10 งานศิลปะฉบับนอกกรอบ (นักท่องเที่ยว) ประจำ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ปารีส
Arts & Culture

10 งานศิลปะฉบับนอกกรอบ (นักท่องเที่ยว) ประจำ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ปารีส

Focus
  • ปารีสเป็นเมืองที่ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2024 ต่อจากโตเกียว และพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ย่อมเป็นหนึ่งในหมุดหมายของนักท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่คาดหมายว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเบาบางลง
  • เปิดเช็กลิสต์ 10 ผลงานศิลปะในลูฟวร์ที่จะพาออกนอกเส้นทางเดินยอดนิยมของนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่การเบียดเสียดเพื่อเก็บภาพโมนาลิซาและรูปปั้นหินอ่อนวีนัส

ปารีสเป็นเมืองที่จะรับไม้ต่อจากโตเกียวในการเป็นเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2024 และเพื่อเป็นการต้อนรับเจ้าภาพครั้งต่อไป Sarakadee Lite ชวนไป #เที่ยวทิพย์ กันก่อนที่มหานครปารีสด้วยการพาชมงานศิลปะที่ทรงคุณค่าใน พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre Museum) แบบที่ไม่ต้องเบียดเสียดกับนักท่องเที่ยวจำนวนมากเพื่อจะเก็บภาพกับผลงานระดับซูเปอร์สตาร์ทั้งหลาย เช่น ภาพโมนาลิซา หรือ รูปปั้นหินอ่อนวีนัส

พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

ลูฟวร์ยังมีงานศิลปะที่เรียกได้ว่าอยู่ในระดับเอคลาสอีกมากมายนับไม่ถ้วนที่สวยงามและทรงคุณค่าไม่แพ้กัน เราจึงขอเปิดเช็กลิสต์ 10 งานศิลปะที่จะพาออกนอกเส้นทางเดินยอดนิยมของนักท่องเที่ยวแต่รับรองว่าคนรักศิลปะทั้งหลายต้องอิ่มเอมใจแน่นอน

พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

01 Psyché ranimée par le baiser de l’Amour (ซิเช่ ครานิเม่ ปาร์ เลอ เบเซ่ร์ เดอ ลามูร์) 

ศิลปิน : ผลงานแกะสลักจากหินอ่อนโดย อันโตนิโอ คาโนวา (Antionio Canova) ศิลปินชาวอิตาลี ประมาณ ค.ศ.1787-1793 ในยุคนีโอคลาสสิก

รายละเอียด : รูปปั้นมีขนาดความสูง 155 เซนติเมตร กว้าง 168 เซนติเมตร ลึก 101 เซนติเมตร เล่าเรื่องราวของไซคี (ซิเช่ ในภาษาฝรั่งเศส) ที่กำลังจะตายเพราะสูดควันพิษจากผอบที่วีนัสกำชับนักหนาว่าห้ามเปิดดู คิวปิด (Cupid) หรือ กูปิดง (Cupidon) ในภาษาฝรั่งเศสซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความรัก (l’Amour) จึงรีบเข้าไปช่วยเหลือทำให้ลูกศรประจำตัวของเขาแทงเข้าผิวหนังของสาวคนรัก และจุมพิตเธอด้วยความรักเลยทำให้ไซคีฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่ง

จุดเด่น : คาโนวา แกะสลักท่วงท่าของคิวปิดและไซคีในลักษณะที่คิวปิดกำลังโอบกอดคนรักของเขาอย่างอ่อนโยน มือขวาประคองศีรษะส่วนมือซ้ายโอบบริเวณอก และโน้มใบหน้าของตัวเองลงไปใกล้กับใบหน้าของไซคี ในขณะที่หญิงสาวก็ปล่อยให้กายเอนไปด้านหลังในลักษณะที่มือทั้งสองข้างโอบกอดต้นคอของชายหนุ่มอย่างอ่อนล้า ทักษะในการแกะสลักหินอ่อนให้ดูอ่อนช้อยงดงามประณีตราวกับเนื้อหนังมังสาของมนุษย์ถือเป็นคุณลักษณะเด่นเฉพาะตัวของคาโนวา

พิกัด : ปีก Denonชั้น 0 (Rez-de-Chaussez) ห้อง Michel-Ange

พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

02 Sainte Marie Madeleine (แซงต์ มารี มาดเดอแลน)

ศิลปิน : เกรกอร์ แอร์ฮาร์ต (Gregor Erhart) ศิลปินชาวเยอรมัน ประมาณ ค.ศ.1515-1520

รายละเอียด : มีความสูง 177 เซนติเมตร กว้าง 44 เซนติเมตร และลึก 43 เซนติเมตร แกะสลักจากไม้ทิเลีย (Tilia) หรือ ทิเยิล (Tilleul) ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นไม้ตระกูลมะนาวมีดอกสีเหลืองนิยมนำมาชงดื่มเป็นชา โดยสีโพลีโครมได้รับอิทธิพลมาจากสมัยเรอเนซองส์ของอิตาลี ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสไตล์ของประเทศในแถบยุโรปเหนือและเยอรมนี แต่เดิมงานชิ้นนี้ถูกตั้งไว้ที่โบสถ์เซนต์ มารี มาเดอลีน ณ เมืองเอาก์สบูร์ก (Augsbourg) ประเทศเยอรมนี

จุดเด่น : เป็นรูปสลักของหญิงสาวที่มีเส้นผมสีน้ำตาลยาวสยายเป็นลอนคล้ายกับลูกคลื่น ทอดยาวลงมาคลุมหลังและสะโพก ก่อนหน้านี้เป็นที่รู้จักในชื่อของ “สาวสวยชาวเยอรมัน” เป็นผลงานที่ดูมีเสน่ห์ลึกลับด้วยท่วงท่าบอบบางและเย้ายวน

พิกัด : ปีก Denon ชั้น1 ห้อง 169

พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

03 La Dentellière (ลา ดองแตลลิแยร์)

ศิลปิน : โยฮันเนิส ไรเนียส์โซน เฟอร์เมร์ (ดัตช์: Johannes Reynierszoon Vermeer) หรือ ฌ็อง แวร์แมร์ ในภาษาฝรั่งเศส ประมาณ ค.ศ. 1669-1670

รายละเอียด : ภาพเขียนสีน้ำมันบนผ้าใบ ขนาดความสูง 24 เซนติเมตร กว้าง 21 เซนติเมตร (ไม่รวมกรอบไม้) และมีความหนาของภาพ 6.7 เซนติเมตร (รวมกรอบไม้) เป็นภาพของหญิงสาวที่กำลังเย็บปักลูกไม้ มีหนังสือเล่มเล็ก ๆ อยู่ทางด้านซ้ายมือ น่าจะเป็นคัมภีร์ไบเบิลเล่มเล็ก ๆ หรือไม่ก็อาจจะเป็นหนังสือสวดมนต์ ถัดออกไปเป็นถุงใส่อุปกรณ์เย็บปักถักร้อยที่มีลักษณะเหมือนหมอน มีเส้นด้ายหลากสีโผล่พ้นจากปากถุงออกมา หญิงสาวในภาพน่าจะเป็นคนที่ค่อนข้างมีฐานะ อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเธอเป็นภรรยาของจิตรกรผู้เขียนภาพหรือไม่

จุดเด่น : เฟอร์เมร์เขียนภาพนี้โดยวางให้แสงส่องเข้ามาทางด้านขวาของภาพและเน้นความคมชัดที่จุดศูนย์กลางของภาพคือตัวหญิงสาว โดยที่ปรับให้วัตถุด้านหน้าของภาพมีความเบลอไม่คมชัดเท่าจุดสำคัญของภาพ ซึ่งลักษณะเช่นนี้จะพบได้น้อยมากในผลงานของเฟอร์เมร์

พิกัด : ปีก Richelieu ชั้น 2 ห้อง 837

พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

04 Portrait présumé de Gabrielle d’Estrées et de sa sœur la duchesse de Villars (ปอร์เทร่ต์ เพรซูมเม่ เดอ กาเบรียล เดสเทร่ เอ ซา เซอร์ ลา ดุชแชส เดอ วิลยาร์)

ศิลปิน : ไม่ระบุชื่อศิลปิน (ชาวฝรั่งเศส) ประมาณค.ศ. 1594

รายละเอียด : ภาพเขียนสีน้ำมันบนแผ่นไม้โอ๊กความสูง 96 เซนติเมตร กว้าง 125 เซนติเมตร เป็นศิลปะแบบเรอเนซองส์ ศิลปินชาวฝรั่งเศสได้สลัดตัวเองให้หลุดออกจากกรอบของเรอเนซองส์ หลังจากที่ได้ซึมซับแนวคิดและบทเรียนจากแผ่นดินแม่คือ อิตาลี จนกลายมาเป็นสไตล์ของตัวเองในชื่อที่เป็นรู้จักว่า เอกอล เดอ ฟงแตนโบล (École de Fontainebleau) ที่ได้พัฒนาวิธีการสื่อความหมายของภาพแบบคลุมเครือหรือเป็นปริศนาว่าต้องการจะสื่อถึงอะไร

จุดเด่น : ภาพของดัชเชส เดอ วิลยาร์ (la duchesse de Villars) กำลังหยิกบริเวณหัวนมของ กาเบรียล เดสเทร่ส์ (Gabrielle d’Estrées) นางสนมของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 (Henri IV) อากัปกิริยาของคนในภาพนี้คล้ายจะบอกเป็นนัย ๆ ว่าดัชเชสกำลังตั้งครรภ์อยู่และมีความเร้าอารมณ์ของภาพ ทำให้คาดเดาได้ว่าเป็นภาพเขียนที่เป็นธีมเกี่ยวกับการอาบน้ำชำระร่างกายเป็นหลัก

พิกัด : ปีก Richelieu ชั้น 2 ห้อง 824

พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์

05 Hermaphrodite endormi (แอร์มาโฟรดิท อ็องดอร์คมี)

ศิลปิน : ผลงานในคอลเล็กชัน กามิลล์ บอร์กเกเซ (Collection Camille Borghèse) กรุงโรม ในคริสต์ศตวรรษที่ 2

รายละเอียด : ประติมากรรมหินอ่อนขนาดกว้าง 173.5 เซนติเมตร ลึก 89 เซนติเมตร น้ำหนักโดยประมาณ 700 กิโลกรัมเป็นรูปปั้นของ เฮอร์มาโฟไดร์ฟ (Hermaphrodite) หรือ แอร์มาโฟรดิท ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นคนสองเพศและเป็นบุตรชายของเทพเจ้าเฮอร์เมส (Hermes) หรือ แอร์แมสในภาษาฝรั่งเศส กับอโฟไดท์ (Aphrodite) หรือ อะโฟดิท ในภาษาฝรั่งเศส ถ้ามองจากด้านหลังเราจะไม่สงสัยเลยว่านี่เป็นรูปปั้นของหญิงสาวที่กำลังนอนหลับใหลอยู่บนฟูกอ่อนนุ่ม แต่ถ้าหากคุณเดินอ้อมไปอีกด้านหนึ่ง คุณจะพบว่าอวัยวะเพศของเธอกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของบุรุษเพศหาใช่สตรีเพศแต่อย่างใด

จุดเด่น : ตามตำนานปกรณัมกรีกกล่าวว่า มีนางไม้ที่ชื่อ ซามาซิส (Salmacis) ได้เกิดหลงรัก เฮอร์มาโฟดิตัส (Hermaphroditus) แต่ชายหนุ่มไม่เล่นด้วย นางไม้จึงได้ขอร้องให้เซอุส (Zeus) ช่วยให้ตัวเองสามารถอยู่กับเฮอร์มาโฟดิตัสตลอดเวลาแบบไม่ต้องแยกจากกันอีกต่อไป เซอุสจึงเสกให้ทั้งสองร่างหลอมรวมกันทีละเล็กทีละน้อยจนกลายเป็นร่างเดียวกัน กล่าวคือ เป็นร่างกายที่มีกล้ามเนื้อ แต่ก็มีหน้าอกอย่างสตรีเพศ และมีอวัยวะเพศของเพศชายและเพศหญิงอย่างชัดเจน เมื่อเฮอร์มาโฟรดิตัสเห็นร่างกายของตัวเองเปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ ก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ จึงสาปให้ใครก็ตามที่ลงไปแช่หรืออาบน้ำในบึงน้ำที่เป็นที่อยู่ของซามาซิสต้องกลายร่างเป็นคนสองเพศเช่นเดียวกับตน

พิกัด : ปีก Sully ชั้น 0 ห้อง 348

06 Code de Hammurabi, roi de Babylone (โก็ด เดอ อัมมูคราบี ครัว เดอ บาบิโลน)

ศิลปิน : ไม่ระบุชื่อศิลปิน เป็นผลงานในยุคเมโสโปเตเมีย (อิรัก) ประมาณ 1,792-1,750 ก่อนคริสตกาล

รายละเอียด : ศิลาจารึกของกษัตริย์ฮัมมูราบี กษัตริย์แห่งบาบิโลน ด้วยหินบะซอลต์ (Basalt)

จุดเด่น : ด้านบนของจารึกเป็นภาพแกะสลักของเทพเจ้าชามาช (Shamash) สุริยเทพและเทพเแห่งความยุติธรรมของชาวเมโสโปเตเมีย กับกษัตริย์ฮัมมูราบี ในท่วงท่าที่ฝ่ายแรกแต่งตั้งให้กษัตริย์เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประชาชนในอาณาจักรบาบิโลเนีย เนื้อหาที่จารึกไว้คือข้อกฎหมายและกฎเกณฑ์ของอาณาจักรซึ่งจารึกในลักษณะภาษาคูนิฟอร์ม (Cuneiform) ในยุคเมโสโปเตเมีย

พิกัด : ปีก Richelieu ชั้น 0 ห้อง 227

07 Taureaux androcéphales ailé du palais de Sargon II (โตโคร่ อองโดรเซฟาลส์ อาลเล่ ดู ปาเล่ เดอ ซากง เดอส์)

ศิลปิน : ไม่ระบุชื่อศิลปิน ประมาณ 713-706 ก่อนคริสตกาล ในยุคเมโสโปเตเมีย

รายละเอียด : ที่บริเวณลานกอร์ซาบัด (Cour Khorsabad)ใน พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ จัดแสดงโบราณวัตถุที่ใช้ประดับประดาเมืองดูร์ซารุกกลิน (Dûr-Sharrukin) หรือปัจจุบันคือ เมืองกอร์ซาบัด ในประเทศอิรัก สร้างขึ้นประมาณช่วงปลายของคริสต์ศตวรรษที่ 8 ก่อนคริสตกาลทางตอนเหนือของเมโสโปเตเมีย ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิอัสซีเรีย พระเจ้าซาร์กอนที่ 2 ได้มีคำสั่งให้จัดสร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ที่เมืองกอร์ซาบัดใกล้ ๆ กับเมืองโมซูล (Mosul) แต่หลังจากที่พระองค์เสด็จสวรรคต เมืองกอร์ซาบัดก็สูญเสียสถานะเมืองหลวงไปอย่างสิ้นเชิง ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสได้ค้นพบซากของเมือง และได้นำกลับมาตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์จึงเรียกได้ว่าที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงหลักฐานต่าง ๆ ของจักรวรรดิอัสซีเรียแห่งแรกของโลกเลยก็ว่าได้

ลักษณะเด่น : กระทิงแต่ละตัวจะแกะสลักจากแท่ง หรือ บล็อกหินอะลาบัสเตอร์ (หินปูนที่เป็นยิปซัมลื่นและขาวสะอาด) ขนาดใหญ่เพียงบล็อกเดียวต่อหนึ่งตัวเท่านั้น แต่ละตัวมีน้ำหนักประมาณ 28 ตัน และมีชื่อเรียกว่าอะลาดัมมู (Aladlammû) หรือ ลามาสซุ (Lamassu) ลำตัวและหู จะเป็นวัวกระทิง มีปีกแบบนกอินทรีและมีใบหน้าเป็นมนุษย์ สวมเทียร่าหรือมงกุฎซึ่งดูเหมือนจะเป็นตัวแทนของพระเจ้าซาร์กอนที่ 2

พิกัด : ปีก Richelieu ชั้น 0 ห้อง 229 (Cour Khorsabad)

08 Scribe Accroupi (สะคริป อะครูปี)

ศิลปิน : ไม่ระบุชื่อศิลปินประมาณ 2,620-2,500 ก่อนคริสตกาล ค้นพบที่เมืองซัคคารา (Saqqara) ประเทศอียิปต์

รายละเอียด : องค์ประกอบหลักเป็นหินปูน องค์ประกอบรองเป็นหินบะซอลล์อียิปต์ หินคริสตัล แมกนีเซียม ทองแดง และไม้มีขนาดสูง 53.7เซนติเมตร กว้าง 44 เซนติเมตร และลึก 35 เซนติเมตร เป็นรูปปั้นอาลักษณ์นุ่งผ้าขาวนั่งขัดสมาธิในมือถือกระดาษปาปิรุส ค้นพบครั้งแรกบริเวณบ่อน้ำในสุสานเมมฟิส (Nécropole memphite) เมืองซัคคารา ผู้คนพบคือ ออกุส มาคริแยตต์ (August Mariette) เมื่อ ค.ศ. 1850 และทางรัฐบาลอียิปต์ได้มอบให้แก่ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในทีมผู้ร่วมขุดค้นหาหลักฐานทางโบราณคดีร่วมกันระหว่างอียิปต์กับฝรั่งเศส

ลักษณะเด่น : ในวัฒนธรรมอียิปต์ อาลักษณ์คือผู้ที่ถือว่ามีความรู้ในการอ่านออกเขียนได้ และเป็นกลไกสำคัญในระบอบการปกครองของอียิปต์โบราณที่มีความสำคัญในสังคมเป็นอย่างมากในฐานะที่เป็นกูรูด้านการอ่านและการเขียน เมื่อพิจารณาจากรูปปั้นเราไม่สามารถระบุชื่อได้ว่าเป็นใคร แต่เมื่อพิจารณาจากรายละเอียดของรูปปั้น ทำให้พอจะเดาได้ว่า อาลักษณ์ผู้นี้ต้องมีความสำคัญอยู่ในลำดับต้น ๆ แน่นอน

พิกัด : ปีก Sully ชั้น 1 ห้อง 635 ตู้กระจกหมายเลข 10

09 Momie l’homme égyptienne au Louvre (มอมมี่ ลอม เอจิปเซียน โอ ลูฟวร์)

ศิลปิน : ไม่ระบุชื่อศิลปิน

รายละเอียด : เป็นผลงานในสมัยราชอาณาจักรทอเลมี (Ptolemaic Kingdom) หรือ Royaume ptolémaïqueในภาษาฝรั่งเศส ประมาณ 332-30 ก่อนคริสตกาล มีขนาดความยาว 166 เซนติเมตร

ลักษณะเด่น : มัมมี่ผู้ชายพันด้วยผ้าลินินพันทับปูนปั้นรอบตัว และมีข้าวของเครื่องใช้เช่นแจกันและของใช้ในห้องน้ำตกแต่งด้วยสร้อยคอมีการตกแต่งด้วยผ้าเขียนอักษรเฮียโรกลิฟิกบริเวณหน้าอก ลำตัวช่วงล่าง และส่วนเท้า นับได้ว่าเป็นมัมมี่ที่มีความสมบูรณ์มาก ตัวอักษรที่สลักไว้เป็นการคุ้มครองศพจากสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายในการเดินทางของชีวิตหลังความตาย

พิกัด : ปีก Sully ชั้น 0 ห้อง 322

10 Les vestiges médiévaux/La forteresse de Paris (เล เวสติชส์ เมดิเอโว /ลา ฟอร์เตแครส เดอ ปารีส์)

รายละเอียด : ฐานรากและบางส่วนของลูฟวร์ ในสมัยกลางที่ยังมีฐานะเป็นแค่ป้อมปราการแห่งปารีส เป็นส่วนที่แสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการของลูฟวร์ ในยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน

ลักษณะเด่น : กว่า 800 ปีที่ลูฟวร์ไม่เคยหยุดการพัฒนาและปรับปรุง ประมาณ ค.ศ. 1190 ลูฟวร์มีสภาพเป็นแค่ป้อมปราการของกษัตริย์ฟิลิป ออกุสตุส (Philippe Auguste) และกลายมาเป็นพระราชวังของพระเจ้าชาร์ลที่ 5 (Charles V) และกษัตริย์องค์ต่อ ๆ มาของฝรั่งเศส จนกระทั่งรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (Louis XIV) ได้ย้ายพระราชวังและราชสำนักฝรั่งเศสไปอยู่ที่เมืองแวร์ซาย ต่อมาหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ลูฟวร์ก็ได้รับการพัฒนาและปรับปรุงมาเป็นพิพิธภัณฑ์จนถึงปัจจุบันนี้

พิกัด : ปีก Sully ชั้นใต้ดิน และ La Salle Saint Louis

 Fact File

  • ในสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป หากจะเข้าชมพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์จะต้องแสดงบัตรสุขภาพแห่งสหภาพยุโรป (European Health Pass) ทุกครั้ง (และจะมีผลบังคับใช้กับบุคคลอายุ 12 ปีขึ้นไปด้วยโดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม ค.ศ. 2021 เป็นต้นไป)
  • บัตรสุขภาพแห่งสหภาพยุโรปสามารถขอได้ในกรณีที่มีหลักฐานดังต่อไปนี้

1. หลักฐานการได้รับวัคซีนครบโดสอย่างสมบูรณ์แล้ว

2. ผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่เป็นลบ ด้วยวิธีการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR หรือ Antigen Test Kit ไม่เกิน 48 ชั่วโมง

3. หากผลการตรวจหาเชื้อผลการเชื้อโควิด-19 เป็นบวก ต้องมีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 11 วันแต่ไม่เกิน 6 เดือน ที่แสดงว่าคุณเคยได้รับเชื้อมาก่อนหน้านี้แต่ปัจจุบันหายจากการติดเชื้อโควิด-19แล้ว

4. ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกำหนดและมาตรการทางสุขภาพสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ของทางการฝรั่งเศสที่ www.gouvernement.fr/en/coronavirus-covid-19

  • บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 11 ปีขึ้นไป ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเข้าชมพิพิธภัณฑ์และต้องรักษาระยะห่าง
  • ร้านอาหารและร้านกาแฟของ พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ปิดให้บริการ ยกเว้นร้านอาหารและร้านกาแฟที่อยู่บริเวณ Le Carrousel และในสวนตุยเลอรี (Jardin de Tuileries) เท่านั้นที่ยังคงเปิดให้บริการอยู่
  • ผู้ที่มีความประสงค์จะเข้าชมต้องสำรองตั๋วล่วงหน้าเพื่อระบุเวลาการเข้าชม และสามารถสำรองตั๋วได้ที่ www.ticketlouvre.fr/louvre/b2c/index.cfm/home
  • พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ เปิดเข้าชมตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. ทุกวัน ยกเว้นวันอังคาร
  • รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก www.louvre.fr/en

อ้างอิง


Author

ดรุณี คำสุข
จับพลัดจับผลูได้มาอยู่ในย่านของชาวปารีเซียงพลัดถิ่นมามากกว่าสิบปีจนชื่นชอบในสีสันและความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่าง