ทศวรรษบนศิลปะร่วมสมัยในความเคียดแค้นของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล
Faces

ทศวรรษบนศิลปะร่วมสมัยในความเคียดแค้นของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล

Focus
  • จุฬญาณนนท์ ศิริผล ศิลปินทัศนศิลป์และนักสร้างภาพยนตร์ ผู้มีประสบการณ์ในการทำงานศิลปะร่วมสมัยในไทยกว่าหนึ่งทศวรรษ
  • เขาเป็นศิลปินที่มีลีลารูปแบบที่จัดจ้านทั้งเนื้อหาและการนำเสนอที่หลากหลาย ตั้งแต่ภาพยนตร์ขนาดทดลอง งานภาพเคลื่อนไหวจัดวางและการกำกับภาพยนตร์

จุฬญาณนนท์ ศิริผล ศิลปินทัศนศิลป์ นักสร้างภาพยนตร์ ผู้มีประสบการณ์ในการทำงานศิลปะร่วมสมัยในไทยกว่าหนึ่งทศวรรษด้วยลีลารูปแบบที่จัดจ้านทั้งเนื้อหาและการนำเสนอที่หลากหลายตั้งแต่ทำภาพยนตร์สั้นทดลอง งานภาพเคลื่อนไหวจัดวาง งานกำกับภาพยนตร์อย่างในโปรเจกต์ Ten Years Thailand (2018) จนไปถึงงานใหญ่อย่างการสร้างพิพิธภัณฑ์จำลองจนเป็นที่กล่าวถึงอย่างกว้างขวางในนิทรรศการ Museum Of Kirati (2017-2018, BANGKOK CITYCITY GALLERY) ชื่อของเขาจึงเป็นที่จดจำในฐานะศิลปินไทยรุ่นใหม่ที่ทำงานศิลปะร่วมสมัยอย่างหลากหลายและต่อเนื่อง

จุฬญาณนนท์


ศิลปะร่วมสมัยในมุมมองของ จุฬญาณนนท์

ศิลปะร่วมสมัย เป็นการนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาปัจจุบันและเกิดขึ้นในสถานที่ตรงนี้ นำเสนอภาพรวมของโลกที่กำลังเดินทางหรือเผชิญกับอะไรอยู่ เผชิญปัญหาหรือสิ่งที่คับข้องอย่างไรบ้างแล้วแสดงออกมาเป็นการทำงานศิลปะ ซึ่งมันก็สามารถไป defend ได้อีกว่าความร่วมสมัยมันอยู่ตรงไหนหรือตามแต่ละนิยามของแต่ละคนไป ส่วนตัวเรามองว่าคือการเผชิญกับอะไรในฐานะปัจเจกบุคคล มองว่าเรากำลังเผชิญกับอะไรอยู่ เผชิญกับผู้คน สังคม โลกปัจจุบันหรือการเมืองของตัวเอง ซึ่งการเมืองของตัวเอง หมายถึง ความทรงจำในอดีต เป็นเรื่องส่วนตัวแต่ความส่วนตัวนั้นถึงเป็นเรื่องของเรามันก็สามารถแชร์กับคนอื่นด้วยประเด็นที่คนอื่น ๆ ก็อาจมีเหมือนกันอย่างความรัก ความขัดแย้งในครอบครัว แม้จะเป็นเรื่องของเราก็สามารถแชร์กับคนอื่น ๆ ได้ และก็นำมาสร้างเป็นงานศิลปะได้เช่นกัน

ใช้เวลานานไหมกว่าจะเรียก “งานศิลปะ” เป็นอาชีพ

เกือบ ๆ 10 ปี เราทำหนังสั้นมาก่อนมันก็เลยเป็นอีกตลาดหนึ่ง หลังจากนั้นมาทำวิดีโออาร์ตเรามองว่านักสะสมงานศิลปะบางคนก็มองหางานที่จับต้องได้งานวาด งานปั้น แต่งานวิดีโอมันเหมือนจับต้องไม่ได้ต้องใช้เวลาเหมือนกันในการพาตัวเองไปสร้างคอนเน็กชันใช้เวลาในการสร้างคุณค่าของผลงานหมายถึงผลงานหนึ่งอาจต้องบ่มเช่น การนำไปแสดงทั้งในและต่างประเทศ มีคนพูดถึง มีบทความเขียนถึง มันก็จะเพิ่มคุณค่าให้งานนั้น ๆ จนนำไปสู่นักสะสม มันเป็นตลาดศิลปะและอาชีพสำหรับเราหมายถึงเมื่อเราพาตัวเองอยู่ในกลไกของตลาดศิลปะ สำหรับเราตอนนี้เราได้รายได้จากสิ่งนี้แล้ว จึงเรียกได้ว่าศิลปะ ศิลปินมันคืออาชีพ ตอนนี้มีนักสะสมติดตามงานเราอยู่ทั้งในและต่างประเทศ

อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับการเป็นศิลปินอาชีพ

จริงจัง ต่อเนื่อง ต้องโฟกัสจริง ๆ เราต้องถามตัวเองตลอดว่าเราสนใจเรื่องอะไร และถ่ายทอดอะไรที่มีความพิเศษในฐานะศิลปินได้บ้าง

จุฬญาณนนท์

ศิลปินอาชีพต้องกระโดดเข้ากลไกตลาดศิลปะอย่างไร

กลไกตลาดศิลปะก็จะมีนิเวศของตลาดศิลปะและเราอยู่ในนั้น ศิลปินเป็นอาชีพที่มีการลงทุนและผลตอบแทน แต่ในความเป็นตลาดของระบบทุนมันก็จะมีเรื่องลูกค้า เราคิดว่ามันมีการเมืองของตลาดศิลปะอยู่เช่น มีกระแสของตลาดศิลปะว่าอะไรขายได้ งานแบบไหนสร้างรายได้เรามองว่าตลาดศิลปะเป็นอีกโลกและเราไม่ได้สนใจมันมากเท่าไร เราโฟกัสว่าเราอยากทำอะไร เรามองตัวเอง สังคม และมองโลกอย่างไรและจะนำเสนอมันออกมาอย่างไร ขายได้หรือไม่ได้แต่มันได้ขับเคลื่อนความคิดให้มันตกตะกอนผ่านงานศิลปะเราโฟกัสแค่ว่าทำงานให้ดี ส่วนจะขายได้เป็นอีกเรื่อง

คิดเห็นอย่างไรกับนิเวศศิลปะในเมืองไทยตอนนี้

สิ่งที่ขาดในนิเวศศิลปะไทยคือการรวมตัวไม่ว่าจะแบบ union หรือ council เหมือนคนทำงานศิลปะต่างคนต่างทำต่างคนต่างอยู่ เราเข้าใจความเป็นปัจเจกของแต่ละคน แต่ถ้ารวมตัวกันได้ก็มีโอกาสในการต่อรองกับรัฐ อย่างเรื่องการที่รัฐลงทุนกับศิลปะในแบบที่รัฐรู้สึกปลอดภัยหรือความเข้าใจที่รัฐมีต่อศิลปะในฐานะ Soft Power การต่อรองคือการไปทำให้นิยามหลากหลายขึ้น ถ้าเป็นการให้ทุนก็กระจายไปสู่กลุ่มอื่น ๆ งานศิลปะแบบอื่น ๆ ให้มากขึ้น

เมื่อต้องทำงานศิลปะภายใต้พันธกิจหรือโจทย์บางอย่าง

ศิลปะมีความพิเศษตรงที่มันเปิดโอกาสให้คิดจินตนาการถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง พันธกิจคือตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเผชิญอยู่ปัจจุบัน แต่ก็เชื่อมโยงกับอดีตและคิดถึงอนาคตว่าเราจะมีชีวิตต่ออย่างไรหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง ศิลปะเลยเป็นแพลตฟอร์ม ที่เป็นสื่อระหว่างศิลปินกับคนเสพและไม่ใช่แค่ความงามทางสายตาแต่มันไปตั้งคำถามทางความคิดผู้ชมได้ด้วย

จุฬญาณนนท์

แรงบันดาลใจในการสร้างงาน

ความแค้น ความเคียดแค้น เคยได้ยินบางคนบอกว่าศิลปะคือความรักปรากฏรูปแต่ของเราเป็นความแค้นปรากฏรูปเราเคียดแค้นความไม่ยุติธรรมของประวัติศาสตร์ที่มันไม่ยุติธรรม เรามองว่ามีชุดเรื่องเล่า หรือคำอธิบายทางประวัติศาสตร์การเมืองแค่ชุดเดียว เรารู้สึกว่าเราอยู่ภายใต้ชุดนั้นมาตลอด พอเราเจอชุดอื่น ๆ มันทำให้เข้าใจว่าประวัติศาสตร์เป็น Fiction แบบหนึ่ง เช่นการทำภาพยนตร์ Forget Me Not การมาทำเรื่องนี้เป็นการสร้าง Fiction ตอบกับ Fiction ที่เคยมีมาด้วยการใช้เรื่องเล่าที่มันมีอยู่แล้วมาดัดแปลงและใส่แบบของตัวเองลงไปเช่นข้างหลังภาพก็เป็น Fiction ที่ศรีบูรพาสร้างเรื่องประวัติศาสตร์หลัง พ.ศ.2475 ผ่านเส้นเรื่องของศรีบูรพาที่เขียนในปี พ.ศ. 2479 และต่อมาเรื่องนั้นก็มีคนมาตีความในมุมมองที่หลากหลายเราก็มีโอกาสอ่านหลายมุมมองและเราก็เลือกหยิบมาอ่านผ่านมุมมองของเราว่าการสถาปนาประวัติศาสตร์และเรื่องเล่ามันไม่ตายตัว

ใช้ความแค้นทำงานศิลปะอย่างไร

เวลาทำงานจะเหมือนเป็นการบำบัดตัวเองผ่านวัตถุศิลปะในขณะเดียวกันก็ใช้งานศิลปะหาทางออกให้ปัญหาที่เกิดขึ้นไปด้วยซึ่งปัญหาเหล่านั้นก็จะถูกชี้ให้เห็นหรือนำเสนอทางออกผ่านงานศิลปะ ซึ่งตอนทำก็เครียดนะ กดดันอยู่ ตอนทำงานก็จะคิดว่าจะหาทางออกจากความเครียดหรือความเคียดแค้นนี้ยังไง เปลี่ยนรูปแบบความเคียดแค้นนั้นเป็นรูปธรรม และคิดถึงคนมาดู เราต้องคิดเยอะว่าคนดูเป็นใครและงานเราจะมีปฏิกิริยาทางความคิดกับคนดูอย่างไร

จุฬญาณนนท์

อะไรคือสิ่งที่ยากที่สุดในการสร้างงานหนึ่งชิ้น

เรื่องความคิดที่เราจะส่งผ่านลงไปในตัวผลงานให้มีประสิทธิภาพและทำงานกับผู้ชมที่มีพื้นหลังต่างออกไปได้อย่างไร อย่างบางงานผู้ชมที่มีพื้นหลังทางความรู้ประวัติศาสตร์ก็จะรู้เรื่องแบบหนึ่งแต่ผู้ชมที่ไม่มีความรู้นั้นก็อาจเข้าใจได้อีกแบบ ความยากคือการทำงานกับผู้ชม ผู้เสพที่หลากหลาย

องค์ประกอบอะไรที่ผู้ชมมักจะเห็นซ้ำ ๆ ในงานศิลปะของ จุฬญาณนนท์

งานเราจะมีส่วนประกอบของนวนิยายวิทยาศาสตร์ (Science Fiction) อยู่เยอะ เลยมีองค์ประกอบแบบ ความเชื่อและวิทยาศาสตร์ ความเชื่อและความจริง แต่เราไม่ได้ชอบอ่านนิยายวิทยาศาสตร์นะ เราได้มาจากความสนใจในพุทธศาสนา ในพระไตรปิฎกมีบทหนึ่งที่พูดถึงโลกที่มีมนุษย์และมีมนุษย์แบบอื่นในโลกอื่นมีชมพูทวีป เขาไกรลาส นรก สวรรค์ มนุษย์ เราว่ามันมีความไซไฟเหมือนมีมนุษย์ต่างดาว เราว่าสังคมไทยเป็นสังคมแบบคัลต์เลยสนใจเรื่องนี้ในงานเราเลยมีประเด็นความเชื่อ พุทธศาสนา การเมือง มาอยู่ด้วยกัน

ศิลปะขับเคลื่อนสังคมได้ไหม

เราอาจมองแบบ romanticized หน่อย เราว่าศิลปะขับเคลื่อนสังคมได้ งานศิลปะสามารถสร้างกระแสขับเคลื่อนได้แต่ต้องมองหาหนทางและออกจากกรอบที่สังคมตีไว้ เราไม่สามารถแยกศิลปินกับสิ่งอื่น ๆ ในสังคมได้ เพราะเราก็เป็นผลผลิตของสังคม

ถ้าอยากจะเป็นศิลปินต้อง…

ก็ควรจะตั้งคำถามกับกรอบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยใช้ประสบการณ์ ภาษา และอากาศของยุคสมัย หลายครั้งศิลปินรุ่นใหม่ คนที่เริ่มทำงานก็อาจมีความกลัวว่าทำแบบนี้จะเป็นงานที่ดีไหม ซึ่งการที่เรากล้าออกมาจากกรอบเดิมมันค่อนข้างยากเพราะไปยึดกับกรอบแบบเดิมว่ามันดีกว่าแต่ก็ควรจะก้าวออกมาจากรอบด้วยความมั่นใจ เรามองว่าคนรุ่นใหม่มีภาษาของตัวเองเพียงแต่ว่าอาจแค่ไม่มั่นใจในการใช้ภาษาของตัวเองพูด ต้องมั่นใจในการพูดออกมาและมีความหวังกับอนาคต

Fact File


Author

อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ
มนุษย์ผู้ตกหลุมรักในการสร้างสรรค์ ภาพ เสียง แสง การเคลื่อนไหว นามธรรม และ การขีดเขียน

Photographer

วรวุฒิ วิชาธร
คลุกคลีอยู่ในวงการนิตยสารมากว่า 15 ปี ทั้งงานแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ศิลปวัฒนธรรม ท่องเที่ยว ปัจจุบันยังคงสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานถ่ายภาพในฐานะ "ช่างภาพอิสระ"