Vijit Chao Phraya สีสันประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมริมเจ้าพระยา
Pic Talks

Vijit Chao Phraya สีสันประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมริมเจ้าพระยา

Focus
  • Vijit Chao Phraya งานจัดแสดงที่ผนวกเอาแสงสีและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาถ่ายทอดเรื่องราวผสานเข้ากับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และไอโคนิคของกรุงเทพฯ ใน 6 จุด
  • จุดประสงค์หลักของงานแน่นอนว่าเป็นการสร้างสีสันกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักรับสัปดาห์การประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค (APEC 2022)

ผ่านไปแล้วสำหรับคืนแรกของงาน Vijit Chao Phraya งานจัดแสดงที่ผนวกเอาแสงสีและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาถ่ายทอดเรื่องราวผสานเข้ากับวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และไอโคนิคของกรุงเทพฯ ใน 6 จุดหลักเส้นทางท่องเที่ยวริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ สะพานพระราม 8 ป้อมวิไชยประสิทธิ์ วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร สะพานพระพุทธยอดฟ้า Rivercity Bangkok และ ICONSIAM ที่มาร่วมสร้างสีสัน โดยแต่ละสถานที่จะทำการแสดงรอบละราว 5-7 นาที

Vijit Chao Phraya
Vijit Chao Phraya

จุดประสงค์หลักของงานแน่นอนว่าเป็นการสร้างสีสันกระตุ้นการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักรับสัปดาห์การประชุมผู้นำเศรษฐกิจเอเปค (APEC 2022) ที่กำลังจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 และนอกจากนั้นยังมุ่งหวังให้ต่อเนื่องไปถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวโยงกับพื้นที่จัดงาน และอีกส่วนสำคัญคือเป็นสัญญานถึงการเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวในการมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง

Vijit Chao Phraya

Vijit Chao Phraya จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-27 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 ซึ่งด้วยความที่แต่ละจุดออกแบบการจัดแสดงให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากการล่องเรือในเส้นทางท่องเที่ยวแม่น้ำเจ้าพระยา ครั้งนี้ ททท.สำนักงานกรุงเทพฯ ในฐานะผู้จัดงานจึงได้ร่วมกับเรือด่วนเจ้าพระยา มอบส่วนลดทริปล่องเรือพิเศษในวันที่ 18 ,19, 26 และ 27 พฤศจิกายนนี้ในราคา 150 บาทจาก 250 บาท จำนวนจำกัด 500 สิทธิ์ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง bit.ly/3A1UrsG และแน่นอนว่า Sarakadee Lite เก็บไฮไลต์และรายละเอียดรอบชมของแต่ละสถานที่มาฝากแล้ว ไปชมกันเลย

Vijit Chao Phraya

สะพานพระราม 8

การแสดง “ทอแสง วิจิตร ตระการ”

จากสะพานพระราม 8 ที่เรียกได้ว่าเป็นไอคอนิคด้านสถาปัตยกรรมสะพานข้ามเจ้าพระยา จุดนี้ดึงดูดกับสายตาของผู้ที่ผ่านไปผ่านมาอยู่แล้วทั้งกับผู้คนบนท้องถนนหรือเรือที่แล่นผ่านแม่น้ำเจ้าพระยา แต่งานนี้พิเศษมากกว่าด้วยการสาดแสงสีประกอบเลเซอร์ขับให้เส้นสายสถาปัตยกรรมของสะพานพระราม 8 โดดเด่นยิ่งขึ้น คลอไปด้วยดนตรีไทยประยุกต์จากวงดนตรี The Sound of Siam ทั้งหมดมาในธีมที่สื่อถึงการต้อนรับผู้มาเยือน สอดคล้องกับความโดดเด่นของสะพานพระราม 8 ที่ยืนตระหง่านต้อนรับแขกผู้มาเยือนอยู่เสมอ

รอบการจัดแสดง : จัดแสดงทุกวัน วันละ 6 รอบ เวลา 19.00 น. 19.30 น. 20.00 น. 20.30 น. 21.00 น. และ 21.30 น.

Vijit Chao Phraya

ป้อมวิไชยประสิทธิ์

การแสดง “วิจิตร ปราการ ธารธารา”

ใครสายประวัติศาสตร์จุดนี้เน้นเนื้อหาความเป็นมาของสถานที่เป็นพิเศษ กับการฉาย Projection Mapping ถ่ายทอดเรื่องราวตั้งแต่อดีตที่สะท้อนความเป็นมาและความสำคัญของป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งในยามปกติหลายคนอาจล่องเรือผ่านไปโดยไม่รู้ที่มาหรือบ้างก็เพิ่งจะรู้ในคราวนี้เองว่า ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ที่สร้างขึ้นในสมัยสมัยพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ตั้งอยู่ที่นี่

 “วิจิตร ปราการ ธารธารา” เป็นการฉายเรื่องราวลงบนพื้นผิวของป้อมวิไชยประสิทธิ์ คลอไปกับเสียงบรรยายย้อนกลับไปจนถึงสมัยพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยาที่เริ่มต้นก่อสร้าง ความเกี่ยวข้องกับเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ที่เป็นแม่กองผู้ควบคุมการสร้าง รวมทั้งป้อมวิไชยประสิทธิ์ที่กลายมาเป็นสถานที่สำคัญในสมัยกรุงธนบุรี ไปจนถึงเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับความสัมพันธ์ทางการฑูตและเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับสายน้ำเจ้าพระยามาตั้งแต่สมัยก่อนจนถึงยุคปัจจุบัน

รอบการจัดแสดง : จัดแสดง Projection Mapping ทุกวัน วันละ 6 รอบ เวลา 19.15 น. 19.45 น. 20.15 น. 20.45 น. 21.15 น. และ 21.45 น. (การแสดง Projection Mapping และเทคนิคพิเศษในช่วงวันหยุด 12,13,17,18,19,26,27 พฤศจิกายน 2565)

วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร

การแสดง : “นฤมิตร วิจิตร นาฏกรรม”

หากใครได้ชมการแสดงเต็มรูปแบบของที่นี่ก็น่าจะเชื่อมโยงในใจได้ถึงความเป็นมาของพื้นที่อันมีการผสานของวัฒนธรรมไทย-จีน นอกจากนั้นเมื่อได้ดูโชว์ครบเต็มรูปแบบ เราจะสัมผัสได้ถึงความรุ่มรวยของประเพณีและภูมิปัญญาที่หลากหลายและผสมผสานกันอยู่โดยมีวัดแห่งนี้เป็นจุดศูนย์กลางของชุมชนและภูมิปัญญญา

จุดนี้ไม่ได้เด่นด้วยการแสดงแสงสีและพลุเท่านั้น แต่ยังเน้นการแสดงจากคนจริงใช้เวลาในการชมแบบครบองค์นานที่สุดคือ 10 นาที ซึ่งจะแบ่งเป็นองค์ย่อยคือ การเชิดมังกรเรืองแสง ขนาดยาว 20 เมตร การละเล่นพื้นบ้านหัวโต-กลองยาว และโดยเฉพาะหนังใหญ่ที่หาชมได้ยากแล้วในปัจจุบัน รวมถึง เรือสุพรรณหงษ์จำลองที่จะมาสะท้อนถึงความเรืองรองของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

รอบการจัดแสดง :  จัดแสดงในวันที่ 12, 13, 17, 18, 19, 20, 26, 27 พฤศจิกายน 2565 วันละ 3 รอบ เวลา 19.30 น. 20.30 น. และ 21.30 น.

สะพานพระพุทธยอดฟ้า

การแสดง “วิจิตร เรืองรอง ท้องนที”

จุดนี้ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่มีรูปแบบการจัดแสดงคล้ายกันกับสะพานพระราม 8 ต่างกันตรงที่ธีมหลักซึ่งต้องการสื่อสารถึงสีสันของการเดินทางแห่งความสุข ดังนั้นดนตรี แสงสี และเลเซอร์จึงจัดแน่นจัดเต็มมาในจังหวะที่สนุกและน่าตื่นตาตื่นใจ

รอบการจัดแสดง : จัดแสดงทุกวัน วันละ 6 รอบ เวลา 19.15 น. 19.45 น. 20.15 น. 20.45 น. 21.15 น. และ 21.45 น. (มีการแสดงเทคนิคพิเศษในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565)​

River City Bangkok

การแสดง “วิจิตรไทยแลนด์”

เรียกว่าเป็น Projection Mapping ที่ใหญ่สุดของงานนี้เลยก็ว่าได้เพราะได้เปลี่ยนผนังฝั่งอาคารด้านริมน้ำเจ้าพระยาของศูนย์การค้า River City Bangkok ทั้งผนังให้เป็นจอฉายขนาดใหญ่มากสำหรับเล่าเรื่องราวที่รวบรวมเสน่ห์ของแม่น้ำเจ้าพระยาและ Soft Power ของประเทศไทยเอาไว้ แบ่งย่อยเป็น 5F หมายถึง 5 พลังซอฟท์พาวเวอร์ฉบับไทยแลนด์นั่นคือ Food อาหาร Film โลเคชันที่มีเอกลักษณ์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ Fashion ผ้าไทยของแต่ละภูมิภาคอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว Fight ศิลปะการต่อสู้ที่ทั่วโลกยอมรับอย่างมวยไทยและ Festival เทศกาล ประเพณีและวัฒนธรรมอันโดดเด่นของไทย อาทิ โขนและนาฏศิลป์

รอบการจัดแสดง : จัดแสดงทุกวัน วันละ 6 รอบ เวลา 19.00 น. 19.30 น. 20.00 น. 20.30 น. 21.00 น. และ 21.30 น.

ICONSIAM

การแสดง “The Iconic Multimedia Water Feature”

ไฮไลต์ของที่นี่คือการแสดงระบำสายน้ำสูงสุด 400 เมตรที่กล่าวได้ว่ายาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และด้วยความที่ใกล้กับช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองสิ้นปี ไอคอนสยามจึงเริ่มประดับตกแต่งต้อนรับเทศกาลคริสมาสต์ด้วยต้นคริสมาสต์แบบประยุกต์ให้ความสว่างไสวด้วยพลังงานโซลาเซลล์ โดยหยิบยกรูปแบบการดีไซน์ของบายสีเข้ามาผสมผสาน

รอบการจัดแสดง : จัดแสดงทุกวัน วันละ 4 รอบ เวลา 18.15 น. 19.15 น.   20.15 น. และ 21.15 น.


Author

สุกฤตา โชติรัตน์
มนุษย์ผู้ค้นพบพลังงานพิเศษจากประโยคในหนังสือ อาหารจานโปรดและเพลงที่ฟัง อยากเลี้ยงแมวและตั้งใจว่าจะออกไปมองท้องฟ้าบ่อยๆ

Photographer

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง
เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดที่ฝั่งธนฯ เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ต่อระดับปริญญาตรีสาขาเทคโนโลยีทางการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว ประสานมิตร เมื่อเรียนจบใหม่ ๆ ทำงานเป็นผู้ช่วยดีเจคลื่นกรีนเวฟพักหนึ่ง ก่อนมาเป็นนักเขียนและช่างภาพที่กองบรรณาธิการนิตยสาร ผู้หญิงวันนี้ จากนั้นย้ายมาเป็นช่างภาพสำนักพิมพ์สารคดีปี 2539 โดยถ่ายภาพในหนังสือชุด “เพื่อความเข้าใจในแผ่นดิน” ต่อมาถ่ายภาพลงนิตยสาร สารคดี มีผลงานเช่นเรื่อง หมอเทีย ปอเนาะ เป่าแก้ว กะหล่ำปลี โรคหัวใจ โทรเลข ยางพารา ฯลฯ