สัปเหร่อ : ว่าด้วย “ผู้ประกอบพิธีกรรม” แห่งเวลาของการทำใจ
Lite

สัปเหร่อ : ว่าด้วย “ผู้ประกอบพิธีกรรม” แห่งเวลาของการทำใจ

Focus
  • สัปเหร่อ ผลงานลำดับที่ 6 จากจักรวาลไทบ้านเดอะซีรี่ส์ กำกับโดย ธิติ ศรีนวล สร้างโดย ไทบ้าน สตูดิโอ ซึ่งมีถิ่นฐานทั้งที่ตั้งและความคิดอยู่ในภาคอีสาน
  • สัปเหร่อ ถือเป็น เป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ในปรเทศไทยชนิดที่ภาพยนตร์ไทยน้อยเรื่องจะทำได้ในยุคนี้

สัปเหร่อ ภาพยนตร์ไทยที่หลายคนยกให้เป็นม้ามืดมาแรงส่งท้ายปี 2566 กับการทุบสถิติด้านรายได้ที่ทะยานจาก 400 ล้านสู่ 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมากที่ภาพยนตร์ไทยยุคนี้จะทำได้ ผลงานการกำกับของ ธิติ ศรีนวล ถือเป็นผลงานลำดับที่ 6 จาก จักรวาลไทบ้านเดอะซีรี่ส์ ภาพยนตร์ชุดจาก ไทบ้าน สตูดิโอ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่การสร้างภาพยนตร์จากสตูดิโอที่ตั้งหลักอยู่ในภาคอีสานทั้งในเรื่องถิ่นฐานและความคิดอ่าน นั่นจึงส่งให้ “ฉากหลัง” ของภาพยนตร์จากไทบ้าน สตูดิโอ โดยเฉพาะ สัปเหร่อ บอกเล่าภูมิภาคท้องถิ่นอีสานตั้งแต่การสืบสร้างไปจนถึงการมีอยู่ของการกระทำ ตัวละคร และปมปัญหาทางภาพยนตร์จากสายตาของ “ไทบ้าน” ซึ่งแตกต่างอย่างชัดเจนกับภาพยนตร์ที่มาจากเมืองหลวงกรุงเทพมหานคร หรือแม้แต่ภาพยนตร์อีสานที่สร้างโดยสตูดิโอในกรุงเทพฯ ที่สุดท้ายแล้วก็ไม่พ้นการสร้างให้อีสานเป็นเพียง “ฉากหลัง” ของเรื่องราวเท่านั้น

สัปเหร่อ

ครั้งนี้ ไทบ้านเดอะซีรี่ส์ ได้แยกภาค สัปเหร่อ ไว้ในฐานะภาพยนตร์เดี่ยวก่อนที่จะถึง ไทบ้าน เดอะซีรี่ส์ ภาค 3 ซึ่งหมายความว่าผู้ชมไม่จำเป็นต้องชมภาพยนตร์ทั้งชุดมาก่อนก็สามารถเริ่มชมเรื่องราวแยกในเรื่องนี้ได้เลย โดยเรื่องราวในสัปเหร่อว่าด้วย การกลับบ้านของ เจิด ผู้เพิ่งเรียนจบจากสาขากฏหมายซึ่งกลับมาบ้านเกิดของตนเพื่ออยู่ร่วมกับพ่อและพี่ชาย ทำให้เจิดได้เรียนรู้อาชีพเกี่ยวกับความตายจากทั้งคู่เพราะ พี่ชาย ของเขาอยู่ในอาชีพทางการแพทย์ดูแลคนเจ็บ ส่วนพ่อของเขาเป็นสัปเหร่อดูแลคนตาย การเรียนรู้ความเจ็บ ความตายของเจิดจึงเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ ผจญผีผจญชีวิต ที่กำลังเริ่มเข้าสู่ชีวิตช่วงใหม่ของเขา

