จอยลดา นิยายแชตทุบสถิตินักอ่านวันละ 1 ล้านคน รายได้ (บางคน) เดือนละหลายแสน
Lite

จอยลดา นิยายแชตทุบสถิตินักอ่านวันละ 1 ล้านคน รายได้ (บางคน) เดือนละหลายแสน

Focus
  • จอยลดา เป็นแอปพลิเคชันนิยายแชตเจ้าแรกในเมืองไทยที่ล่าสุดได้ทำสถิติมีคนเข้าอ่านสูงสุดถึงวันละ 1 ล้านคนและมีนิยายมากกว่า 1 ล้านเรื่องให้เลือกอ่าน
  • นิยายแชต คือ การออกแบบให้นิยายดำเนินเรื่องแบบใหม่ ไม่ใช่หนังสือ แต่ผ่านการแชตของตัวละครแต่ละตัวเพื่อให้สอดคล้องกับวิธีการสื่อสารจริงของคนในปัจจุบัน
  • โมเดลธุรกิจคือให้เนื้อหาถูกสร้างโดยผู้ใช้งานเองและนักเขียน ซึ่งส่วนใหญ่โพสต์ให้อ่านฟรี แต่สามารถสร้างรายได้ นักเขียนนิยายแชตบางคนทำรายได้ถึงเดือนละหลายแสนบาท

1 ล้านคนต่อวันคือจำนวนคนเข้าอ่านนิยายแชตออนไลน์ในแอปพลิเคชันชื่อ จอยลดา (Joylada) ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มวัยรุ่น หากสถิตินี้ยังน่าตกใจไม่พอขอเพิ่มอีกนิดว่าในแต่ละวันจอยลดามีนิยายมากกว่า 1 ล้านเรื่องให้เลือกอ่านและมีตอนใหม่ๆ อัปเพิ่มขึ้นตกวันละ 1 หมื่นตอน ไม่นับรวมคนกดอ่านอีกวันละ 3,000,000,000 จอย (ใช่…คุณอ่านไม่ผิดตัวเลขคือ 3 พันล้าน) โดย 1 จอยนับจาก 1 ข้อความ หรือ bubble ในบทสนทนาแบบแชต

การสื่อสารแบบแชตถูกนำมาสร้างเป็นรูปแบบใหม่ในการเล่าเรื่องของนิยาย

ความฮิตนี้พิสูจน์ได้จริงจากตัวเลขที่ปรากฏในโลกออนไลน์ นิยายเรื่องไหนได้รับความนิยมถึงขั้นติดเทรนด์ Twitter หรือเมื่อไรระบบแอปฯ มีปัญหาเมื่อนั้นแฮชแท็ก #จอยล่ม จะติดเทรนด์เสมอ

นิยายแชตคืออะไร?

สำหรับคนที่ไม่ได้ติดตามมาก่อน นิยายแชต คือการสร้างรูปแบบใหม่ของนิยายผ่านการสื่อสารแบบแชตของตัวละคร แทนการบรรยายหรือพรรณนาโวหารด้วยถ้อยคำสละสลวยแบบนิยายที่หลายคนคุ้นเคย และจอยลดาคือแอปฯ นิยายแชตเจ้าแรกในประเทศไทยของ ค่ายอุ๊กบี (Ookbee)

“จอยลดาเป็น UGC (User Generated Content) คือเนื้อหาที่สร้างโดยผู้ใช้งาน เหมือนกับเราเล่น Instagram หรือ Facebook สิ่งที่เราทำคือเราโฟกัสเรื่องเทคโนโลยี โดยเราทำในเรื่องที่คนชอบและสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คน ถ้าเขาไม่ชอบเขาจะเขียนขึ้นมาทำไมเพราะแค่จะให้อ่านก็ยังยาก ถ้าเขายอมเสียเวลานั่งเขียนแสดงว่าชอบมาก และเราก็เสิร์ฟเรื่องที่เขาชอบกลับไปให้ เทคโนโลยีต้องเข้าไปทำเรื่องเหล่านี้ คือทำยังไงให้เจอว่าเขาชอบอะไรและให้เขาชอบมากจนสร้างเนื้อหาขึ้นมาเองได้ นี่คือหัวใจสำคัญ” ณัฐวุฒิ (หมู) พึงเจริญวงศ์ ซีอีโอ (Chief Executive Officer) ของค่ายอุ๊กบี กล่าวถึงที่มาของการสร้างแพลตฟอร์มนิยายในรูปแบบหน้าต่างแชต

