้น 3 ของพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานยังเป็นสถานที่จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของประเทศไทยชื่อว่า “สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท” และหลังจากดำเนินกิจการประมาณ 7 ปี ทางการยุบเลิกกิจการโฮเต็ลวังพญาไท และย้ายสถานีวิทยุกรุงเทพฯ กลับไปอยู่ที่สถานีวิทยุศาลาแดงตามเดิม

ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475  พระราชวังพญาไท เปลี่ยนบทบาทอีกครั้งกลายเป็นสถานพยาบาลของกองทัพบก และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า” ในปี 2495 หลังจากนั้นเมื่อมีการสร้างอาคารใหม่จึงมีการย้ายโรงพยาบาลออกจากหมู่พระที่นั่งและเริ่มบูรณะพระราชวังในปี 2537 จนกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน

พระราชวังพญาไท

02 ท้องพระโรงเดิมและอาคารที่เก่าแก่ที่สุดในหมู่พระราชมณเฑียร

พิกัด: พระที่นั่งเทวราชสภารมย์   

พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ เป็นอาคารที่เก่าแก่ที่สุดในหมู่พระราชมณเฑียรซึ่งแต่เดิมเป็นท้องพระโรงที่รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมื่อครั้งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีประทับอยู่ ณ พระราชวังพญาไท โดยยังปรากฎอักษรพระนามาภิไธย “สผ” (พระนามเดิม สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี) ประดับอยู่บนอาคารพร้อมกับพระบรมสาทิสลักษณ์

การแสดงแสง สี เสียง ภายในพระที่นั่งชั้นเดียวองค์นี้เปิดให้เข้าชมฟรี เพื่อเน้นย้ำความงดงามของสถาปัตยกรรมและการประดับตกแต่งของพระที่นั่งในสไตล์ศิลปะแบบไบเชนไทม์ (Byzantine) และมัวร์ (Moorish) โดย มาริโอ ตามาญโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกชาวอิตาลีผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบอาคารสำคัญของไทย เช่น วังบางขุนพรหม พระที่นั่งอนันตสมาคม และ พระที่นั่งอัมพรสถาน รูปแบบของพระที่นั่งเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและประตูมีกระจกรอบด้านสามารถเปิดออกให้เป็นห้องโล่งได้โดยมีโดมอยู่ตรงกลางรับด้วยหลังคาโค้งประทุนทั้ง 4 ด้าน บนผนังมีจิตรกรรมรูปคนและลายพรรณพฤกษา

พระราชวังพญาไท

03 พระอัจริยภาพด้านวรรณกรรมของรัชกาลที่ 6

พิกัด: ห้องธารกำนัล พระที่นั่งพิมานจักรี

ห้องธารกำนัล อยู่ตรงกลางของพระที่นั่งพิมานจักรีใช้สำหรับเป็นที่เสด็จออกให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ภายในตกแต่งแบบศิลปะบารอก-โรโคโค (Baroque-Rococo) และมีเตาผิงซึ่งด้านบนประดิษฐานพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 6

โต๊ะไม้สักยาวตรงกลางของห้องถูกคลุมด้วยผ้าสีขาวเพื่อเป็นฉากสำหรับการฉาย Projection Mapping เพื่อแสดงพระอัจฉริยภาพด้านวรรณกรรมด้วยการยกวรรคทองจากบทพระราชนิพนธ์และบทละครที่ทรงแปลของรัชกาลที่ 6 ได้แก่เรื่อง วิวาหพระสมุท โคลงภาษิตนักรบโบราณ โคลงสยามานุสสติ โรเมโอและจูเลียต และ เวนิสวานิช  ตัวอย่างของวรรคทองดังเช่น

“ชนใดไม่มีดนตรีกาล   ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก

อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ   เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์” (จาก เวนิสวานิช)

—-

“หากสยามยังอยู่ยั้ง   ยืนยง

เราก็เหมือนอยู่คง   ชีพด้วย

หากสยามพินาศลง   ไทยอยู่ ได้ฤๅ

เราก็เหมือนมอดม้วย   หมดสิ้นสกุลไทยฯ(จาก โคลงสยามานุสสติ)