เชิงเนื้อหาของภาพยนตร์ในประเด็นการเรียนรู้ความ “เจ็บ” และ “ตาย” เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ สัปเหร่อ เป็นภาพยนตร์ที่จริงจังกับการมีเนื้อเรื่องแบบให้น้ำหนักกับแนวคิดของภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกครึ่งเรื่องหลังให้กับการเล่าเรื่องที่จริงจังหลังจากครึ่งแรกที่ชวนผู้ชมผ่อนคลายกับฉากผีสางและมุกตลก ซึ่งการที่ภาพยนตร์มีทั้งการจัดการระหว่างความจริงจังของครึ่งหลัง ประกอบกับความบันเทิงเถิดเทิงอย่างไม่อั้นในครึ่งเรื่องแรก ถือเป็นสมดุลที่น่าสนใจ อีกทั้งยังมีการทำภาพยนตร์ที่อิงกับขนบ “ผี-ตลก” แบบไทยๆ เช่นเดียวกับภาพยนตร์ไทยในยุคเฟืองฟู เช่น ภาพยนตร์ชุดบ้านผีปอบ (พ.ศ.2532-2554) ที่มีทั้งฉากสยองผีสางผสมกับฉากเฮฮาตลกสนุกสนาน ซึ่งขนบ ผี-ตลก คือหนึ่งในพัฒนาการสำคัญของหนังไทย ด้วยทั้งความหมายของ “หนังผีแบบไทย” ที่ไม่ใช่การแปลประเภทภาพยนตร์ Horror อย่างตรงไปตรงมา เพราะในเชิงประเภท Horror คือภาพยนตร์ “สยองขวัญ” ที่ส่วนใหญ่มักเกิดจากสถาการณ์ขนหัวลุกที่เกิดได้จากอำนาจเหนือธรรมชาติ หรือความสยดสยองจากความเลวร้ายในการกระทำของมนุษย์ ภาพยนตร์ประเภท Horror จึงอยู่ในแนวทางได้ทั้งหนังผี หนังฆาตกรรม หนังหั่นสับลาบเลือด

สัปเหร่อ

แต่ “หนังผี” ในนิยามของไทยคือการวิวัฒน์แนวทางความสยองขวัญในภาพยนตร์ให้จดจ้องอยู่ในข้อจำกัดว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ ต้องมีผี เป็นส่วนสำคัญ และมักมีตัวละครผีปรากฏอย่างโฉ่งฉ่าง ซึ่งความเป็นหนังผีของสัปเหร่อ คือการสร้างประสบการณ์สยองด้วยผีที่ปรากฏหลอกหลอนผู้คนในเวลากลางคืน จนคนในหมู่บ้านหวาดกลัวแบบเดียวกับหนังผีไทยชุดบ้านผีปอบ และผีในเรื่องก็ปรากฏตัวหลอกหลอนอย่างโฉ่งฉ่าง เช่น การซ้อนมอเตอร์ไซค์ หรือการโผล่มาหลอกหลอนผู้คนในชุมชนอย่างตรงไปตรงมาราวกับการประกาศว่าฉันมีตัวตน การกำกับแนวทางนี้จึงเป็นการทำให้หวนรำลึกถึงอารมณ์แบบหนังไทยสมัยก่อน และตอกย้ำด้วยความตลกที่ผสานกับฉากผีหลอกจนคนดูทั้งกลัวทั้งขำอันเป็นอารมณ์แบบที่ผู้ชมหนังไทยชื่นชอบ เช่นเดียวกับชุดบ้านผีปอบ ชุดบุปผาราตรี (พ.ศ.2546-2552) และพี่มาก..พระโขนง (พ.ศ.2556) จึงกล่าวได้ว่า ภาพยนตร์สัปเหร่อมีแนวทางที่สอดคล้องกับสุนทรียะแบบหนังผีตลกซึ่งเป็นแนวทางที่ปรากฏและพัฒนาแนวทางในภาพยนตร์ไทยมาอย่างต่อเนื่องและเป็นที่ชื่นชอบของตลาดหนังไทย

