UNFOLDING BANGKOK เที่ยววัดลับ บางยี่ขัน ตามหาอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกลืม
Arts & Culture

UNFOLDING BANGKOK เที่ยววัดลับ บางยี่ขัน ตามหาอาณาเขตศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกลืม

Focus
  • เทศกาล UNFOLDING BANGKOK ธีม HIDDEN TEMPLE ท่องวัด(ลับ) ย่านบางยี่ขัน ภายใต้แนวคิด “ขอบเขตนิมิตร เส้นแบ่งอันศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างมนุษย์ และพุทธธรรม” เป็นช่วงท้ายของโปรแกรมท่องวัดลับ จัดขึ้นที่วัดสวนสวรรค์ และ  วัดพระยาศิริไอยสวรรค์
  • วัดสวนสวรรค์เป็นวัดร้างที่ได้รับการดูแลโดยชุมชน ครั้งนี้มีการนำองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมไทยมาสันนิษฐานโครงสร้างที่สมบูรณ์

เดินทางมาถึงสัปดาห์สุดท้ายกันแล้วสำหรับโปรเจ็กต์ท่องวัดลับๆ ฝั่งธนบุรี UNFOLDING BANGKOK ตอน HIDDEN TEMPLE นำทัวร์วัดลับใน 3 ย่าน โดยย่านสุดท้ายคือย่าน บางยี่ขัน ปักธงในพื้นที่ วัดสวนสวรรค์ และ วัดพระยาศิริไอยสวรรค์ ซึ่งทั้งสองวัดแม้จะตั้งอยู่ห่างกันสักนิดชนิดต้องเปิด Google Map แต่กลับมีความเชื่อมโยงตรงที่ทั้งสองวัดซ่อนตัวอยู่อย่างแนบเนียน (จนถึงขั้นเกือบหาไม่เจอ) กับพื้นที่ชุมชนมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และนั่นจึงเป็นที่มาของโจทย์หลักที่ทางผู้จัดอยากชวนผู้ชมร่วมตั้งคำถามถึง “ขอบเขตนิมิตร เส้นแบ่งอันศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างมนุษย์ และพุทธธรรม” ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนการตีความของเส้นแบ่งศักดิ์สิทธิ์ก็อาจจะแตกต่างกันออกไป

UNFOLDING BANGKOK

“วัดสวนสวรรค์” วัดร้างที่เป็นใจบ้านและใจชุมชน

จากสถานีรถไฟฟ้าสายใหม่สถานีบางยี่ขันสามารถเดินหรือนั่งมอเตอร์ไซด์วินลัดเลาะตรอกซอยเล็กๆ ตรงมายังวัดสวนสวรรค์ได้ไม่ยาก แต่ที่ยากกว่านั้นคือวัดแห่งนี้เป็นวัดร้าง…ร้างเสียจนผู้คนย่านบางยี่ขันแทบจะหลงลืมชื่อไปแล้วว่าวัดแห่งนี้ชื่ออะไร ลืมแม้กระทั่งสถานะว่าโบสถ์สีปูนดิบๆ หลังนี้เคยเป็นวัด ชาว บางยี่ขัน บางคนรู้แค่ว่ามีอาคารร้างอยู่หนึ่งหลังในตรอกเล็กๆ ที่ขอบเขตใบเสมาหลักหนึ่งปักอยู่กลางสามแยก อีกหลักปักอยู่ในรั้วบ้าน ส่วนอีกหลักปักอยู่ประชิดติดกำแพง ด้านข้างโบสถ์ถูกเปลี่ยนเป็นที่จอดรถของชุมชน

UNFOLDING BANGKOK
หลวงพ่อดำวัดสวนสวรรค์

ด้านในยังประดิษฐาน “หลวงพ่อดำ” พระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นองค์ประธาน หลังคาคลุมด้วยเถาวัลย์ครบองค์ประกอบของอาคารร้าง ที่ชัดเจนมีเพียงงานปูนปั้นหน้าบันรูปดอกไม้ในสรวงสวรรค์ที่พอสันนิษฐานได้ว่าอาจจะเป็นที่มาของชื่อวัด แต่ถึงแม้จะเป็นวัดร้างแต่วัดสวนสวรรค์ยังมีสถานะในฐานะใจบ้าน ใจของชุมชนที่ชาวชุมชนยังคงสมทบทุนตามกำลังดูแลเรื่อยมา และพอถึงงานบุญต่างๆ ก็ยังมีการนิมนต์พระสงฆ์มาทำบุญ มีเสียงสวดมนต์สืบทอดความเป็นวัดต่อไป

UNFOLDING BANGKOK
หน้าบันฝั่งตะวันออกเล่าเรื่องพระมาลัย
UNFOLDING BANGKOK
หน้าบันทิศตะวันตก เขียนภาพเทวดานางฟ้า

และสำหรับงาน UNFOLDING BANGKOK นี้ ผศ.ปองพล ยาศรี อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมกับ Urban Ally เข้ามาสร้างภาพจำลอง เป็นการสันนิษฐานรูปแบบอุโบสถเมื่อครั้งที่ยังสมบูรณ์ของวัดสวนสวรรค์โดยใช้โครงสร้างปัจจุบันที่ยังหลงเหลืออยู่และหลักสถาปัตยกรรมไทยมาสร้างภาพจำลอง โดยทำการแมปปิ้งลงบนแผ่นอะคริลิคใสให้ผู้ชมได้เห็นส่วนที่ขาดหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าบันรูปสวนดอกไม้บนสวรรค์ที่มีการเล่าเรื่องสอดคล้องกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง

UNFOLDING BANGKOK

ทั้งนี้หน้าบันด้านทิศตะวันออกที่หันหน้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาปั้นรูปพระมาลัยสนทนากับพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระเจดีย์จุฬามณีตั้งอยู่ตรงกลาง ส่วนหน้าบันทิศตะวันตกด้านหลังของอุโบสถ แบ่งเป็นสองส่วน คือด้านล่างใต้ขื่อเป็นลวดลาย ลาวดอกไม้ เรียงรายประดับกระจังตกแต่งตามแนวขื่อ ส่วนบนจั่วหน้าบันตกแต่งปูนปั้นรูปเทวดา นางฟ้ากำลังเหาะ มีดอกไม้สวรรค์ร่วงลอยเคลื่อนตามเหล่าเทวดา ที่กำลังเคลื่อนเชื่อมโยงไปสู่พระมาลัยที่ประดับหน้าบันด้านหน้าทิศตะวันออก และหลังจากจบงานทาง Urban Ally ก็จะส่งต่อข้อมูลภาพจำลองเหล่านี้ให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

“วัดพระยาศิริไอยสวรรค์” ชมอุโบสถตกท้องช้าง ที่หาชมได้ยาก

จากวัดสวนสวรรค์เดินลัดเลาะสวนสาธารณะใต้สะพานพระราม 8 มาไม่ไกลจะถึง วัดพระยาศิริไอยสวรรค์ วัดที่อยู่ใจกลางชุมชนและมีวิวสะพานพระราม 8 เป็นฉากหลังสวยอลังมาก วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างสมัยใด แต่จากรูปแบบสถาปัตยกรรมทำให้มีการสันนิษฐานว่าเป็นวัดโบราณสมัยอยุธยา และที่แน่ชัดคือได้รับการบูรณในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีพระยาศิริไอยสวรรค์ (นายฟัก) ข้าราชการในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นผู้บูรณะชาวบางยี่ขันจึงเรียกติดปากมาแต่โบราณว่า “วัดพระหริ” และสำหรับใครเคยได้ยินชื่อ “โรงงานสุราบางยี่ขัน” ที่หน้าวัดนี่แหละที่เคยเป็นที่ตั้งของโรงงานสุราแห่งนี้

 บางยี่ขัน

จุดเด่นของวัดคืออุโบสถแบบที่เรียกว่า “ตกท้องช้าง” หาชมได้ยากในกรุงเทพฯ ซึ่งอาการตกท้องช้างที่ว่าหมายถึงฐานของอาคารที่มีลักษณะแอ่น เรียกอีกอย่างว่า ตกท้องสำเภา หย่อนปากสำเภา หรือ แอ่นท้องสำเภา ลักษณะตกท้องช้างทำให้ฐานของอาคารดูไม่สมบูรณ์นัก พบมากในสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ทั้งอุโบสถ วิหาร จึงเป็นข้อสันนิษฐานว่าอุโบสถ วัดพระยาศิริไอยสวรรค์เดิมทีแรกสร้างน่าเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมศิลปะอยุธยาตอนปลาย

 บางยี่ขัน
 บางยี่ขัน

ในส่วนของงาน UNFOLDING BANGKOK นั้นได้นำความโดดเด่นของอาการตกท้องช้างที่ดูเหมือนเรือสำเภานี่แหละมาตีความเป็นงาน Interactive Lighting และ Projection Mapping นำพาผู้ชมนั่งเรือสำเภาลำนี้ข้ามพ้นวัฏสงสารไปสุดห้วงนฤพาน โดยบริเวณพื้นดินดูเหมือนรูปน้ำเหมือนเรือกำลังเคลื่อนไปด้านหน้า ส่วนบริเวณด้านหน้าอุโบสถเป็นการเคลื่อนสู่ด้านบนสรวงสวรรค์

นอกจากอุโบสถแล้ว ด้านหน้าอุโบสถคือเจดีย์ 3 องค์ที่ตั้งเรียงอยู่ด้านหน้า เป็นเจดีย์ 3 องค์ที่สร้างแตกต่างกัน คือ เจดีย์ทรงกลม เจดีย์ทรงเหลี่ยมย่อมุม และเจดีย์ทรงปรางค์ ซึ่งทางกลุ่ม LightIS and Friends ได้ทำการออกแบบไฟ Architectural Lighting ขับเน้นรูปทรงของเจดีย์ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 บางยี่ขัน

อีกจุดที่น่าสนใจของงานสร้างสรรค์ที่วัดพระยาศิริไอยสวรรค์คือการใช้แสงไฟขีดเส้นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ระหว่างใบเสมาแต่ละหลักที่ด้านล่างคือลูกนิมิตร ซึ่งเส้นขีดบางๆ เหล่านี้หากไม่ได้ตั้งใจมองเราก็อาจจะก้าวข้าม หรือลืมไปเลยว่าเรากำลังเข้ามาอยู่ในพื้นที่แห่งศรัทธา ไม่ต่างอะไรจากอยู่ร่วมกันระหว่างพื้นที่ของวัดและชุมชนที่ขอบเขตของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในแต่ละยุคสมัยย่อมถูกตีความหมายที่แตกต่างกันออกไป

Fact File

  • UNFOLDING BANGKOK ตอน “HIDDEN TEMPLE” ท่องวัด (ลับ) ย่านบางยี่ขัน ฝั่งธนบุรี ภายใต้แนวคิด “ขอบเขตนิมิตร เส้นแบ่งอันศักดิ์สิทธิ์ระหว่างมนุษย์และพุทธธรรม” ที่วัดพระยาศิริไอยสวรรค์ และวัดสวนสวรรค์ ระหว่างวันที่ 17-25 ธันวาคม 2565 ตั้งแต่เวลา 18.00 – 21.00 น.
  • เทศกาล “UNFOLDING BANGKOK” ครั้งต่อไปจะพาไปเที่ยวสวนป่ากลางเมืองในธีม “Greeting Benjakitti” ระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 26 กุมภาพันธ์ 2566 ต่อด้วยชมอาคารที่เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ในธีม “Living Old Building” ระหว่างวันที่ 4 กุมภาพันธ์ – 5 มีนาคม 2566
  • UNFOLDING BANGKOK ตอน “HIDDEN TEMPLE” ท่องวัด (ลับ) ย่านบางยี่ขัน ฝั่งธนบุรี  จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรุงเทพมหานคร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(องค์การมหาชน) Urban Ally และศูนย์ข้อมูลสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมกับ มิตรเมืองภาคีเครือข่ายย่านบางยี่ขัน

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม