The Conjuring : The Devil Made Me Do It การฆาตกรรมในอาณัติปีศาจ
Lite

The Conjuring : The Devil Made Me Do It การฆาตกรรมในอาณัติปีศาจ

Focus
  • The Conjuring : The Devil Made Me Do It ภาพยนตร์ลำดับที่ 7 อย่างเป็นทางการของหนังสยองขวัญหมุดหมายแห่งยุค The Conjuring
  • คดีของภาคนี้สร้างจากเหตุระทึกขวัญจากแฟ้มปีศาจวิทยา ค.ศ.1981 เป็นคดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญชาวเมือง บรูคฟิลด์ (Brookfield) กำกับโดย ไมเคิล ชาเวส (Michael Chaves)

The Conjuring : The Devil Made Me Do It ภาพยนตร์ลำดับที่ 7 อย่างเป็นทางการของจักรวาลหนังสยองขวัญหมุดหมายแห่งยุค The Conjuring ที่มีภาพยนตร์หลักเล่าถึงการเดินทางปราบผีสางของคู่สามี-ภรรยา เอ็ด และ ลอร์เรน วอร์เรน (Ed and Lorraine Warren) ผู้เชี่ยวชาญด้านปีศาจวิทยา (Demonologist) ที่มีตัวตนอยู่จริง และมีชื่อเสียงด้านการศึกษาปีศาจ รวมทั้งเข้าช่วยเหลือผู้ที่ถูกคุกคามจากผีร้ายหลายกรณี โดยคดีที่เป็นหนึ่งในแสงไฟที่ส่องมาของทั้งคู่คือ Amityville เหตุเกิดเมื่อ ค.ศ.1975 ที่ทั้งคู่ต้องเดินทางไปปราบผีร้ายในบ้านผีดุเลื่องชื่อแถบนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

Amityville คดีนี้ถูกนำไปสู่โลกเรื่องแต่งทั้ง นวนิยาย ภาพยนตร์ และบทสัมภาษณ์ของสามี-ภรรยาวอร์เรน จนเป็นอีกหนึ่งตำนานเรื่องผีของสหรัฐอเมริกาที่ทรงอิทธิพลและได้รับการผลิตซ้ำเรื่องราวอย่างต่อเนื่องเช่น นวนิยาย The Amityville Horror ของ เจ แอนสัน (Jay Anson) อันเป็นนิยายที่ได้รับความนิยมจนมีผู้แต่งเรื่องต่อมาอย่างน้อย ๆ อีก 2 เล่มนั่นคือ The Amityville Horror Part II และ Amityville: The Final Chapter โดยฝีมือของ จอห์น จี. โจนส์ (John G. Jones) ส่วนในโลกภาพยนตร์ก็มี The Ami-tyville Horror (ค.ศ.2005) ที่ดัดแปลงจากนวนิยายต้นฉบับชื่อเดียวกัน และเหตุการณ์นี้ยังโผล่มาตอนต้นเรื่องของ The Conjuring 2 อีกด้วยเพื่อย้ำความเป็นประวัติศาสตร์แห่งผู้เชี่ยวชาญด้านปีศาจของสามี-ภรรยาวอร์เรน

ในครั้งนี้ The Conjuring : The Devil Made Me Do It สานต่อภารกิจล่าวิญญาณร้ายของสองสามี-ภรรยาคู่นี้อีกครั้งด้วยเหตุระทึกขวัญจากแฟ้มปีศาจวิทยาเมื่อ ค.ศ.1981 คดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญชาวเมือง บรูคฟิลด์ (Brookfield) ที่ อาร์นี่ จอห์นสัน (Arne Johnson) ฆาตกรสารภาพว่าฆ่าคนตายเพราะผีเข้า

ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการได้วิสัยทัศน์ของผู้กำกับ ไมเคิล ชาเวส (Michael Chaves) ที่เคยมีผลงานกำกับในจักรวาล The Conjuring มาแล้วใน The Curse of La Llrona (2019) ในครั้งนี้เขาได้รับหน้าที่กำกับภาพยนตร์ภาคหลักอย่างเต็มตัวและด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ทิศทางของภาพยนตร์แตกต่างจากที่เคยผ่านมาก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ภาคในมือของผู้กำกับ เจมส์ วาน (James Wan) โดยใน 2 ภาคก่อนหน้านี้ผู้ชมได้เคยเห็นคู่สามี-ภรรยาวอร์เรนเดินทางปราบผีในบ้านผีสิงต่าง ๆ เผื่อช่วยครอบครัวเหยื่อมารนรก ครั้งนี้ภารกิจของทั้งคู่เปลี่ยนไปเป็นการเดินทางผจญภัยสืบสวนหาต้นตอของไสยศาสตร์ที่ทำให้วัยรุ่นหนุ่มคนหนึ่งต้องกลายเป็นฆาตกรไร้สติ

The Conjuring

ด้วยภารกิจที่เปลี่ยนรูปแบบและเป็นการขยายพื้นที่ปราบผีทำให้ผู้ชมในภาคนี้จะได้เห็นการเดินทางไปพบปะและโลกของจักรวาล The Conjuring ที่กว้างขวางกว่าเดิมรวมทั้งบทภาพยนตร์ที่มีความซับซ้อนวิพากษ์จิตใจตัวละครอย่างแตกต่างกว่าภาคก่อนโดยภาคนี้จะเน้นทั้งสภาพจิตใจของสามี-ภรรยาวอร์เรนและอาร์นี่ (Arne Johnson) เช่นความคลุมเครือของอำนาจปีศาจในฉากที่อาร์นี่กำลังจะตัดสินใจสังหารชายในบ้าน ในเหตุการณ์นี้มีบุคคล 3 คน คือ อาร์นี่ แฟนสาวของอาร์นี่ และ ชายผู้ตาย ความน่าสนใจคือภาพยนตร์ตัดต่อให้เห็นถึง “ความจริง” 2 แบบ แบบแรกคือจากคนที่ถือว่าไม่ถูกผีเข้า แฟนสาวของอาร์นี่และชายผู้ตาย ในแบบนี้ผู้ชมจะเห็นว่าทั้งสองยืนห่างกันและกำลังพูดคุยกับอาร์นี่ให้ผ่อนคลายมีการเต้นรำ ดื่มเครื่องดื่ม แต่ทั้งคู่ไม่ได้แตะต้องเนื้อตัวกันและกัน ส่วนความจริงแบบที่สองคือความจริงของปีศาจที่อาร์นี่เห็นคือการที่ชายคนนั้นสวมกอดแฟนสาวของตนอยู่

มนต์มารพลังปีศาจในภาคนี้จึงน่าสนใจในมุมที่มันไม่ได้มาเข้าร่างเพื่อควบคุมแต่มันสร้าง “ความจริง” อีกแบบในสำนึกของคนเพื่อลวงให้เห็นถึงจิตใจภายใน ปีศาจไม่ได้เข้าร่างและหยิบมีดมาแทง แต่สร้างภาพลวงในฐานะ “ความจริง” ซึ่งหากมองมุมหนึ่งมันคือภาพลวงตาแต่สำหรับผู้ที่ต้องมนต์อยู่มันคือความจริงอีกแบบสำหรับเขา

The Conjuring

สำหรับอาร์นี่ ปีศาจได้สร้างภาพลวงเป็นความจริงให้เขาทดสอบจิตใจภายในโดยให้อาร์นี่ตัดสินใจในการฆาตกรรมด้วยมีดที่เกิดจากการที่อาร์นี่ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือความจริงที่กำลังจะเกิดขึ้นเพราะสำหรับเขาสิ่งที่เขาสัมผัสมันก็จริงเช่นกัน คำถามสำคัญในข้อนี้จึงเป็นประเด็นทางจริยธรรมอันว่าด้วยการเลือกกระทำความรุนแรงต่อบุคคล ในมิตินี้จึงเห็นได้ว่าปีศาจกระตุ้นให้เสียสติและปลุกเรียกลวงให้ใช้ความรุนแรงด้วยการสร้างความจริงอีกแบบขึ้นมา

ประเด็นความจริงในภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกนำมาใช้กับอีกหลายตัวละครแม้กระทั่งสามี-ภรรยาวอร์เรนในเรื่องก็ถูกปีศาจเล่นงานให้เอ็ดเห็นลอร์เรนเป็นผีด้วยซึ่งในฉากนี้จะยิ่งทำให้เห็นการตัดสินใจใช้ความรุนแรงของเอ็ดในฐานะ “นักปราบผี” การที่เอ็ดมีหน้าที่ปราบและกำจัดพลังร้ายทุกครั้งเขาย่อมต้องมีสำนึกของการฆ่าล้างสิ่งที่เขาเชื่อว่าไม่ดีนั้นว่าคือปีศาจ ในภาคนี้เขาจึงถูกอำนาจลวงตาให้เห็นว่ามีปีศาจอยู่เบื้องหน้าซึ่งแท้จริงแล้วในภาพของเอ็ดคือปีศาจแต่เนื้อกายที่เฉลยให้ผู้ชมเห็นอีกฉากนั้นคือลอร์เรนฉากนี้สะท้อนให้เห็นจริยธรรมของเอ็ดที่มีสำนึกของการปราบ ฆ่าล้างอยู่ภายใน

The Conjuring

The Conjuring : The Devil Made Me Do It จึงตั้งคำถามกับผู้ชมด้วยการให้เห็นความจริงที่มากกว่าหนึ่งแบบของเหตุการณ์โดยแต่ละคนตัดสินใจในความจริงส่วนตน และคำถามสำคัญของเรื่องนี้คือ หากเราไม่มีจินตนาการแห่งความรุนแรง หากมนุษย์ไม่โมโหโกรธาเมื่อมีชายหนุ่มมาโอบแฟนสาวเรา หากมนุษย์ไม่กลัวปีศาจถึงขนาดอยากปราบ มนต์มารอาถรรพ์ในเรื่องนี้จะมีอิทธิฤทธิ์อีกหรือไม่ เมื่อ “The Devil Made Me Do It” นั้นไม่ใช่การบงการแต่คือการขุดความปรารถนาที่สะท้อนให้เห็นว่าในใจของตัวละครในเรื่องมีความรุนแรงแอบซ่อนอยู่ ปีศาจเพียงขุดมาโชว์ผู้ชมและหยอกล้อกับผู้ชมที่กำลังชมภาพยนตร์ “สยองขวัญ” ที่มักเป็นประเภทที่มีความรุนแรง เลือดเนื้อ สะเทือนความรู้สึก การ Made Me Do It คือการบงการจริงหรือ? หรือเป็นเพียงข้ออ้างทางศีลธรรมของตัวละครในเรื่องที่ลึก ๆ ไม่สามารถรับตนเองได้เมื่อต้องการใช้ความรุนแรง

ความแตกต่างอย่างมากของภาคนี้คือศัตรูสุดท้ายของสองสามี-ภรรยาวอร์เรนไม่ใช่ผีห่าซาตานหัวโจกในตำนานใหญ่โตแต่คืออาถรรพ์แม่มดที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน ทำให้สามารถฉุกคิดขึ้นได้ว่า…

“หากอำนาจของปีศาจคือการรีดความรุนแรงจากมนุษย์ เราควรกลัวสิ่งใดมากกว่ากัน”

Fact File

  • The Conjuring : The Devil Made Me Do Itนับเป็นภาพยนตร์ลำดับที่ 7 ใน“จักรวาลคอนเจอริ่ง” แฟรนไชส์ภาพยนตร์สยองขวัญที่กวาดรายได้จากทั่วโลกมาแล้วกว่า 1.8 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ โดยไล่เรียงจาก เดอะ คอนเจอริ่ง สองภาคแรก ตุ๊กตาผี (Annabelle) แอนนาเบลล์ กำเนิดตุ๊กตาผี (Annabelle: Creation) เดอะ นัน (The Nun) และ แอนนาเบลล์ ตุ๊กตาผีกลับบ้าน (Annabelle Comes Home)
  • รับชมได้ทาง HBO GO

Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน