Space Sweepers เมื่อชนชั้นขยะอวกาศขอเลือกที่จะปลดแอก
Lite

Space Sweepers เมื่อชนชั้นขยะอวกาศขอเลือกที่จะปลดแอก

Focus
  • ผลงานกำกับของโจซองฮี เจ้าของผลงานอันเป็นที่รู้จักอย่าง A Werewolf Boy (2012) และภาพยนตร์สั้น Don’t Step out of the House (2009)
  • Space Sweepers เล่าเรื่องอนาคตเมื่อสิ่งแวดล้อมดาวโลกไม่เหมาะสมกับการอาศัยของมนุษย์อีกต่อไปจึงทำให้มีกลุ่มนักลงทุนสร้างโครงการจัดตั้งดาวอังคารเป็นที่อยู่อาศัยและเป็นความหวังใหม่ของมนุษยชาติ
  • Space Sweepers ถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์ไซไฟอวกาศเรื่องแรกของเกาหลีใต้

Space Sweepers ภาพยนตร์ไซไฟผจญภัยจากฝั่งเกาหลีโดย Netflix ที่ครั้งนี้ได้ผู้กำกับ โจซองฮี (Sung-hee Jo) เจ้าของผลงานอันเป็นที่รู้จักอย่าง A Werewolf Boy (2012) และภาพยนตร์สั้น Don’t Step out of the House (2009) ที่ส่งให้ชื่อของเขาได้ติดลิสต์ในการเข้าชิงรางวัล Cinéfondation Award จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ด้วยฝีไม้ลายมือที่ผ่านมาทำให้ภาพยนตร์ Space Sweepers จึงเต็มไปด้วยวิสัยทัศน์และการออกแบบที่เป็นการยกระดับการกำกับไปอีกขั้นด้วยการทำภาพยนตร์ไซไฟที่ต้องจำลองโลกและออกแบบสรรพสิ่งขึ้นใหม่ด้วยจินตนาการ

โลกทั้งใบเพื่อนาย (ทุน) คนเดียว

Space Sweepers เล่าเรื่องในอนาคตของมนุษย์ที่สิ่งแวดล้อมดาวโลกไม่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของมนุษย์อีกต่อไปจึงทำให้มีกลุ่มนักลงทุนสร้างโครงการจัดตั้ง ดาวอังคาร เป็นที่อยู่อาศัยโดยฟื้นฟูเอาธรรมชาติของดาวโลกไปปลูกสร้างที่ดาวอังคารให้พร้อมกับการเข้าพักอาศัยของชนชั้นนายทุนผู้มั่งมี และเหล่ายามอวกาศ ผู้เป็นชนชั้นรองลงมา ส่วนเหล่าแรงงาน บุคคลทั่วไปต้องเป็นบุคคลที่ได้รับเลือกเท่านั้น จะสามารถย้ายไปอยู่ได้ก็ด้วยการเป็นหนี้สินมากมายจากระบบที่ต้องใช้เงินดำเนินการทุกอย่างแม้กระทั่งการแจ้งความหาคนหายในระบบวงโคจรก็ต้องใช้เงินมหาศาลจึงจะได้รับการตามหา ทำให้มีผู้ตกหล่นเสมือนเป็น “เศษขยะ” อวกาศจำนวนมาก จะเลือกอยู่บนโลกก็มีแต่มลพิษที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา หรือจะเลือกไปอวกาศก็ต้องทำงานหาเช้ากินค่ำพร้อมกับจ่ายเงินตอบแทนเหล่านายทุนผู้คิดค้นเทคโนโลยีชนิดที่ต่อให้ทำงานได้ก็ต้องจ่ายไปเรื่อยๆ และกลายเป็นหนี้สินติดตัวตลอดชีวิต

จากการสร้างฉากหลังจักรวาลของความเหลื่อมล้ำระหว่างอภิสิทธิ์ชนนายทุน เศรษฐีในฐานะผู้เป็นเจ้าของที่บนดาวอังคารอาณานิคมใหม่ของมนุษย์โลกที่มีธรรมชาติต้นไม้ลำธารสมบูรณ์พร้อมด้วยอากาศบริสุทธิ์ให้ได้หายใจ แยกขาดกับคนอื่นๆทั่วไปที่อยู่ในฐานะแรงงานที่มีชีวิตเหมือนขยะถูกกีดกันและทิ้งขว้างล่องลอยในจักรวาลนอกสายตาของเหล่าชนชั้นอภิสิทธิ์ชน เป็นอุปมาที่ทำให้เข้าใจถึงเงื่อนไขของสังคมเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดีจากการแบ่งแยกชนชั้นที่ชัดเจนมากในเรื่อง ซึ่งมักจะย้ำว่าความเหลื่อมล้ำระดับสูงมักมากับเงื่อนไขที่ว่า หากคนนั้นอยู่ในวรรณะใดแทบจะไม่มีทางย้ายวรรณะได้ การที่สังคมใดสามารถเห็นและแบ่งทรัพยากรอย่างไม่เท่าเทียมจนคนกลุ่มหนึ่งมีทุกอย่างในชีวิตและอีกกลุ่มไม่มีแม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่า ชีวิต ในความหมายถึงความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานที่ไม่สามารถเข้าถึงได้แม้กระทั่งทรัพยากรอาหารและอากาศหายใจเป็นของตนเอง

ในช่วงต้นเรื่องกลุ่มตัวละครเองในยานที่ชื่อว่า Victory ได้ประกอบอาชีพเก็บขยะอวกาศเพื่อป้องกันไม่ให้เหล่าขยะที่ล้นอวกาศเหล่านั้นพุ่งชนสถานีอวกาศ แต่แล้วไม่ว่าเขาจะพยายามอย่างไรแม้แต่รองเท้าคู่หนึ่งของตัวละครนักขับยานอย่าง แทโฮ (รับบทโดย ซงจุงกิ) ก็ยังต้องสละรองเท้าที่ไว้เหยียบคันเร่งยานให้แก่เจ้าหนี้ ฉากที่กล่าวถึงปรากฏช่วงต้นของเรื่องและแสดงให้เห็นถึงปมปัญหาหลักที่ทุนนิยมนำพาสังคมถึงจุดพินาศการทำงานในระบบไม่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตอีกต่อไป ไม่ใช่เพราะแทโฮทำงานไม่ดีพอ แต่เพราะระบบไม่อนุญาตในการจัดสรรทรัพยากรจนเข้าถึงทุกคน ดังที่แทโฮประสบในอดีตเขาเคยเป็น “ยามอวกาศ” กลุ่มทหารที่คอยจัดการให้อวกาศสงบเรียบร้อยจนวันหนึ่งเขาโดยปลดออกจากกองทัพชีวิตเขาจึงถึงจุดตกต่ำเหมือนโดนโยนทิ้ง เรื่องของแทโฮจึงแสดงได้ชัดว่าระบบสูง-ต่ำสร้างเหวลึก ความสูงคือภาพลวงให้เดินขึ้นไปแล้วสุขสบาย จุดต่ำคือความจริงที่มีอยู่แต่มักถูกหันหลังให้

สรุปได้ว่าการมีอยู่ของยาน Victory นี้มีไว้ป้องกันสถานีอวกาศเพื่อแลกกับผลประโยชน์ตอบแทนที่น้อยอย่างรายรับที่มาจากการขายขยะไม่ครอบคลุมหนี้สินและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มายาของตลาดเสรีคือสิ่งนี้ การค้าขายมักลวงตาด้วยการปันผลประโยชน์และถามคำถามถึงการทำงาน แต่พรางระบบที่อยุติธรรมไว้ภายใต้ระบบการค้าขาย เพราะผู้รับซื้อแจ้งแทโฮมาว่าขยะบางชิ้นที่เก็บมาจะต้องเสียค่าคัดแยกรวมถึงเขาต้องเสียค่าปรับ ทั้งที่พวกเขาเพิ่งป้องกันสถานีอวกาศไว้ได้ส่วนค่าปรับก็มาจากการที่เขาแย่งชิงขยะจากภารโรงอวกาศด้วยกันเองทำให้เกิดอุบัติเหตุ แม้จะดูเหมือนเป็นความผิดแต่สิ่งนี้เกิดจากการที่ชนชั้นแรงงานเข้าไม่ถึงทรัพยากรจนต้องแย่งเศษทรัพย์ พวกเขาผิดหรือระบบจัดสรรที่เข้าไม่ถึงทุกคนผิดกันแน่

ความรวย-ความจนจึงไม่ใช่เรื่องของความพยายาม แต่ทั้งหมดอยู่ในเงื่อนไขที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือระบบ แต่กลไกการค้ามักปิดบังโครงสร้างและมอบภาพลวงของความมานะตามหน้าที่ขึ้นมาทดแทนความจริงที่อำพรางภาพของเหวลึก เพราะความเชื่อที่ว่าการปฏิบัติงานให้ระบบเป็นการ “อยู่เป็น” ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งที่ถูกอำพรางเพราะการอยู่เป็นเอาตัวรอดในระบบเท่ากับเรายอมรับความอยุติธรรมทางอำนาจของผู้มีอำนาจในระบบไปโดยอัตโนมัติ แทโฮถูกขับไล่จนชีวิตพังด้วยเหตุผลของการ “ไม่ทำตามคำสั่ง”(โดนปลดจากลายเซ็นของนายทุนเจ้าของโครงการอาณานิคมดาวอังคารโดยไม่มีกระบวนการพิพากษาหาความชอบธรรม) รวมทั้งเขาได้ประสบเหตุลูกสาวหายตัวไปในวงโคจรของจักรวาล และไม่สามารถแจ้งตามคนหายได้เพราะต้องใช้เงินจำนวนมากในการเดินเรื่อง

Space Sweepers

จากเจ้าหน้าที่รัฐจนถึงคนเก็บขยะแสดงภาพให้เห็นแล้วว่า กลไกรัฐ(ในภาพยนตร์ใช้ชื่อหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือกับการสร้างนิคมว่า UTS หรือ UTOPIA ABOVE THE SKY ซึ่งเป็นมีหน้าที่คล้ายกับหน่วยงานรัฐเฉพาะกิจหรือตัวกลางความร่วมมือแบบสหประชาชาติ) ที่ไม่โอบล้อมคนมีโฉมหน้าอย่างไรรวมถึงกลุ่มทุนที่มีอำนาจในบทบาทของ UTS และคนที่ขัดกับคำสั่งรัฐหรือระบบไม่ต้องใช้ประโยชน์อีกแล้วสามารถถูกทอดทิ้งไปเสมือนรัฐไร้สำนึกว่าโดยแท้จริงทุกสรรพสิ่งเป็นสมบัติร่วมกันในฐานะประชาชน Space Sweepers จึงมอบภาพนรกบนดินให้เห็นว่าการที่กลุ่มทุนมีอำนาจล้นเหลือจนเป็นเจ้าของรัฐและธรรมชาติของทุนคือ การสะสมเป็นเจ้าของจึงนำมาสู่การยึดครองในภาพยนตร์กลุ่มทุนที่นำโดย ซัลลิแวน (Sullivan) ยึดธรรมชาติจากโลกถ่ายสู่ดาวอังคารเพื่อรองรับชนชั้นของตนเพียงกลุ่มเดียว การทำงานของแรงงานไม่มีความหมายและเป็นเศษขยะสำหรับพวกเขาในเวลาที่แรงงานหมดประโยชน์ การทำงานที่ไม่ได้สอดคล้องกับความเป็นเจ้าของทรัพยากรคือเรื่องที่ทุนนิยมและกลไกตลาดการค้าอำพรางไว้เสมอมาไม่ว่าจะในภาพยนตร์หรือความจริง

Space Sweepers

ศีลธรรมของซัลลิแวน

ตัวละครสำคัญของภารกิจกู้โลกเรื่องนี้คือ โดโรธี จักรกลที่ถูกพัฒนามาใกล้เคียงจนสามารถเรียกว่ามนุษย์เลยก็ว่าได้ โดยUTSที่มีอำนาจเสมือนรัฐได้ประกาศว่าโดโรธีเป็นหุ่นระเบิดปรมาณู ได้ถูกกลุ่มก่อการร้าย Black Fox จับตัวไปเพื่อใช้เป็นอาวุธถล่มดาวโลก

นั่นคือเรื่องที่ซัลลิแวนเผยแพร่ผ่านการข่าวของ UTS แต่ความจริงแล้วโดโรธีคือมนุษย์นาโนที่ประสบความสำเร็จจนสามารถผสานอนุภาคฟื้นฟูพืชที่ตายไปแล้วให้กลับมามีชีวิตได้แต่ซัลลิแวนต้องการนาโนมาสร้างระเบิดประกอบกับโรงงานอวกาศเพื่อใช้หย่อนลงไปถล่มดาวโลกที่เขาเชื่อว่ามีมนุษย์ใจเลวอยู่

แผนการของซัลลิแวนสะท้อนแนวคิดศีลธรรมของเขาที่ในฉากหนึ่งเขาถูกต่อว่าจากคนที่มองว่าซัลลิแวนคือนายทุนกินรวบกดขี่ ซัลลิแวนยัดมือใส่คนที่ว่าเขาแล้วให้หันไปหาคนที่ถูกจับมาในฐานะ Black Fox และให้ผู้ที่ต่อว่าเขายิงทิ้งเสียเพื่อแลกกับการได้ขึ้นมาอยู่บนดาวอังคารที่อากาศบริสุทธิ์สุขสบาย ผู้ต่อว่าคนนั้นตัดสินใจยิงแต่แล้วซัลลิแวนไม่ทำตามสัญญาเพราะเขาพูดไปเพื่อพิสูจน์ว่ามนุษย์คนนั้นเป็นคนเลวเพื่ออยากได้ชีวิตที่ดีกว่าทั้งนั้น

ฟังดูอาจสมเหตุสมผลในตรรกะของซัลลิแวน แต่วิธีคิดนี้สะท้อนให้เห็นว่าเขาทดสอบตัวละครอื่นเพียงเพื่อยืนยันความคิดของตนเองโดยไม่สนใจระบบอะไรทั้งสิ้น รวมถึงไม่ใช้ศีลธรรมชุดเดียวกันตัดสินตนเองด้วย เขาเชื่อว่ามนุษย์ต้องการเหมือนเขาโดยที่แท้จริงเขาสร้างระบบนิเวศทางความคิดเพื่อยืนยันความชอบธรรมที่เขาจะพิสูจน์ เขาดูดทรัพยากรโลกให้ลำบาก เขาสถาปนานิคมใหม่และคัดกรองผู้อาศัยจากศีลธรรมที่เขาเป็นพระเจ้าในการคัดเลือก ศีลธรรมของซัลลิแวนจึงไม่ใช่การเชื่อในความจริงแต่เป็นอำนาจนิยม ความจริงที่เขาคิดว่ามันถูกสร้างจากอำนาจของเขาเพื่อที่เขาจะได้ใช้อำนาจที่สูงส่งของตนตัดสินว่าใครเลวหรือดีพอที่จะได้มาอยู่ในนิคมดาวอังคารของเขา ผู้ต่อว่าเขาอาจถูกมองว่าเห็นแก่ได้จนฆ่าคนได้แต่อีกมุมก็คือเงื่อนไขที่ถูกวางมาให้เขาสามารถคิดแบบนั้น นั่นคือ “สัจจะทุน” อันหมายความว่าทุนนิยมที่สถาปนาความจริงขึ้นโดยระบบของตัวเอง

Space Sweepers

ทุนนิยม สามาถปรากฏได้ในเชิงสำนึกทำให้ทุนนิยมไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวแต่สถาปนา “ความจริง” ขึ้นได้เช่น ทำไมต้องทำมาหากินก็เพราะต้องกิน ด้วยคำถามเพื่อต้องการคำตอบเชิงความจริงระยะสั้นนี้ทำให้สามารถละเลยคำถามใหญ่อย่าง แล้วทรัพยากรที่มีอยู่ไม่พอสำหรับทุกคนแน่หรือ ทำไมบางคนสามารถครองที่ดินได้มากกว่าผู้อื่น เพราะเขาทำงานหนักกว่าหรือไม่ในกรณีของซิลลิแวนที่สร้างความจริงจากความเชื่อของเขาโดยมีแนวคิดพื้นฐานที่ว่า คนทั่วไปมีโอกาสที่จะผิดศีลธรรมได้เพียงเพราะเพื่อเข้าถึงความเป็นอภิสิทธิ์ชน และนั่นคือคนเลวสำหรับซัลลิแวน เหมือนคนที่ต่อว่าเขาแล้วเขานำพาทดสอบให้ยิงคนต่อหน้านั่นเอง

การทดสอบผู้อื่นว่าเห็นแก่การเป็นอภิสิทธิ์ชนหรือไม่ ถ้าใช่ก็ไม่สมควรได้ขึ้นมาอยู่ในนิคม การตัดสินคนของซัลลิแวนเป็นการผูกขาดการตีความศีลธรรมโดยยึดจากอัตตาของตนจนไม่สามารถมองเห็นเงื่อนไขที่ตนสร้างขึ้นได้ศีลธรรมความดี จึงเป็นผลลัพธ์ของระบบได้ด้วยเช่นกัน แต่ซิลลิแวนใช้ความเชื่อว่ามนุษย์บางคนสามารถทำเลว (ในความคิดเขา) ถ้ามีโอกาสที่จะใช้ความผิด ศีลธรรม(ของซัลลิแวน)นี้ตัดสินดาวทั้งดวงที่เขาต้องการจะถล่มเพราะเขาเชื่อว่าเขาได้คัดเลือก “คนดี” สำหรับเขาเรียบร้อยแล้ว

แม้โดยแท้จริง Black Fox ก็ไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายแต่เป็นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ต่อต้านการยึดครองทรัพยากรแบบผูกขาดของซิลิแวน สังเกตได้ว่าทำไมซิลิแวนต้องเปลี่ยนสถานะ Black Fox จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นผู้ก่อการร้าย เพราะในโลกร่วมสมัยรัฐประกาศเป็นศัตรูกับกลุ่มก่อการร้าย และสามารถสร้างความชอบธรรมในการกำจัดได้โดยอาศัยความกลัวของประชาชน กลุ่ม Black Fox จึงถูกไล่ลาในแบบที่คล้ายคลึงกันจากคำสั่งของซิลลิแวน ทั้งหมดนี้ย้ำความเชื่อของเขาที่คิดว่า คนมีโอกาสเลวได้ เพราะแท้จริงซิลลิแวนเชื่อในความเลวถ้ามีโอกาสเอื้อ เขาฆ่าคนได้เพราะเขาเชื่อแบบนั้นเขาเชื่อว่าคนเห็นแก่โอกาสส่วนตนในการเป็นอภิสิทธิ์ชนคือคนเลวที่ไม่สมควรอยู่บนนิคมและเขามีความชอบธรรมที่จะลิขิตชีวิตใคร ๆ บทเรียนของซิลลิแวนจึงเหมือนเป็นโจทย์สะท้อนชวนให้คิดว่า ศีลธรรมที่ถือไว้เสมือนเป็นสิ่งถูกต้องและเป็นความจริงแท้นั้นละเลยมิติการมองแบบอื่นไปหรือไม่ เพราะคำว่าศีลธรรมมักผูกขาดสำนึกของผู้ถือให้ยึดไว้และไม่ทบทวนความคิดนั้นรวมถึงกล้ายืนยันความคิดที่ว่าในฐานะความถูกควรและความดี