ในส่วนครึ่งเรื่องหลัง ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ไม่แผ่วด้วยการเปลี่ยนจากหนังผีตลกที่สยองและขำอย่างจริงจังมาสู่การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตอย่างจริงใจ ทั้งการให้ผู้ชมผจญกับการครุ่นคิดของตัวละคร พ่อของเจิด ตั้งแต่ป่วยจนถึงตาย การป่วยของพ่อเจิดเป็นการป่วยที่แสนโดดเดี่ยว เพราะเขาตั้งใจที่จะไม่บอกกล่าวถึงอาการป่วยที่หนักขึ้นเรื่อยๆ กับลูกๆ จนเขาตายดับไปอย่างไม่บอกลา งานศพจึงเป็นโอกาสของ การสื่อสารครั้งสุดท้าย ระหว่างคนเป็นกับร่างไร้วิญญาณ กล่าวคือร่างนั้นสนองว่าการสื่อสารของมนุษย์เป็นการสื่อสารกับกระจกแห่งความรำลึก คือการที่มนุษย์พยายามบอกลากับสิ่งที่ตอบโต้ไม่ได้ในเชิงประจักษ์ แต่เป็นการคลี่คลายปมบางอย่างในใจของตนจากการกระทำนั้น ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการบำบัดจิตใจตามแนวคิดของโลกสมัยใหม่ ทำให้งานศพจึงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่งานพิธีฝังหรือเผาร่างคนตาย แต่ยังซ่อนความหมายของการบอกลากันอย่างลึกซึ้งระหว่างคนเป็นกับผู้จากไป เนื่องเพราะเวลาคนเราตายมักไม่มีเวลาพอที่จะร่ำลากันเท่าไหร่

ในอีกมุมหนึ่งภาพยนตร์ก็เสนอให้เห็นภาพการมีอยู่ของกิจกรรมที่เราเรียกกันว่า งานศพ พิธีกรรมที่นิยมกันในหลายความเชื่อ และในมุมของการที่มนุษย์ต้องการ “ทำ” อะไรบางอย่างเพื่อ “ข้าม” สิ่งที่อยู่ในใจตนเองผ่านพิธีกรรมงานศพที่สร้างขึ้น ทำให้เกิดการครุ่นคิดถึงงานศพทั้งเชิงจิตวิทยาและเชิงวัฒนธรรมอย่างน่าสนใจ อีกทั้งยังทำให้เกิดบทสนทนาในปัจจุบันที่ผู้คนละออกจากความเชื่อ ละความนับถือพิธีกรรม แต่มีการทดแทนด้วยกิจกรรมอย่างใหม่เช่นการเยียวยาจิตใจตามหลักจิตวทยา ภาพยนตร์ สัปเหร่อ จึง เป็นข้อเสนอของการผสานความเข้าใจของวัฒนธรรมเก่าแก่เข้ากับการทำงาน (Fuction) แบบอรรถประโยชน์ของการมองด้วยสายตาแบบสมัยใหม่อย่างน่าสนใจ

สัปเหร่อ

นอกเหนือจากความสนุกสนานเฮฮาปนสยองและเนื้อหาอันเข้มข้นจริงจังแล้ว ภาพยนตร์ สัปเหร่อ เรื่องนี้ยังได้รับการจับตาจากความสำเร็จด้านรายได้ของการจัดจำหน่ายในประเทศไทย ด้วยสัปเหร่อเป็นอีกหนึ่งหนังไทยหลักร้อยล้าน อันเป็นปรากฏการณ์ที่หนังไทยน้อยเรื่องในยุคนี้จะไปถึง ซึ่งทำให้ตลาดหนังไทยกลับมาคึกคักอีกครั้งจนสามารถจะมองไปที่ขนบภาพยนตร์อันเป็นที่ชื่นชอบของผู้ชมในประเทศ ที่ย้ำว่าไม่เพียงความบันเทิง แต่การจริงจังกับเนื้อหาก็สามารถส่งให้ภาพยนตร์สำเร็จได้ และสัปเหร่อก็เป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่คู่ควรกับความสำเร็จนี้ อีกประเด็นสำคัญคือการสร้างฐานผู้ชมให้ติดตาม ไทบ้านเดอะซีรี่ส์ ราวกับการเป็นผู้ชมขาประจำ เป็นฐานแฟนคลับเหนียวแน่นที่ทำให้สตูดิโอมีทั้งผู้ชมขาประจำและขาจรทันทีที่ได้ยินชื่อ ไทบ้านเดอะซีรี่ส์ นี่จึงเป็นความสำเร็จที่น่าสนใจในวงการภาพยนตร์ไทยอันเกิดจากความใส่ใจกับทั้งการตลาดและคุณภาพของภาพยนตร์ไปพร้อมกันอย่างไม่ยิ่งหย่อน


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน