ย้อนรอย สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ผ่านตำนานที่แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินยังทรงยอม
Faces

ย้อนรอย สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ผ่านตำนานที่แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินยังทรงยอม

Focus
  • สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โตพฺรหฺมรํสี)มีชีวิตอยู่ในแผ่นดินรัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ 5 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดระฆังฯ ตั้งแต่ในแผ่นดินรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5
  • คาถาชินบัญชร ถือได้ว่าเป็นมรดกชิ้นสำคัญของสมเด็จพระพุฒาจารย์โตทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลัง ปัจจุบันพุทธศาสนิกชนชาวไทยยังคงนิยมสวดมนต์คาถาชินบัญชรสมเด็จพระพุฒาจารย์โตสืบมา

“นอนอยู่อยุธยา มานั่งที่ไชโย โตที่วัดอินทร์ จำศีลที่วัดระฆัง” นี่คือคำกล่าวขานที่บอกต่อๆ กันมาถึงอริยสงฆ์ 5 แผ่นดิน สมเด็จพระพุฒาจารย์โต (โต พฺรหฺมรํสี) ซึ่งยังคงทิ้งปริศนาไว้ให้คนรุ่นหลังได้ครุ่นคิดว่าแท้จริงแล้วท่านเป็นหน่อเนื้อกษัตริย์เป็นโอรสนอกเศวตฉัตรในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชอย่างที่มีการบันทึกต่อๆ กันมาหรือไม่

ในต้นรัตนโกสินทร์เป็นที่รู้กันว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์โต เป็นพระนักเทศน์และนักสอนธรรมะชนิดที่ไม่มีพระรูปใดในสยามเทียบได้ นอกจากนี้ท่านยังเป็นสมณะที่ไม่ยินดีในสมณศักดิ์ เป็นผู้สมถะ มักน้อย ไม่มีความทะยานในลาภ ยศ วัตถุ ไม่เรี่ยไร ไม่สะสมข้าวของ ปัจจุบันมีตำนานต่างๆ ที่กล่าวถึงท่านปรากฏอยู่มากมาย

ช้างเผือกกินหนังสือ 

เล่ากันว่าคืนก่อนที่สามเณรโตจะย้ายไปอยู่วัดระฆังโฆสิตาราม พระอาจารย์รูปหนึ่ง (เข้าใจว่าเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ นาค) ได้ฝันว่ามีช้างเผือกตัวหนึ่งเข้ามากินหนังสือพระไตรปิฎกในตู้ของท่านจนหมด ชะรอยว่าจะมีคนนำเด็กที่เฉลียวฉลาดมีบุญมาฝากตัวเป็นศิษย์ รุ่งขึ้นท่านเจ้าคุณอรัญญิกก็นำสามเณรโตมาถวายตัวเป็นศิษย์ 

เมตตามหาโจร 

คราวหนึ่งขณะที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต กำลังจำวัดอยู่ในเวลาดึกสงัด มีขโมยแอบย่องเข้ามาใต้ถุนกุฏิ เอื้อมมือขึ้นทางช่อง หวังหยิบเอาตะเกียงลานที่วางอยู่ทางปลายเท้าของท่าน แต่หยิบไม่ถึง เจ้าประคุณสมเด็จฯ รู้ตัวตื่นขึ้นพอดีท่านไม่ได้ร้องไล่ แต่กลับเอาเท้าเขี่ยตะเกียงให้ อีกคราวตอนท่านกลับจากแสดงธรรมเทศนาที่ต่างจังหวัดโดยทางเรือ ได้เครื่องกัณฑ์เทศน์เป็นเสื่อ หมอนระหว่างจอดเรือพักนอนตอนกลางคืน มีขโมยลอยเรือเข้ามาเงียบๆ คว้าเอาเสื่อไปเจ้าประคุณเฝ้าดูอยู่ในความมืด จึงพูดขึ้นเรียบๆ ว่า “เอาหมอนไปด้วยสิจ๊ะ” พวกโจรตกใจรีบจ้ำเรือหนี ท่านก็โยนหมอนตามไปให้

ขายผ้า (ไตรจีวร) เอาหน้ารอด 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้พระอารามหลวงริมน้ำแต่งเรือเข้าประกวด และพระองค์ก็เสด็จฯ ไป ทอดพระเนตรที่ท่าราชวรดิฐ (ตำหนักแพ) วัดต่างๆ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต่างแข่งกันประดับประดาเรืออย่างวิจิตรมีแต่เรือของวัดระฆังที่เป็นเรือสำปั้นเก่าและมีเพียงเณรพายหัวท้าย ตรงกลางมีลิงตัวหนึ่งผูกไว้กับหลัก แขวนป้ายที่คอว่า “ขายผ้าเอาหน้ารอด” พอพระองค์ทราบว่าเป็นเรือของ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ก็ตรัสขึ้นว่า “เขาไม่เล่นกับเรา” ต่อมามีข้าราชบริพารไปถามความหมายของคำว่า ขายผ้าเอาหน้ารอด สมเด็จพระพุฒาจารย์โต อรรถาธิบายว่า “พระสมณะย่อมหาสมบัติได้ยาก นอกจากมีผู้มีจิตศรัทธานำมาถวาย ซึ่งก็มีเพียงเครื่องอุปโภคบริโภค ย่อมไม่มีทุนทรัพย์หรือสิ่งใดมาแลก เปลี่ยนลงทุนซื้อหาสิ่งต่างๆ ที่จะนำมาประดับประดาเรือให้สวยงามได้ ถ้าจะทำเช่นนี้ได้ต้องนำเอาผ้าไตรจีวรไปขายเสีย เพื่อเอาเงินมาทำทุนประดับเรือ จึงเท่ากับยอมขายผ้าเอาหน้ารอดไว้ก่อน ถึงแม้ว่าผ้าเป็นสิ่งจำเป็นจะต้องเอาไว้ใช้ห่มห่อสังขารกันร้อนหนาวก็ตาม”

หนีรัชกาลที่ 4 ด้วยมนต์นารายณ์แปลงรูป

หลังจากพระมหาโตออกธุดงค์หนีหายไปหลายปี รัชกาลที่4 ทรงระลึกถึงและมีพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าเมืองทั่วพระราชอาณาจักรหาตัวพระมหาโตนำส่งเมืองหลวงให้ได้ พระมหาโตลองวิชาเปลี่ยนหน้าเรียกว่า นารายณ์แปลงรูป ทำให้คนรู้จักกลับจำไม่ได้ ต่อมาท่านพิจารณาเห็นว่า การกระทำเช่นนั้นทำให้พระรูปอื่นต้องถูกจับไปอดเช้าบ้าง อดเพลบ้าง ตากแดดตากฝน เพราะเข้าใจว่าเป็นท่านท่านจึงออกแสดงตนให้คนที่บ้านไผ่รู้จักและนำตัวท่านส่งเข้าพระนคร 

บุญไม่เต็มบาทจากยายแฟงหัวหน้าซ่อง

ยายแฟงมีอาชีพเป็นหัวหน้าซ่องนครโสเภณี ต่อมาคิดอยากสร้างกุศลจึงได้สร้างวัดใหม่ยายแฟงขึ้นที่ตำบลป้อมปราบศัตรูพ่าย ฝั่งพระนครจากนั้นนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไปเทศน์ตอนหนึ่งท่านเทศน์ว่า ”ยายแฟงสร้างวัดครั้งนี้ได้ผลานิสงส์พร่องไม่เต็มหน่วย เพราะเป็นเงินจากน้ำพักน้ำแรงคนอื่นที่ไม่ชอบด้วยธรรมนิยมถ้าเปรียบอานิสงส์ด้วยเงินเหรียญบาท ยายแฟงก็ได้ไม่เต็มบาท” ปัจจุบันวัดนี้ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดคณิกาผล

พระสมเด็จเขียวแก้อหิวาต์ 

พ.ศ.2416 เกิดโรคอหิวาต์ หรือโรคป่วงครั้งใหญ่ในพระนครมีคนล้มตายเกือบ 4,000 คน เล่ากันว่ามีการแจกจ่ายพระสมเด็จฯ ชนิดปรกเมล็ดโพธิ์ ที่เรียกว่า สมเด็จเขียว ครั้งนั้นหญิงชื่อธูปมีอาการท้องเดินจนตัวซีดไม่รู้จะหายาที่ไหน นึกถึงพระสมเด็จฯ ที่มีอยู่ จึงอาราธนาน้ำมนต์กินบ้างเอาตบศีรษะบ้างจนโรคหาย และว่ากันว่าคนอีกมากที่รอดตายเพราะพระสมเด็จเขียว

สามเณรโตปราบจระเข้ 

แต่ครั้งยังเป็นสามเณรโต บิดามารดาได้พาล่องเรือเพื่อนำไปฝากเรียนปริยัติธรรมกับพระครูที่หัวเมืองไชยนาทบุรี ระหว่างจอดเรืออยู่ที่ท่าในเวลากลางคืน มีจระเข้ตัวหนึ่งเสือกตัวขึ้นมาบนเรือหวังคาบคนไปกิน สามเณรโตลุกขึ้นนั่งภาวนาอยู่ในประทุนเรือ ว่ากันว่าไม่ทันไรจระเข้ตัวนั้นก็อ่อนแรง อ้าปากไม่ออก ไม่ฟาดหางทำอันตรายคนบนเรือ

พูดดีแม้แต่กับสัตว์เดรัจฉาน 

สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พูดจ๊ะจ๋ากับทุกคน แม้แต่กับสัตว์เดรัจฉาน คราวหนึ่งสุนัขนอนขวางทางเดินของท่านอยู่ ท่านพูดกับสุนัขตัวนั้นว่า “โยมจ๋า ฉันขอไปทีจ้ะ” เมื่อมีคนถามว่าทำไมท่านจึงทำอย่างนั้น ท่านตอบว่า “ฉันไม่รู้ได้ว่าสุนัขนี้เคยเป็นพระโพธิสัตว์หรือไม่ เพราะในเรื่องชาดกกล่าวว่าในกาลครั้งหนึ่ง พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสุนัข”

ฉันอาหารเพื่อความไม่อร่อย

เจ้าประคุณสมเด็จฯมักฉันอาหารในบาตรเสมอ ซึ่งทำให้อาหารต่างๆ เสื่อมรสหรือถ้าคำแรกรู้สึกว่าอร่อย ท่านก็จะฉันเพียงคำนั้นคำเดียวแล้วเอาไปให้พระรูปอื่น หรือเหลือไว้ให้ศิษย์ หรือไม่ก็เอาไปให้ทานสุนัข นกกายามมีญาติโยมนิมนต์มาฉันที่บ้าน ระหว่างเดินทางมาท่านจะเก็บใบไม้บางอย่างติดมือมาด้วย เวลาฉันก็เอาใบไม้เหล่านั้นเจือลงในอาหาร เพื่อให้สิ้นรสชาติอันโอชะ

ศูนย์กลางของโลกอยู่ที่นี่ 

ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในสยามหลายคณะ ด้วยความเป็นปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงเลื่องลือของ สมเด็จพระพุฒาจารย์โต ในขณะนั้นทำให้นักบวชต่างศาสนามักมาแลกเปลี่ยนทัศนะกับท่านอยู่เนืองๆ ครั้งหนึ่งท่านนักบวชของคริสตจักรกล่าวสรรเสริญคุณธรรมของเจ้าประคุณสมเด็จฯ แต่ก็อดที่จะเปรียบเปรยไม่ได้ว่า ท่านเจ้าประคุณฯ แม้จะมีธรรมะอันลุ่มลึก แต่ในทางโลกก็ไม่สู้จะรู้เรื่องนัก ท่านเจ้าประคุณฯ ย้อนว่า ตัวท่านก็คงเช่นเดียวกัน บาทหลวงว่า ท่านรู้ดีทั้งทางโลกทางธรรม เช่น รู้ว่าโลกกลมไม่ได้แบน และมีปลาอานนท์หนุนอยู่ดังคติความเชื่อของคนไทยที่ได้รับอิทธิพลพระพุทธศาสนา เจ้าประคุณฯ แย้งว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ 2,000 กว่าปีมาแล้วว่า โลกเรามีสัณฐานกลมเช่นผลมะขามป้อมที่พระองค์หยิบมาวางไว้บนฝ่าพระหัตถ์ และอาตมายังรู้ด้วยว่าจุดศูนย์กลางของโลกอยู่ที่ไหน“อยู่ตรงนี้ไงล่ะท่านบาทหลวง” ท่านชี้นิ้วลงตรงหน้า“ก็ท่านบอกอยู่แล้วว่าโลกกลม ฉะนั้นไม่ว่าจะเอานิ้วจิ้มลงไปที่ใด มันก็ตรงไปสู่จุดศูนย์กลางได้ทั้งนั้นแหละ”

ฝากคำพยากรณ์ชะตาเมือง 

หลังสมเด็จพระพุฒาจารย์โต พฺรหฺมรํสี สิ้นชีพิตักษัยในคืนวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2415เช้าวันรุ่งขึ้นเมื่อนายอาญาราช (อิ่ม) ผู้เป็นศิษย์ก้นกุฏิ เข้าไปเก็บในกุฏิก็ได้พบกระดาษชิ้นหนึ่งเขียนด้วยลายมือท่านเจ้าประคุณฯ เป็นคำทำนายชะตาเมืองในยุคกาลข้างหน้าว่า “มหากาฬ พาลยักษ์ รักมิตร สนิทธรรม จำแขนขาด ราชโจร ชนร้องทุกข์ ยุคทมิฬ ถิ่นกาขาว ชาววิไล”

ต้นเรื่อง: นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 316 มิถุนายน 2554