เบื้องหลังงานแปล “ฃุนน้อย” เจ้าชายน้อย ฉบับลายสือไท ย้อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง
Lite

เบื้องหลังงานแปล “ฃุนน้อย” เจ้าชายน้อย ฉบับลายสือไท ย้อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง

Focus
  • พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำ ฃุนน้อย เจ้าชายเวอร์ชันอักษรลายสือไท ย้อนสมัยพ่อขุนรามคำแหง
  • ฃุนน้อย ฉบับ ลายสือไทและภาษาถิ่นสุโขทัยความหนา 143 หน้า พิเศษกับการจัดทำเวอร์ชันหนังสือเสียง ให้ได้ฟังภาษาถิ่นสุโขทัยประกอบดนตรีพื้นถิ่น

“แล้วนี่ก็คือความลับที่แสนจะธรรมดาฃองกู เอ่อฃองฃ้าละไอ้หนู คือมีแต่หัวใจเท่านั้นละเน้อ ที่จะทำให้เรามองเห็นกันในยามที่เราอยู่ไกลกันอ้ะ สิ่งที่มันลึกซึ้งจนถึงก้นบึ้งฃองหัวใจหนะ เราไม่อาจมองเห็นมันด้วยตาหรอกหนา สิ่งที่มันลึกซึ้ง เราไม่อาจมองเห็นมันได้ด้วยตา”

นี่คือประโยคคลาสสิกว่าด้วย ความลับแห่งชีวิต จากวรรณกรรมชื่อดังก้องโลก เจ้าชายน้อย แต่ครั้งนี้อาจจะฟังแล้วแปร่งหูไปจากทุกที เพราะนี่คือ เจ้าชายน้อย ฉบับลายสือไท และภาษาถิ่นสุโขทัย ในชื่อ ฃุนน้อย สำนวนแปลโดย เคียง ชำนิ โดยอ้างอิงจากเจ้าชายน้อยต้นฉบับภาษาไทย สำนวนแปลของ อริยา ไพฑูรย์ และท้าวน้อยเจ้าชายน้อยต้นฉบับภาษาลาวสำนวนแปลของ สีสะเหลียว สะแหวงสึกสา อีกทั้งยังได้เทียบเคียงกับต้นฉบับภาษาฝรั่งเศสที่เขียนโดย อองตวน เดอ แซงเต็กซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry)

เจ้าชายน้อย
ภาพจากหนังสือ ฃุนน้อย

เจ้าชายน้อย ถือเป็นหนึ่งในหนังสือขายดีระดับโลกที่มีการแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากที่สุดเล่มหนึ่งของโลกเช่นกัน นอกจากจะแปลในกลุ่มภาษาหลักของประเทศต่าง ๆ แล้ว เจ้าชายน้อยยังถูกแปลในสำนวนภาษาถิ่นของชนชาติต่าง ๆ รวมไปถึงชนพื้นถิ่นกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งทำให้เจ้าชายน้อยเวอร์ชันภาษาถิ่นกลายเป็นที่ต้องการในวงการนักสะสมหนังสือ เช่น ภาษาเคิร์ด ภาษาปกาเกอะญอ ภาษาทิเบต ภาษาซองคา (ภูฏาน) ภาษายาวี ภาษาอัมฮาริก (ภาษาประจำชาติของเอธิโอเปีย) ภาษาทูอาเร็ก (กลุ่มชนร่อนเร่ในทะเลทรายซาฮารา) ภาษาอาราเนส (ภาษาถิ่นในหุบเขาอารานแห่งคาตาโลเนีย หรือกาตาลุญญา ที่มีผู้พูดอยู่เพียง 2,000 คน) รวมไปถึงมีการย้อนอดีตแปลด้วยภาษาที่ตายไปแล้ว เช่น ภาษาอียิปต์โบราณ และมีการแปลด้วยภาษาที่คิดขึ้นมาใหม่ เช่น ภาษาออเรเบช ที่ใช้ในภาพยนตร์สตาร์ วอร์ส

สำหรับฃุนน้อย เจ้าชายน้อย ฉบับลายสือไท ที่พาย้อนไปในสมัยพ่อขุนรามคำแหงเล่มนี้ถูกถ่ายทอดในภาษาถิ่นสุโขทัยด้วยอักษร ลายสือไท สมัยสุโขทัย มีครบทั้งอักษร คำศัพท์ ภาพ และสำเนียง จัดทำและจัดพิมพ์โดย พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยแพร่ผ่านระบบออนไลน์ให้ผู้อ่านได้สัมผัสอรรถรสของ เจ้าชายน้อย ในภาษาถิ่นที่ย้อนให้คิดถึงต้นกำเนิดภาษาไทย โดย เจ้าชายน้อย ฉบับลายสือไท เวอร์ชันนี้มีให้ได้เลือกทั้งในรูปแบบของหนังสือดิจิทัลและพิเศษคือการรับฟังเนื้อหาเป็นสำเนียงภาษาถิ่นสุโขทัยผ่านทางหนังสือเสียง (Audio Book) ที่มีการออกแบบดนตรีประกอบเฉพาะถิ่นโดย อานันท์ นาคคง รวมทั้งสามารถเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการออนไลน์ที่เกี่ยวกับการแปล ฃุนน้อย ผ่านเว็บไซต์ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ (https://museum.socanth.tu.ac.th) เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและที่มาของงานแปลฉบับพ่อขุนรามคำแหง ทั้งยังมีการเทียบเคียงคำแปลในภาษาวัฒนธรรมอื่น ๆ ให้ได้เห็นโครงสร้างวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านการใช้ระบบภาษาเช่น ไทย ลาว พม่าและภาษาคำเมืองล้านนา

เจ้าชายน้อย ฉบับลายสือไท
จารึกที่จำหลักบนหินชนวน 
ภาพจำหลักบนหินชนวน วัดศรีชุม ที่นำมาเป็นแรงบันดาลใจในงานภาพประกอบ

ด้านที่มาของ ฃุนน้อย ฉบับพ่อขุนรามคำแหงนั้นเป็นการต่อยอดจากนิทรรศการ เจ้าชายน้อย : หนังสือ ของสะสมและการสนทนาข้ามวัฒนธรรม ซึ่งจัดขึ้นเมื่อพ.ศ.2563โดยจุดประสงค์หลักของการจัดทำเพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้ภาษาถิ่นสุโขทัยที่มีคำพิเศษและออกเสียงเฉพาะที่ต่างออกไป สร้างความภาคภูมิใจในมรดกวัฒนธรรมท้องถิ่นพร้อมทั้งส่งเสริมความเข้าใจความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์และวัฒนธรรม เรียกได้ว่าเป็นการเปิดบทสนทนาข้ามพื้นที่ ข้ามวัฒนธรรม (ฝรั่งเศส-ไทยภาคกลาง-ท้องถิ่นสุโขทัย) และข้ามเวลาที่ไม่ใช่แค่ตัวอักษร ทว่ายังมีการใช้ภาพประกอบที่เป็นการผสมผสานภาพต้นฉบับเจ้าชายน้อยที่หลายคนรักและการใช้ลายเส้นที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพชาดกในสมัยสุโขทัย หรืออย่างภาพประกอบสำหรับปกหน้าและปกหลังของ ฃุนน้อย ก็ได้อ้างอิงลายเส้นภาพวาดจากจำหลักหินวัดศรีชุม หลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เก่าแก่ของสุโขทัยรวมทั้งการใช้รูปแบบอักษร (ฟอนต์) พิเศษชื่อ “รามจารึก”(Ram Chareuk) ซึ่งเป็นฟอนต์ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่โดยอ้างอิงจากหลักศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 เช่นกัน

เจ้าชายน้อย ฉบับลายสือไท
หลักศิลาจารึกสมัยสุโขทัย จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

เสน่ห์ของ ฃุนน้อย ไม่ใช่แค่สำเนียงการพูดที่ต่างออกไป แต่ผู้อ่านและผู้ฟังยังจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของอาณาจักรสุโขทัยเริ่มจากการใช้คำสรรพนามเพื่อเรียกแทนตัวเองและคู่สนทนาว่า “มึง-กู” (ในฉบับแปลภาษาไทยสำนวนอื่น ๆ ไม่ใช้คำว่า มึง-กู) เพื่อย้อนถึงสำนวนที่ปรากฏจริงอยู่บนจารึกสุโขทัย นอกจากนั้นยังมีคำว่า “ต้นเบาบับ” ที่ปรากฏในเนื้อเรื่องเจ้าชายน้อยต้นฉบับฝรั่งเศส เป็นคำเรียกต้นไม้ท้องถิ่นทวีปแอฟริกา และเมื่อถูกแปลเป็นภาษาไทย นิยมใช้ คำว่า “ต้นไทร” แต่ในฉบับภาษาถิ่นสุโขทัย แปลต้นเบาบับ เป็น “ต้นง้าวยักษ์” ตามชื่อเรียกต้นไม้ท้องถิ่นของสุโขทัย ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับต้นเบาบับ หรือ คำว่า “สุนัขจิ้งจอก” ตัวละครสำคัญในเรื่อง เมื่อถูกแปลเป็นภาษาลาว ถูกแทนด้วยคำว่า “เหง็น” หรือ “อีเห็น” สัตว์ที่มีพฤติกรรมเป็นนักล่าเหมือนสุนัขจิ้งจอก เป็นต้น

สำหรับภารกิจการแปล เจ้าชายน้อย ฉบับลายสือไท ข้ามกำแพงภาษาและวัฒนธรรม ย้อนยุคสู่กำเนิดอักษรไทยครั้งนี้ ได้ เคียง ศิริ บัณฑิตสาขาประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง มาถ่ายทอดเขาเป็นผู้มีความสนใจและเชี่ยวชาญในด้านภาษา ดนตรี (ปี่พาทย์) และวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่สำคัญคือเป็นชาวสุโขทัยโดยกำเนิดที่เข้าใจสำนวน ศัพท์เฉพาะท้องที่เป็นอย่างดีปัจจุบัน เคียง ศิริ เป็นครูสอนที่โรงเรียนไกรในวิทยาคมรัชมังคลาภิเษก อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย

เจ้าชายน้อย ฉบับลายสือไท
อักษรลายสือไท

กำเนิด ลายสือไท อักษรไทยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง

ย้อนไปเมื่อ พ.ศ.1826 ลายสือไท ถือกำเนิดขึ้นและเป็นต้นแบบของอักษรไทยในปัจจุบัน โดยมี พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์พระร่วง กรุงสุโขทัย เป็นผู้โปรดฯ ให้ประดิษฐ์ตัวอักษรที่มีเอกลักษณ์แตกต่างอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับจากอักษรที่มีใช้อยู่เดิมในพื้นถิ่นสุโขทัยสมัยนั้นซึ่งเป็นอักษรขอม อักษรมอญ ที่พัฒนามาจากต้นแบบดั้งเดิมอักษรโบราณของอินเดียอีกทอดหนึ่ง

คุณลักษณะของอักษรหรือลายสือไทที่แตกต่างจากต้นทางอินเดีย ขอม มอญ อย่างชัดเจน ได้แก่ อักษรแต่ละตัวแยกกันเป็นอิสระ และมีลักษณะเฉพาะของแต่ละตัว ด้านการเขียนรูปสระ อิ อี อุ อู วางไว้ในบรรทัดเดียวกับพยัญชนะ และขนาดของสระเท่ากับตัวพยัญชนะ (ก่อนที่ยุคหลังจะพัฒนาให้เขียนสระ อิ อี อุ อู ไว้บรรทัดบนหรือล่างของพยัญชนะ แบบภาษาไทยในปัจจุบัน) สุดท้ายคือการกำหนดสัญลักษณ์ที่เรียกว่า “วรรณยุกต์” เขียนกำกับไว้บนพยัญชนะเพื่อให้ออกเสียงคำที่แตกต่างกัน โดยในยุคเริ่มต้นลายสือไทมีอักษรทั้งหมด 61 ตัว แบ่งเป็น พยัญชนะ 39 ตัว สระ 20 ตัว และวรรณยุกต์ 2 ตัว

ทั้งนี้การประกาศใช้ ลายสือไท ที่ใช้เรียกตัวอักษรไทยในยุคนั้นปรากฏเป็นหลักฐานอยู่บนศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 หรือที่เราคุ้นเคยเรียกว่า ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงซึ่งต่อมาในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็น “เอกสารมรดกความทรงจำโลก” โดยองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ปัจจุบันศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงที่จึกด้วยลายสือไทจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพฯ

Fact File

  • ฃุนน้อย ฉบับ ลายสือไทและภาษาถิ่นสุโขทัยความหนา 143 หน้า (รวมปกหน้า-หลัง) ผู้แปล เคียง ชำนิ, บรรณาธิการเล่ม สุดแดน วิสุทธิลักษณ์, ออกแบบอักษรลายสือไท (รูปแบบอักษร “รามจารึก” ) พันโทเชาวน์ วัตถพาณิชย์, ออกแบบปกและรูปเล่ม วัจนา ลือวัฒนานนท์
  • ฟังหนังสือเสียง ฃุนน้อยในฉบับแปลเป็นภาษาถิ่นและสำเนียงสุโขทัย https://bit.ly/3Kjj0ot
  • อ่านฃุนน้อยในฉบับแปลเป็นภาษาถิ่นและสำเนียงสุโขทัยhttps://bit.ly/3KrsEFG
  • นิทรรศการออนไลน์ฃุนน้อย https://bit.ly/3fEXDA3
  • พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เปิดทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.30-15.30 น. ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ facebook.com/SocAnthTUMuseum

อ้างอิง


Author

ทศพร กลิ่นหอม
นักเขียนสายบันเทิง สังคม ท่องเที่ยว และไลฟ์สไตล์ เคยประจำการอยู่ที่ เมเนจเจอร์ออนไลน์ นสพ.กรุงเทพธุรกิจ และรายการ ET Thailand ปัจจุบันรับจ้างทั่วไป