04 มัทนะพาธา: ตำนานดอกกุหลาบที่ถูกสาปกับความรักมั่นคง

พิกัด: สวนโรมัน

มัทนะพาธา เป็นหนึ่งในพระราชนิพนธ์ที่แสดงพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 6 ด้านวรรณคดีในการประพันธ์บทละครพูดประเภทคำฉันท์ที่แต่งด้วยฉันท์และกาพย์ชนิดต่างๆ ซึ่งนับเป็นสิ่งแปลกใหม่และท้าทายความสามารถมากในขณะนั้น รัชกาลที่ 6 ทรงประพันธ์เรื่องนี้ขณะประทับอยู่ที่ พระราชวังพญาไท โดยเป็นโศกนาฏกรรมความรักระหว่าง สุเทษณ์เทพบุตร นางมัทนา และ ท้าวชัยเสน ฝ่ายสุเทษณ์นั้นมีใจยึดมั่นแต่นางมัทนาตั้งแต่อดีตชาติในขณะที่นางกลับมีใจรักมั่นกับท้าวชัยเสนทำให้สุเทษณ์กริ้วจนสาปนางเป็นดอกกุหลาบ

พระราชวังพญาไท

บริเวณสวนโรมันซึ่งอยู่ด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรีจึงประดับตกแต่งด้วยดอกกุหลาบทำจากผ้าจำนวน 2,466 ดอกซึ่งหมายถึง พ.ศ.2466 ที่รัชกาลที่ 6 ทรงประพันธ์เรื่องนี้เสร็จสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังมี Projection Mapping บนมุขหลังพระที่นั่งพิมานจักรีประกอบการร่ายรำของนางรำในธีมเรื่อง มัทนะพาธา โดยจะมีการแสดงวันละ 5 รอบในเวลา 19.00 น., 19.30 น., 20.00 น., 20.30 น., และ 21.00 น.

สวนโรมันเป็นสถาปัตยกรรมแบบโรมันมีศาลายอดโดมและเสาลักษณะแบบคอร์เตียน ขนาบทั้งสองข้างด้วยศาลาทรงสี่เหลี่ยมโปร่งไม่มีหลังคา  มีบันไดทางขึ้นเป็นหินอ่อนประดับด้วยตุ๊กตาหินอ่อนแบบอิตาลีที่เชิงบันไดทั้งสองข้าง ด้านหน้าโดมมีอ่างบัวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายโค้งเป็นวงรี กลางสระบัวมีประติมากรรมสัมฤทธิ์รูปพระวรุณ เทพแห่งฝน ประดิษฐานบนฐานศิลาและมีมังกรพ่นน้ำทำด้วยทองแดงอยู่โดยรอบซึ่งเป็นผลงานประติมากรรมโดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (นามเดิม คอร์ราโด เฟโรจี) ปั้นหล่อที่อิตาลีก่อนที่จะได้รับการว่าจ้างจากราชสำนักสยามให้มารับราชการในตำแหน่งช่างปั้นในสมัยรัชกาลที่ 6

05 Lighting สวนดอกบัวและทุ่งกุหลาบขาวบนพื้นที่อดีตเมืองจำลองดุสิตธานี

พิกัด: ถัดจากสวนโรมัน ด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรี

บริเวณพื้นที่ถัดจากสวนโรมัน ด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรี เคยเป็นที่ตั้งของเมืองจำลอง ดุสิตธานี ที่รัชกาลที่ 6 ริเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 2461 ภายในพระราขวังดุสิตเพื่อเป็นแบบทดลองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ต่อมาในปี 2462 ได้ย้ายมาอยู่ที่พระราชวังพญาไทเนื่องจากเนื้อที่กว้างขวาง สิ่งก่อสร้างจำลองต่าง ๆ ในดุสิตธานีมีขนาดสูงประมาณ 2-3 ฟุต และประกอบด้วยอาคารขนาดย่อมออกแบบอย่างสมจริงจำนวนหลายร้อยหลังคาเรือน อาทิ สถานที่ราชการ บ้านเรือนราษฎร พระราชวัง ศาสนสถาน ร้านค้า โรงพยาบาล ตลาด โรงแรม ธนาคาร สถานประกอบธุรกิจต่าง ๆ โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานครบถ้วน ภายหลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 6 ในปี 2468 เมืองจำลองดุสิตธานีจึงปิดฉากลง บริเวณนี้จัดแสดง Lighting Installation เป็นรูปดอกบัวและดอกกุหลาบพร้อมกับฉากด้านหลังเป็น Glass Screen ฉายวรรคทองจากบทพระราชนิพนธ์เรื่อง มัทนะพาธา เช่น

“ความรักเหมือนโรคา   บันดาลตาให้มืดมน

ไม่ยินและไม่ยล   อุปสรรคใดใด

ความรักเหมือนโคถึก   กำลังคึกผิขังไว้

ก็โลดจากคอกไป   บ ยอมอยู่ ณ ที่ขัง”

พระราชวังพญาไท

06 เส้นทางสักการะพระนาคปรกและท้าวหิรันยพนาสูร

พิกัด: วิหารพระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช และ ศาลท้าวหิรันยพนาสูร

เส้นทางสู่ท้าย พระราชวังพญาไทจัดแสดง Lighting ดอกบัวและไฟย้อมสีต้นไม้เพื่อนำไปสู่การสักการะพระนาคปรกนามว่า “พระมหานาคชินะวร วรานุสรณ์มงกุฎราช” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำพระราชวังพญาไทที่สร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลอุทิศแด่รัชกาลที่ 6 ตามความดำริของพลตรี ปัญญา อยู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเเพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้าในสมัยนั้นด้วยเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาและมีพิธีมหาพุทธาภิเษกในปี 2533

พระพุทธรูปองค์นี้จำลองแบบมาจากพระมหานาคชินะ ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงสร้างไว้เมื่อครั้งทรงผนวช ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีลักษณะเด่นคือ นั่งขัดสมาธิราบ มีพญานาคแผ่พังพาน 7 เศียร ตามพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุติสุขภายหลังตรัสรู้ และเกิดเหตุการณ์ฝนตกผิดฤดูกาลตลอด 7 วันจนทำให้ พญานาคชื่อมุจลินท์ มาวงด้วยขนดรอบพระพุทธเจ้าและแผ่พังพานเพื่อป้องกันฝนและลมหนาว

ท้าวหิรันยพนาสูร

สำหรับ ท้าวหิรันยพนาสูร เชื่อกันว่าเป็นอสูรผู้มีสัมมาทิฏฐิและสัมมาปฏิบัติคอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวงให้กับขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 6 ขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารเมื่อเสด็จประพาสมณฑลพายัพ

เมื่อขึ้นครองราชย์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อรูปหิรันยอสูรด้วยทองสัมฤทธิ์ และทรงพระราชทานนามใหม่ว่า ท้าวหิรันยพนาสูร (สะกดตามลายพระราชหัตถเลขา) มีชฎาเทริดอย่างไทยโบราณ เเละไม้เท้าเป็นเครื่องประดับยศ สำหรับท้าวหิรันยพนาสูรที่พระราชวังพญาไทสร้างเมื่อปี 2465 เพื่อเป็นเทพารักษ์ปกป้องคุ้มครองข้าราชบริพารในพระราชวัง

Fact File

  • งาน “101 ปี พระราชวังพญาไท: THE GLORY OF SIAM” จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์-16 มีนาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 18.00- 21.30 น. ณ พระราชวังพญาไท (ภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) ถนนราชวิถี กรุงเทพฯ
  • บัตรราคา 200 บาทสำหรับผู้ใหญ่ และ 100 บาทสำหรับเด็ก (6-12 ปี) สามารถซื้อได้ที่หน้างาน หรือจองออนไลน์ผ่าน 3 ช่องทางคือ ZIP EVENT, KK DAY และ  AGODA
  • รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก https://www.facebook.com/101wangphyathai
  • สำหรับการชมพระราชวังพญาไทปกติเปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์และวันอาทิตย์ แบ่งการนำชมเป็น 2 รอบคือเวลา 9.30 น. และ 13.30 น. มีค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 40 บาท ผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 20 บาท เด็ก (10-14 ปี) 10 บาท และสำหรับพระสงฆ์ นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ ไม่เสียค่าเข้าชม
  • สามารถชมพระราชวังออนไลน์แบบ 360 องศาได้ที่ https://360.phyathaipalace.org/tour/phya-thai-palace

อ้างอิง:

หนังสือ “พระราชวังพญาไท” โดย ดร.พงษ์ศรี เลขะวัฒนะ (ผู้เรียบเรียงและผู้แปล) และจัดพิมพ์โดย ชมรมคนรักวัง (พิมพ์ครั้งที่สองเมื่อตุลาคม พ.ศ. 2548)


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
จากประสบการณ์การถ่ายภาพสารคดีได้บอกเล่าเรื่องราวมากมายผ่านภาพถ่าย ให้ความรู้ความเข้าใจในสังคม มีความสุขที่ได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์กับสังคมอย่างต่อเนื่องกว่าสามสิบปี และยังคงสร้างผลงานต่อไปในฐานะที่เป็นสื่อมวลชน "ฟันเฟืองตัวเล็กๆในสังคม"