เปิดประตูไปที่ไหนก็ได้ นิทรรศการ โดราเอมอน เต็มรูปแบบครั้งแรกในเมืองไทย 100% Doraemon & Friends
Lite

เปิดประตูไปที่ไหนก็ได้ นิทรรศการ โดราเอมอน เต็มรูปแบบครั้งแรกในเมืองไทย 100% Doraemon & Friends

Focus
  • 100% Doraemon & Friends Tour in Thailand เป็นนิทรรศการเต็มรูปแบบครั้งแรกในเมืองไทยของ โดราเอมอน หุ่นยนต์แมวจากศตวรรษที่ 22 คาแรคแตอร์จากการ์ตูนญี่ปุ่นยอดนิยมที่ครองใจผู้คนทุกเพศทุกวัยมากว่า 50 ปี
  • โซน 100% Manga Art Exhibition นำเสนอคาแรคเตอร์โดราเอมอนและผองเพื่อน ชิ้นงานจำลองจากภาพวาดต้นฉบับและฉากคลาสสิคต่างๆ ในเรื่อง
  • พื้นที่กลางแจ้งริมน้ำในโซน 100% Doraemon River Park Exhibition จัดแสดงกองทัพคาแรคเตอร์ในเรื่องโดราเอมอนกว่า 100 ตัว ในรูปแบบต่างๆที่ปรากฎทั้งในเวอร์ชันฉบับมังงะและแอนิเมชัน

หลังจากบุกฮ่องกง และ เซี่ยงไฮ้ มาแล้ว โดราเอมอน หุ่นยนต์แมวจากศตวรรษที่ 22 คาแรคแตอร์จากการ์ตูนญี่ปุ่นยอดนิยมที่ครองใจผู้คนทุกเพศทุกวัยมากว่า 50 ปี ได้เปิด “ประตูไปที่ไหนก็ได้” มายังประเทศไทยแล้วกับนิทรรศการ 100% Doraemon & Friends Tour in Thailand ที่จัดเต็มบนพื้นที่กว่า 2,000 ตารางเมตร ของ Attraction Hall ชั้น 6 ไอคอนสยาม ในรูปแบบ “100% Manga Art Exhibition” ด้วยคาแรคเตอร์โดราเอมอนและผองเพื่อนขนาดเท่าตัวจริง ชิ้นงานจำลองจากภาพวาดต้นฉบับและฉากต่างๆ ในเรื่อง เช่น ห้องนอนของโนบิตะ ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 22 มิถุนายน 2568

นอกจากนี้บริเวณพื้นที่กลางแจ้ง ริเวอร์ พาร์ค ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 15 มิถุนายน 2568 ยังจัดเป็นโซน 100% Doraemon River Park Exhibition จัดแสดงกองทัพคาแรคเตอร์ในเรื่องโดราเอมอนขนาดเท่าตัวจริงกว่า 100 ตัว ทั้งที่ปรากฎในเวอร์ชันฉบับมังงะและแอนิเมชัน เช่น โดราเอมอนในรูปแบบดั้งเดิมที่ตัวเป็นสีเหลืองและยังมีหูก่อนที่จะโดนหนูกัดหูแหว่งและร้องไห้จนตัวเปลี่ยนเป็นสีฟ้า โดราเอมอนรูปร่างสูงโปร่งหน้าตาหล่อเหลาในตอน “กระจกโกหก” โดราเอมอนที่รวมร่างเป็นหนึ่งเดียวกับโนบิตะเพื่อจะได้ไม่ต้องแย่งขนมกันในตอน “อัลตรามิกเซอร์” โดราเอมอนนอนตัวเหลวแบนติดพื้นในตอน “ยาเปลี่ยนสถานะ” โดราเอมอนที่กลายเป็นมันม่วงเมื่อโดนโทรโข่งเปลี่ยนสิ่งของในตอน “เมื่อทุกคนกลายเป็นมันเผา” พร้อมไฮไลต์คือหุ่นโดราเอมอนเป่าลมขนาดยักษ์สูง 12 เมตร สวมหมวกทรงเบเรต์และถือปากกาหมึกซึมตามแบบคาแรคเตอร์ของผู้ให้กำเนิดโดราเอมอน คือ ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ (Fujiko F Fujio)

โดราเอมอน

ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ กำหนดให้โดราเอมอนมี ความสูง 129.3 เซนติเมตร ซึ่งเป็นความสูงโดยเฉลี่ยของเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เช่น โนบิตะ เพื่อให้ทั้งคู่มีความสูงใกล้เคียงกัน อีกทั้งหากนำวันเดือนปีเกิดของโดราเอมอนซึ่งเกิดในวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2112 มาเรียงตามแบบญี่ปุ่นที่นิยมเขียนขึ้นต้นด้วยปี เดือน และ วัน จะได้เป็นตัวเลข 12-9-3 เช่นกัน

โดราเอมอน

“มีภาพเก่าของพ่อเมื่อครั้งมาเมืองไทยในปีค.ศ.1983 เป็นภาพหายากที่พ่อยิ้มขณะเล่นกับเด็กๆ ทำให้เห็นว่าเรื่องโดราเอมอนนั้นเป็นผลงานที่ข้ามพรมแดนและสื่อสารกับคนทั่วโลกได้ หวังว่านิทรรศการนี้จะทำให้ทุกคนมีความทรงจำที่ดี และเชื่อมต่อกับความรู้สึกสมัยเด็ก หรือคนที่เพิ่งรู้จักกับโดราเอมอนจะได้มีโอกาสทำความคุ้นเคยกันและสนุกสนานในโลกของโดราเอมอนไปด้วยกัน” จิซึโกะ คัตสึมาตะ (Jitsuko Katsumata) ลูกสาวของ ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Fujiko Pro บริษัทที่ดูแลลิขสิทธิ์ผลงานของ ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ กล่าวถึงความฝันสูงสุดของพ่อที่ต้องการให้การ์ตูนของเขาสามารถข้ามผ่านกาลเวลาหลายต่อหลายรุ่นและสร้างความสุขให้กับผู้อ่านทุกวัย

นิทรรศการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง All Rights Reserved (ARR) และ Fujiko Pro พร้อมด้วยพาร์ทเนอร์ในประเทศไทย คือ Japan Anime Movie Thailand, Trendic International Limited, Incubase Studio Limited และบริษัท เดกซ์ (ดรีม เอกซ์เพรส)

โดราเอมอน

จากมังงะสู่คาแรคเตอร์และฉากคลาสสิคแบบ 3 มิติ

โซน 100% Manga Art Exhibition เริ่มจากห้องฉายแอนิเมชันเรื่องพิเศษสำหรับประเทศไทยเพื่อเปิดตัวของวิเศษชิ้นแรกในประเทศไทย ชื่อ “100% Friends-Calling Bell” หรือ “กระดิ่งแห่งมิตรภาพ” พร้อมกับเรื่องราวของไจแอนท์กับความปรารถนาจะเป็นนักร้องระดับโลกและเข้าร่วมการประกวดร้องเพลงในประเทศไทย

โดราเอมอน
“100% Friends-Calling Bell” หรือ กระดิ่งแห่งมิตรภาพ

ภายในยังมีการจำลองห้องทำงานของ ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ พร้อมอุปกรณ์วาดภาพที่เขาใช้เป็นประจำ ในอัตราส่วน 1:1 เช่น ปากกา กระดาษ หมึก แปรงขนนก โมเดลไดโนเสาร์ และหนังสือภาพประกอบวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสัตว์และพืชที่ใช้เป็นแหล่งข้อมูลในการสร้างสรรค์เรื่องราวการผจญภัยอันยิ่งใหญ่ของเขา รวมถึงการจำลองปกหนังสือการ์ตูนที่ตีพิมพ์โดย เท็นโตมูชิคอมิคส์ (Tentomusi Comic) ทั้ง 45 เล่มจบ และ วลีเด็ดให้ข้อคิดจากในหนังสือ เช่น “อยากให้นายคิดและต่อสู้ด้วยตัวเอง” และ “ฉันจะคอยดูแลจนกว่านายจะเบื่อ”

