5 ร้านอาหารและบาร์รักษ์โลก ที่มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลง (ด้านความยั่งยืน) ให้วงการอาหาร
Lite

5 ร้านอาหารและบาร์รักษ์โลก ที่มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลง (ด้านความยั่งยืน) ให้วงการอาหาร

Focus
  • ร้านอาหาร ถูกมองว่าเป็นกิจการที่สร้างขยะปริมาณมหาศาลและยังก่อให้เกิด คาร์บอน ฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ได้ในทุกวัน
  • ร้านอาหารสามารถลดขยะจนเป็นศูนย์ได้จริงไหม หรือช่วยลดคาร์บอนได้จริงหรือ เราชวนไปเปิดมุมมองใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมในแวดวงอาหาร

ร้านอาหารถูกมองว่าเป็นกิจการที่สร้างขยะปริมาณมหาศาลและยังก่อให้เกิด คาร์บอน ฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ได้ในทุกวัน แต่ก็ยังมีร้านอาหาร บาร์ อีกจำนวนหนึ่งที่อยากจะลุกขึ้นมาปฏิวัติวงการ เปิดมุมมองใหม่ด้านความยั่งยืนทั้งการลดขยะ ลดการใช้พลาสติก เลือกใช้วัตถุดิบในชุมชนเพื่อลดการขนส่ง ใช้วัตถุดิบทุกชนิดอย่างคุ้มค่า ไปจนถึงการทำให้ขยะจากร้านอาหารเป็นศูนย์ เช่นเดียวกับ 5 ลิสต์ ร้านอาหารและบาร์รักษ์โลก ที่เราคัดสรรมาแล้วว่า นักกินควรจะได้ไปปักหมุดสักครั้ง เพราะนอกจากรสชาติแล้วก็ยังได้แรงบันดาลใจเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมกลับบ้านไปเต็มๆ

ร้านอาหารและบาร์รักษ์โลก

Haoma : อาหาร Neo-Indian ที่เป็น waste positive 100%

“ไม่มีธุรกิจไหนที่เป็น zero waste หรือปลอดขยะได้ 100% แต่ร้านเราเป็น 100% waste positive หมายความว่าของเสียอะไรที่เราปล่อยไป เราต้องเอามารีไซเคิลไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียหรือขยะมูลฝอย เราไม่ได้ ‘ทิ้ง’ แต่ ‘จัดการ’ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดปริมาณขยะให้มากที่สุด เราปลูกพืชผักเองและทำฟาร์มสัตว์แบบออร์แกนิคโดยตั้งเป้าหมายให้เป็นหนึ่งในร้านอาหารที่ดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนที่ดีที่สุดในโลก” ดีแพงเกอร์ คอสลา (Deepanker Khosla) หรือ ดีเค เจ้าของและเชฟของร้านอาหาร Haoma  กล่าวอย่างมุ่งมั่น

ร้าน Haoma ในซอยสุขุมวิท 31 กรุงเทพฯ เป็นร้านอาหารที่ได้รับรางวัล 1 ดาวมิชลิน และยังเป็นร้านแรกในกรุงเทพฯ ที่ได้รับรางวัลดาวมิชลินรักษ์โลก (Michelin Green Star) ประจำปี 2023 ที่มอบให้กับร้านที่ดำเนินกิจการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และเชฟดีเคยังเป็นคนแรกในประเทศไทยที่ได้รับรางวัล Champions of Change จาก World’s 50 Best Restaurants ประจำปี 2021 ที่มอบให้กับบุคคลที่ขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการอาหารและชุมชนท้องถิ่น

ร้านอาหารและบาร์รักษ์โลก
เชฟดีแพงเกอร์ คอสลา (Deepanker Khosla)

จากบริเวณที่นั่งรับประทานอาหารภายในร้านซึ่งโอบล้อมด้วยกระจกบานใหญ่สูงจากพื้นจรดเพดานจะมองเห็นแปลงพืชผักกว่า 20 ชนิด เช่น กระเพรา โหระพา มินต์ ยี่หร่า และหูเสือ ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารของทางร้าน ด้านข้างแปลงผักเป็นถังน้ำฝนที่กรองแล้วจำนวน 5 ถังใหญ่ สำหรับเลี้ยงปลานิล ปลาทับทิม และปลาดุกหลายร้อยตัว ที่นี่จึงเป็นการทำเกษตรแบบ อควาโปนิกส์ (Aquaponics) คือการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์น้ำแบบผสมผสาน ด้วยระบบน้ำหมุนเวียน โดยน้ำเลี้ยงปลาที่มีเศษอาหารปลาและสิ่งปฏิกูลจากปลาตกค้างอยู่จะนำไปผ่านกระบวนการกรองทางชีวภาพ ก่อนส่งน้ำไปใช้ในการปลูกพืช พืชจะช่วยย่อยสลายของเสียเป็นปุ๋ยและทำให้น้ำไม่เป็นพิษกับปลาจนสามารถส่งน้ำกลับคืนสู่ถังเลี้ยงปลาได้อีก

ร้านอาหารและบาร์รักษ์โลก
ตัวร้านที่มองเห็นแปลงผัก

ร้าน Haoma รองและเก็บน้ำฝนไว้ในถังใต้ดินจำนวน 4 ถังซึ่งเก็บได้ปริมาณถึง 150,000 ลิตร และเพียงพอสำหรับใช้ทั้งอุปโภคและบริโภคภายในร้าน น้ำสำหรับดื่มจะผ่านระบบการกรองคุณภาพสูงปราศจากสารเคมีตกค้างของ Nordaq บริษัทผู้ผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกรองน้ำชั้นนำจากประเทศสวีเดน เพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการผลิต บรรจุภัณฑ์และการขนส่งน้ำดื่ม

เศษอาหารจากในครัว เช่น รากผัก เปลือกไข่ และหนังไก่ จะนำมาทำเป็นอาหารปลา โดยเทรวมกันในหม้อใบใหญ่และปรุงใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง จากนั้นนำไปเข้าเตาอบเพื่ออบให้แห้ง นอกจากนี้น้ำทิ้ง (grey water) จากในครัวและจากอ่างล้างมือจะผ่านกระบวนการบำบัดและนำกลับมาใช้ใหม่สำหรับรดน้ำหรือชำระล้างห้องน้ำ

ร้านอาหารและบาร์รักษ์โลก

นอกจากนี้เชฟดีเคยังมีฟาร์มในย่านหนองจอกขนาดพื้นที่ 5 ไร่สำหรับเลี้ยงไก่ วัว และ แพะ พร้อมกับปลูกต้นมะม่วงและต้นมะพร้าว โดยเขาตั้งเป้าหมายว่าภายในอีก 3 ปี (พ.ศ.2568) เมนูอาหารของร้าน Haoma จะมาจากวัตถุดิบที่ปลูกเองทั้งหมดและบางส่วนจากพาร์ทเนอร์ที่อยู่ในรัศมี 100 กิโลเมตรจากร้านเพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการขนส่ง

Haoma นำเสนออาหารอินเดียแบบร่วมสมัย หรือที่เรียกว่า Neo-Indian โดยใช้วัตถุดิบปลอดสารพิษที่หาได้ภายในประเทศ ทั้งที่ทางร้านปลูกและเลี้ยงเองและจากเกษตรกร ชาวประมงรายย่อยที่ทำธุรกิจด้วยหัวใจของความยั่งยืน เช่น ไข่หอยเม่นมาจากชลบุรี กุ้งแชบ๊วยจากระนอง กุ้งมังกรจากประจวบคีรีขันธ์ และเมล็ดโกโก้จากจันทบุรีเพื่อนำมาทำช็อคโกแลต

“การทำอะไรแบบยั่งยืนไม่ได้เป็นการลงทุนที่แพง ผมใช้ไม่ถึงหนึ่งแสนสำหรับทำสวนพืชผักออร์แกนิค ส่วนฟาร์มก็ใช้เงินลงทุนไม่ถึงครึ่งล้าน แต่เป็นสิ่งที่ยากและต้องอดทนและใช้แรง ในยุคสมัยใหม่ที่คนใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายในห้องแอร์ เขาไม่อยากเหนื่อยและไม่อยากใช้แรงงานหนัก จริงๆแล้วถ้าผมเปิดร้านอาหารเสิร์ฟอาหารรสชาติดีแบบที่ไม่ทำสวนพืชผักและฟาร์มเลี้ยงสัตว์แบบออร์แกนิค หรือไม่มีระบบรีไซเคิลจัดการของเสีย คนก็มากินเพราะคอนเซปต์เรื่องความยั่งยืนของร้านเป็นเรื่องรองสำหรับเขา แต่สำหรับผมเป็นเรื่องหลักที่ต้องทำและสร้างความตระหนักรู้”

Location: ซอยสุขุมวิท 31 กรุงเทพฯ เปิดทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์) เวลา 18.00-23.00 น.

Contact: โทร 092-891-8222 หรือ https://haoma.dk/

Mahaniyom : ค็อกเทลบาร์ “Resourceful” ที่ตั้งใจใช้วัตถุดิบ 1 ชนิดให้คุ้มค่าที่สุด 

มหานิยม ไม่ได้ออกตัวว่ามาในคอนเซปต์ของ Sustainable แต่ด้วยคอนเซปต์ของการใช้วัตถุดิบ 1 ชนิด ให้คุ้มค่าที่สุดนี่แหละที่มันไปบังเอิญตรงกับเรื่องของความยั่งยืนพอดี เพราะความตั้งใจเดิมของ หนึ่ง – รณภร คณิวิชาภรณ์ และ แจน – เจนณรงค์ ภูมิจิตร บาร์เทนเดอร์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Mahaniyom Cocktail Bar มองเรื่องของรสชาติที่ซับซ้อนมาก่อน 

มหานิยม ตั้งชื่อล้อไปกับที่ตั้งของร้าน 100 มหาเศรษฐ์ ที่มีความหมายดี ๆ อย่าง “มีเสน่ห์มีอำนาจ” โดยมีเชฟชาลี กาเดอร์, เชฟแรนดี้ – ชัยชัช นพประภา และ อิ๊บ – ณิชาภา มุ่งเพียร ทีม 100 Mahaseth มาจอยด้วย ทำให้ที่นี่มีบาร์สแน็กที่อร่อยด้วย เรียกว่าลด pain point ของบาร์ที่มีถั่วและแป้ง แป้งและถั่ว 

Duck

เครื่องดื่มของที่นี่มาในคอนเซปต์ของ Resourceful ที่ทีมตั้งใจใช้วัตถุดิบ 1 ชนิด ให้คุ้มค่าที่สุด เล่าผ่านค็อกเทล 1 แก้ว พยายามดึงคาแรกเตอร์ของวัตถุดิบแต่ละชนิดออกมาให้ได้มากที่สุด ทำให้ไม่เหลือทิ้งเป็นขยะอาหาร  ยกตัวอย่าง เมนูล่าสุดที่เพิ่งปล่อยออกมา Cacao ที่นำทั้งน้ำโกโก้ โกโก้นิปส์ และโกโก้บัตเตอร์มาใช้ เรียกว่าใช้หลากหลายส่วนของโกโก้มานำเสนอรสชาติที่ไม่ใช่โกโก้จ๋า

ต่อด้วย Mango ที่ไม่ได้นำเสนอข้าวเหนียวมะม่วง แต่นำเอามะม่วงดิบ มะม่วงสุก รวมถึงใบมะม่วงอ่อนมาใช้ด้วยกัน ทำให้เครื่องดื่มแก้วนี้ออกเปรี้ยวในแบบที่ไม่ใช่มะนาวแบบเครื่องดื่มปกติ ส่วน Tamarind ก็นำมาใช้ทั้งมะขามหวาน และเม็ดมะขามที่นำมาคั่วเอากลิ่นรส และ Duck ที่ใช้ทั้งไขมันเป็ด ไข่แดงเป็ด และเลือดเป็ด นำมาทำเครื่องดื่ม มีเมอแรงก์ไข่ขาวเป็ดเป็นการ์นิชตกแต่ง 

หนึ่ง – รณภร คณิวิชาภรณ์

แน่นอนว่าเมนูเครื่องดื่มของร้านก็สร้างจุดแข็งเรื่อง Sustainable อยู่แล้วอย่าง Cow ที่นำเอามันเนื้อที่ตัดแต่งจากการใช้เนื้อวัวในร้านอาหาร 100 มหาเศรษฐ์ มาผ่านเทคนิคแฟตวิชและแอร์ เป็นค็อกเทลเนื้อที่เท่มาก หรือ Squid ที่ใช้ปลาหมึกแห้ง และน้ำหมึกมาใช้ เรียกว่าของที่ดูเหมือนต้องทิ้งกลับถูกนำมา Upcycle ให้มีคุณค่าอีกครั้ง ที่สำคัญบาร์แห่งนี้ยังได้รางวัลบาร์หน้าใหม่ของเอเชียจากงาน Asia’s 50 Best Bars 2023 แม้ว่าจะยังไม่ได้รางวัล Sustainable แต่ปรัชญาการทำค็อกเทลก็ใส่ความตั้งใจถึงความยั่งยืนลงไปเต็มร้อย 

Location:  ชั้น 2 ของร้าน 100 มหาเศรษฐ์ ถนนมหาเศรษฐ์ กรุงเทพฯ

Contact: โทร. 061-664-6588

เชฟจิมมี่ โอฟอร์สต์

PRU: ร้านอาหารแรกในไทยที่ได้รับรางวัลดาวมิชลินรักษ์โลก

PRU (พรุ) ร้านอาหารในโรงแรมตรีสรา จังหวัดภูเก็ต เป็นร้านอาหารแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับรางวัล ดาวมิชลินรักษ์โลก (Michelin Green Star) นับตั้งแต่มีการมอบรางวัลนี้ให้กับร้านที่ดำเนินกิจการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในมิชลิน ไกด์ ฉบับกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ภูเก็ต และพังงา ประจำปี 2021 และได้รับรางวัลนี้ต่อเนื่องในปี 2022 และ 2023 แบบ 3 ปีซ้อนอย่างที่ไม่มีร้านไหนในไทยทำได้

เปิดตัวต้อนรับนักชิมเมื่อพ.ศ. 2559 ชื่อร้านนำมาจากอักษรตัวแรกของ 3 คำที่เป็นปรัชญาการดำเนินงานของร้านได้แก่ Plant (ปลูก), Raise (ดูแล) และ Understand (เข้าใจ) ซึ่งหมายถึงการปลูกผักและเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มแบบออร์แกนิค การใส่ใจดูแลเพื่อเรียนรู้ความแตกต่างของพืชพันธุ์และสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละฤดูกาล และเข้าใจวงจรของวัตถุดิบอาหารทั้งหมดตั้งแต่ต้นทางจนถึงการสร้างสรรค์อาหารแบบ Farm to Table

ทางร้านใช้วัตถุดิบภายในประเทศทั้งหมดทั้งจาก พรุจำปา ฟาร์มออร์แกนิคบนเนื้อที่กว่า 600 ไร่ของร้านเอง รวมไปถึงวัตถุดิบสดใหม่ที่หาได้จากชุมชนใกล้เคียง เพื่อลดระยะทางขนส่งอาหารให้เกิดคาร์บอนฟุตพริ้นท์น้อยที่สุดและยังช่วยและส่งเสริมตลาดชุมชน และการคัดสรรวัตถุดิบตามฤดูกาลจากเกษตรกรทั่วภูมิภาค นอกจากนี้ในปี 2563 ทางร้าน PRU นำโดยหัวเรือใหญ่คือ เชฟจิมมี่ โอฟอร์สต์ (Jimmy Ophorst) ชาวเนเธอร์แลนด์ ได้จัดตั้งทีมวิจัยและพัฒนาเพื่อเสาะหาฟาร์มเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้อันนำมาซึ่งผลผลิตที่ดีขึ้นตามฤดูกาลและส่งเสริมการค้าขายแบบเป็นธรรมโดยไม่ผ่านคนกลาง รวมไปถึงการจัดตั้ง “ธนาคารเมล็ดพันธุ์” เพื่อสงวนรักษาพืชพรรณของท้องถิ่น

พื้นที่รกร้างในหมู่บ้านพรุจำปาซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมได้รับการปรับปรุงให้กลายเป็นฟาร์มออร์แกนิคที่ปลูกพืชผักสมุนไพรและดอกไม้แบบหมุนเวียน เลี้ยงปลาและไก่แบบเปิดเพื่อเป็นเป็นวัตถุดิบส่งต่อให้กับร้านอาหารและยังสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในท้องถิ่น ส่วนเศษอาหารเหลือทิ้งจากทางร้านได้นำไปผ่านกระบวนการทำเป็นปุ๋ยเพื่อใช้หมุนเวียนภายในฟาร์ม

