Khao San Hide and Seek เข้าซอยไปปลุกถนนข้าวสาร ในวันที่นักท่องเที่ยวเป็นศูนย์
Pic Talks

Khao San Hide and Seek เข้าซอยไปปลุกถนนข้าวสาร ในวันที่นักท่องเที่ยวเป็นศูนย์

Focus
  • Khao San Hide and seek l เข้าซอย ข้าวสาร จัดขึ้นเพื่อชวนคนไทยไปเที่ยวข้าวสาร ผ่านมุมมองใหม่ๆ ที่ความจริงแล้วซ่อนอยู่บนความจอแจของตรอกที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเบอร์ต้นของกรุงเทพฯ
  • Khao San Hide and seek l เข้าซอย ข้าวสาร จัดเต็มทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ตลอดวันที่ 6-15 พฤศจิกายน 2563

ถนนข้าวสาร เปลี่ยนไปทันตาเห็นหลังการล็อกดาวน์ปิดประเทศป้องกันการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ว่าข้าวสารเปลี่ยนไปเพราะแทบจะร้อยเปอร์เซนต์ของนักท่องเที่ยวบนถนนเส้นนี้คือชาวต่างชาติ จะมีเพียงไม่กี่บาร์ที่เปิดเพลงไทย ร้องเพลงไทย เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยโดยเฉพาะ ซึ่งบาร์ทาร์เก็ตไทยเหล่านั้นกลับมาเป็นปกติหรือจะเรียกว่าคึกคักกว่าเก่าเสียด้วยซ้ำ แต่ร้าน โรงแรม บาร์ที่เหลือคือนับหัวนักท่องเที่ยวต่อคืนได้เลย และนั่นจึงทำให้โปรเจ็กต์ปลุกชีวิตชีวาของถนนข้าวสาร Khao San Hide and seek เข้าซอย ข้าวสาร เกิดขึ้นเพื่อหวังจะให้งานศิลปะดึงดูด และเชิญชวนคนไทยให้มาลองเปิดใจให้กับถนนข้าวสารดูบ้าง

Khao San Hide and seek เข้าซอย ข้าวสาร มีสารตั้งต้นจากนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เคยอยู่เบื้องหลังงานศิลปะชุมชน New Old New Town จับมือกับเครือข่าย ชมรมเกสรลำพู, ประชาคมบางลำพู, ไกด์ เด็กบางลำพู, สมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร, คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ L&E ส่วนรูปแบบงานจัดขนานกันไปทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ ระหว่างวันที่ 6-15 พฤศจิกายน 2563 

หนึ่งในไฮไลต์งานคือ Hide and Seek Night Walk with Lighting Installation ชวนเช็คอินตามตึกและออกตามตรอกตลอดถนนข้าวสาร ชมงาน lighting installation ทั้ง 8 จุด เริ่มจากผลงานของ InFO ชื่อ “อ่าน เขียน เรียน แสง” งานประดับตัวอักษรเรืองแสงที่ตั้งอยู่หน้า โรงเรียนพิมานวิทย์ โรงเรียนเพียงแห่งเดียวบนถนนข้าวสารที่อายุอานามเข้าปีที่ 101 ขวบ

Khao San Hide and seek

ต่อด้วยใต้ตึก Buddy Lodge กับงาน After Party ของ A Millimetre ที่นำขวดเหล้า ขวดเบียร์ มาเรียงรายตามขั้นบันได ย้อนความทรงจำจางๆ หลังความสนุกสนานของคืน After Party ซึ่งชิ้นงานนี้คนต่อคิวแน่นมากๆ เช่นเดียวกับซอย Susie’s Q ที่ทีม Cloud-floor นำบล็อกขายของที่ร้างสินค้าและผู้คนมาจัดวางตัวอักษรไฟในคอนเซ็ปต์ EMPTY-PARTY: The Twilight Paradox สื่อถึงโลกคู่ขนานของข้าวสารในอดีตคือ PARTY มาซ้อนกับคำว่า EMPTY คือสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ ในปัจจุบัน

Khao San Hide and seek
Khao San Hide and seek
Khao San Hide and seek

ในซอย Susie’s Q ยังมีอีกชิ้นงานของ WIRE KNOT STUDIOs ชื่อ Chao Phraya Ambient ย้อนประวัติศาสตร์ที่มาของชื่อถนนข้าวสาร และทีม WIRE KNOT STUDIOs ยังมีผลงานอีกชิ้นชื่อ Khaosarn Portal อยู่ที่ซอย Lucky

ต่อด้วยการเก็บแต้มที่อาคารบายน กับชิ้นงาน Cyber Punk ของ VAWA STUDIO ย้อนภาพข้าวสารที่อาจจะไม่ชัดแต่ก็ชัดเจนในเรื่องราว ส่วนด้านในสุดคือ Awaken โดย The Atelier 58 ย้อนวันวานสนามมวยแห่งเดียวบนถนนข้าวสารที่หลายคนก็ลืมเลือนไปแล้วว่ามีสิ่งนี้อยู่ในข้าวสาร

Khao San Hide and seek
Khao San Hide and seek

ปิดท้ายที่ปลายถนนใต้ตึก D&D Inn กับผลงานของ PVWB Studio เป็นชิ้นงานที่ระยิบระยับเหมาะสำหรับการถ่ายรูปลง IG มากๆ แต่พอเข้าไปดูถึงความหมายจริงๆ ก็สะเทือนอยู่ไม่น้อย เพราะผลงานชิ้นนี้ชื่อ Missing Matter (คน/ ของที่หายไป) เล่าถึงถนนข้าวสารในวันที่ไร้นักท่องเที่ยว นอกจากพ่อแม่ค้าหาบเร่เล็กๆ ที่หายไปแล้ว ลูกไฟบิน ที่ลอยขึ้นฟ้า คืออีกสิ่งของเล็กๆ ที่เป็นซิกเนเจอร์เฉพาะข้าวสาร และตอนนี้ลูกไฟบินดวงเล็กๆ ก็ได้บินหายไปจากถนนข้าวสารแล้ว

Fact File

  • Khao San Hide and seek เข้าซอย ข้าวสาร จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6 ถึง 15 พฤษจิกายน 2563 
  • ลงทะเบียน เดินเที่ยวย่านถนนข้าวสารกับไกด์เด็กบางลำพู : https://bit.ly/3oLkehq 
  • รายละเอียดเพิ่มเติม Facebook : บางลำพู everyday 

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ชัชวาล จักษุวงค์
เคยเป็นนักรีวิว gadget มานานหลายปี ตอนนี้หันมาเอาดีด้านงานถ่ายภาพ ถนัดงานด้านการบันทึกภาพวิถีชีวิตผู้คนและสายการเดินทางท่องเที่ยว