Space Sweepers

ปฏิวัติภารโรงและอำนาจขององค์กรสากล

โดโรธี เป็นชื่อที่ฝั่งองค์กรทุนซัลลิแวนเรียก แท้จริงแล้วเธอยังมีอีกชื่อคือ “กนนิม” ชื่อเกาหลีของเธอที่พ่อผู้เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างตั้งให้รวมทั้งให้เธออ่านหนังสือเรียนภาษาเกาหลีในจุดนี้น่าสนใจที่กลุ่ม Victory ทำให้ภาพของกนนิมในฐานะคนเกาหลีผุดขึ้น ต่างจากกลุ่มUTSที่เรียกเป็นชื่อสากลว่า โดโรธี ความเป็นชาติพันธุ์ของหุ่นยนต์กนนิมจึงมีมิติของการถูกระบุมากกว่าการระบุตนเอง ในภาพยนตร์เรื่องนี้มีการเล่าเรื่องของ “การเป็นผู้อพยพ” และ “การเป็นเจ้าของพื้นที่” เนื่องจากโลกทั้งใบใกล้สูญสิ้น การย้ายไปดาวอังคารตามการคัดเลือกของนายทุนหน้าเลือดซัลลิแวนทำให้การอพยพครั้งนี้ผูกกับการได้รับการอนุญาตโดยทุนเบ็ดเสร็จ สถานะของประชาชนที่เคยอยู่กับที่ก็ต้องกลายเป็นผู้พยายามอพยพจากดาวโลกทั้งที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลยทั้งหมดเกิดจากการย้ายโครงการฟื้นฟูทรัพยากรดูดไปให้ชนชั้นนายทุนบนดาวอังคาร

ท้ายที่สุดเมื่อระบบการค้าล้มเหลวผู้คนที่เป็น “ภารโรงอวกาศ” ที่บางส่วนคือสมาชิก Black Fox เข้าร่วมกับ Victory ในการต่อสู้ปลดแอกซัลลิแวนและกองกำลังที่แม้ภาพยนตร์จะไม่ได้ให้เราดูว่าฝั่งของนายทุนพินาศแต่จุดจบของการต่อสู้ช่วงท้ายคือดาวโลกได้รับการฟื้นฟูใหม่และจัดตั้งที่อยู่อาศัยได้จากการฟื้นฟูธรรมชาติของอนุภาคนาโนจากโดโรธี สะท้อนให้เห็นว่าแท้จริงโดโรธีไม่ได้เป็นเพียงแค่ระเบิดแต่กลุ่มทุนซัลลิแวนตั้งเงื่อนไขจะใช้เธอเป็นระเบิด แท้จริงโดโรธีมีพลังชีวภาพฟื้นฟูแต่ซัลลิแวนไม่คิดจะใช้ข้อนี้ทำนุบำรุงดาวโลก เพราะหากทุกที่เจริญเขาจะเสียการควบคุมและคัดเลือกทางศีลธรรมของเขาทันทีและสถานะอภิสิทธิ์ชนของเขาจะล่มสลายไป

การต่อสู้ของภารโรงอวกาศจึงเป็นทางออกเดียวนั่นคือ ปลดแอกอำนาจ และไม่ยอมรับเงื่อนไขที่กลุ่มซัลลิแวนวางไว้ให้พร้อมทั้งกลับไปพิทักษ์รักษาโลกเดิม ในจุดนี้เองทำให้เห็นว่าการปลดแอกของภารโรงอวกาศเป็นการล้มซัลลิแวนไม่ใช่การล้มรัฐหรือหน่วยงานเสมือนอย่าง UTS แต่ทำให้ UTS ต้องปรับโครงสร้างมาเข้าข้างประชาชาติรวมถึงสนับสนุนความร่วมมือในการฟื้นคืนโลก การล้มซัลลิแวนของกลุ่มภารโรงอวกาศจึงเป็นการชิงรัฐหรือกลไกบริหารกลับมาหาประชาชนในส่วนนี้ทำให้เราได้เห็นความสำคัญขององค์กรที่อยู่เหนือโครงสร้างทั้งเชิงอำนาจกำกับและความสำคัญที่ต้องระวังไม่ให้สมประโยชน์ทางทุนแต่ต้องถูกชักโดยประชาชนและองค์กรสากลควรดำเนินงานตามกรอบความยุติธรรมในทุกมิติ ไม่เช่นนั้นแล้วอาจเหมือนกรณีที่ UTS ให้การสนับสนุนซัลลิแวนในฐานะกลุ่มทุนที่เสนอนโยบายสวยหรูนิคมดาวอังคารแต่ซ่อนแผนการถล่มโลก ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงชวนคิดเกี่ยวกับอำนาจและความสำคัญรวมถึงข้อควรระวังทางการเมืองของกิจการองค์กรสากล

การที่โดโรธี หรือ กนนิม เป็นปัจจัยรวมทั้งตอนสุดท้ายของภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องของการที่แต่ละประเทศทุกกลุ่มต้องร่วมกันสร้างโลกเดิมขึ้นใหม่โดยไม่ย้ายไปดาวอังคารสะท้อนให้เห็นว่า หากเทคโนโลยีและอุดมการณ์ความก้าวหน้าอยู่ฝั่งประชาชนและไม่เปิดโอกาสให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งยึดครองไปใช้ การร่วมมือกันสร้างโลกในอุดมคติโดยไม่แบ่งเชื้อชาติการรวมโลกและร่วมกันสร้างสังคมที่ดีกว่าย่อมเป็นภารกิจของการรวมสหประชาชาติดังช่วงท้ายของภาพยนตร์ที่บอกเล่าถึงความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนที่ตั้งใจจะฟื้นคืนโลกที่จะอยู่ร่วมกันอย่างแท้จริง แสดงให้เห็นถึงทรัพยากรที่หากไม่โดนสูบโดยกลุ่มทุนซัลลิแวนไปนั้นมีพอสำหรับการอาศัยบนโลกของทุกคนแต่แรก ภัยพิบัติทั้งผองเกิดขึ้นจากความอยากมีอภิสิทธิ์เหนือผู้อื่นของกลุ่มซัลลิแวน และภาพยนตร์ยังทำให้เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่ปัญหาของเขตแดนใดแต่เป็นปัญหาของฟากฟ้าที่ทุกคนอยู่ใต้ฟ้าเดียวกันรวมถึงทรัพยากรทั้งโลกเป็นส่วนกลางของคนทุกคนร่วมกัน

Fact File

  • Space Sweepers (ชนชั้นขยะปฏิวัติจักรวาล) สามารถรับชมได้ใน Netflix
  • ซงจุงกิ รับบท แทโฮ นักบินที่ดูสะเพร่าแต่มีความสามารถราวกับเป็นอัจฉริยะ คิมแทรี รับบท กัปตันจาง ถึงจะอายุน้อยแต่ก็เป็นมันสมองของยาน Victory ชินซอนกยู รับบท ไทเกอร์พัค ภายนอกอาจดูน่ากลัวแต่ภายในเปี่ยมไปด้วยจิตใจที่อบอุ่น และ ยูแฮจิน รับบท บั๊บส์ หุ่นยนต์มือฉมวกขี้บ่นที่มีความปรารถนาไม่ต่างจากมนุษย์
  • Space Sweepers เป็นหนังที่สร้างสรรค์ขึ้นจากเทคนิค Visual Effects (VFX) ประมาณ 2,000 ฉาก จากทั้งหมด 2,500ฉาก และในบรรดา VFX ก็มี บั๊บส์ เป็นตัวละครหุ่นยนต์โมชันแคปเจอร์ตัวแรกของเกาหลี ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากด้วยเทคนิคระดับฮอลลีวูด
  • ชื่อของผู้กำกับ โจซองฮี เริ่มเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่ครั้งที่ภาพยนต์สั้นเรื่อง Don’t Step out of the House คว้ารางวัลใหญ่จากงาน Mise-en-scène Short Film Festival และยังได้อันดับที่ 3 ของ Cinéfondation สาขาการประกวดของนักเรียนในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ส่วนภาพยนตร์ End of Animal ได้รับการยอมรับทั้งจากเทศกาลหนัง Rotter-dam ต่อด้วย A Werewolf Boy ภาพยนตร์ที่คว้าใจคนดูกว่า 7 ล้านคน ส่วน Space Sweepers นั้นผู้กำกับโจซองฮี เริ่มคิดโครงเรื่องมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008-2009

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน