UNFOLDING BANGKOK สาดแสงสี วัดภุมรินทร์ราชปักษี พื้นที่สังสรรค์ของ ผี คน และวัด
Arts & Culture

UNFOLDING BANGKOK สาดแสงสี วัดภุมรินทร์ราชปักษี พื้นที่สังสรรค์ของ ผี คน และวัด

Focus
  • ในเขตเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ วัดและชุมชนอาจจะไม่ได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง แต่ที่ในพื้นที่วัดภุมรินทร์ราชปักษี วัดและชาวชุมชนมีการร่วมกันขับเคลื่อน ที่นี่มีปราชญ์อาหาร มีการละเล่นโบราณ วัดยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ลานวัดยังคงทำหน้าที่รับใช้ชุมชน
  • ผีลอบ เป็นการละเล่นโบราณที่ยังคงเหลืออยู่ในชุมชนบางกอกน้อย ปกติมักกระทำในป่าช้า ใช้ลอบจับปลามาเสียบคานไม้ ผูกผ้าขาวให้ร่างคล้ายคน พร้อมใส่เครื่องเซ่นไหว้

เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเนื้อหาของงาน UNFOLDING BANGKOK ตอน Hidden Temple ซึ่งซีรีส์ 2 “วัดร้างกับพื้นที่ชุมชน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-18 ธันวาคม 2565 ได้พามาค้นพบวัดร้างและวัดลับๆ ของย่านบางกอกน้อยที่ชื่อ วัดภุมรินทร์ราชปักษี ตั้งอยู่บริเวณปากคลองบางกอกน้อยซึ่งเป็นย่านเก่าย้อนไปได้ถึงปลายสมัยอยุธยา ทั้งยังเป็นวัดที่โดดเด่นด้วยงานศิลปะของช่างสกุลวังหน้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนปัจจุบันมีสถานะเป็นวัดร้างอยู่ใต้การดูแลของ วัดดุสิดารามวรวิหาร ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เป็นต้นมา

UNFOLDING BANGKOK
วิหารวัดภุมรินทร์ราชปักษี
UNFOLDING BANGKOK

แน่นอนว่า Projection mapping คือไฮไลต์ของ Hidden Temple ที่เข้ามาชุบชีวิตจิตรกรรมฝาผนังที่เลือนรางให้ออกมาโลดเเล่นในสายตาของคนยุคปัจจุบัน แต่สำหรับวัดร้างบางกอกน้อยอย่าง วัดภุมรินทร์ราชปักษี มีความพิเศษกว่านั้นที่นี่ยังมีปราชญ์ท้องถิ่น มีความเข้มแข็งระหว่างวัดและชุมชน และก็ยังมีการรักษาความเชื่อเก่าแก่ที่สะท้อนภาพสังคมไทยเรื่อง ผี คน และวัด ที่ไม่เคยแยกออกจากกัน

ดร.สิงหนาท แสงสีหนาท ผู้อํานวยการศูนย์ Urban Ally ซึ่งเป็นทีมสำรวจและออกแบบประสบการณ์ UNFOLDING BANGKOK ตอน Hidden Temple ให้ความเห็นถึงความน่าสนใจของพื้นที่บางกอกน้อยย่านวัดภุมรินทร์ราชปักษีว่าตามปกติในเขตเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ วัดและชุมชนอาจจะไม่ได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง แต่ที่ในพื้นที่วัดภุมรินทร์ราชปักษี วัดและชาวชุมชนมีความเข้มแข็งมาก ที่นี่มีปราชญ์อาหาร มีการละเล่นโบราณ วัดยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง ลานวัดยังคงทำหน้าที่รับใช้ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผีลอบ”

UNFOLDING BANGKOK
ผีลอบ
UNFOLDING BANGKOK

“ผีลอบ เป็นการละเล่นโบราณที่ยังคงเหลืออยู่ในชุมชนบางกอกน้อย ปกติมักกระทำในป่าช้า แต่หนนี้เล่นที่ลานโพธิ์ใหญ่ของวัด ด้วยการใช้ลอบจับปลามาเสียบคานไม้ ผูกผ้าขาวให้ร่างคล้ายคน พร้อมใส่เครื่องเซ่นไหว้ เช่น ข้าวเหนียวและปลาย่างไว้ข้างใน  ผู้เล่นร้องอัญเชิญผีด้วยท่วงทำนองลึกลับ เด็กเล็กวัยรุ่น ล้อมวงเคาะไม้ไผ่ลำยาวเข้าจังหวะ จดจ่อรอคอยอย่างตั้งใจ ผู้เฒ่าผู้แก่ นั่งห่างออกมาไม่ไกลทอดอารมณ์สบาย ๆ เฝ้าดู เว้นระยะไว้อีกชั้น…ไม่นานนัก เมื่อผีลง ลอบจะเริ่มสั่นและส่ายซ้ายทีขวาที แม่หม้ายที่ช่วยกันจับถือไว้ ต้องพยายามประคองไว้ด้วยความรู้สึกว่ามันหนักขึ้นราวกับร่างคนจริง และจากนั้นการสังสรรค์ของ ผี คน และวัดก็เริ่มต้นขึ้น” ดร.สิงหนาท เล่าถึงความเชื่อชุมชนที่ถูกรื้อฟื้นกลับมาในงาน UNFOLDING BANGKOK ครั้งนี้

ตีความสัญลักษณ์ของชมพูทวีปในรูปแบบใหม่

สำหรับประสบการณ์ UNFOLDING BANGKOK ตอน Hidden Temple วัดภุมรินทร์ราชปักษี-วัดดุสิดารามวรวิหาร เริ่มจากด้านในวิหารวัดภุมรินทร์ราชปักษี จัดแสดง Projection mapping เรื่อง ชมพูทวีป เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำภาควิชาศิลปสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปาก และ ฉันทิศา เตตานนทร์สกุล ศิลปินจาก Asitnahc เป็นการตีความสัญลักษณ์ของชมพูทวีปในรูปแบบใหม่ เล่าย้อนความเชื่อโบราณเกี่ยวกับชมพูทวีป ประกอบด้วยสัญลักษณ์ของสถานที่ศักด์สิทธิ์ 15 แห่งเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า โดยช่างเขียนโบราณเมื่อต้องการนำเสนอความเป็นชมพูทวีปก็นิยมเขียนภาพสัญลักษณ์ทั้ง 15 ไว้ภายในผนังวิหาร

ต่อยอดมาที่ฉันทิศา ศิลปินได้ใช้เทคนิค project mapping มาสร้างภาพสัญลักษณ์องค์ประกอบของชมพูทวีป 15 สัญลักษณ์ฉายลงบนผนังจนครบทำให้ยในวิหารวัดภุมรินทร์กลายมาเป็นเสมือนดั่งชมพูทวีปในโลกสมัยใหม่ นอกจากนี้ยังได้ลดทอนจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง “มหาสุทัสสนสูตร” ที่อยู่ภายในวิหารซึ่งเป็นพุทธประวัติที่หาชมได้ยากบนจิตรกรรมฝาผนังมาเรียบเรียงและเล่าใหม่ผ่านเทคนิคแสง สี เสียง ให้ตรงจริตกับผู้ชมในยุคปัจจุบันยิ่งขึ้น

UNFOLDING BANGKOK

อีกชิ้นงานที่น่าสนใจอยู่ด้านหลังวิหารบริเวณพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่ที่ชาวชุมชนเรียก หลวงพ่อดำ เป็นผลงาน Interactive projection ชื่อ Flower of Faith โดย 27 JUNE STUDIO ชวนผู้ชมร่วมถวายดอกไม้มงคลเป็นพุทธบูชา แต่แทนที่จะเป็นดอกไม้สด ก็กดปุ่มถวายดอกไม้ดิจิทัลให้ค่อยๆ ลอยสู่องค์พระ ได้แก่ ดอกบัว ดอกกล้วยไม้ ดอกดาวเรือง ดอกพุด ดอกบานไม่รู้โรย ดอกจำปี ดอกแก้ว ดอกเบญจมาศ และดอกเข็ม งานชิ้นนี้เป็นการทำงานร่วมกับ อาจารย์เฉลิมพล โตสารเดช ในการตีความและสร้างลวดลายไทยฉายทาบขนาดเท่าของจริงลงบนผนังด้านหลังของวิหาร ทั้งซุ้มพระ ฐานอาคาร และลายเครือเถาบนเสา ช่วยต่อเติมความสวยงามของานศิลปะไทยที่ซ่อนอยู่บนวิหารวัดร้างแห่งนี้ให้แจ่มชัดขึ้น ซึ่งปัจจุบันลวดลายไทยโบราณเหล่านี้หลงเหลืออยู่เพียงปูนปั้นรูปนารายณ์ทรงครุฑ และรูปนกยูงรำแพนบริเวณหน้าบันอุโบสถร้างที่อยู่ข้างกัน

Architectural Lighting โดย FOS design studio

อีกชิ้นงานที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือ Architectural Lighting การจัดแต่งแสงไฟภายนอกอาคารเพื่อขับเน้นประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมของวัดร้างหลังนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น แสงสีที่ขับเน้นสถาปัตยกรรมของวัดภุมรินทร์ราชปักษีออกแบบภายใต้แนวคิด “Magical Nights มนตราพาย้อนอดีต” โดย FOS design studio ไม่ว่าจะเป็นอาคารแบบฐานแบบ “ตกท้องช้าง” พิมพ์นิยมสมัยกรุงศรีอยุธยา ลายปูนปั้นรูปนก (ภุมรินทร์) ซุ้มประตู หน้าต่าง เป็นเหมือนมนตราที่ทำให้วัดร้างกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

อย่างที่บอกว่าชุมชนบางกอกน้อยแห่งนี้มีความเชื่อที่ตกทอดกันมา เป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างผี คน และวัด อีกไฮไลต์ที่ไม่อยากให้หลายคนพลาดชมก็คือ “ผีลอบ” การละเล่นเชิงความเชื่อและจิตวิญญาณของชุมชนบางกอกน้อยที่หาชมได้ยาก ผีลอบ ไม่ใช่แค่เรื่องคนทรงเจ้าเข้าผี แต่เป็นเหมือนการสังสรรค์ระหว่างคน ผี ที่เกิดขึ้นในวัด เป็นสิ่งที่สะท้อนความเชื่อเรื่องผีในสังคมไทยพุทธที่ไม่ได้มีแค่แง่มุมความกลัว ทว่าเป็นการเล่น การอยู่ร่วม การสังสรรค์ ซึ่งมีให้ชมอีกครั้งบริเวณลานโพธิ์และศาลาเรือโบราณวัดดุสิดารามในค่ำคืนวันที่ 17 ธันวาคม 2565 เวลา 19.00 น.

การละเล่นผีลอบ

UNFOLDING BANGKOK ตอน Hidden Temple วัดภุมรินทร์ – วัดดุสิดาราม กำลังจะปิดฉากลงในวันสุดท้ายคือ 18 ธันวาคม 2565 แต่เราเชื่อว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องก็คือความมีชีวิตชีวาที่คืนกลับมาสู่วัดร้างและชุมชนบางกอกน้อยแห่งนี้ที่แน่นอนว่าจะไม่ถูกทิ้งร้างหรือถูกเก็บเป็นความลับฝั่งธนบุรีอีกต่อไป

Fact File

  • ติดตามรายละเอียดงาน UNFOLDING BANGKOK ได้ที่ Urban Ally
  • งาน UNFOLDING BANGKOK เปิดประสบการณ์ใหม่กรุงเทพมหานครกับธีมแรก “HIDDEN TEMPLE” วัด (ลับ) ย่านฝั่งธนฯ จัดขึ้น 3 ช่วง ใน 3 พื้นที่ คือระหว่างวันที่ 12-20 พฤศจิกายน 2565, 10-18 ธันวาคม 2565 และ 17-25 ธันวาคม 2565 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ร่วมกับ Urban Ally และศูนย์ข้อมูลสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พร้อมกับ มิตรเมือง และภาคีเครือข่ายในพื้นที่

Author

ศรัณยู นกแก้ว
Online Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม
วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"