ณัฐวุฒิ (หมู) พึงเจริญวงศ์ ซีอีโอของค่ายอุ๊กบี ผู้จุดกระแสนิยายแชตออนไลน์

จอยลดาเปิดตัวเมื่อ 2 ปีที่แล้วและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีนักอ่านที่ลงทะเบียนในแอปฯ 5 ล้านคน และนักเขียน 5 แสนกว่าคน นิยายที่ได้รับจอยสูงสุดคือเรื่อง “ดอกไม้ราตรี” ได้ไป 7 พันล้านจอย และทางบริษัทฯ กำลังต่อยอดทำเป็นทีวีซีรีย์จะฉายภายในปีนี้ และนอกจากค่าย Ookbee แล้วปัจจุบันยังมีค่าย Meb ที่ออกแอปฯ นิยายแชตชื่อ readawrite มาแชร์ส่วนแบ่งตลาดตรงนี้

แม้จะเป็นนิยายออนไลน์ แต่ จอยลดา สร้างโลกเสมือนจริง

นอกจากรูปแบบของนิยายที่ดำเนินเรื่องผ่านการแชตตามวิธีการสื่อสารจริงที่คนนิยมในปัจจุบัน ในนิยายยังสามารถแนบรูปถ่ายในแชตเหมือนเราส่งรูปไปให้เพื่อนในห้องแชตจริงและคนอ่านสามารถกดเข้าไปดูรูปได้ อีกทั้งยังมีฟีเจอร์อย่าง virtual IG, Twitter และ Facebook คือหากตัวละครโพสต์ในโซเชียลมีเดียเหล่านี้ คนอ่านก็เข้าไปกด like ได้เสมือนมีส่วนร่วมจริง หรือถ้าแชตในนิยายมีการแนบลิงก์เพลงใน YouTube ก็สามารถกดเข้าไปและลิงก์ไปที่เพลงใน YouTube จริงได้ด้วย

ฟีเจอร์ virtual social media ในนิยายแชตช่วยสร้างโลกเสมือนจริงให้คนอ่าน

“เรามี Ookbee เป็นแพลตฟอร์มสำหรับ ebook และแอปฯ ชื่อ ‘ธัญวลัย’ สำหรับนิยายทั่วไปอยู่แล้ว แต่ถ้าอยากเพิ่มจำนวนคนอ่านและให้คนรุ่นใหม่เขียนเยอะก็ต้องทำให้เขียนง่าย ลองคิดดูว่าเป็นตัวเราถ้าจะเขียนหนังสือวันละ 4 หรือ 5 หน้า เราก็ไม่มีเวลาหรือยากไป ถ้าจุดประสงค์คือการเล่าเรื่อง และการเล่าเรื่องในยุคปัจจุบันไม่จำกัดต้องอยู่ในรูปแบบของการบรรยายผ่านตัวอักษรอย่างเดียว คนสมัยนี้เล่าเรื่องโดยการแชตและใช้มือถือถ่ายรูปและส่งให้เพื่อนในห้อง Line และทุกคนเข้าใจตรงกันว่าเรื่องที่เราจะเล่าคือะไร อะไรง่ายๆ เราก็พิมพ์คุยกัน แต่ถ้าอยากให้เห็นภาพชัดก็ใช้รูปแทนหรือถ่ายวิดีโอ ถ้าเด็กอยู่กับสมาร์ตโฟนและเราสร้างสภาพแวดล้อมของนิยายเหมือนเขาอยู่กับชีวิตจริงก็จะง่ายกว่า การเล่าเรื่องจึงถูกออกแบบมาสำหรับคนรุ่นใหม่”

นอกจากฟีเจอร์ virtual social media ในนิยายแชตที่สร้างความเสมือนจริงแล้ว หมูคิดว่าต่อไปอาจจะเพิ่มฟีเจอร์เรื่องเสียงหรือมี video แบบ IG Story หรือพูดคุยกับตัวละครได้เหมือน Chatbot หรือการเล่าเรื่องที่มีตอนจบหลายแบบที่คนอ่านเลือกได้ว่าอยากให้จบแบบไหน

อีกจุดขายคือการต่อยอดมโนให้เหล่า “ชิปเปอร์”

กลุ่มคนอ่านจอยลดาอยู่ในช่วงอายุ 13-25 ปี และ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง ถึงแม้นิยายจะมีหลายหมวดหมู่ เช่น สืบสวน สยองขวัญ ฆาตกรรม แฟนตาซี ดรามา ชายรักชาย หรือ หญิงรักหญิง แต่แนวที่มาแรงสุดคือแนว แฟนฟิก (fan fiction) เกี่ยวกับไอดอลเกาหลีตามกระแส k-pop โดยคนเขียนจะนำดารานักร้องเกาหลีมาเป็นตัวละครในเรื่องและใช้รูปไอดอลเหล่านี้สร้างเป็นรูปดิสเพลย์ใน Line, Facebook, IG และ Twitter ของตัวละครในแชตเพราะคนอ่านจินตนาการได้ทันทีว่าตัวละครตัวนี้หน้าตาท่าทางเป็นอย่างไร ไม่ต้องบรรยายลักษณะตัวละครมาก

นิยายที่ฮิตสุดคือเรื่องเกี่ยวกับคู่ชิปไอดอล k-pop

เนื้อหานิยายแชตก็ช่วยต่อยอดจินตนาการ หรือ มโนของกลุ่มแฟนคลับที่เรียกตัวเองว่า ชิปเปอร์ (shipper) หรือชาวเรือที่ชอบจับคู่ไอดอลโดยเฉพาะชายกับชายให้เป็นคู่ชิปหรือคู่จิ้น เมื่อมีนิยายเกี่ยวกับคู่ชิปทำให้กลุ่มแฟนคลับนำไปพูดต่อใน Twitter ช่วยให้แอปฯ เป็นที่รู้จักมากขึ้นและเร็วขึ้น

หมูให้ความเห็นว่า “นิยายวาย (ชายรักชาย) มีค่อนข้างเยอะเพราะคนอ่านส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง กระแสคู่ชิปไม่ได้เป็นแค่ในเมืองไทยแต่เป็นทั่วโลก ในนิยายแชตต้องมีการใช้รูปและเมื่อต้องใช้รูปเด็กๆก็จะคิดถึงไอดอล k-pop ก่อนเลย เมื่อก่อนเป็นตัวหนังสือในเล่มคนอ่านก็จินตนาการเอาแต่ในหัวที่คนเราจินตนาการส่วนใหญ่ก็คงจะเป็นคนในวงการดารานักร้องที่เราชอบเหมือนกัน” 

จอยลดามีนิยายมากกว่า 1 ล้านเรื่องให้เลือกอ่าน

อัญชิษฐาพร ศิลปพิบูลย์ นักอ่านวัย 15 ปีกล่าวว่าเธอเป็นแฟนคลับวงเกาหลี NCT โดยเฉพาะมีคู่ชิปสองคู่คือจอห์นนีกับแจฮยอน และลูคัสกับมาร์กทำให้เธอชอบอ่านนิยายแชตประเภทแฟนฟิกที่มีไอดอลเหล่านี้เป็นตัวละคร

“เราชิปคู่นี้อยู่แล้วเวลาเห็นเขาอยู่ด้วยกันก็มีความสุข อยากให้เขาเป็นแฟนกันซึ่งในความเป็นจริงเป็นไปไม่ได้ แต่แฟนฟิกเหมือนมาช่วยนิยายเติมเต็มจินตนาการของเรา นิยายแชตอ่านแล้วสนุกและมีหลากหลายเหมือนเราอยู่ร่วมในห้องแชตของตัวละคร นอกจากนิยายแชตก็ชอบอ่านในเว็บไซต์ dek-d ด้วย”

สร้างรายได้ให้นักเขียนเป็นกอบเป็นกำได้

โมเดลธุรกิจของ จอยลดา คือสร้างรายได้ให้นักเขียนเพื่อเชื้อเชิญให้ผู้ใช้แอปฯ มาร่วมสร้างเนื้อหามากขึ้น รายได้บางส่วนมาจากค่าโฆษณาที่แทรกขึ้นมาระหว่างอ่านหรือถ้าคนอ่านไม่อยากให้มีโฆษณาคั่นก็จ่ายเงินปิดโฆษณาได้โดยจ่าย 1 บาทเพื่อปิดโฆษณาระหว่างใช้งาน 1 ชั่วโมง หรือ 3 บาทต่อ 1 วัน หรือ 35 บาทต่อเดือน นอกจากนี้นิยายยอดนิยมบางเรื่องอาจให้คนจ่ายเงินเพื่ออ่านตอนต่อไปในราคาตอนละ 3-5 บาทโดยการซื้อเหรียญ (1 บาทเท่ากับ 100 เหรียญ)

“ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ให้อ่านฟรีและคนเขียนได้รายได้จากค่าโฆษณา ยิ่งถ้าได้จอยเยอะก็จะได้เงินมากขึ้นเพราะเราเอาค่าโฆษณาหารด้วยจำนวนจอย แต่รายได้ตรงนี้ไม่ฟิก เพราะเราหารให้ทุกคนที่ได้จอยในแต่ละวันและจำนวนจอยแต่ละวันไม่เท่ากัน บางวันจอยทั้งหมดมีจำนวนเยอะคุณก็จะมีตัวหารมากขึ้น เราตัดเงินให้วันต่อวัน”

ทีมงานของจอยลดาที่ต้องดูแลไม่ให้ระบบล่มจนต้องขึ้นเทรนด์ Twitter

หมูกล่าวว่าคนอ่านจอยลดาส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นเพราะฉะนั้นน้อยเรื่องที่จะมีการขายเหรียญ ไม่เหมือนกับแอปฯ นิยายธัญวลัยที่คนอ่านส่วนมากเป็นผู้ใหญ่และยินดีจ่ายเงิน บางเรื่องใน ธัญวลัย นักเขียนมีรายได้เดือนละหลายแสนบาท 

ใน ธัญวลัย นิยายอันดับ 1 ประจำเดือนตุลาคม (2562) ขายได้ 94,000,000 เหรียญ หรือ 940,000 บาท แต่ถ้านับที่นักเขียนคนนี้เขียนเรื่องต่างๆ มาตลอด 2 ปี เขาขายเหรียญไปได้เป็นเงินกว่า 32 ล้านบาท แต่รายได้จากการขายเหรียญเราแบ่งกันคนละครึ่ง เมื่อก่อนไม่มีนักเขียนนิยายที่รายได้เยอะอย่างนี้ ปัจจุบันคนอ่านยอมจ่ายสเกลเล็กๆ ได้คือจ่ายตอนละ 3-5 บาท และถ้าไม่สนุกเขาก็เปลี่ยนเรื่องได้เลยแทนที่จะซื้อทั้งเล่ม ในจอยลดาเองก็มีบางเรื่องที่ขายเหรียญไปได้ถึง 47 ล้านเหรียญหรือ 470,000 บาท”

นิยายที่ขายเหรียญไปได้ถึง 47 ล้านเหรียญ ที่ว่าคือเรื่อง “อาจารย์หมอคนนั้นเป็นของผม” โดยนักเขียนนามปากกาว่า Julalumpa ที่เรื่องเพิ่งลงเมื่อต้นเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และได้จอยไปถึง 550 ล้านจอย เป็นแฟนฟิกที่ใช้สองนักแสดงชาวจีนคือเซียวจ้านกับหวังอี้ป๋อที่โด่งดังมากจากซีรีส์เรื่อง “ปรมาจารย์ลัทธิมาร” เป็นตัวละครนำ เนื้อเรื่องพูดถึงทั้งด้านมืดและด้านสว่างของวงการสาธารณสุขโดยการบิดเรื่องจากประสบการณ์การทำงานเป็นเภสัชกรอิสระของตัวนักเขียนเอง

“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 2 ที่เขียนหลังจากเรื่องแรกคือ ‘บทรักของนายนักเขียน’ ลงไปเมื่อเดือนกันยายน (2562) และได้รับกระแสตอบรับดีมาก เรื่องแรกเปิดให้อ่านฟรีและได้ไป 1,500 ล้านจอย และได้ส่วนแบ่งรายได้มาประมาณหมื่นกว่าบาท ทำให้เรามีกำลังใจและคิดว่าสามารถทำเป็นอาชีพได้ถ้าเราทุ่มเทอย่างจริงจัง” Julalumpa นักเขียนวัย 31ปี กล่าวและปฏิเสธจะเปิดเผยชื่อจริง

หลายคนบอกให้ Julalumpa ติดเหรียญตั้งแต่เรื่องแรกของเธอเพื่อจะได้มีรายได้บ้าง แต่เพราะเป็นนิยายเรื่องแรกในชีวิตที่เธอแต่ง เธอคิดว่าตัวเองยังเป็นมือใหม่จึงไม่กล้าพอที่จะเก็บเงินจากคนอ่าน

“อยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็ก อยากสร้างโลกตัวเองแบบ ‘Harry Potter’ แบบ ‘The Lord of the Rings’ แต่ไม่เคยแต่งนิยายจบสักเรื่อง จนมาได้อ่านนิยายแชตแบบแฟนฟิกในจอยลดา เราคิดว่าเราน่าจะแต่งได้โดยผสมระหว่างบทบรรยายและบทแชตและสอดแทรกประสบการณ์การทำงานและชีวิตของเราไปด้วยนอกเหนือจากความบันเทิง พอเรื่องที่ 2 เราเลยเริ่มติดเหรียญให้คนอ่านจ่ายเงินเป็นบางตอน เพราะเราทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการเขียน จากเคยทำงานเป็นเภสัชกรอิสระสัปดาห์ละ 3 วันเราก็ลดเหลือแค่สัปดาห์ละ 1 วัน เรามี proof reader คอยตรวจแก้ไขการสะกดคำให้ถูกต้อง เรามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตซึ่งมันก็แฟร์นะ” Julalumpa กล่าว

“เราเลยเริ่มติดเหรียญให้คนอ่านจ่ายเงินเป็นบางตอน เพราะเราทุ่มเทเวลาส่วนใหญ่ให้กับการเขียน … เรามี proof reader คอยตรวจแก้ไขการสะกดคำให้ถูกต้อง เรามีค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตซึ่งมันก็แฟร์นะ” – Julalumpa

อัญชิษฐาพรเป็นหนึ่งในคนอ่านที่เห็นว่าถ้าเรื่องไหนที่คนเขียนเขียนดีและเธอชอบมากๆก็ยินดีซื้อเหรียญ

“อยากเป็นกำลังใจให้คนเขียน ถ้าเลี้ยงข้าวได้ก็จะพาไปเลี้ยงค่ะ” อัญชิษฐาพรย้ำว่าไม่ได้พูดเล่น อยากทำแบบนี้จริงๆ “เคยคิดจะแต่งนิยายแชตเองเหมือนกัน แต่ยังมีปัญหาเรื่องภาษาเขียนกับพล็อตเรื่องเลยไม่เอาดีกว่า ตอนนี้ฟีเจอร์ต่างๆในจอยลดาก็ดีอยู่แล้วแต่อยากให้ลดโฆษณาลงบ้างก็ดี”

หมูกล่าวว่าสำหรับฟีเจอร์ใหม่ที่อาจจะเพิ่มเข้ามาเพื่อเพิ่มรายได้ให้นักเขียนนอกเหนือจากส่วนแบ่งค่าโฆษณาและขายเหรียญคือการบริจาค “นักเขียนหลายคนไม่กล้าขายเหรียญเพราะกลัวคนไม่ซื้อแต่คนอ่านหลายคนก็อยากสนับสนุน เราอยากเพิ่มช่องทางการบริจาคสำหรับคนที่อ่านฟรีแต่อยากให้กำลังใจนักเขียน”

แข่งกับเทคโนโลยีและเวลาที่คนมีจำกัด

หมูกล่าวว่าแพลตฟอร์มและอายุของนิยายแชตยังอยู่ได้ตราบเท่าที่การแชตยังเป็นวิธีการสื่อสารยอดนิยมในสังคม และบริษัท Ookbee ไม่ใช่สำนักพิมพ์ แต่เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีหน้าที่ทำแพลตฟอร์มให้ดีที่สุดเพื่อให้คนเล่าเรื่องเล่าออกมาได้ดีที่สุดและง่ายที่สุด เพราะฉะนั้นคู่แข่งสำหรับเขาคือ “ทุกๆอย่างที่คนส่วนใหญ่ไปใช้เวลาอยู่กับตรงนั้น

หมูกล่าวว่าคู่แข่งสำหรับเขาคือ “ทุกๆ อย่างที่คนส่วนใหญ่ไปใช้เวลาอยู่กับตรงนั้น”

“หากวันหนึ่งมี AR, VR มี Google Glass การเล่าเรื่องก็จะเปลี่ยนไป เราก็ต้องประยุกต์ว่าคนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ตรงไหนนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าคนใช้เวลาอยู่กับตรงไหนมากที่สุดเราต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ตรงนั้น คุณมีเวลากินข้าว เดินทาง ทำงาน เรียนหนังสือ เล่นกีฬาและพอจะมีเวลาว่าง 3-4 ชั่วโมงก่อนนอนคุณมีเรื่องให้ทำได้เป็น 10 อย่าง เราก็จะพยายามไปแบ่งแชร์ตรงนั้น นี่เป็นทิศทางของโลกในอนาคตว่าเมื่อเวลาคนมีจำนวนจำกัดแล้วเราจะได้ส่วนแบ่งเวลานี้ออกมายังไง”

ส่วนนิยายเรื่องไหนได้รับการตอบรับดีจากคนอ่าน บริษัทฯ ก็ซื้อลิขสิทธิ์มาต่อยอดทำเป็นทีวีซีรีส์เป็นการ์ตูน หรือทำเป็นภาคพิเศษและพิมพ์เป็นหนังสือเล่ม 

“เราเพิ่งตั้งบริษัทใหม่ชื่อ Ink Stone ลงทุนไปหลายร้อยล้านบาทเพื่อซื้อลิขสิทธิ์อย่างเดียวส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่อยู่ในแพลตฟอร์มของเราเองเพื่อนำไปพัฒนาต่อ ใน จอยลดา ตอนนี้เราซื้อลิขสิทธิ์ไว้ประมาณ 50-60 เรื่อง”

จริงหรือที่ใครๆ ก็ว่านิยายแชตไม่มีคุณภาพ

แม้จะได้รับความนิยมสูงแต่อีกด้านหนึ่งนิยายแชตก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นงานเขียนไร้คุณภาพ เต็มไปด้วยภาษาวิบัติและการสะกดคำผิดๆ ถูกๆ แม้นักเขียนบางคนจะบอกว่าเขาตั้งใจให้มีการพิมพ์ผิดๆ ถูกๆ บ้างเพราะส่วนใหญ่เป็นภาษาพูด และในโลกความจริงเวลาเราพิมพ์แชตเราก็มีคำย่อคำผิดผสมปนเปกันอยู่แล้ว

“ผมมองว่าถ้าจุดประสงค์คือการเล่าเรื่องให้สนุกแล้วคนรู้เรื่อง เราอาจมองข้ามเรื่องเล็กๆ พวกนี้ไปได้ให้มองใจกว้างๆว่าเป็นการเล่าเรื่องแบบหนึ่ง ในโลกดิจิทัลคนมีตัวเลือกเยอะ มีของฟรีให้อ่านเยอะแต่คุณภาพก็หลากหลาย เหมือนเราเปรียบ YouTube กับหนังฮอลลีวูด คือเข้าไปใน YouTube มีทุกอย่างทั้งมือสมัครเล่นและมือโปร คนมีความสามารถก็อาจจะโด่งดังขึ้นมาเป็นเน็ตไอดอล

แม้นิยายแชตส่วนใหญ่ถูกวิจารณ์ว่าไร้คุณภาพ แต่หมูแย้งว่านี่คือ
การเล่าเรื่องแบบหนึ่งที่สนุกและคนรู้เรื่อง

“ในวงการการเขียนโลกก็พัฒนาไปทางนั้น มีหลายคนถ้าไม่มีช่องทางแบบนี้ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้โดดเด่นจริงๆ เทคโนโลยีเข้ามาทำให้เราเห็นงานหลากหลาย และคนธรรมดาๆก็มีช่องทางเผยแพร่ผลงานตัวเองมากขึ้น” หมูแสดงความเห็น

ในส่วนของนักเขียนอย่าง Julalumpa เธอกล่าวว่าสำหรับตัวเองนั้นการเขียนนิยายแบบแชตให้สมจริงนั้นยากกว่าการเขียนแบบบรรยายเสียอีก 

“สมมุติว่าเราจะแต่งเรื่องที่มี 10 คนคุยกันในกรุ๊ปแชตเราต้องกำหนด character ของแต่ละคนให้ชัดเจน วิธีการพูดเฉพาะตัวของแต่ละคนและให้ทุกคนมี scene ไม่จมหาย เราเองนับถือคนแต่งแชตเก่งๆมาก เพราะนิยายของเรายังผสมระหว่างบทบรรยายและแชตสลับตอนกันไป”

สำหรับข้อถกเถียงในเรื่องคุณค่าทางวรรณกรรมนั้น Julalumpa เห็นว่า “ถ้าหากว่าคุณค่าของวรรณกรรมคือการให้ข้อคิดที่ดีกับคนอ่าน ให้รักครอบครัว รักเพื่อน สร้างแรงบันดาลใจ ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องยึดติดว่างานเขียนควรเป็นรูปแบบไหนหรือลงในแพลตฟอร์มอะไรเลย”

** หมายเหตุ : ข้อมูลตัวเลขทั้งหมดในบทความเป็นข้อมูลในเดือนตุลาคม 2562

Fact File

  • ทดลองอ่านคลิก www.joylada.com หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชันสำหรับทั้ง iOS และ Android

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม