7 ไฮไลต์ วัดประยุรวงศาวาส ชมเจดีย์อยุธยาโบราณหนึ่งเดียวในไทย จุดกำเนิดผ่าตัดครั้งแรกในสยามของหมอบรัดเลย์
Lite

7 ไฮไลต์ วัดประยุรวงศาวาส ชมเจดีย์อยุธยาโบราณหนึ่งเดียวในไทย จุดกำเนิดผ่าตัดครั้งแรกในสยามของหมอบรัดเลย์

Focus
  • วัดประยุรวงศาวาส สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 โดย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อ พ.ศ.2371 ซึ่งในอดีตชาวบ้านเรียกว่า “วัดรั้วเหล็ก” ตามรั้วเหล็กสีแดงที่นำเข้ามาจากอังกฤษ
  • พระบรมธาตุเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมสร้างแบบอยุธยาโบราณที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ด้านการอนุรักษ์จากองค์การยูเนสโก
  • วัดยังเป็นจุดกำเนิดของการผ่าตัดตามหลักวิชาการแพทย์แผนตะวันตกโดย หมอบรัดเลย์ ในเหตุการณ์ปืนแตกและมีผู้บาดเจ็บในงานวัดเมื่อ พ.ศ. 2379

“ขวาน 30,000 ปืน 3 กระบอก หอก 300,000” คือคำกล่าวถึง วัดประยุรวงศาวาส วัดสำคัญที่ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งธนบุรีซึ่งในอดีตชาวบ้านเรียกว่า “วัดรั้วเหล็ก” เนื่องจากมีรั้วเหล็กสีแดงทำเป็นรูปอาวุธโบราณ คือ หอก ดาบ และขวานโดยคาดว่ามีจำนวนลายรูปขวานราว 30,000 เล่มบนรั้วและรูปหอกที่ทำเป็นซี่รั้วอีกราว 300,000 ซี่ ส่วนปืน 3 กระบอก หมายถึง อนุสาวรีย์ปืนใหญ่ 3 กระบอกที่รำลึกถึงเหตุการณ์การผ่าตัดครั้งแรกในสยาม

วัดประยุรวงศาวาส

วัดประยุรวงศาวาส หรือเรียกสั้นๆว่า วัดประยูรฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหารและก่อสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 โดย สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เมื่อพ.ศ. 2371 วัดแห่งนี้มีความสำคัญทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ด้านสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นจากเจดีย์ทรงกลมแบบอยุธยาโบราณเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและได้รับรางวัลอนุรักษ์จากองค์การยูเนสโก รวมไปถึงด้านการแพทย์จากการเป็นจุดกำเนิดของการผ่าตัดตามหลักวิชาการแพทย์แผนตะวันตกโดย นายแพทย์แดน บีช แบรดเลย์ (Dan Beach Bradly) หรือ หมอบรัดเลย์ แพทย์มิชชันนารีชาวอเมริกันคนสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 3

วัดประยุรวงศาวาส

Sarakadee Lite ชวนเช็คอิน 7 จุดไฮไลต์วัดประยูรฯ ซึ่งตั้งอยู่ในย่านชุมชนกุฎีจีนย่านพหุวัฒนธรรมที่ผสมผสานหลากหลายศาสนาและเชื้อชาติในย่านฝั่งธนบุรี

วัดประยุรวงศาวาส

01 รั้วเหล็กแดงจากอังกฤษ ใช้น้ำตาลแลกมาแบบน้ำหนักต่อน้ำหนัก

รั้วเหล็กสีแดงที่โดดเด่นของ วัดประยุรวงศาวาส เป็นรั้วเหล็กที่สั่งนำเข้ามาจากอังกฤษโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แต่ด้วยรั้วมีลวดลายเป็นอาวุธพระองค์ไม่โปรด สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์จึงขอพระราชทานรั้วเหล็กกลับมาสร้างเป็นกำแพงวัดทำให้ผู้คนในสมัยนั้นเรียกวัดนี้ว่า “วัดรั้วเหล็ก”

ในหนังสือประวัติ วัดประยุรวงศาวาส ที่จัดพิมพ์ขึ้นในพ.ศ.2471 ระบุว่า รั้วเหล็กนี้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์สั่งเข้ามาจากประเทศอังกฤษโดยใช้น้ำตาลทรายสินค้าส่งออกของสยามอันเป็นที่ต้องการของตลาดโลกในเวลานั้น แลกเปลี่ยนกันตามน้ำหนักกับรั้วเหล็กแบบ “น้ำหนัก ต่อน้ำหนัก” คือ รั้วเหล็กมีน้ำหนักมากเท่าใดก็ใช้น้ำตาลทรายน้ำหนักมากเท่านั้นแลกมา

วัดประยุรวงศาวาส

“คำที่ว่า ‘ขวาน 30,000 ปืน 3 กระบอก หอก 300,000’ คือสัญลักษณ์ของวัดประยุรวงศาวาส ปืน 3 กระบอกก็อย่างที่เห็น (ที่อนุสาวรีย์ปืนใหญ่ 3 กระบอก) ขวาน 3 หมื่นคือบนรั้วเนี่ยจะมีรูปขวานอยู่ 3 หมื่นเล่ม และหอก 3 แสนก็คือซี่ของรั้วเหล็กแท่งๆ นั่นคือนับจำนวนเลย” พระโสภณวชิรวาที (เจ้าคุณอาทิตย์) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสและเลขานุการศูนย์พระปริยัตินิเทศก์ กล่าว

วัดประยุรวงศาวาส

02 เจดีย์ทรงลังกา รางวัลอนุรักษ์ยอดเยี่ยมจากยูเนสโก

สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นของวัดคือ พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์องค์ใหญ่สีขาวทรงลังกาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เมตร สูง 60 เมตร มีเจดีย์เล็ก 18 องค์อยู่รายรอบและมีช่องคูหาเรียงรายล้อมรอบชั้นล่างพระเจดีย์ 54 คูหา สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เป็นผู้ริเริ่มสร้างเจดีย์แห่งนี้แต่ถึงแก่พิราลัยก่อนที่จะแล้วเสร็จ การสร้างดำเนินต่อไปโดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตจนเสร็จสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมี เสาแกนกลาง หรือเรียกว่า เสาครู ซึ่งมีความสูง 20 เมตร และหนัก 144 ตัน เป็นหลักในการก่อสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่อันเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมอยุธยาโบราณที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย

เสาแกนกลางนี้เคยล้มเอียงไปทางฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต่อมาจึงได้มีโครงการบูรณะเมื่อพ.ศ. 2549 และแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2554 โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยให้เสาแกนกลางกลับมาตั้งตรงโดยไม่ทำลายโครงสร้างเดิม โครงการอนุรักษ์นี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทปูชนียสถานและวัดวาอารามจากสมาคมสถาปนิกสยามเมื่อ พ.ศ.2554 และเมื่อ พ.ศ.2556 ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 (Award of Excellence) ด้านการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกจากองค์การยูเนสโกซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับรางวัลนี้

วัดประยุรวงศาวาส

การบูรณะในครั้งนั้นทำให้ค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมากซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระประยูรภัณฑาคารภายในวัด นอกจากนี้ยังมีพระบรมสารีริกธาตุที่ถูกเก็บรักษาไว้ในเจดีย์ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะ บริเวณเจดีย์ยังมีจุดชมวิวและจุดสำหรับถ่ายรูปสวยๆอีกด้วยโดยจะเปิดให้เข้าชมในเวลา 8.00 น-18:00 น. แต่ถ้าหากมีงานเทศกาลจะขยายเวลาเปิดให้เข้าชมถึงราว 22.00 น.

03 อนุสาวรีย์ปืนแตก จุดกำเนิดการผ่าตัดแบบตะวันตกครั้งแรกในสยาม

อนุสาวรีย์ปืนแตก หรือ อนุสาวรีย์ปืนสามกระบอก มีประวัติความเป็นมาที่สำคัญต่อวงการสาธารณสุข เพราะการผ่าตัดตามหลักวิชาการแพทย์แผนตะวันตกครั้งแรกในสยามโดย หมอบรัดเลย์ เกิดขึ้นที่ วัดประยุรวงศาวาส ในเหตุการณ์ปืนแตกเมื่อมีการจัดงานเฉลิมฉลองครั้งแรกของวัดในปี 2379 โดยมีการจารึกเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ไว้ที่อนุสาวรีย์ด้วย

เหตุการณ์ปืนแตกเกิดจากการจุดไฟพะเนียงด้วยปืนใหญ่เพื่อเฉลิมฉลอง แต่ปืนใหญ่สำหรับจุดไฟพะเนียงแตกและกระจายออกไปทำให้พระรูปที่เป็นคนจุดปืนเสียชีวิต 1 รูป อีกทั้งยังผู้เสียชีวิตอีก 7 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง หมอบรัดเลย์ซึ่งในขณะนั้นได้ร่วมกับคณะมิชชันนารีเปิดที่พักของตนเองให้เป็นโอสถศาลาบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาหน้าวัดและอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุเพียง 250 เมตร จึงได้ถูกตามตัวให้มารักษาผู้บาดเจ็บ มีพระภิกษุรูปหนึ่งกระดูกแขนแตกจำเป็นต้องตัดแขนทิ้งโดยการผ่าตัดครั้งนั้นประสบความสำเร็จด้วยดี ภายหลังเหตุการณ์นี้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์จึงได้ให้สร้างอนุสาวรีย์ปืนใหญ่ 3 กระบอกไว้ในบริเวณอุทยานเขามอเพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่ผู้เสียชีวิต

04 อุทยานเขามอ ถาวรวัตถุสำคัญของชาติ

เขามอ เป็นภูเขาจำลองขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นโดยจำลองมาจาก หยดเทียนขี้ผึ้ง ที่รัชกาลที่ 3 พระราชทานแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ผู้สร้างวัด หยดเทียนขี้ผึ้งดังกล่าวเกิดจากน้ำตาเทียนที่รัชกาลที่ 3 ทรงจุดขณะประทับอยู่ในห้องสรงภายในพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เมื่อน้ำตาเทียนละลายก็ทับถมเป็นก้อนชั้นขนาดใหญ่

เนื่องจากทรงจุดต่อเนื่องมาหลายต่อหลายปีดูแล้วให้นึกถึงภูเขาธรรมชาติที่เทือกเขาสลับซับซ้อนกันไปมา เมื่อสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ได้รับพระราชทานหยดเทียนขี้ผึ้งมาจึงได้นำเค้าโครงของหยดเทียนขี้ผึ้งนี้มาเป็นแบบสำหรับสร้างภูเขาจำลอง หรือเขามอแห่งวัดประยุรวงศาวาส ทั้งนี้กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนภูเขาจำลองหรือเขามอแห่งงวัดประยุรวงศาวาสเป็นถาวรวัตถุสำคัญของชาติ

เขามอที่นี่ยังเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เขาเต่า เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของเต่าจำนวนมากและมีจุดจำหน่ายอาหารเต่า นับเป็นอีกจุดเช็คอินที่สามารถนั่งพักผ่อน ชมสวน และ ชื่นชมความงามของภูเขาจำลองที่สวยไม่แพ้ภูเขาจำลองอื่น ๆ ในไทยแน่นอน

05 วิหารหลวง สักการะ “พระพุทธนาค

ภายในพระวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธรูปที่รู้จักกันในชื่อ “พระพุทธนาค” ซึ่งเป็นพระปางมารวิชัยสมัยสุโขทัย โดยพระพุทธรูปองค์นี้ถูกเชิญมาจากจังหวัดสุโขทัยคู่กับ พระประธานในพระวิหารวัดสุทัศนเทพวรารามคือ “พระศรีศากยมุนี” หรือ “พระพุทธนาคใหญ่”

ดังนั้น “พระพุทธนาคน้อย” จึงเป็นชื่อเดิมที่คนมักเรียกพระพุทธนาคของวัดประยุรวงศาวาส พระพุทธนาคเป็นที่เคารพสักการะของทั้งพุทธศาสนิกชนชาวไทยและชาวจีน ด้วยเหตุนี้พระพุทธนาคจึงมีชื่อเรียกเป็นภาษาจีนด้วยว่า “ลักน้อย” แปลว่า กลีบบัว 7 ชั้น และคนนิยมมาขอพรเรื่องการเรียนและให้ประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ โดยมีเรื่องเล่าต่อกันมาถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้ว่าเมื่อครั้งที่วัดได้รับความเสียหายจากระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งพาไลและผนังพระวิหารถูกสะเก็ดระเบิดได้รับความเสียหาย หลังคาพังลงมาสิ่งของต่างๆ ในพระวิหารได้รับความเสียหายทั้งหมด หากแต่องค์พระพุทธนาคกลับไม่ได้รับอันตรายแต่อย่างใด

06 พิพิธภัณฑ์พระประยูรภัณฑาคาร อดีตห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในไทย

พิพิธภัณฑ์พระประยูรภัณฑาคารเป็นสถานที่เก็บโบราณวัตถุ พระพุทธรูป และ พระเครื่อง ที่พบในขณะบูรณะเจดีย์ของวัดเมื่อพ.ศ. 2549 ก่อนที่จะมาเป็นพิพิธภัณฑ์ สถานที่แห่งนี้คือ หอพรินทรปริยัติธรรมศาลา สำหรับพระภิกษุสามเณรศึกษาพระปริยัติธรรม

ต่อมาใน พ.ศ.2459 กระทรวงธรรมการ (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ) ได้ใช้หอพรินทรปริยัติธรรมศาลาเป็นห้องอ่านหนังสือสำหรับประชาชนในวัดเป็นแห่งแรก ซึ่งถือเป็น ห้องสมุดประชาชนแห่งแรกในประเทศไทย และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนอาคารหลังนี้เป็นศิลปโบราณสถานวัตถุของชาติใน พ.ศ.2492 นอกจากนี้ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงพระพุทธรูปโบราณและพระเครื่องจำนวนมากที่พบในกรุที่ 1 และที่ 2 ขององค์เจดีย์ รวมถึงพระพุทธรูปต่างๆที่ญาติโยมนำมาถวายให้แก่วัด

07 งานสมโภชเฉลิมฉลองวัดประยุรฯ งานวัดเก่าแก่เกือบ 200 ปี

งานสมโภชเฉลิมฉลองวัดประยุรวงศาวาส จัดครั้งแรกในวันที่ 13 มกราคม พ.ศ.2379 ในปีที่วัดสร้างเสร็จสมบูรณ์บนที่ดินซึ่งเดิมเป็นสวนกาแฟ ณ ตำบลกุฎีจีน ของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ขณะดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลัง

รัชกาลที่ 3 นอกจากจะทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภกในการทำนุบำรุงพระศาสนาและบูรณปฏิสังขรณ์วัดจำนวนมากแล้ว ยังทรงชักชวนเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีขุนนางชั้นผู้ใหญ่ให้ช่วยกันเกื้อกูลศาสนาด้วยจึงทำให้เกิดประเพณีนิยมการสร้างวัดในที่ดินของตนเพื่อใช้เป็นวัดประจำตระกูล เช่น เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ต้นสกุลสิงหเสนี ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสามปลื้มถวายเป็นพระอารามหลวง และได้รับพระราชทานชื่อว่า วัดจักรวรรดิราชาวาส ส่วน วัดประยุรวงศาวาส มีความหมายว่า “อารามแห่งวงศ์พระประยูรญาติ” สำหรับสกุลบุนนาค

Fact File

วัดแห่งนี้ยังมีชื่อเสียงเรื่องการเทศน์เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นดงนักปราชญ์ หรือ ดงนักเทศน์ ใครอยากมาเที่ยวชมวัดสวยๆ พร้อมฟังธรรมะเพื่อเป็นแนวปฏิบัติการดำเนินชีวิตแต่ละวันให้มีความสุข สามารถมาฟังได้ทุกวันพระตั้งแต่เวลา 9.00 น.-10:30 น. รายละเอียด www.facebook.com/Watprayoon


Author

เพชรดาว พัฒนบัณฑิต
ยังคงสนุกที่ได้เรียนรู้ ช่างภาพมือใหม่ที่อยากเดินทางเพื่อเล่าเรื่องราวผ่านการถ่ายภาพ และกำลังพัฒนาตนเองให้เป็นนักเขียนที่สร้างผลงานคุณภาพ