ร้านเสิร์ฟอาหารยุโรปสไตล์โมเดิร์นแบบ 5-7 คอร์สและอาหารมังสวิรัติ โดยตั้งชื่อแต่ละเมนูตามแหล่งที่มาของวัตถุดิบหลัก เช่น แครอทและแก่นตะวันจากฟาร์มพรุจำปา กุ้งแม่น้ำจากสุราษฎร์ธานี เนื้อลูกวัวจากปากช่อง และจำปาดะจากนครศรีธรรมราช

PRU ยังส่งต่อแนวคิดเรื่องความยั่งยืนสู่ร้านอาหารแห่งใหม่ในเครือเดียวกันชื่อร้าน Jampa (จำปา) ตั้งอยู่ที่ ตรีวนันดา คอมมูนิตี้ เฮ้าส์ ในจังหวัดภูเก็ตเช่นเดียวกัน และสามารถคว้ารางวัลดาวมิชลินรักษ์โลก (Michelin Green Star) ตามอย่างพี่ใหญ่เช่น PRU ได้ในการประกาศรางวัลปี 2023

Location:  โรงแรมตรีสรา อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต

Contact: โทร 076-310-23 หรือ www.prurestaurant.com        

Long Time Farm Stay : คาเฟ่เล็กๆ รวมของดีถิ่นบ้านแตง

“หากวันหนึ่งเราไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ บ้านและชุมชนเล็กๆ แห่งนี้จะสามารถอยู่รอดด้วยตนเองได้หรือไม่”

หนึ่งความกังขาที่เกิดขึ้นเพราะประสบการณ์กักตัวจากวิกฤตโควิด-19 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของคาเฟ่  Long Time Farm Stay ซึ่งตั้งใจให้เป็นพื้นที่เล็กๆ ที่รวบรวมวัตถุดิบในท้องถิ่นละแวกบ้านมาจัดการแปรรูปให้เป็นเครื่องดื่มหลากหลายสารพัดเมนู ไม่ว่าจะเป็น ชา กาแฟ น้ำผลไม้ หรือแม้กระทั่ง โคล่า เครื่องดื่มเย็นซ่าที่ชื่นใจที่ดัดแปลงมาจากสมุนไพรพื้นบ้านจนได้รสชาติที่แทบไม่ต่างกับน้ำอัดลมขวัญใจมหาชนที่มีขายอยู่ทั่วโลก

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยความที่มีพื้นฐานความรู้จากการหมักเหล้าที่สืบทอดมาจากครอบครัว ส่งผลให้ Long Time Farm Stay นำพืชผลทางการเกษตรอย่างข้าว มาหมักและกลั่น จนได้เป็นสุราพื้นบ้าน อันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่หาจากที่ไหนไม่ได้ และยังช่วยสืบสานสืบทอดภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างสุราพื้นบ้านอีกทางหนึ่งด้วย

แน่นอนว่า กว่าจะได้เครื่องดื่มที่มีรสชาติกลมกล่อมในแต่ละเมนู Long Time Farm Stay ก็ใช้เวลาลองผิดลองถูกมาไม่น้อย เพราะความต้องการแรกสุดของคาเฟ่แห่งนี้ ก็คือการหยิบจับวัตถุดิบท้องถิ่นมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าให้ได้ นอกจากนี้ ทาง Long Time Farm Stay ก็ยังนำพืชไร่ ที่นิยมปลูกในพื้นที่อย่างกล้วยหอม มาแปรรูปขายในร้านต่อ เช่น เค้กกล้วยหอม หรือกล้วยหอมทอด เป็นต้น

ทั้งนี้ คาเฟ่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการระยะยาวของ Long Time Farm Stay แห่งนี้ โดยทางร้านวางแผนพัฒนา 4 ระยะ ซึ่งคาเฟ่ให้บริการขนมและเครื่องดื่มเป็นระยะเริ่มต้น ก่อนต่อยอดขยายไปสู่การทำร้านอาหาร และไปจบที่บริการที่พักหรือฟาร์มสเตย์ต่อไปในอนาคตระยะยาวที่ยังไม่สามารถกำหนดเวลาได้ เพราะแต่ละขั้นตอนที่ก้าวไป เกิดจากการเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์รายทางก่อนตกผลึกให้พร้อมที่จะลงมือทำ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่เป็นคาเฟ่เล็กๆ ทางร้านจึงเปิดให้บริการแค่วันศุกร์ เสาร์  อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 9.30 -18.00 น.หากมีเวลาแวะเวียนมาแอ่วเชียงใหม่ ผ่านมาทางอำเภอแม่แตง ลองมาสัมผัสกับของดีจากชุมชนเล็กๆ แห่งนี้ ที่ Long Time Farm Stay พร้อมดื่มด่ำกับอีกหนึ่งวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวไร่ชาวนาในแม่แตง

Location:  อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

Contact: โทร. 087-357-2618 facebook.com/longtimefarm

แก่น : casual fine dining ที่ชูวัตถุดิบถิ่นอีสานสู่เมนูสุดโอชา

แก่น คือห้องทดลองขนาดย่อมที่ต้องการแสดงและพิสูจน์ให้เห็นว่า วัตถุดิบท้องถิ่นในขอนแก่น และแดนอีสานคือของดีคุณภาพสูงที่เมื่อผ่านกระบวนการปรุงอย่างพิถีพิถันตามประสาพ่อครัวแม่ครัวมือฉมังก็สามารถกลายเป็นอาหาร fine dining รสชาติลุ่มลึกได้อย่างง่ายดาย

ตัวร้านตกแต่งในบรรยากาศสบายๆ สไตล์ครัวในบ้าน ท่ามกลางงานไม้ที่ให้ความอบอุ่นและสื่อถึงอัตลักษณ์ของแดนอีสานเป็นอย่างดี ขณะเดียวกัน พื้นที่แห่งนี้ยังมุ่งมั่นตั้งใจให้เป็นศูนย์รวมของดีถิ่นอีสาน ที่ทั้งอร่อย มีเอกลักษณ์ และเปี่ยมด้วยภูมิปัญญาที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนาน เช่น สาโทข้าวเหนียวของปราชญ์ชาวบ้าน เป็นต้น

ยิ่งไปกว่านั้น แก่น ยังเป็นร้านที่มุ่งมั่นที่จะสะท้อนความหมายใน 5 บริบทของแก่น  นั่นคือ แก่นที่หมายถึงแกนกลางสำคัญ เหตุผลเพราะการกินคือแกนสำคัญของชีวิต แก่นที่หมายถึงไม้ เพราะไม้คือวัสดุหลักที่ประดับตกแต่งร้าน และลายไม้ก็คือ โลโก้ของร้าน  แก่นที่หมายถึงแก่นแก้วซุกซน เพราะชื่อเมนูในร้านอาหารสะท้อนถึงความสนุกของอาหาร เป็นความซนๆ ที่จับโน่นจับนี่มาผสมกัน เช่น กุ้งซอสมะขามมากับไข่ลูกเขย เป็นต้น แก่นที่หมายถึงอยู่สบาย หรือ wellness ในภาษาอีสาน ซึ่งแก่นที่จะอยู่สบายได้ ส่วนหนึ่งก็คือการได้กินอาหารดีๆ และแก่นสุดท้ายที่หมายถึงขอนแก่น   เพราะต้องการให้เห็นถึงภูมิศาสตร์ของที่ตั้งร้าน นั่นคือความเป็นขอนแก่น

นอกจากนี้ ด้วยความเป็นร้านอีสานสไตล์  fine dining แห่งแรกๆ ในแดนอีสาน แก่นจึงต้องการเป็นเหมือนหยดน้ำหยดแรกในมหาสมุทรที่แสดงให้เห็นว่า วัตถุดิบท้องถิ่นก็เป็นของดีมีคุณภาพ ที่อร่อยด้วยความลุ่มลึกของรสชาติ และสุนทรียะแห่งอรรถรส ขณะที่ความยั่งยืนกลายเป็นผลพลอยได้จากการสามารถนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และสามารถดึงชุมชนรอบด้านให้มาเป็นส่วนหนึ่งของแก่นอย่างเต็มที่

Location:  ซอยอดุลยาราม 7 อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

Contact: โทร.083-912-8659 facebook.com/kaendining


Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ
นงลักษณ์ อัจนปัญญา
สาวหมวยตอนปลาย ผู้รักการอ่าน ชอบการเขียน สนใจเหตุบ้านการเมืองในต่างแดน และกำลังอยู่ในช่วงการฝึกฝนสายวีแกน