Home Sweet Home ถึง “ท่อนแขนนางรำ” รำไทยในความสยองที่มาก่อนกาลของ มนัส จรรยงค์
Lite

Home Sweet Home ถึง “ท่อนแขนนางรำ” รำไทยในความสยองที่มาก่อนกาลของ มนัส จรรยงค์

Focus
  • ท่อนแขนนางรำ เรื่องสั้นสยองขวัญ หนึ่งในผลงานยอดเยี่ยมของราชาเรื่องสั้น มนัส จรรยงค์ ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2493
  • เกมผี Home Sweet Home เกมสยองที่สร้างโดยเกมเมอร์สัญชาติไทย โดยใช้ฉากเกี่ยวกับวงดนตรีไทย ผีนางรำไทยมาใส่ในเกม

ประเด็นร้อนเรื่องการอนุรักษ์ท่ารำไทยให้อยู่ในกรอบของขนบดั้งเดิมถูกพูดถึงอีกครั้งเมื่อกระทรวงวัฒนธรรมสั่งห้ามนำท่ารำไทยใส่ลงในเกมผี Home Sweet Home ด้วยเหตุผลเพราะอาจทำให้คนหวาดกลัวรำไทย คำถามหนึ่งที่หลายคนค้างคาใจคือทำไมหนังสยองขวัญ วรรณกรรมสยองขวัญถึงนำนางรำ ท่ารำไทย มาใส่ไว้ได้ แต่ Home Sweet Home ถึงทำไม่ได้ จนทำให้ผู้สร้างเกมต้องตัดสินใจสร้างท่ารำต่างๆ ขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในอดีตก็จะเห็นได้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการนำรำไทยมาต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ ในงานวรรณกรรม เรื่องสั้นชิ้นเยี่ยมของนักเขียนไทยชั้นครูหลายคนก็ได้นำความสยองของนางรำ ท่ารำ เรื่องลึกลับ ลี้ลับของเครื่องดนตรีไทย วงดนตรีไทย นาฏศิลป์ไทยมาเป็นคีย์หลักในการเล่าเรื่องอยู่เสมอ เรียกได้ว่านำรสชาติความสยองเป็นตัวดึงความสนใจในวัฒนธรรมหลักก็ว่าได้

เกม Home Sweet Home

เช่นเดียวกับ ท่อนแขนนางรำ ของราชาเรื่องสั้น มนัส จรรยงค์ ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2493 (เล่มที่อ้างในบทความนี้ พิมพ์โดยสำนักพิมพ์กำแพง ตีพิมพ์ ปีพ.ศ.2535) พร้อมโปรยที่เชิญชวนแก่ผู้อ่านว่า “ความงาม ความรัก และโศกนาฎกรรม” 

ท่อนแขนนางรำ เคยอยู่ในลิสต์เรื่องสั้นสุดสยองแห่งยุค โดย มนัส จรรยงค์ เขียนเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นเล็กๆ ของ อ้ายโหงด ชายพิการรูปชั่วตัวดำ ลูกชายครูดนตรีและพิณพาทย์ที่แอบหลงรัก ผกา นางรำประจำวง ผู้เป็นเหมือนน้องสาวบุญธรรมของอ้ายโหงด วันหนึ่งผกาพบรักกับนายฟ้อนหนุ่มหัวหน้าวงพิณพาทย์ต่างถิ่น และวางแผนจะแต่งงานกัน แต่ความหึงหวงทำให้อ้ายโหงดล่อลวงผกาไปฆ่าเสียก่อน โดยตัดเอาเฉพาะท่อนแขนของผกามาย่างไฟแล้วเอากระดูกที่มีกำลังทองแนบเป็นเนื้อเดียวกันประจุเป็น “กลองทัด” คู่ใหม่ตามที่อ้ายโหงดเคยคำรามร้องไว้ว่า “กูจะประจุความรักของกูไว้ในกลอง”

ท่อนแขนนางรำ บทวิจารณ์โดย นพพร ประชากุล ซึ่งตีพิมพ์ใน นิตยสารสารคดี ฉบับกรกฎาคม 2539 คอลัมน์ “คนหนังสือ”ได้กล่าวถึงวิธีการเขียนท่อนแขนนางรำ ของมนัส จรรยงค์  ไว้ว่าเป็นเรื่องสั้น พล็อตว่าด้วย “ฆ่าเพราะรักไม่สมหวัง” การผูกเรื่องที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับ “เรื่องเล่าปากเปล่าแบบพื้นบ้าน”  แต่ความโดดเด่นของเรื่องสั้นเรื่องนี้ คือ รสชาติของความสยอง ซึ่งเป็นรสนำ เจือด้วยรสรัก และรสโศก ดังที่สำนักพิมพ์กำแพง ผู้ตีพิมพ์ หนังสือรวมเรื่องสั้นชุด “ท่อนแขนนางรำ”  ฉบับปี พ.ศ.2535  ได้โปรยไว้ว่า  “ความงาม ความรัก และโศกนาฎกรรม” 

ปัจจุบันเรื่อง ท่อนแขนนางรำ ตีพิมพ์ในหนังสือ ซาเก๊าะ และรวมเรื่องเอก ของ มนัส จรรยงค์

รสชาติความน่ากลัว ใน “ท่อนแขนนางรำ” เป็นผลมาจากความน่าเกลียดน่าชังของตัวละครเอก “อ้ายโหงด” ซึ่งถูกสร้างให้มีรูปลักษณ์ภายนอกอัปลักษณ์ อีกทั้งยังพฤติกรรมไม่ดีในแบบตัวละคร “รูปชั่วแล้วยังใจทราม”  การเขียนของมนัส จรรยงค์ ให้บรรยากาศขรึมๆ ทึมๆ และการบรรยายฉาก “ตัดแขน”  และ “ย่างแขน”  เพื่อนำกระดูกมาบรรจุในกลองนั้นได้อารมณ์หวาดเสียว ใช้รสสยองมาเป็นจุดไคลแม็กซ์

นอกเหนือจากจุดเด่นของภาษาที่ให้อารมณ์ความรู้สึกน่ากลัวและสยองแล้ว เรื่องสั้นเรื่องนี้เมื่อมองในเชิงมานุษยวิทยา  จะเห็นร่องรอยของความผูกพันของมนุษย์ที่มีต่อแบบแผนดั้งเดิมทางสังคม แฝงเนื้อหาที่สะท้อนถึง “แบบแผนเบื้องต้นที่มนุษย์ใช้ในการจัดการสังคมและธำรงรักษาไว้ให้อยู่รอด เช่น การแบ่งแยกคู่ตรงข้าม ความดีกับความชั่ว ความปกติกับความผิดแปลก

พล็อตเรื่องสั้น ท่อนแขนนางรำ เกาะอยู่กับปมด้อยของอ้ายโหงดผู้อัปลักษณ์  รักสามเส้า และความเคียดแค้น 

การเสนอสภาพความอัปลักษณ์และพฤติกรรมของอ้ายโหงด เป็นตัวแทนของปัจจัยแปลกแยก ขัดแย้งชัดเจนกับความงามของนางรำ (ผกา) และความรักที่ดูเหมาะสมงดงามระหว่าง ผกากับหัวหน้าวงพิณพาทย์คนนั้น  ที่คุกคามตรรกะหรือแบบแผนอันเก่าแก่ดั้งเดิมที่ชุมชนมนุษย์สร้างขึ้นเพื่อดำรงความอยู่รอด 

เมื่อสังคมหรือชุมชนประสบกับภาพจำลองของการคุกคามแบบแผนเก่าแก่นั้น  จึงเกิดความรู้สึกหวาดกลัวขึ้น   

ไม่ใช่เพียงโศกนาฎกรรมในชีวิตมนุษย์ที่แสนสะพรึงเท่าน้ั้น แต่นัยยะเชิงมานุษยวิทยาเรื่องนี้ยังเกี่ยวกับ “การอยู่รอดของวงพิณพาทย์”  ที่เป็นสิ่งแปลกแยกในชุมชน เพราะที่มาของพิณพาทย์มาจากจากเมืองกรุง จากในวัง จากชนชั้นสูง ที่หวังจะมากลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนท้องถิ่น ผ่านการผูกสัมพันธ์กับนางรำผกานั้นก็ถูกคุกคามและถูกดับฝันไปเพราะเหตุการณ์สยองจากงจากน้ำมืออ้ายโหงดด้วย

Fact File

  • อ่านบทวิจารณ์ฉบับเต็ม “ท่อนแขนนางรำ ความสยองในเชิงมานุษยวิทยา” โดย นพพร ประชากุล  คอลัมน์ “คนหนังสือ” ได้ใน นิตยสารสารคดีฉบับห้องสมุดออนไลน์ สมัครสมาชิกและทดลองอ่าน คลิก http://www.sarakadeesearch.com/
  • ปัจจุบันเรื่อง ท่อนแขนนางรำ ตีพิมพ์ในหนังสือ ซาเก๊าะ และรวมเรื่องเอก ของ มนัส จรรยงค์ สำนักพิมพ์ศรีปัญญา

ต้นเรื่อง : นิตยสารสารคดี กรกฎาคม 2539