ศิริวร แก้วกาญจน์ ส่ง เดฟั่น นวนิยายท้าทายประวัติศาสตร์รัฐชาติ คว้าซีไรต์ 2564
Lite

ศิริวร แก้วกาญจน์ ส่ง เดฟั่น นวนิยายท้าทายประวัติศาสตร์รัฐชาติ คว้าซีไรต์ 2564

Focus
  • ศิริวร แก้วกาญจน์ นักเขียนรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ก่อนหน้านี้ผลงานของศิริวรได้รับคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) มากถึง 8 ครั้ง
  • ศิริวร แก้วกาญจน์ ส่งผลงานนวนิยายที่ชื่อ เดฟั่น โดยผจญภัยสำนักพิมพ์ คว้า ซีไรต์ ประจำปี 2564 

ประกาศผลอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์แห่งอาเซียน หรือ ซีไรต์ ประจำปี 2564  ประเภทนวนิยาย โดยผู้ที่คว้ารางวัลซีไรต์ ประจำปี 2564 ไปครอง ได้แก่ ศิริวร แก้วกาญจน์ กับผลงานที่ชื่อ เดฟั่น กับเรื่องราวของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี ที่เดินทางสู่ชายแเดนภาคใต้ของประเทศแถบทะเลอันดามัน เมื่อครั้งบรรพบุรุษรุ่นปู่ทวดที่เริ่มตั้งรกรากบนพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ราว 112 ปี ก่อน โดยเรียกชื่อชุมชนเล็ก ๆ ตามสภาพดินฟ้าอากาศว่า ‘หมู่บ้านฝนแสนห่า’ จากรุ่นสู่รุ่นจนถึง ‘เดฟั่น’ชั้นเหลน ที่กลายเป็น ‘หมู่บ้านกระสุนแสนห่า’ อย่างน่าหดหู่

เปี่ยมไปด้วยความอหังการของทั้งเผ่าพันธุ์ของตัวละครทั้งหมดและตัวผู้เขียนที่ส่งพลังออกมาเต็มที่

สกุล บุณยทัต นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ พ.ศ.2564 ให้ความเห็นถึงนวนิยายเรื่อง เดฟั่นที่ไม่ได้มีแต่ความงดงามทางภาษา และการเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิงแบบ สัจนิยมมหัศจรรย์ (magical realism) เท่านั้น แต่ผู้เขียนยังสามารถสะท้อนภาพความหม่นหมองของประวัติศาสตร์พื้นถิ่นได้ออกมาอย่างมีชีวิตและมีความงาม ทั้งให้ผู้อ่านได้ตระหนักว่า ท่ามกลางการเกิดและการผลิตขึ้นของประวัติศาสตร์ชาติกระแสหลักที่เรารับรู้ ยังมีประวัติศาสตร์พื้นถิ่นที่ถูกกลับด้าน และไม่ถูกพูดถึงอีกมาก

ศิริวร แก้วกาญจน์ เดฟั่น

เช่นเดียวกับ รศ. ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์สร้างสรรค์แห่งอาเซียน พ.ศ.2564 ที่กล่าวถึงเดฟั่นว่า เป็นการใช้วรรณกรรมมาทำหน้าที่ต่อรองกับประวัติศาสตร์ของรัฐชาติ

“ภาพรวมของเรื่องเล่นกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ลืมเลือน เล่าผ่านความทรงจำที่ถูกทำให้ลืม เป็นการสร้างวาทกรรมท้องถิ่นขึ้นมาเพื่อต่อรองกับเรื่องเล่ากระแสหลัก หรือประวัติศาสตร์ชาติ เป็นเรื่องเล่าเล็กๆ ปลีกย่อย เรื่องเล่าชายขอบที่ทำหน้าที่ปฏิเสธเรื่องเล่าแม่แบบ นั่นก็คือประวัติศาสตร์ของรัฐชาติ”

ในด้านกลวิธีการเล่าเรื่อง ผู้เขียนใช้รูปแบบสัจนิยมมหัศจรรย์เล่าตํานานลัทธิบูชาวีรบุรุษ นําเรื่องเล่ามาเชื่อมโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ เหตุการณ์บ้านเมืองแต่ละยุคสมัยได้อย่างแม่นยํา แหลมคม กลมกลืน และกระชับ ซึ่งระหว่างทางมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย เหมือนเป็นการปะชุนปะติดปะต่อและทบทวนประวัติศาสตร์มิให้หลงลืมหรือถูกบิดเบือนจนบิดเบี้ยว

“เดฟั่นจําไม่ได้” วลีที่กล่าวซ้ำ ๆ ตลอดการเดินทางของนวนิยายเรื่องนี้ นัยหนึ่งคือ การสูญเสียความทรงจําของเดฟั่น เพราะถูกกระทําซํ้า ๆ ทั้งร่างกายจิตใจจาก ‘ทางการ’ หรืออํานาจรัฐ ที่แฝงตัวเข้าไปในหมู่บ้าน สร้างความแตกแยกแล้วทําลายด้วยการยัดเยียดข้อหาร้ายแรง และเดฟั่นก็เปรียบเสมือนตัวแทนชาวบ้านผู้ถูกกระทํานั้นด้วย

อีกนัยหนึ่งนวนิยายเรื่องนี้ถือเป็นการยั่วล้อประวัติศาสตร์ที่มักถูกทําให้ลืมหรือบิดเบือนจากผู้กุมอํานาจจนประวัติศาสตร์ชํารุดแหว่งวิ่นไม่มีที่สิ้นสุดสําหรับชั้นเชิงวรรณศิลป์ นอกจากเสน่ห์แพรวพราวในรูปแบบเรื่องเล่าที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ได้อย่างไหลลื่นแล้ว ความโดดเด่นอีกด้านดูเหมือนว่าผู้เขียนจงใจแบ่งซอยเรื่องราวเป็นบทสั้น ๆ ตัดย่อหน้าฉับ ๆ ด้วยรูปประโยคคมคาย ภาษากระชับ ขับเน้นความเข้มข้น ฉายภาพเหตุการณ์อันเป็นโศกนาฏกรรม และเห็นความสะเทือนใจอย่างทรงพลัง

ภาพ : ผจญภัยสำนักพิมพ์, ซีไรต์

Fact File

เดฟั่น

ผู้เขียน : ศิริวร แก้วกาญจน์

สำนักพิมพ์ : ผจญภัยสํานักพิมพ์


Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์