คาแรคเตอร์ในหนังสือการ์ตูนยังออกมาโลดแล่นในรูปแบบ 3 มิติ กับฉากสำคัญต่างๆที่แฟนๆโดราเอมอนน่าจะจดจำได้ เช่น ตอน “มีแต่โดราเอมอนเต็มไปหมด” และ ตอน “หนีออกจากบ้านไปอยู่เกาะร้าง”

โดราเอมอน
โดราเอมอน

อีกหนึ่งไฮไลต์คือการจัดแสดงภาพ reproduction ผลงานการ์ตูนภาพขาวดำและภาพสี ของฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ ที่ผู้ชมจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในลายเส้นของแต่ละยุค เช่น ภาพโดราเอมอนตั้งแต่เล่มแรก ตอน “ผู้มาจากโลกอนาคต” และตอนที่โนบิตะตกใจเมื่อเห็นรูปถ่ายในอนาคตที่ต้องแต่งงานกับไจโกะ น้องสาวของไจแอนท์ในเล่มแรกเช่นกัน พร้อมกับจัดแสดงคาแรคเตอร์ 3 มิติ ในตอนที่ โดราเอมอนและโนบิตะ ต้องจากลากันแต่สุดท้ายโนบิตะ ก็ใช้ “ยาโกหก 800” เพื่อพาโดราเอมอนกลับมาอีกครั้งในเล่ม 7

ฉากหลักของเรื่องโดราเอมอนเกิดที่ห้องนอนของโนบิตะ ในนิทรรศการจึงมีการจำลองห้องนอนโนบิตะโดยตรงกลางห้องมี คาแรคเตอร์โดราเอมอนกำลังพักผ่อนอยู่บน “โดรายากิ” ไซส์ยักษ์ซึ่งเป็นขนมสุดโปรดของเขา บนผนังทั้งสี่ด้านยังมีภาพนูนต่ำที่นำเสนอเนื้อหาจากบทที่เลือกสรรจากหนังสือการ์ตูนทั้ง 45 เล่ม ถ่ายทอดผ่านโปรเจ็กชันสามมิติ

ภาคพิเศษเหนือจินตนาการและของวิเศษสุดล้ำ

ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ ชื่นชอบในวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา และปรากฏการณ์ลึกลับต่างๆ เป็นอย่างมาก เขาจึงนำสิ่งเหล่านี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างเรื่องยาวตอนพิเศษจำนวน 17 เรื่อง ที่แสดงถึงจินตนาการสุดล้ำให้มากไปกว่าการเป็นการ์ตูนสำหรับเด็กเท่านั้น โดยเรื่องแรกคือ “ไดโนเสาร์ของโนบิตะ” เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ.1979 และได้สร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ.1980

โดราเอมอน

ห้องหนึ่งในนิทรรศการจึงมีการตกแต่งผนังด้วยภาพการ์ตูนจากภาคพิเศษจำนวน 10 ผนัง ผลงานจำลองภาพวาดต้นฉบับ 30 ชิ้น และคาแรคเตอร์ 3 มิติที่ปรากฎในภาคพิเศษ เช่น ตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ โนบิตะนักบุกเบิกอวกาศ ตะลุยดาวต่างมิติ และ สามอัศวินในจินตนาการ

ส่วนห้องสุดท้ายนำเสนอของวิเศษในกระเป๋ามิติที่ 4 ของ โดราเอมอน โดยเน้นไปที่คาแรคเตอร์โดราเอมอนกับ “กระดิ่งแห่งมิตรภาพ” ส่วนของวิเศษชิ้นอื่นทำเป็นรูปนูนต่ำบนผนังสีขาว เช่น ขนมปังช่วยจำ ดินสอคอมพิวเตอร์ ขนมดังโงะตราโมโมทาโร่ ถุงมือตัวตุ่น ไฟฉายย่อส่วน และ ประตูกาลเวลา ปืนใหญ่อัดอากาศ และ วุ้นแปลภาษา

จุดกำเนิดหุ่นยนต์แมวจากโลกอนาคตที่กลัวหนูสุดขีด

“โดราเอมอน!!” เสียงของ โนบิตะ เด็กชายวัยประถม 4 วิ่งร้องไห้เข้ามาในห้องนอนพร้อมร้องเรียกหา โดราเอมอน หุ่นยนต์แมวจากโลกอนาคตผู้มักจะแสดงอาการเดือดดาลและถามกลับว่า “โดนแกล้งอีกแล้วใช่มั้ย!!” พร้อมกับล้วงกระเป๋ามิติที่ 4 เพื่อนำของวิเศษออกมาโดยหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาแต่ส่วนใหญ่มักจบลงที่ความวุ่นวาย คือภาพจำของการ์ตูนและแอนิเมชันสุดฮิต โดราเอมอน ที่สร้างสรรค์โดย ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ (Fujiko Fujio)  นามปากการ่วมของสองนักวาดการ์ตูนชาวญี่ปุ่น ฟุจิโมะโตะ ฮิโรชิ (Fujimoto Hiroshi: ค.ศ.1933-1996) และ อะบิโกะ โมโตโอะ (Abiko Motoo: ค.ศ.1934-2022)

ทั้งคู่ใช้นามปากการ่วมกันในราว ค.ศ.1953 จนกระทั่งแยกเส้นทางการทำงานในค.ศ.1987 และจัดสรรเรื่องลิขสิทธิ์ โดยเรื่อง โดราเอมอน และ ปาร์แมน เป็นของ ฟุจิโมะโตะ ฮิโรชิ ผู้ต่อมาใช้นามปากกาว่า ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ (Fujiko F Fujio) ในขณะที่ อะบิโกะ โมโตโอะ ใช้นามปากกาว่า ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ เอ (Fujiko Fujio A) และถือลิขสิทธิ์การ์ตูนฮิตเรื่อง นินจาฮาโตริ และ ผีน้อยคิวทาโร่

ปกโดราเอมอนเล่มแรก

โดราเอมอน เป็นหุ่นยนต์ในศตวรรษที่ 22 โดยถูกสร้างขึ้นในโรงงานหุ่นยนต์เมื่อวันที่ 3 กันยายน ค.ศ. 2112 แต่เป็นสินค้ามีตำหนิจึงถูกขายทอดตลาดในห้างสรรพสินค้าจนกระทั่งทายาทของโนบิตะซื้อมา และภายหลังส่ง โดราเอมอน ให้เดินทางย้อนเวลามาจากโลกอนาคตเพื่อมาช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตของโนบิตะให้ดีขึ้นโดยมีลิ้นชักโต๊ะในห้องนอนของโนบิตะเป็นประตูทางเข้าสู่ไทม์แมชชีน

“การค้นพบโดราเอมอนถือเป็นการค้นพบที่บังเอิญเช่นเดียวกับการค้นพบตัวเอกเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านมา ถ้าตัวเอกของเรื่องปรากฏตัวออกมาพร้อมกับของอะไรบางอย่างคงจะสนุกน่าติดตาม โดยส่วนตัวผมเป็นคนที่ชอบของอะไรที่มีลักษณะกลม ๆ อยู่แล้วพอเห็นตุ๊กตาพลาสติกโปรอน หน้าตาน่ารักเหมือนตุ๊กตาล้มลุกของลูกสาวก็เลยเอามาเป็นต้นแบบของโดราเอมอน” ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ เคยเขียนบทความเรื่อง “จากหนทางสู่การ์ตูนของผม” ในนิตยสารโชเน็งซันเดย์ ฉบับเดือนสิงหาคม ค.ศ.1989

การ์ตูนเรื่อง โดราเอมอน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1970 ในนิตยสารสำหรับเด็กระดับประถมศึกษาที่ 1-4 ของญี่ปุ่นพร้อมกันทั้ง 6 ฉบับโดยมีการเขียนให้เหมาะกับผู้อ่านแต่ละระดับอายุ ต่อมาจึงมีการจัดพิมพ์เป็นการ์ตูนขนาดพ็อกเก็ตบุ๊คเล่ม 1 ในปี ค.ศ.1974 และมีทั้งหมด 45 เล่มจบโดยฉบับสุดท้ายในปี ค.ศ.1996 ซึ่งเป็นปีที่ ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ เสียชีวิต

ในเนื้อเรื่อง โดราเอมอน แต่เดิมตัวเป็นสีเหลืองและมีหูเช่นเดียวกับ โดเรมี น้องสาวของเขา แต่วันหนึ่งขณะนอนกลางวัน หนูได้กัดหูของโดราเอมอนจนแหว่งและเขาเสียใจมากจึงจะหยิบยาร่าเริงมากินให้หายเศร้าแต่ดันหยิบผิดกลายเป็นยาเศร้าโศกแทน  โดราเอมอนจึงร้องไห้ไม่หยุดสามวันสามคืนจนสีตัวปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีฟ้าหรือสีน้ำเงินและกลัวหนูขั้นสุดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

แต่ ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ ได้เผยเหตุผลแท้จริงดังปรากฎในหนังสือ “ไขความลับของโดเรมอน” ฉบับแปลโดย อังคณา รัตนจันทร์ จากต้นฉบับเรื่อง “DO:RA:CARTE” เรียบเรียงโดย Shogakukan Doraemon-room ว่า “พอเขียนให้เหมือนแมวมากก็จะดูน่ากลัวเพราะเหมือนแมวผี เลยเอาหูออก ส่วนสีก็ต้องให้เหมาะกับนิตยสารเพื่อการศึกษาซึ่งส่วนใหญ่หน้าปกจะเป็นสี และภาพในเล่มจะใช้สีเหลืองเป็นสีพื้น ตัวหนังสือเป็นสีแดง ผมจึงต้องเลี่ยงสีแดงและสีเหลืองเพราะฉะนั้นก็จะเหลือแต่สีน้ำเงิน ด้วยเหตุนี้โดเรมอนจึงเป็นสีน้ำเงิน”

ของวิเศษจากกระเป๋ามิติที่ 4 และ อนาคตที่เปลี่ยนแปลงได้

ประตูไปที่ไหนก็ได้ คอปเตอร์ไม้ไผ่ ขนมปังช่วยจำ ผ้าคลุมล่องหน และ วุ้นแปลภาษา เป็นตัวอย่างของวิเศษที่ถูกหยิบมาใช้อยู่บ่อยๆจากกระเป๋ามิติที่ 4 ตรงหน้าท้องของโดราเอมอน และแสดงให้เห็นถึงจินตนาการสุดล้ำของ ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ ในการนำเสนอความแปลกประหลาดพิสดารกับฉากในชีวิตประจำวันของเด็กวัยประถมอย่างโนบิตะและผองเพื่อนได้อย่างสนุกสนานและแฝงด้วยข้อคิด  ของวิเศษในกระเป๋าที่ปรากฏในพ็อกเก็ตบุ๊คนั้นมีมากกว่า 1,300 ชิ้น

“โดราเอมอน เป็นการ์ตูนที่พัฒนามาจากจินตนาการที่ว่า ถ้ามีของวิเศษแปลกๆ เหนือความคาดหมายออกมาจริงๆในชีวิตประจำวันแล้วล่ะก็ จะเกิดอะไรตามมา สิ่งสำคัญอยู่ที่ของวิเศษแปลกๆ เหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างไรและต้องคิดถึงวิธีการได้มาของของวิเศษเหล่านี้ เพราะฉะนั้นผมจึงจำเป็นต้องหาวิธีการที่จะทำให้ของพวกนั้นปรากฏออกมาให้เร็วที่สุดภายในจำนวนหน้าที่จำกัด และการเอาเครื่องมือออกมาจากกระเป๋าเป็นวิธีที่ดีและเหมาะสมอย่างยิ่ง” ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ เขียนใน “ผลงานรวมเล่มที่ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ คัดเลือกเอง เล่มที่ 4”

ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ ยังเคยให้สัมภาษณ์ในรายการทอล์กโชว์เปิดตัวหนังสือมันโยเมื่อค.ศ.1993 ถึงเหตุผลว่าทำไมต้องให้โดราเอมอนเดินทางมาจากโลกอนาคตในศตวรรษที่ 22 เพื่อดูแล โนบิตะ เด็กชายที่ใครๆต่างก็มองว่าเป็นเด็กไม่เอาไหน สอบได้แต่ 0 คะแนน ขี้เกียจ และ อ่อนแอ ว่า

“ถึงเขา (โนบิตะ) จะทำการบ้านไม่ได้แต่ก็รู้ว่าการทำได้เป็นสิ่งที่ดี และแม้ว่าจะเป็นเด็กชื่อ ๆ แต่ก็รู้ว่าควรจะมีความพยายาม ถึงจะขี้ขลาดแต่ตัวเองก็อยากมีความกล้า ถึงจะมองเห็นจุดด้อยของตัวเองแต่ก็ไม่เคย ท้อถอยและคิดว่าพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ มะรืนนี้ต้องดีกว่าพรุ่งนี้ และต้องพยายามก้าวไป ข้างหน้าแม้จะเป็นแค่ครึ่งก้าวก็ตาม คิดว่าด้วยเหตุผลเหล่านี้ที่ทำให้โดราเอมอน ทิ้งโนบิตะไม่ได้ และอยู่คอยช่วยเหลือเขาตลอด”

การส่งต่อพลังความเชื่อว่า “อนาคตเปลี่ยนแปลงได้” ทำให้เรื่องโดราเอมอนเปิดฉากด้วยภาพอนาคตของโนบิตะที่ยากจนและต้องแต่งงานกับ ไจโกะ น้องสาวของไจแอนท์ จอมเกเร การมาถึงของโดราเอมอนจึงเป็นความหวังว่าจะช่วยให้โนบิตะพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเองจาก เด็กชายที่ไม่เอาไหน ให้กลายเป็นชายหนุ่มที่เข้มแข็งและพึ่งพาได้เพื่อจะได้ใช้ชีวิตร่วมกันกับ ชิซูกะ เด็กสาวที่เขาชื่นชอบ

อ้างอิง

หนังสือ “ไขความลับของโดเรมอน” (พิมพ์ครั้งแรกโดย นานมีบุ๊ค พ.ศ.2553) แปลโดย อังคณา รัตนจันทร์ จากต้นฉบับเรื่อง “DO:RA:CARTE” เรียบเรียงโดย Shogakukan Doraemon-room

Fact File

  • นิทรรศการ “100% Doraemon & Friends Tour in Thailand” ในโซน “100% Manga Art Exhibition” ณ Attraction Hall ชั้น 6 ไอคอนสยาม จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 22 มิถุนายน 2568 บัตรราคาเริ่มต้นที่ 450 บาท
  • โซนกลางแจ้ง “100% Doraemon River Park Exhibition” ที่ ริเวอร์ พาร์ค จัดแสดงระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม – 15 มิถุนายน 2568 บัตรราคา 199 บาท
  • จองบัตรได้ที่ Eventpass และ Klook
  • รายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook : 100% Doraemon & Friends Tour in Thailand

Author

เกษศิรินทร์ ผลธรรมปาลิต
Feature Editor ประจำ Sarakadee Lite อดีต บรรณาธิการข่าวไลฟ์สไตล์ Nation ผู้นิยมคลุกวงในแวดวงศิลปวัฒนธรรมจนได้ขุดเรื่องซีฟๆ มาเล่าสู่กันฟังเสมอ

Photographer

ศรัณยู นกแก้ว
Editor ที่ผ่านทั้งงานหนังสือพิมพ์ พ็อกเก็ตบุ๊ค และนิตยสาร ปัจจุบันยังคงสมัครใจเป็นแรงงานด้านการผลิตคอนเทนต์