#งดลอยกระทง63 เมื่อวัสดุธรรมชาติและกระทงขนมปังทำร้ายพระแม่คงคา
Lite

#งดลอยกระทง63 เมื่อวัสดุธรรมชาติและกระทงขนมปังทำร้ายพระแม่คงคา

Focus
  • #งดลอยกระทง63 แฮชแท็กติดเทรนด์ทวิตเตอร์ที่ชวนงดลอยกระทงเพื่อลดการสร้างขยะลงแหล่งน้ำ
  • กระทงพืชผักสวนครัว ใช้เวลาในการย่อยสลายอยู่ที่ราว 5 วันถึง 1 เดือน กระทงหยวกกล้วย ใบตองและกะลามะพร้าว มีระยะเวลาย่อยสลายอยู่ที่ราว 14-15 วัน

เทศกาลลอยกระทงวนมาถึงอีกปี ซึ่งกระแสการลอยกระทงปีนี้มาพร้อมกับแฮชแท็กติดเทรนด์ทวิตเตอร์อย่าง #งดลอยกระทง63 ที่ผู้ใช้ต่างออกมาร่วมรณรงค์ช่วยกันลดการสร้างขยะให้กับสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการตั้งคำถามถึงประโยชน์และวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของประเพณีนี้

จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร สถิติปี พ.ศ.2562 พบว่ามีจำนวนการจัดเก็บกระทงหลังงานประเพณีลดลงกว่าปีก่อนหน้า ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ คือ 502,024 ชิ้น โดยแบ่งเป็นกระทงที่ทำจากโฟมร้อยละ 3.7 หรือราว 18,760 ใบ  และกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและวัสดุที่ย่อยสลายได้ จำนวน 483,264 ใบ คิดเป็นร้อยละ 96.3  ซึ่งแม้ในปีที่ผ่านมาจะมีการหันมาใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้เองมากขึ้น แต่กระทงทั้งหมดเมื่อลอยออกไปแล้วก็ยังถือเป็นภาระต่อการคัดแยกและการจัดการ ซึ่งสุดท้ายแล้วโอกาสที่จะกลายเป็นขยะตกค้างในแหล่งน้ำ และเกิดปัญหาขยะทะเลตามมาได้อยู่

#งดลอยกระทง63

การเลือกใช้วัสดุทำกระทงที่เหมาะกับแหล่งน้ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจึงเป็นทางเลือกในการลดภาระและผลเสียต่อธรรมชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่โฟมที่อันตรายเท่านั้น แต่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับวัสดุยอดฮิตอย่าง “กระทงขนมปัง” และ “โคนไอศกรีม” ที่หลายคนตั้งใจให้เป็นอาหารของปลาและสัตว์น้ำ ขอขมาพระแม่คงคาและทำบุญให้อาหารปลาไปในตัว

แต่ทราบไหมว่าหากขนมปังและโคนไอศกรีมเหล่านั้นมีจำนวนที่มากเกินไปจนสัตว์น้ำไม่สามารถกินได้ทั้งหมดจะทำให้น้ำเน่าเสียได้เร็วมาก อีกทั้งการเก็บขึ้นจากแม่น้ำยังยากกว่าวัสดุอื่นๆ เพราะขนมปังถือเป็นวัสดุที่เกิดการยุ่ยและเน่าเสียได้เร็วเมื่อเทียบกับวัสดุอื่น แม้จะมีระยะเวลาการย่อยสลายสั้นอยู่ที่ราว 3 วัน ก็ตาม แต่ท้ายที่สุดแล้วส่งผลเสียต่อแหล่งน้ำได้ง่ายมาก โดยเฉพาะกับแหล่งน้ำที่นิ่ง เพราะส่วนที่ย่อยละลายในน้ำจะกลายเป็นอาหารของจุลินทรีย์ทำให้เกิดการใช้ออกซิเจน และเมื่อออกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอ จะส่งผลกระทบทำให้น้ำเน่าเสียตามมาทันที

ด้านกระทงหยวกกล้วย ใบตองและกะลามะพร้าว วัสดุยอดนิยมตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันมีระยะเวลาย่อยสลายอยู่ที่ราว 14-15 วัน ซึ่งถือว่ายังสามารถจัดเก็บและจัดการกับขยะประเภทนี้ได้ง่าย แต่ข้อแนะนำคือควรใช้วัสดุจากธรรมชาติทั้งหมด ลดของตกแต่งที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ยังควรใช้วัสดุตกแต่งในประเภทเดียวกันเพื่อความสะดวกต่อการคัดแยกชิ้นส่วนของกระทงเพื่อจัดการขยะต่อไป 

#งดลอยกระทง63

สำหรับกระทงพืชผักสวนครัวนั้นต่างจากใบตองเล็กน้อย เพราะใช้เวลาในการย่อยสลายอยู่ที่ราว 5 วันถึง 1 เดือน ซึ่งจริงๆ แล้วพืชผักสวนครัวก็มีส่วนทำให้น้ำเน่าเสียได้เช่นกัน หากปล่อยให้ย่อยสลายในน้ำเองโดยไม่มีการเก็บ ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของกะหล่ำปลี จากงานวิจัยหนึ่งที่ได้คำนวนจากค่าบีโอดีและซีโอดี ซึ่งแสดงคุณภาพความเน่าเสียของน้ำและปริมาณความต้องการออกซิเจนของสารอินทรีย์ พบว่า กะหล่ำปลี 500 กรัมสำหรับใช้ทำกระทงหนึ่งใบ ทิ้งความสกปรกเทียบเท่ากับปริมาณน้ำเสียที่ปล่อยจากครัวเรือนด้วยจำนวนคน 2.7 คนต่อวันเลยทีเดียว

อีกหนึ่งทางเลือกที่ถือว่ามาแรงคือ “กระทงน้ำแข็ง” ซึ่งก็เกิดการถกเถียงว่าจะทำให้อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนจนเกิดผลเสียหรือไม่นั้น ในเรื่องนี้ อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิชาการและอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อไว้ว่า เรื่องอุณหภูมิไม่ถือว่าน่าห่วง เพราะหากเทียบปริมาตรของน้ำแข็งกับแหล่งน้ำแล้วถือว่าส่งผลต่อการเปลี่ยนอุณหภูมิของแหล่งน้ำได้น้อย แต่ส่วนที่น่าห่วงมากกว่าคือปริมาณของสิ่งตกแต่งหรือสารแปลกปลอมที่เติมลงไป และยังเน้นย้ำอีกด้วยว่า ไม่ว่ากระทงประเภทไหนก็มีส่วนก่อให้เกิดขยะในน้ำได้ หากลอยในที่ที่ไม่ได้รับการจัดการขยะต่อหลังงานจบ ดังนั้นจึงควรลอยในสถานที่จัดงานมากกว่าแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป

#งดลอยกระทง63
#งดลอยกระทง63

การงดการลอยกระทง #งดลอยกระทง63 ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะงดสานต่อประเพณีวัฒนธรรมเสียทีเดียว ไอเดียที่น่าสนใจที่มาพร้อม #งดลอยกระทง63 ได้แก่ กิจกรรมลอยกระทงออนไลน์ อีกหนึ่งทางเลือกที่เข้ากับยุคสมัย และความ New Normal ที่เราก็ควรจะต้องรักษาระยะห่างระหว่างกันอยู่ ซึ่งหลายแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ต่างๆ ก็ได้มีการจัดกิจกรรมลอยกระทงออนไลน์ออกมาเป็นประจำทุกปี เช่นเว็บไซต์ Sanook และ MThai นอกจากนั้นในปีนี้การลอยกระทง AR ผ่านฟีลเตอร์สตอรีในแอพลิเคชันอินสตาแกรมถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่มาแรงและเข้าถึงง่าย เช่นฟีลเตอร์ ลอยกระทงไม่ลอยขยะ ของผู้ใช้ @apxxaris_ หรือฟีลเตอร์ ลอยกระทงออนไลน์ โดยผู้ใช้ @catwichayapron ที่ไม่ว่าตัวจะอยู่ที่ไหนก็สามารถลอยได้ผ่านหน้าจอ ซึ่งเราสามารถค้นหาฟีลเตอร์ที่เกี่ยวข้องจากผู้ใช้คนอื่นๆ ได้ในแกลอรีเอ็ฟเฟ็กต์ของอินสตาแกรม

อ้างอิง


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