เธอกับฉันกับฉัน : ความสัมพันธ์ในวันที่โลกใกล้แตกสลาย
Lite

เธอกับฉันกับฉัน : ความสัมพันธ์ในวันที่โลกใกล้แตกสลาย

Focus
  • เธอกับฉันกับฉัน ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของพี่น้องฝาแฝด มี และ ยู ในปี ค.ศ.1999 ซึ่งโลกกำลังผวากับการเปลี่ยนฐานปีเข้าสู่ ค.ศ. 2000
  • ผลงานภาพยนตร์เกี่ยวกับฝาแฝดกำกับโดยพี่น้องฝาแฝด วรรณแวว และ แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ ที่เคยฝากฝีมือกับภาพยนตร์สารคดีการเดินทางแสนไกลจากอังกฤษสู่ไทยด้วยรถไฟมาแล้วใน WISH US LUCK ขอให้เราโชคดี

กระแส Y2K กลับมาอีกครั้งผ่านทั้งแฟชั่น เสียงเพลง ซีรีส์ และล่าสุดคือภาพยนตร์ เธอกับฉันกับฉัน เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของพี่น้องฝาแฝดวัยมัธยมต้น มี และ ยู (ใบปอ-ธิติยา จิระพรศิลป์) ในสถานการณ์โลกช่วงปี ค.ศ.1999 ตรงกับยุคที่ผู้คนทั่วโลกต่างหวาดผวากับกระแสการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปี ค.ศ. 2000 โดยคนกลุ่มหนึ่งเชื่อกันว่าจะเป็นปีที่ฐานข้อมูลของระบบคอมพิวเตอร์ทั่วโลกที่เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกันเช่นโทรศัพท์ ธนาคาร ไปจนถึงขีปนาวุธร้ายแรงอาจจะเกิดอาการระบบรวนแล้วพุ่งออกจากฐานทัพมาทำลายโลกจนสลายเป็นเสี่ยง สอดคล้องกับคำทำนายของลิทธิ ศาสตร์ต่างๆ นานาที่พร้อมใจกันเชื่อว่า ปี ค.ศ. 2000 จะเป็นปีแห่งวันสิ้นโลก โดยเรื่องราวของกระแสโลกเหล่านี้ถูกเล่าผ่านวิสัยทัศน์ของผู้กำกับพี่น้องฝาแฝด วรรณแวว และ แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ ที่เคยฝากฝีมือกับภาพยนตร์สารคดีการเดินทางแสนไกลจากอังกฤษสู่ไทยด้วยรถไฟมาแล้วใน WISH US LUCK ขอให้เราโชคดี และครั้งนี้ทั้งคู่ยังคงเอกลักษณ์การพาผู้ชมเข้าไปสำรวจการเดินทางของชีวิต จากตัวละครบนจอภาพยนตร์สู่ตัวละครในชีวิตจริงที่กำลังนั่งชมอยู่ ผ่านภาพยนตร์แนวโรแมนติกดราม่าอย่าง เธอกับฉันกับฉัน ซึ่งเป็นการออกเดินทางอีกครั้งที่น่าประทับใจเลยทีเดียว

เธอกับฉันกับฉัน

หนึ่งในความน่าสนใจของภาพยนตร์เธอกับฉันกับฉัน คือการเลือกฉากหลังในปีสุดท้ายของยุค 90’s มาเล่าประเด็นที่สอดคล้องกับโลกปัจจุบันที่กำลังได้รับการพูดถึง เช่น การเป็นวัยรุ่นท่ามกลางโลกที่สับสนอลหม่านจนทำให้ภาพอนาคตดูเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้หรือแทบจะเห็นอย่างเลือนลางมืดมน แม้จะต่างสถานการณ์ระหว่างปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในปัจจุบัน กับปัญหาเศรษฐกิจการเมืองในอดีตที่ภาพยนตร์พูดถึง แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อมความคิดทั้ง 2 ยุคไว้ได้อย่างแนบเนียนคือ จินตนาการถึงโลกที่ใกล้แตกและการมองเห็นอนาคตเพียงเฉดความมืดหม่น บรรยากาศดังกล่าวทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นอุปมาจิตใจและจินตนาการของวัยรุ่นที่สะท้อนถึงกันและกันระหว่างโลกบนจอภาพยนตร์และผู้ชมในยุคปัจจุบัน

การเล่าเรื่องเปรียบเทียบระหว่างปัญหาความสัมพันธ์กับวันโลกแตกเป็นอีกสิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้อย่างดี โดยเฉพาะฉากช่วงสุดท้ายที่ฝาแฝด ยู และ มี เปิดใจคุยกันถึงความสัมพันธ์ของพวกเธอและคนรอบตัวที่จะต้องเปลี่ยนไปด้วยการเปรียบเทียบกับการทักทายว่า “สบายดีไหม” ซึ่งคำพูดสั้นๆ นี้แฝงไว้ด้วยความกลัวว่าอีกฝ่ายจะตอบรับเพียง “สบายดี” โดยที่ไม่รู้ว่าหมายถึงฝ่ายนั้นจะสบายดีจริงๆ หรือเป็นเพียงคำตอบคำทักทายตามธรรมเนียม เพราะหากเป็นอย่างหลัง นั่นอาจหมายถึงคนถามไม่ได้อยู่ในโลกของคนตอบอีกต่อไปแล้วก็ได้ ทั้งๆ ที่ความเป็นฝาแฝดทำให้คนทั้งคู่เคยมีโลกที่ทับซ้อนซ่อนไว้ซึ่งกันและกัน

เธอกับฉันกับฉัน

และหากเสริมด้วยบทสนทนาที่ทั้งคู่คุยกันว่า “ถ้าใครตายไปก่อนคงแย่” เพราะอีกฝ่ายนึกไม่ออกเลยว่าจะอยู่ต่อไปอย่างไร แนวคิดดังกล่าวเสริมให้เห็นว่า โลกแห่งความสัมพันธ์มันได้สร้างตัวตนของเราขึ้นมาด้วย ความสัมพันธ์ไม่ใช่แค่ความผูกพันแต่ยังสร้างแนวทางชีวิตว่าบางครั้งมนุษย์ก็ต้องการมีชิวิตอยู่เพียงเพื่อได้อยู่กับใครอีกคน อยากใช้เวลาร่วมกันไปเรื่อยๆ ซึ่ง ยู และ มี ได้ใช้โจทย์เรื่อง ความสัมพันธ์ นี้ในการตีความหมายของชีวิต พวกเธอจึงจินตนาการถึงการที่ชีวิตต้องแยกจากกันตลอดกาลไม่ออก

ในภาพยนตร์เราจะได้เห็นความกลัวในทฤษฎีโลกแตกจากการที่ทั้งคู่อยากกักตุนของไว้เผื่อมีชีวิตรอดหลังวิกฤตจะได้มีกินจนไปถึงวันสุดท้ายของปีที่ทั้งคู่อาจจะตายพร้อมกันอย่างไม่ต้องกลัวอะไรอีกต่อไป ทั้งคู่ใช้วินาทีสุดท้ายของปี 1999 ด้วยการกอดกันไว้และยอมรับวันโลกแตกได้อย่างไม่ใช่ในฐานะโศกนาฏกรรม แต่เป็นในความหมายที่ว่า ถ้าตายพร้อมกันไปเลยก็คงไม่ต้องคาใจ และลบคำถามที่ว่า หากใครตายก่อนอีกคนจะอยู่อย่างไร ฉากสุดท้ายนี้จึงชวนจินตนาการเป็นอย่างยิ่งว่า ชีวิตของทั้งคู่จะเป็นอย่างไรต่อไป จะมีความสุขแบบที่ได้อยู่ด้วยกันอยู่ไหม หรือถ้าแยกกันอยู่แล้วทั้งคู่จะโศกเศร้าขนาดไหน ภาพยนตร์ไม่ได้สรุปอย่างเป็นรูปธรรมไว้ หากแต่ชวนคิดถึงการก้าวต่อไปของชีวิตที่บางครั้งเราอาจควบคุมอะไรไม่ได้เลย หรือบางปัญหาอาจทำได้เพียงรู้สึกกับสิ่งนั้นก็เท่านั้น

เธอกับฉันกับฉัน

เธอกับฉันกับฉัน จึงเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนหลายระดับตั้งแต่สังคมใหญ่ไปจนถึงความสัมพันธ์เล็กๆ ของคนสองสามคน แม้ภาพยนตร์จะเกี่ยวกับความสัมพันธ์เป็นหลัก แต่ก็มีการให้เหตุผลของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ของครอบครัว ยู และ มี ไว้ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวต้องเปลี่ยนไป ปัจจัยทางเศรษฐกิจจึงยิ่งใหญ่และเป็นหนึ่งในกลไกลควบคุมชีวิตผู้คนในสังคมไม่ว่าคนๆ นั้นจะเข้าใจกลไกการทำงานของมันหรือไม่ แต่สุดท้ายอิทธิพลของเศรษฐกิจก็เปลี่ยนชีวิตผู้คนมานับไม่ถ้วนรวมทั้งใน เธอกับฉันกับฉัน และเราทุกคน ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงชวนคบคิดไปตั้งแต่สภาพสังคมที่มอบทางเลือกอันคับแคบให้เราในยุคนี้ ไปจนถึงการให้ความหมายชีวิตจากความสัมพันธ์และชวนถามกลับมาที่ผู้ชมเองว่า…วันนี้เราให้ความสำคัญกับใครหรืออะไรกันบ้าง แล้วอะไรที่ทำให้เราจินตนาการถึงการมีชีวิตอยู่ หรือชีวิตอยู่ต่อไปไม่ได้หากโลกนี้ใจร้ายทำสิ่งเหล่านั้นขาดหายไปจากชีวิตตลอดกาล


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน