มนุษย์ลุง มนุษย์ป้า ไม่ใช่นิยามของ ผู้สูงวัย แต่สามารถจัดการได้ด้วยการแพทย์
Better Living

มนุษย์ลุง มนุษย์ป้า ไม่ใช่นิยามของ ผู้สูงวัย แต่สามารถจัดการได้ด้วยการแพทย์

Focus
  • คำว่า มนุษย์ลุง มนุษย์ป้า ถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของผู้สูงวัยที่มีภาวะความแปรปรวนด้านอารมณ์ จนบางครั้งไม่สามารถควบคุมคำพูด หรือการกระทำนั้น ๆ ได้
  • ภาวะอารมณ์แปรปรวนของผู้สูงวัยที่หลายคนนิยามว่าเป็น มนุษย์ลุง มนุษย์ป้า อาจไม่ได้มาจากสภาวะบุคลิกภาพ แต่อาจจะมาจากโรคแทรกซ้อน
  • อาการหลงลืมคือหนึ่งในอาการของโรคสมองเสื่อม อันส่งผลโดยตรงต่อภาวะอารมณ์ของผู้สูงวัย ทำให้มีอารมณ์หงุดหงิด หรือที่หลายคนเรียกว่า มนุษย์ลุง มนุษย์ป้า

คำว่า มนุษย์ลุง มนุษย์ป้า ถูกนำมาใช้เป็นตัวแทนของผู้สูงวัยที่มีภาวะความแปรปรวนด้านอารมณ์ จนบางครั้งไม่สามารถควบคุมคำพูด หรือการกระทำนั้น ๆ ได้ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าลักษณะท่าทีเหล่านั้นเป็นบุคลิกภาพ นิสัยส่วนตัวของแต่ละบุคคล แต่ทราบหรือไม่ว่าภาวะอารมณ์แปรปรวนของ ผู้สูงวัย ที่หลายคนนิยามว่าเป็น มนุษย์ลุง มนุษย์ป้า อาจไม่ได้มาจากสภาวะบุคลิกภาพของคนนั้นเพียงด้านเดียว

ในทางการแพทย์อารมณ์เหวี่ยง วีน ควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ อาจมาจากโรคที่แฝงอยู่ในร่างกาย ซึ่งหลายครอบครัวที่มีผู้ใหญ่อยู่ในสภาวะนี้ มักจะมีความเครียดถึงขั้นที่ทำให้ผู้สูงวัยหลายคนเกิดอาการซึมเศร้า และหาทางออกไม่ได้ เพราะคิดว่านี่เป็นเพียงอารมณ์ เป็นฮอร์โมนตามธรรมชาติของ ผู้สูงวัย ไมได้ตระหนักว่า อารมณ์ที่แปรปรวนอาจจะเพราะมีโรคต่าง ๆ แทรกซ้อนอยู่

ผู้สูงวัย
ภาพประกอบ

โรคในผู้สูงวัย ที่ไม่ได้หมายถึงความโรยราตามธรรมชาติ

นพ.ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ และอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลนครธน เล่าถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยตอนนี้เหมือนกับสึนามิ แม้ประเทศไทยเรายังเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา แต่จำนวนประชากรรุ่นใหม่กลับน้อยลง เห็นได้จากหลังปี พ.ศ.2526 มีเด็กเกิดใหม่น้อยกว่า 1 ล้านคน/ปี ซึ่งการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยส่งผลต่อสภาวะสุขภาพของคนไทยที่ต้องใช้งบประมาณในการดูแลค่อนข้างมาก โดยเฉพาะช่วงสุดท้ายของชีวิตที่เป็นชวงเวลาที่ต้องใช้เงินเพื่อรักษาตัวเองมากที่สุด

นพ.ภาณุวัฒก์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการดูแลผู้สูงอายุในไทยค่อนข้างมีปัญหา โดยเฉพาะการวิเคราะห์ภาวการณ์เปลี่ยนแปลงในเชิงสุขภาพ เนื่องจากลูกหลานมักมองการเปลี่ยนแปลงสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นการเสื่อมสภาพปกติ แต่ความจริงแล้วบางอาการเป็นสัญญาณเตือนของโรค ดังนั้นผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุโดยเฉพาะแพทย์ต้องแยกให้ออกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นภาวะปกติ หรือเป็นสัญญาณของโรค เพราะที่ผ่านมาเมื่อคนแก่มีอาการเจ็บปวยมักไม่บอกลูกหลาน เนื่องจากเกรงใจ ไม่อยากเป็นภาระ จนสุดท้ายอาการของโรคลุกลามรวดเร็ว

ผู้สูงวัย
นพ.ภาณุวัฒก์ ว่องตระกูลเรือง
ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ และอายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลนครธน

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงสุขภาพของผู้สูงอายุจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ถึงอวัยวะต่าง ๆ ที่อาจจะเป็นปัญหาร่วมด้วย เช่น หาก ผู้สูงวัย หกล้มอาจจะไม่ใช่แค่อุบัติเหตุ แต่อาจมีโรคซ่อนอยู่มากกว่า 1 โรค เช่น ภาวะด้านสายตาที่ทำให้การมองไม่ดีเท่าที่ควร กล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อเข่าเสื่อม น้ำในหูไม่เท่ากัน ทั้งนี้ปัญหาที่ตามมาคือ ถ้าเป็นโรงพยาบาลทั่วไปที่ไม่ใช่คลินิกผู้สูงอายุโดยเฉพาะ จะต้องส่งคนไข้ไปพบแพทย์เฉพาะทาง แปลว่าถ้ามี 10 โรค ก็ต้องไปหาหมอเฉพาะทาง 10 คนด้วยกัน และหมอแต่ละท่านอาจจะนัดวันไม่ตรงกัน ซึ่งนี่อาจจะดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่กลับกลายเป็นปัญหาสำคัญของคนไข้สูงอายุ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการจ่ายยาที่ทับซ้อน จนทำให้ประสิทธิภาพของยาบางชนิดออกฤทธิ์มากเกินไปจนส่งผลต่อคนไข้ก็เป็นได้

ทางออกหนึ่งของปัญหานี้ที่หลายโรงพยาบาลกำลังทำอยู่เช่นดียวกับโรงพยาบาลนครธน คือการเปิดคลินิกเฉพาะทางเป็น คลินิกผู้สูงอายุ มีทีมแพทย์หลักในการแก้ปัญหา โดยจะนัดแพทย์เฉพาะทางแต่ละท่านให้คนไข้เจอในวันเดียวกัน และช่วยคนไข้ในการคุยกับหมอเฉพาะทาง เพื่อลดทอนยาบางอย่างที่อาจทำให้เกิดการกินยาที่ทับซ้อน พร้อมบูรณาการการรักษาทางกายกับสุขภาพจิต และกายภาพบำบัดที่เหมาะสมกับคนไข้ เป็นการบูรณาการการรักษาในทุกฝ่ายร่วมกัน

มนุษย์ลุง มนุษย์ป้า

สมองเสื่อมหนึ่งในต้นเหตุอารมณ์เหวี่ยง

เมื่อวิเคราะห์ไปถึงสถานการณ์โรคผู้สูงอายุ นพ.ภาณุวัฒก์ ให้ความเห็นว่า โรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุไทยเป็นอีกโรคที่พบมากขึ้น ทว่าหลายครอบครัวมีการจัดการที่ยังไม่ถูกวิธีนัก จนกลายเป็นปัญหาความตึงเครียดในครอบครัวเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากลูกหลานมักมองว่าเป็นภาวะปกติของผู้สูงอายุที่มีการหลงลืมตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่จึงไม่ได้พามารักษา ทั้งที่จริงแล้วอาการหลงลืมคือหนึ่งในอาการของโรคสมองเสื่อม อันส่งผลโดยตรงต่อภาวะอารมณ์ของผู้สูงวัย ทำให้มีอารมณ์หงุดหงิด หรือที่หลายคนเรียกว่า มนุษย์ลุง มนุษย์ป้า นั่นเอง

“การที่ผู้สูงอายุมีภาวะอารมณ์หงุดหงิดง่าย หลายครั้งเกิดจากโรคอัลไซเมอร์ที่แฝงอยู่ เพราะพื้นที่บริเวณสมองที่มีปัญหาอาจอยู่ใกล้กับสมองส่วนที่แสดงอารมณ์ จนทำให้คนไข้มีอาการเช่น หงุดหงิดง่าย โวยวาย ซึ่งในหลายครั้งเมื่อแพทย์ได้คุยกับครอบครัวตรวจด้วยเอ็มอาร์ไอ (MRI) และซักประวัติของคนไข้ จึงพบว่าเป็นภาวะผิดปกติ หลายรายแพทย์ต้องสั่งจ่ายยาให้ เนื่องจากมีความเครียดสะสมมานาน สำหรับขั้นตอนการตรวจภาวะอารมณ์แปรปรวนในผู้สูงอายุ หมอจะใช้เวลาซักถามคนไข้และญาติค่อนข้างนาน เพื่อวิเคราะห์ถึงความผิดปกติ ซึ่งบางคนไม่ได้มีภาวะของโรค แต่มาจากอุปนิสัย หรือหลายคนมองว่า ตัวเองอายุมากแล้วไม่มีอะไรจะเสียหาย ถ้าเป็นแบบนี้ หมอจะเน้นการพูดคุยปรับความเข้าใจกันในครอบครัว”

มนุษย์ลุง มนุษย์ป้า
ภาพประกอบโรงพยาบาลนครธน (ถ่ายก่อนการระบาดของโควิด-19)

นพ.ภาณุวัฒก์ เล่าถึงขั้นตอนการรักษาโรคสมองเสื่อม ซึ่งนั่นทำให้เมื่อคนไข้มาพบแพทย์เพื่อตรวจภาวะอารมณ์แปรปรวนจึงต้องใช้เวลาคุยไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง และต้องมีญาติหรือผู้ดูแลมาด้วย เพื่อที่จะเป็นผลดีในการวิเคราะห์ เช่น แพทย์ต้องวิเคราะห์และจำแนกอุปนิสัยของคนไข้ที่เป็นภาวะปกติ ไม่ว่าจะเป็นขี้กลัว ขี้โกรธ ไม่ค่อยพูด ออกจากภาวะอารมณ์แปรปรวนที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นผลมาจากโรคสมองเสื่อมทั้งสิ้น

โรคนี้นอกจากจะส่งผลกระทบทางกายกับผู้ป่วย ยังส่งผลกระทบทางใจ ทั้งต่อคนไข้และครอบครัว เพราะหลายบ้านที่มาหา ค่อนข้างคาดหวังและเลี้ยงดูผู้สูงอายุในครอบครัวอย่างดี เพื่อหวังว่าอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจะดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว การดูแลผู้สูงอายุต่างจากการดูแลเด็ก เพราะเด็กเลี้ยงแล้วโตมีพัฒนาการที่เห็นได้ชัด แต่ผู้สูงอายุยิ่งนานวันจะกลายไปเป็นเด็กมากขึ้น

สิ่งนี้ทำให้เกิดการทะเลาะกันในครอบครัว ทั้งผู้สูงอายุที่มีอารมณ์แปรปรวนจากโรคที่แฝงอยู่ และคนที่เลี้ยงดูก็มักเก็บกดอารมณ์ จนสุดท้ายระเบิดใส่ผู้สูงอายุ ซึ่งหลายคนที่มาปรึกษามักจะร้องไห้และรู้สึกผิดกับสิ่งที่ทำลงไป จนส่งผลทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าทั้งในผู้สูงอายุและลูกหลานในครอบครัวอย่างไม่รู้ตัว

ดังนั้น กระบวนการรักษา นอกจากการพูดคุยแล้ว ทีมแพทย์จะทำการวิเคราะห์ และหาต้นตอของความแปรปรวนด้านอารมณ์ เพราะผู้สูงอายุบางคน ก็ไม่ได้หงุดหงิดจากภาวะสมองเสื่อม แต่อาจมีโรคทางกายแฝงอยู่ เช่นปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งทีมแพทย์จะวางแผนการรักษาร่วมกับแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้คนไข้มาโรงพยาบาลน้อยที่สุด และลดผลกระทบจากการกินยาที่ซ้ำซ้อน

สำหรับคลินิกผู้สูงอายุแห่งนี้ จะเน้นรับคนไข้ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป แต่ตอนนี้ก็มีคนที่อายุ 50 ปี เริ่มเข้ามาพบมากขึ้น เนื่องจากแพทย์เฉพาะทางเริ่มส่งมาให้รักษาสภาวะจิตใจ เพื่อให้เกิดการรักษาแบบองค์รวมทั้งร่างกายและจิตใจไปในคราวเดียวกัน และในขณะเดียวกันก็จะเป็นผลดีต่อคนไข้ในระยะยาว ที่ได้เตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่สภาวะของผู้สูงวัย


Author

นายแว่นสีชา
เริ่มต้นจาก โครงการค่ายนักเขียนสารคดี สะท้อนปัญหาสังคม ครั้งที่ 2 ก่อนฝึกฝนจับประเด็น ก้มหน้าอยู่หลังแป้นพิมพ์มากว่า 10 ปี ชอบเดินทางคุยเรื่อยเปื่อยกับชาวบ้าน แต่บางครั้งขังตัวเอง ให้อยู่กับการทดลองอะไรใหม่ๆ

Photographer

ประเวช ตันตราภิมย์
เริ่มหัดถ่ายภาพเมื่อปี 2535 ด้วยกล้องแบบ SLR ของพ่อ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองก่อนหาความรู้เพิ่มเติมจากรุ่นพี่และนิตยสาร รวมถึงชุมนุมถ่ายภาพ สิบกว่าปีที่เดินตามหลังกล้อง มีโอกาสพบเห็นวัฒนธรรม ประเพณี กลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆ เชื่อว่าช่างภาพมีหน้าที่สังเกตการณ์ ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น และเล่าเรื่องด้วยภาพไปสู่ผู้ชม